ชีวิตของเรานั้น ตามหลักธรรม ก็ได้แก่คำว่า #เบญจขันธ์ หรือ #ขันธ์๕ หมายความว่า ชีวิตของเราประกอบขึ้นจากหน่วยย่อยๆ ต่างๆ จัดเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ ได้ ๕ หมวด เรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ ๕ กอง หรือ ๕ ประเภท หน่วยย่อยที่รวมกันเป็น ๕ ประเภทนี้ ก็ได้แก่
๑. รูป คือ สิ่งที่เป็นร่างกาย สิ่งที่เป็นรูปธรรม
๒. เวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์
๓. สัญญา ความจำได้หมายรู้ การกำหนดรู้จักสิ่งรู้ต่างๆ
๔. สังขาร คือ ความนึกคิดต่างๆ ตลอดจนความดี ความชั่ว ที่ประกอบกับความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น เป็นคุณสมบัติของจิตใจ ปรุงแต่งใจของเราให้เป็นไปต่างๆ ปรุงแต่งใจเสร็จแล้วก็ปรุงแต่งความคิด ปรุงแต่งเป็นการพูด และการกระทำต่างๆ ที่แสดงออกทางกาย
๕. วิญญาณ คือ ตัวความรู้ ที่ทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น ลิ้มรส อะไรต่างๆ เหล่านี้
ทั้งหมดนี้เรียกว่าขันธ์ ๕ ทวนอีกครั้งหนึ่งว่า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ประกอบกันเข้าเป็นชีวิตของเรา ว่าที่จริงที่เราเป็นอยู่ หรือที่เรามีชีวิตอยู่นี้ ก็เหมือนกับว่าเราแบกขันธ์ ๕ ของเราอยู่ตลอดเวลา แบกแล้วก็พามันไป แล้วก็บริหาร ประคับประคอง บางครั้งเป็นเพียงบริหาร แต่บางครั้งก็ถึงกับประคับประคอง
ทำไป ร่างกายของเรานี้ต้องบำรุงรักษาเยียวยาด้วยปัจจัย ๔ เราก็รักษามันไป ทำให้ถูกต้องด้วยความไม่ประมาท แต่ว่าใจของเรานี่แหละวางให้ถูกต้อง คือ ไม่ไปยึดติดถือมั่นค้างไว้ ไม่ไปแบกภาระไว้ เมื่อทำใจถูกต้องแล้ว มันก็โปร่งก็เบา ท่านเรียกว่า เป็นการวางภาระลงได้
พระอรหันต์ท่านมีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นโอโรหิตภาโร แปลว่า ผู้มีภาระอันวางลงแล้ว คือเป็นผู้วางภาระลงได้ เหมือนกับว่าเมื่อก่อนนี้ เอาภาระอะไรแบกไว้บนบ่า เดินไปก็แบกเรื่อยไปเลย หลายท่านนี่ตลอดเวลาใจไม่เคยว่าง เพราะเอาอะไรๆ มาค้างใจไว้ แบกอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็มีความทุกข์หนักอยู่ตลอดเวลา พอปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องวางใจถูกต้อง อย่างพระอรหันต์ ก็วางลงได้ ก็ปฏิบัติไปตามความสัมพันธ์
💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟
ตามความจำเป็นที่ต้องเกี่ยวข้อง เรามีหน้าที่ต้องเกี่ยวข้อง เราก็ทำไป แต่ไม่มาถือค้างใจอยู่ พอไม่ค้างใจ เราก็เบา สบาย เรียกว่า ปลงภาระลงได้
นี่เป็นข้อปฏิบัติสำหรับบุคคลที่ยังดำเนินชีวิตอยู่ในโลก คนเรานี้ บางทีไม่รู้สึกตัว เวลามีคนจากไป ท่านที่รู้จักล่วงลับไป ก็มีการปลงอย่างที่ว่า ‘เอ้อ! เขาสบายแล้ว’ โดยเฉพาะท่านผู้ใหญ่มักจะพูด เพราะท่านผู้ใหญ่มักจะผ่านชีวิตมาเยอะจนชักรู้สึกว่าชีวิตนี่เป็นภาระ เด็กๆ ยังไม่รู้สึก เพราะฉะนั้น เด็กๆ จึงไม่ค่อยพูดคำนี้ ต่างจากผู้ใหญ่ที่มีความรู้สึก ซึ่งอย่างน้อยก็ฝังลึกในใจว่า การมีชีวิตอยู่ หรือดำเนินชีวิตอยู่นี้ เป็นของหนัก เป็นภาระอย่างที่กล่าวแล้ว
💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟
ในเมื่อมีภาระเราก็แยกภาระนี้ให้ถูกต้อง คือ เป็นภาระที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติ ซึ่งถ้าเราปฏิบัติให้ถูกต้องตามเหตุผลแล้ว มันก็จะไม่มีปัญหาอะไรมากมาย เพียงแต่อย่าไปยึดไปติดถือค้างไว้ ทำใจให้ถูกต้อง เมื่อทำใจวางใจให้ถูกต้องแล้ว เราก็สบาย มีความสุขด้วย แล้วการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น
☝☝☝ ก็จะเป็นไปอย่างพอดี 😇😇😇
💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟💟
เพราะถ้าไปยึดมั่น ถือค้างเกินไปแล้ว เราจะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไม่พอดี พอปฏิบัติไม่พอดี ก็เกิดปัญหาซ้ำเติมตัวเราให้มีความทุกข์มากยิ่งขึ้น
ตกลงว่านี่เป็นคติอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ชีวิตแต่ละชีวิตนี้ก็ประกอบด้วย ขันธ์ ๕ เมื่อเรามีขันธ์ ๕ แล้ว เราก็
๑. รู้เท่าทันขันธ์ ๕ รู้ว่าชีวิตของเราประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยๆ ต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เป็นไปตามพระไตรลักษณ์ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอรู้เท่าทันก็สบายไปขั้นหนึ่ง
๒. วางใจให้ถูกต้อง อย่างที่ว่า ปฏิบัติต่อภาระอันนี้ มิให้เป็นภาระที่ค้างใจ แล้วก็จะมีความสุข สบายจริงๆ
คัดมาบางส่วนจาก: คำเทศน์ ท่าน ปอ.ปยุตโต
ธรรมกถา ในการบำเพ็ญกุศลครบ ๒ ปี คุณชม รักตะกนิษฐ แสดงเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น