สมาธิตามแบบพระพุทธเจ้าสอน หรือแบบพราหมณ์ หรือแบบฤาษีสอน นั้นมีความคล้ายคลึงกัน เพราะพระพุทธเจ้าท่านทรงเรียนสมาธิจากอุทกดาบสและอาฬารดาบสซึ่งเป็นฤาษี จนสำเร็จฌาน 4 และฌาน 8 ตามลำดับ แต่ค้นพบว่าไม่ใช่หนทางหลุดพ้น
พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา 6 ปี จนค้นพบวิธีการหลุดพ้น คือ การทำสมาธิจนถึงจตุตถฌาน (ฌาน 4) แล้วทรงนำกำลังสมาธิและอุเบกขาจากฌาน 4 มาวิปัสสนา (เจริญปัญญา) ให้เห็นโลกตามความเป็นจริง รู้แจ้งในอริยสัจ 4 เห็นไตรลักษณ์ ดังนี้
“หลังจากพระโคดมทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมอยู่นานถึง 6 ปี ก็ยังไม่บรรลุ จึงทรงละหนทางนี้ แล้วระลึกได้ว่าเมื่อทรงพระเยาว์ได้เคยนั่งสมาธิใต้ต้นหว้า ด้วยความสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงได้ปฐมฌานมาตั้งแต่ครั้งนั้น พระองค์จึงตัดสินพระทัยกลับเสวยพระกระยาหาร ทำให้ร่างกายกลับมีพลัง พระทัยเริ่มสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมอีกครั้ง จนได้บรรลุฌานเป็นลำดับจนถึงจตุตถฌาน
ในขณะที่จิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ตั้งมั่น อย่างนี้ ก็ทรงบรรลุญาณ 3 แต่ละขั้นในปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม ตามลำดับ ในช่วงเวลานี้จึงทรงรู้ว่าอวิชชาถูกกำจัดแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6“
ดังพุทธประวัติ จะเห็นว่า สมาธิระดับจตุตถฌาน เป็นบาทฐานสำคัญสำหรับใช้เจริญวิปัสสนา (ปัญญา) ในการหลุดพ้นจากวัฏสงสารก้าวสู่ภูมิพระอริยบุคคล
ไม่ว่าจะทำสมาธิโดย อานาปานสติ ภาวนาพุทโธ และเพ่งกสิณ เมื่อจิตสงบเป็น ปฐมฌาน ย่อมมีสภาวะเหมือนกันเกิดองค์ฌาน 5 ประกอบด้วย วิตก วิจารณ์ ปีติ สุขและเอกัคตา เมื่อจิตสงบมากขึ้น ยกระดับสู่ ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน จะทิ้งองค์ฌานจนเหลือแต่ เอกัคตาและอุเบกขา ทิ้งกาย ทิ้งลมหายใจ เหลือแต่จิตตั้งมั่นและอุเบกขา สติตัวรู้เด่นชัด ปัญญาสว่างไสว มีกำลังเหมาะแก่การเจริญวิปัสสนาเป็นอย่างยิ่ง
การฝึกสมาธิเป็นเรื่องยากของนักท่องตำรา ที่ขาดวิริยะและปัญญา จึงสร้างวาทะกรรมว่า ฌานฤาษีบ้าง วิปัสสนาโดยสติปัฏฐาน 4 โดยไม่ต้องทำสมาธิบ้าง…
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น