ผู้ปฏิบัติธรรมจนได้ถึง “ธรรมกาย”และ ยัง “ทรง” อยู่เสมอนั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ได้ “บวชภายใน”...ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือ ชาย
คือแปลว่า ใจนั้นบวชอยู่ และถ้าหากได้บรรพชาอุปสมบทอีกด้วย (ในกรณีที่เป็นชาย) ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้บวชทั้งภายใน และ ภายนอก
สำหรับผู้ปฏิบัติภาวนาที่ได้ถึง “ธรรมกาย” แล้ว
ไม่ว่าจะได้บรรลุ มรรค ผลนิพพาน เป็น “พระอริยบุคคล” แล้วหรือไม่
หากได้เจริญภาวนา “พิสดารกาย”ดับ “เห็น จำ คิด รู้” ส่วนหยาบ...ไปสู่สุดละเอียด
จนจิตละเอียดมากถึง “วางอุปาทานในขันธ์ ๕” ของกายในภพสามได้ (แม้เพียงชั่วคราว)
และ ปล่อยความยินดีในฌานสมาบัติ
เมื่อปล่อยขาดพร้อมกันแล้ว
ธรรมกายหยาบจะตกสูญฐานที่ ๗ ลงไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ ๖
แล้วธรรมกายที่สุดละเอียด พร้อมด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย
ซึ่งเบิกบานขึ้นมาจากธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้น
จะลอยขึ้นมายัง ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
แล้วตกสูญไปยัง ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖
แล้วผ่านไปยังฐานที่ ๕ , ที่ ๔ , ที่ ๓ , ที่ ๒ และ ที่ ๑
พ้นจากอายตนะภพสาม ไปปรากฏอยู่ใน “อายตนะนิพพาน”ซึ่งมีผลให้ ........
๑.สามารถ รู้ เห็น ได้ยิน ... สภาวะ และ ความเป็นไป ใน “อายตนะนิพพาน” ได้
๒.ได้สัมผัสอารมณ์พระนิพพาน (ที่ว่า “หาอารมณ์มิได้” นั่นแหละ)
... ตามที่เป็นจริง (แม้เพียงชั่วขณะ)
และถ้าได้บรรลุมรรคผล เป็น “พระโสดาบันบุคคล”
ก็ชื่อว่า เป็นผู้ “ตกกระแสนิพพาน”(เป็นประจำ) ไม่มีตกต่ำอีก
๓.ผู้ถึงธรรมกาย และ ได้เจริญภาวนาเข้าถึงธรรมกายที่ละเอียด ๆ ... จนสุดละเอียด
แล้วรวมใจของทุกกายให้อยู่ ณ ศูนย์กลางกายพระอรหัต...องค์ที่ละเอียดที่สุดนั้น
ย่อมสามารถใช้ “อายตนะภายใน”ส่องดูความเป็นไปใน “ภพสาม”(กามภพ รูปภพ อรูปภพ)
หรือ นรก , สวรรค์ ตลอดถึง “อายตนะโลกันต์”
ให้ได้ทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน และแม้ได้กลิ่น ฯลฯ โดยชัดแจ้ง
..... ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้
เมื่อเจริญฌานสมาบัติ จนจิตสงัดจากกิเลสนิวรณ์ แล้วน้อมเข้าสู่ ...
“ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” (ญาณระลึกชาติของตนเอง และของผู้อื่นได้)
“จุตูปปาตญาณ” (ญาณหยั่งรู้ว่า สัตว์ทำกรรมอย่างนั้น ๆ จะได้รับผลกรรมอย่างไรต่อไปในอนาคต)
ให้รู้เห็น ทุกขสัจจ์ สมุทัยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ และ มรรคสัจจ์
และให้บรรลุ “อาสวักขยญาณ”
(ญาณหยั่งรู้ การกระทำอาสวะกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เป็น พระอรหันต์ขีณาสพ ต่อไป)
๔.เจริญยิ่งด้วย บุญศักดิ์สิทธิ์ , บารมี , อุปบารมี , ปรมัตถบารมี , รัศมี , กำลังฤทธิ์ , อำนาจ , สิทธิ , สิทธิเฉียบขาด ..... ฯลฯ จึงทรง “ปาฏิหาริย์” และ “บุญฤทธิ์”... ที่มีอานุภาพสูงยิ่ง
๕. “รู้แจ้ง” และ เจริญยิ่งด้วย
วิชชาของภาคพระ (ธรรมฝ่ายบุญกุศล)
อวิชชาของภาคมาร (ธรรมฝ่ายบาปอกุศล)
และของ ภาคกลาง (อัพยากตาธรรม)
..... อย่างละเอียดลึกซึ้ง จากเหตุในเหตุ ไปถึงต้น ๆ เหตุ
๖.เป็นพื้นฐานของการเจริญวิชชาธรรมกายชั้นสูง ชื่อว่า “มรรคผลพิสดาร”หรือ “อาสวักขยญาณชั้นสูง” หรือ “วิชชาสะสางธาตุธรรม” เข้าถึง... “อายตนะนิพพานเป็น”เพื่อเพิ่มพูน บุญศักดิ์สิทธิ์ , บารมี , อุปบารมี , ปรมัตถบารมี , รัศมี , กำลังฤทธิ์ , อำนาจ , สิทธิ , สิทธิเฉียบขาด ..... ฯลฯ
ซึ่งมีอานุภาพมาก ... ทั้งในส่วน “กำจัดเหตุแห่งทุกข์” และ “บำรุงสุข”ด้วย...มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และ นิพพานสมบัติ
ด้วย “อานุภาพธรรมกาย” ดังกล่าวนี้
จึงมีผลเป็นธรรมเครื่อง “บำบัดทุกข์”และ “บำรุงสุข” แก่สัตว์ทั้งหลาย
และนับเป็น “ธรรมาวุธ” อันคมกล้ายิ่งนัก
อันไม่ควรที่ “ผู้ไม่รู้” ... จะพึงวิพากษ์วิจารณ์โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะจะมีผลดุจเดียวกับ “ เด็กทารก ลูบใบมีดอันคมกริบเล่น ”หรือเข้าทำนอง “ เด็กกำถ่านไฟ ”
เมื่อ “ เจริญวิชชาธรรมกายชั้นสูง ” ... สุดละเอียดเข้าไป จึงพบความจริงข้อหนึ่งที่ว่า สัตว์โลกทั้งหลาย...มีธาตุธรรมที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “สายธาตุธรรมเดียวกัน” (สายขาว , สายกลาง , สายดำ)
เพราะมาจากธาตุธรรม (ต้นธาตุ ต้นธรรม) เดียวกัน
โดยเหตุนี้ เมื่อผู้ถึงธรรมกาย “เจริญภาวนาวิชชาชั้นสูง” ซึ่งเป็นการสะสางธาตุธรรมของตนเอง
จึงมีผลถึงธาตุธรรมของสัตว์อื่น ... ในสายธาตุธรรมเดียวกันโดยอัตโนมัติ (มากน้อยตามส่วน)
หลวงพ่อวัดปากน้ำ (สด จนฺทสโร)จึงได้กล่าวเสมอว่า
“ธรรมกายนั้นแหละ คือ ที่พึ่งของสัตว์โลก”
และว่า “ธรรมกายคนหนึ่ง ช่วยคนได้ครึ่งเมือง”
ผู้ขัดขวาง หรือ เหยียบย่ำ วิชชาธรรมกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ... ด้วยทิฏฐิชั่ว
จึงเท่ากับทำลายที่พึ่งของตนเอง มิให้เข้าถึงนิพพานอันแท้จริงได้ และย่อมประสบความทุกข์เดือดร้อน ประดุจ “ซัดธุลีทวนลม”หรือ “เด็กกำถ่านไฟ” ... ดังกล่าวแล้ว
ส่วน “ผู้มีปัญญา” และ “ใจบุญกุศล”
เข้าศึกษาและปฏิบัติเพื่อความ เข้าถึง ให้ได้รู้เห็น และ เป็น “ธรรมกาย”สูงสุดขึ้นไปถึงเป็น “พระนิพพาน”(คือ ธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตผลแล้ว)
และ สนับสนุนค้ำจุนการเผยแพร่พระสัทธรรมนี้
ตามกำลังศรัทธา สติปัญญา ความสามารถ … ย่อมได้ที่พึ่งอันประเสริฐ
ดังที่ผู้ที่ได้ เข้าถึง รู้เห็น และ เป็น..... ได้มีประสบการณ์ที่ดี ๆ มาแล้ว
*** คัดลอกบางตอนจาก
หนังสือ อานุภาพธรรมกาย
โดย มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย
ใน โครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏
#จุดเด่นของการเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย
โดย : พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)
รองเจ้าอาวาส และ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
การเจริญภาวนาตามแนว “วิชชาธรรมกาย” นี้
เบื้องต้น (ในขั้นสมถกรรมฐาน) ก็มีอุบายผูกใจไว้กับ ...
“บริกรรมนิมิต" และ "บริกรรมภาวนา” คู่กัน
เพื่อช่วยประคอง “ใจ” อันประกอบด้วย
เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
หรือ ความเห็น ความจำ ความคิด และความรู้
ให้รวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน ที่เรียกว่า “เอกัคคตารมณ์” มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ง่าย
ซึ่งการให้ผู้เจริญภาวนา กำหนดใจให้ไปรวม “หยุด” อยู่ ณ ที่ "ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗" (เหนือระดับสะดือ ๒ นิ้วมือ) นั้น
ก็เพราะว่า ...
การรวมใจหยุดอยู่ที่ "ศูนย์กลางกาย" นั้น
ช่วยให้การ “รู้ เห็น” เป็นไปอย่างแม่นยำ และกว้างขวาง
ดีกว่าการเอาใจไปจรด ... อยู่ที่อื่น
ทั้งนี้ก็เพราะว่า ... การรู้เห็น
โดยวิธีรวม “ใจ” อันประกอบด้วย
ความเห็น ความจำ ความคิด และความรู้
ไว้ ณ ที่ "ศูนย์กลางกาย"
และที่ "ศูนย์กลางนิมิต" นั้น
ย่อมสามารถรู้เห็นนิมิต ... ในมิติที่สมบูรณ์ทั่ว และชัดเจนกว่าการรวมใจไปไว้ที่อื่นของกาย
หรือไปจรด ณ ที่ตำแหน่งอื่นของนิมิต
เมื่อขยายการรู้เห็น ... ออกไปกว้างขวางเพียงใด
หรือย่อความรู้เห็นนั้น ...
ให้เล็กลงสักพียงไหนก็ตาม
ย่อมขยาย หรือ ย่อการรู้เห็นนั้น ... ในมิติเดิมอยู่เสมอ
เพราะการเพ่งอยู่
ณ "ศูนย์กลางกายและนิมิต" นั้น
เมื่อขยาย หรือ ย่อการรู้เห็น
ก็ย่อมขยายออกไป หรือ ย่อเข้ามา
... ในอัตราส่วน หรือ มิติเดิมอยู่เสมอ
การรู้เห็นนิมิต ... จึงถูกต้องตรงตามที่เป็นจริงเสมอไป
ไม่เบี้ยว ไม่หลอก
จึงมั่นใจได้ว่า ... ถ้าเจริญภาวนาสมาธิ
โดยรวมใจให้ "หยุดในหยุด"
ลงไปที่ "กลาง" ของหยุดในหยุด
หรือที่เรียกว่า ... เข้ากลางของกลาง ๆ ๆ ๆ
ไปเรื่อยไม่ถอยหลังกลับ ได้อย่างนี้ละก็
ไม่มีทางที่จะเห็น นิมิตหลอก หรือ นิมิตลวง
... ที่น่าเกลียดน่ากลัว แต่ประการใดทั้งสิ้น
แต่ถ้าปฏิบัติภาวนาโดยเอาใจไป จรดไว้ที่อื่นแล้วอาตมาไม่รับรอง
เมื่อรวมใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน
ตรง ... ศูนย์กลางกายมนุษย์
ก็จะเห็น “ดวงธรรม” ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์
เมื่อรวมใจหยุดในหยุด กลางของหยุดเรื่อยไป
ก็จะถึง “กายมนุษย์ละเอียด” หรือ “กายฝัน” ของตนเอง ซึ่งสวยละเอียดกว่ากายเนื้อ
แล้วก็จะถึง ...
กายทิพย์ , กายพรหม , กายอรูปพรหม
ซึ่งมีแต่สวย ละเอียด ประณีตยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
จนถึงกายธรรม หรือที่เรียกว่า “ธรรมกาย”
ซึ่งมีลักษณะเหมือน ...
พระพุทธรูป "เกศดอกบัวตูม" ขาว ใส บริสุทธิ์
มีรัศมีปรากฏ เย็นตาเย็นใจยิ่งนัก
และเมื่อเจริญภาวนา มาถึงขั้นนี้แล้ว
ประสงค์จะตรวจดูสัตว์โลก ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน “ภพสาม” นี้
ก็สามารถจะ ... รู้เห็นได้ตามความเป็นจริง
โดยจงใจจะเห็น ... จึงจะเห็น
ไม่ใช่เป็นการรู้เห็นอย่างบังเอิญแต่อย่างใด
เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ว่าจะเห็นนิมิตลวง หรือนิมิตหลอก ที่น่าเกลียดน่ากลัวนั้น จึงไม่มีอยู่ในการปฏิบัติกรรมฐานตามแนว “วิชชาธรรมกาย” นี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น
นอกจากนั้น ถ้าปฏิบัติได้ตามคำแนะนำนี้
แม้แต่ “วิปัสสนูปกิเลส” ก็ไม่ต้องผ่านอีกด้วย
สำหรับรายที่ชอบกลัวผี
เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว ก็จงอย่ากลัวผีอีกต่อไป
เพราะการปฏิบัติภาวนาตามแนว "วิชชาธรรมกาย" นี้ จะได้รู้เห็นแต่ของจริง ที่ละเอียด ประณีต เย็นตา เย็นใจ ... ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
แต่ทว่าถ้าหากประสงค์จะดูสัตว์ในทุคติภพ เช่น เปรต อสุรกาย สัตว์นรก หรือพวกสัมภเวสีต่าง ๆ ก็จะสามารถรู้เห็นได้ตามต้องการ
และจะเห็นว่า ...
เปรตมันก็เป็นเหมือนเปรต
สัมภเวสีก็เป็นสัมภเวสี
อสุรกายก็เป็นอสุรกาย
สัตว์นรกก็เป็นสัตว์นรก
... ต่างคนต่างอยู่
เหมือนกับเราเห็นมนุษย์ หรือสัตว์กายเนื้อ ที่มีลักษณะต่าง ๆ กันนั่นเอง
อยากจะดู ... ให้รู้ให้เห็น
ก็สามารถรู้เห็นได้โดยจงใจ
ถ้าหากไม่อยากจะดู จะรู้ จะเห็น ... ก็ไม่ได้เห็น
จึงไม่ต้องไปวิตกกังวล หรือหวาดกลัวผีสางอะไรทั้งสิ้น
เมื่อรวมใจหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายพระ
คือ “พระธรรมกาย”
ใจก็จะยิ่งใกล้พระ หรือเป็นพระ ... เข้าไปทุกที
ทีนี้ก็ไม่มีผีสางอะไรมาหลอกได้
แม้แต่ คนทรงเจ้าเข้าผี ก็เถอะ
เพียงแต่มี “ผู้ถึงธรรมกาย” ไปยืนดูอยู่เท่านั้น
... ทรงไม่เข้าเสียแล้ว
หรือแม้แต่ คนที่มีวิชาอาคมขลังคงกระพันชาตรี
พอมี “ผู้ถึงธรรมกาย” อยู่ใกล้ ๆ
ก็จะหมดสิ้นความคงกระพันนั้นไปทันที
เพราะผี หรือ มารทั้งหลาย ... หลอกได้แต่คน
หลอก “พระธรรมกาย” ไม่ได้
นี่แหละคือ "จุดเด่น"
ของการเจริญภาวนาตามแนว “วิชชาธรรมกาย” นี้
ที่มา : หนังสือทางมรรค ผล นิพพาน
(ธรรมปฏิบัติตามแนววิชชาธรรมกาย)
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น