13 กันยายน 2564

สุวรรณภูมิ คือ สุพรรณภูมิอาณาจักรโบราณแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน

“สุวรรณภูมิ” ถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนไขว้เขวอย่างน่าประหลาดใจว่าหมายถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือภูมิภาคอุษาคเนย์ทั้งหมด

แต่แท้จริงแล้ว สุวรรณภูมิเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์

สุวรรณภูมิมีความสำคัญเพราะเป็นพื้นที่เสมือน “จุดนัดพบ” ของอินเดีย-จีน เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของมีค่า โดยเฉพาะโลหะทองแดงและเครื่องสำริดจากสุวรรณภูมิ

อินเดียและเครือข่ายจากตะวันออกกลาง ต้องการค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของมีค่ากับจีน แต่การเดินทางด้วยเรือเทคโนโลยีไม่ก้าวหน้าต้องแล่นเลียบชายฝั่ง จะไปจีนโดยตรงไม่ได้ เพราะมีอุปสรรคคือคาบสมุทรและช่องแคบอันตราย เท่ากับบังคับเรือต้องจอดทางบ้านเมืองฝั่งทะเลอันดามัน แล้วเดินข้ามช่องเขาไปบ้านเมืองฝั่งอ่าวไทยที่มีสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของจากจีน (พบหลักฐานน่าเชื่อว่าปัจจุบันคือเครือข่ายเมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี)

สุวรรณภูมิเป็นชื่อพบในเอกสารคัมภีร์โบราณของอินเดีย (เช่น ชาดกเรื่องต่างๆ) ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1 (หรือ 2,500 ปีมาแล้ว) และจากพงศาวดารลังกา เรียก มหาวงศ์

สุวรรณภูมิที่ปรากฏในชาดกพุทธศาสนา ก็อย่างเช่น พระมหาชนก โดยพระมหาชนกนั้นท่านได้เดินทางไปบนเรือกับพ่อค้าชาวสุวรรณภูมิเพื่อไปค้าขายยังเมืองสุวรรณภูมิ ดังที่พระมหาชนกได้บอกมารดาตนว่า "ข้าแต่พระมารดา หม่อมฉันจักไปเมืองสุวรรณภูมิ”

หลักฐานกรีก-โรมัน เรียก “ไครเส เชอร์โสเนโสส” (Chryse Chersonesos) แปลว่าดินแดนทอง (หรือ The Golden Chersonese) ตรงกับหลักฐานจีน เรียก “จิ้นหลิน” หรือ “กิมหลิน” แปลว่า ดินแดนทอง (จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก : กรณีศึกษาลุ่มแม่น้ำจรเข้สามพัน โดย ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ)

"สุวรรณภูมิ" ใช้เรียกเครือข่ายบ้านเมืองทางลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ว่า “สุพรรณภูมิ” (เมื่อราวเรือน พ.ศ.1800) เป็นพยานว่าคนสมัยหลังมีความทรงจำไม่ขาดสายในชื่อสุวรรณภูมิ ครั้นหลัง พ.ศ.1900 เปลี่ยนเป็นชื่อ “สุพรรณบุรี”

ใน พ.ศ. 2083 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น ยุคราชวงศ์สุพรรณภูมิ (วงศ์เจ้าสุพรรณ) ในตำราภูมิศาสตร์ Cosmographia ของเซบาสเตียน มึนสเตอร์ นักภูมิศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้ทำแผนที่จำลองตามหลักฐานเอกสารดั้งเดิมของปโตเลมี นักสำรวจชาวกรีกที่ทำไว้เมื่อ พ.ศ. 670-693 พบว่าสุวรรณภูมิคือดินแดนทองอยู่เหนือแหลมมลายูซึ่งตรงกับบริเวณที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ดังระบุไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2171 ว่า

"ในราชอาณาจักรสยามเป็นที่ตั้งของแผ่นดินทอง ซึ่งเป็นแผ่นดินทองของปโตเลมี ถัดลงมาคือแหลมทอง ซึ่งมีภูมิลักษณะเป็นคอยาว" (แผนที่และคำอธิบายบางส่วนได้จากคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

เข้ากับหลักฐานโบราณคดีพบที่เมืองอู่ทอง (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง กระทั่งพบภายหลังว่าพื้นที่ตรงนี้มีชื่อในจารึกว่า “สุพรรณภูมิ” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “สุวรรณภูมิ” (ว แผลงเป็น พ) แสดงว่าคนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองสมัยนั้นมีความทรงจำชื่อสุวรรณภูมิจากพระสงฆ์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตรุ่นก่อนๆ บอกเล่าตกทอดสืบต่อกันมา

หลังจากนั้นสุพรรณภูมิเปลี่ยนชื่อเป็น “สุพรรณบุรี” สืบจนปัจจุบันซึ่งอาจลำดับความเป็นมาอย่างกว้างๆ ง่ายๆ ดังนี้

(1.) สุวรรณภูมิ ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 500

(2.) สุพรรณภูมิ ราว 800 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1700

(3.) สุพรรณบุรี ราว 500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 2000

__________________

เมืองสุวรรณภูมิในชินกาลมาลีปกรณ์

หน้า 145
เรื่องพระพุทธรูปแก่นจันทน์ ตั้งแต่แรกเริ่มเป็นลำดับมา ได้ยินว่าหลังจากที่พระพุทธทรงอนุญาตให้มีพุทธเจดีย์ได้ 3 อย่างแก่พระอานนทเถรแล้ว พระเจ้าปัสเสนทิโกศลในเมืองสาวัตถี ทรงปรารภจะหว่านพืช คือ บุญกุศล โดยจะให้คนทั่วโลกกราบไหว้พุทธเจดีย์นั้น จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปแก่นจันทน์องค์นี้ขึ้น ต่อมาเมื่อพระเจ้าวิฏฏก (วิฑูฑภะ) ครองราชสมบัติ (ในเมืองสาวัตถี) กษัตริย์เมืองสุวรรณภูมิได้อัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์นั้นมาบูชาเสียแล้ว

หน้า 146
พระราชาปัสเสนทิโกศล โปรดให้สร้างพระพุทธรูปแก่นจันทน์ เมื่อปีใด ต่อจากปีนั้นมาอีก 7 ปี พระผู้มีพระภาคก็ปรินิพพาน กษัตริย์ในเมืองสุวรรณภูมิได้บูชาสืบต่อกันมาจนพุทธศาสนาล่วงได้ 1,000 ปี พระเจ้าอาทิจจ์ เกิดในวงศ์ของกษัตริย์เมืองสุวรรณภูมิ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้านรบดี ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์นั้นมาแต่เมืองสุวรรณภูมิ แล้วสร้างนครขึ้นบนยอดเขาวิเชตในชนบทวิเชต ประเทศสยาม ซึ่งเป็นคนละประเทศกับเมืองสุวรรณภูมิ ทรงบูชาพระพุทธรูปแก่นจันทน์ในชนบทวิเชตนั้นช้านาน

หน้า 102
ครั้งหนึ่ง เมืองชัยนาทเกิดทุพภิกขภัย พระเจ้ารามาธิบดี กษัตริย์อโยชฌปุระ เสด็จมาจากแคว้นกัมโพช ทรงยึดเมืองชัยนาทนั้นได้โดยทำเป็นทีท่าว่าเอาข้าวมาขาย ครั้นยึดได้แล้ว ทรงตั้งมหาอำมาตย์ของพระองค์ชื่อว่า วัตติเดช ซึ่งครองเมืองสุวรรณภูมิ ให้มาครองชัยนาท ส่วนพระองค์เสด็จกลับไปอโยชฌปุระ ต่อแต่นั้นมา พระเจ้าธรรมราชา (กษัตริย์เมืองชัยนาท) ก็ส่งราชบรรณาการเป็นอันมากไปถวายพระเจ้ารามาธิบดี ทูลขอเมืองชัยนาทนั้นคืน ฝ่ายพระเจ้ารามาธิบดีก็ทรงประทานคืน (เมืองชัยนาทนั้น) แก่พระเจ้าธรรมราชา วัตติเดชอำมาตย์ก็กลับไปเมืองสุวรรณภูมิอีก

หน้า 103
เมื่อพระเจ้ารามาธิบดีผู้เป็นใหญ่แก่แคว้นกัมโพชและอโยชฌปุระสวรรคตแล้ว วัตติเดชอำมาตย์มาจากเมืองสุวรรณภูมิยึดแคว้นกัมโพชได้ ครั้นพระเจ้าธรรมราชาเมืองชัยนาทสวรรคตแล้ว วัตติเดชอำมาตย์มาจากอโยชฌปุระยึดเมืองชัยนาท แล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมาไปบูชาที่อโยชฌปุระ

หน้า 103
ลำดับนั้นฝ่ายพระเจ้าติปัญญา (กษัตริย์เมืองกำแพงเพชร) ก็ส่งราชสาส์นไปสำนักพระเจ้าอโยชฌปุระ พระเจ้าวัตติเดช (ขุนหลวงพะงั่ว) รีบตระเตรียมพลนิกายเสด็จมาถึงปากแม่น้ำมหานที (ปากแม่น้ำเจ้าพระยา)

- อ้างอิงชินกาลมาลีปกรณ์ -
(หน้า ๑๔๖)

"พระราชาปัสเสนทิโกศล โปรดให้สร้างพระพุทธรูปแก่นจันทน์ เมื่อปีใด ต่อจากปีนั้นมาอีก 7 ปี พระผู้มีพระภาคก็ปรินิพพาน กษัตริย์ในเมืองสุวรรณภูมิได้บูชาสืบต่อกันมาจนพุทธศาสนาล่วงได้ 1,000 ปี พระเจ้าอาทิจจ์ เกิดในวงศ์ของกษัตริย์เมืองสุวรรณภูมิ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้านรบดี ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์นั้นมาแต่เมืองสุวรรณภูมิ แล้วสร้างนครขึ้นบนยอดเขาวิเชตในชนบทวิเชต ประเทศสยาม ซึ่งเป็นคนละประเทศกับเมืองสุวรรณภูมิ ทรงบูชาพระพุทธรูปแก่นจันทน์ในชนบทวิเชตนั้นช้านาน"

ตรงข้อความที่ว่า...

"พระเจ้าอาทิจจ์ เกิดในวงศ์ของกษัตริย์เมืองสุวรรณภูมิ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้านรบดี ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์นั้นมาแต่เมืองสุวรรณภูมิ แล้วสร้างนครขึ้นบนยอดเขาวิเชตในชนบทวิเชต ประเทศสยาม ซึ่งเป็นคนละประเทศกับเมืองสุวรรณภูมิ"
ตรงนี้เหมือนจะบอกว่า "หริภุญชัย-เขลางค์"
คือ สยามประเทศ

ส่วน "สุวรรณภูมิ-สุพรรณภูมิ-สุพรรณบุรี"
คือ รามัญประเทศ

เพราะบอกว่า...

"ยอดเขาวิเชตในชนบทวิเชต ประเทศสยาม เป็นคนละประเทศกับเมืองสุวรรณภูมิ"

สอดคล้องกับในจารึกกัลยาณีสีมา ที่ระบุว่า "สุวรรณภูมิ" คือ รามัญประเทศ ดังนี้

"ครั้งนั้น พระราชาพระนามว่า อโสก ผู้มีสิริ ได้ครองราชย์ในรัฐสุวรรณภูมิ ฯ เมืองหลวงของพระองค์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกลาสภะบรรพตเจดีย์ ฯ แต่พื้นที่ส่วนหนึ่งทางตะวันออกของเมืองนั้น มีภูเขาอยู่ข้างบน ฯ พื้นที่ส่วนหนึ่งทางตะวันตก เป็นที่ราบ ฯ  คนทั่วไปเรียกเมืองนั้นจนถึงปัจจุบันว่า โคฬมัตติกนคร เพราะมากมายไปด้วยบ้าน (ที่ทำด้วย) ดินเหนียว ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับบ้านของชาวโคฬะ"

และกล่าวถึงพระโสณะและพระอุตตระ มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่รามัญเมื่อ พ.ศ. 236

"ท่านทั้งหลายพึงเห็นดังนี้เถิดว่า นับแต่การปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่วงไปแล้วได้ 236 ปี พระเถระทั้งสองได้มาประดิษฐานพระศาสนาในรามัญประเทศนี้"

"สุวรรณภูมิ" อยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นถิ่นของรามัญ โดยในจารึกเขมรโบราณสมัยพระเจ้าอีศานวรมะที่ 1 (ในจารึกตรงกับ พ.ศ. 1172) มีคำสรรเสริญถึงพระองค์ว่า "มีอำนาจเหนือสุวรรณภูมิไปจนจรดมหาสมุทร" และยังบอกอีกว่าพระเจ้าศรีอีศานวรมะ กษัตริย์ผู้ครองอีศานปุระนั้น "เป็นราชาองค์เดียวเหนือพื้นดินสุวรรณภูมิซึ่งมีสมุทรล้อมรอบ" (อ่าวเบงกอล-อ่าวไทย)

กษัตริย์เขมรโบราณอีกพระองค์ที่ขยายดินแดนมายึดครองดินแดนทางตะวันตก คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ปรากฏในจารึก “ศรีลักษมีปติวรมัน” ซึ่งจารึกถูกทำขึ้นโดย “มรตาญศรีวีเรนทรวัลลภะ” กล่าวถึงเรื่องราวในระหว่างปี พ.ศ. 1552-1557 ของบิดา ท่าน “ศรีลักษมีปติวรมัน” (Śrī   lakṣmīpativarmmaṇā) ขุนศึกคนสำคัญของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1

บรรทัดที่ 4-19 เป็นภาษาสันสกฤต แต่งเป็นฉันทลักษณ์-โศลก กล่าวบูชาพระศิวะ พระวิษณุ และพระนางลักษมี เกียรติยศอันยิ่งใหญ่แห่งพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 บรรทัดที่ 20 กล่าวถึงเรื่องราวของท่านศรีลักษมีปติวรมัน โดยในบรรทัดที่ 23-24 กล่าวว่า
 
“นักรบ (ผู้เก่งกล้า) คนนี้ได้รับพระราชโองการจากกษัตริย์ (พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1) ให้เข้าปกครองพวกรามัญ (Rāmaṇya) ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตก ท่านขุนศึกได้ใช้ยุทธวิธีอันชาญฉลาด เข้าปราบปรามและยึดครองตามพระราชประสงค์เป็นผลสำเร็จ ได้รับผลประโยชน์กลับมาเป็นจำนวนมาก”
จารึกศรีลักษมีปติวรมัน เป็นร่องรอยหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นกระบวนการเข้าครอบครองดินแดนของชาวรามัญในเขตเจ้าพระยาตะวันตก ในวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ-ทวารวดี โดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ที่ต่อเนื่องมาจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างพระองค์กับพระเจ้าชัยวีรวรมัน กษัตริย์องค์เดิมของอาณาจักร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1545 พระองค์สามารถเข้ายึดครองเมืองพระนครศรียโสธระปุระไว้ได้ในปี พ.ศ. 1549  ซึ่งพระเจ้าชัยวีรวรมันได้ถอยร่นผู้คนในการปกครองขึ้นมาทางพระตะบองเข้ามาตั้งมั่นในเขตทางเหนือ ในดินแดนติดกับวิมายปุระและลวะปุระได้ในระยะหนึ่ง จนพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้นำกองทัพติดตามขึ้นมาไล่บดขยี้เสี้ยนหนามในราชสมบัติของพระองค์ และขยายอิทธิพลต่อเข้ามาจนถึงเมืองลวปุระได้ในอีก 8 ปีต่อมา

ซึ่งในช่วงของชัยชนะ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยังได้ส่งท่านศรีลักษมีปติวรมัน ขุนศึกของพระองค์ นำกองทัพเข้ายึดครองดินแดนตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (เมืองนครปฐม-อู่ทอง) ที่เป็นกลุ่มชนรามัญในวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ-ทวารวดีไปพร้อมกัน

__________________

จารึกสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน (Rājendravarman) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15  ได้กล่าวถึงชื่อนาม “รามัญ” (Rmañ - Rāmaṇya) ที่มีดินแดนอยู่ทางตะวันตก และกลุ่มชาวจาม (Campā) ที่อยู่ทางตะวันออก แยกออกจากอย่างชัดเจน โดยระบุว่า

“พระองค์แผลงศรประดุจพระราม (Rāma) กำราบพวกรามัญและพวกจาม ที่มีพลังประดุจปีศาจร้าย”

จนมาถึงในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้ขยายอิทธิพลทางการเมืองและคติความเชื่อ เข้ามาสู่ที่ราบภาคกลางของลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมไปถึงดินแดนลุ่มน้ำสาขาตอนบนตามเส้นทางและชุมชนโบราณที่เชื่อมต่อกันในภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง ดังปรากฏเรื่องราวจากจารึก “ศรีลักษมีปติวรมัน” (Śrī Lakṣmīpativarman) เป็นขุนศึกนำกองทัพเข้ากวาดล้างและยึดครองดินแดนละโว้-ศรีจานาศะ รวมทั้งเข้าฟื้นฟูดินแดนรามัญ (rāmaṇya) ทางตะวันตกในเขต “ที่ราบแม่น้ำ” (Menam Valley- Basin) หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ในเวลานั้น ละโว้และดินแดนตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เคยเป็นดินแดนที่มีชุมชนในวัฒนธรรมแบบรามัญโบราณ (สุวรรณภูมิ-ทวารวดี) มีขอบเขตอิทธิพลของศิลปะและคติความเชื่อเชื่อมโยงขึ้นไปถึงเมืองหริภุญชัย ที่เป็นประตูสำคัญทางทิศเหนือ เชื่อมต่อขึ้นไปสู่ดินแดนพุกาม ปาละ และจีน

ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 เมืองละโว้ได้พัฒนามาเป็นวิษัยนครใหญ่ (Viṣaya) ทางตะวันตกของอาณาจักรกัมพุชเทศะ เป็นหัวหอกสำคัญในการขยายอำนาจทางการเมืองการปกครองขึ้นต่อไปทิศเหนือ (ที่ไปสิ้นสุดที่เมืองศรีสัชนาลัย) อยู่ในการปกครองของพระญาติกษัตริย์ “กมรเตง อัญ” จากเมืองพระนคร โดยดินแดนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ยังคงเป็นเขตการปกครองของชาวรามัญ-ทวารวดีเดิมในฐานะ “รัฐอิสระ-ปกครองตนเอง” เป็นพันธมิตรที่ขึ้นตรงต่อจักรวรรดิ แต่ได้สูญเสียดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (เมืองละโว้) ให้กับอาณาจักรกัมพุชเทศะไปทั้งหมดแล้ว   

ถึงสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่ปรากฏหลักฐานว่า พระองค์ได้เปิดศึกทำสงครามกับอาณาจักรจามปาทางด้านทิศตะวันออกเพียงฝั่งเดียว (ไม่มีสงครามกับตะวันตก) แต่ทั้งหมดก็ได้แสดงว่า พระองค์นั้นไม่สามารถเอาชนะพระเจ้าชัยหริวรมัน (Harivarman) กษัตริย์จามปาแห่งนครปาณฑุรังคะ (Panduranga) ได้

ต่อมา จารึกเสา “โจดิญ” (Cho-Dinh) สมัยพระเจ้าศรีปรเมศวาราวรมันที่ 2  (Jaya Paramesvaravarman 2) กลางพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1744) จากเมืองฟานรัง-ทัปจาม (Phan Rang - Tháp Chàm) ในจังหวัดนิงห์ถ่วน [Ninh Thuận]  ที่กล่าวว่า มีชาวสฺยำและปุกํ (พุกาม) ร่วมทัพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มาตีเมืองวิชัยปุระ และจารึกเสากรอบประตู  (C.30B4) ของปราสาท “ทัปโพอินูนาคา” (Tháp Po Inu Naga) ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1776) กล่าวถึงพระเจ้าศรีปรเมศวาราวรมะเทวะ ได้ถวายข้าทาสชาว กฺวีร์ (เขมร) จมฺปา (จามปา) สฺยำ (เสียม) เลาว (ลาว) และวุกํ (พุกาม) แก่ศาสนสถาน

จารึกจามปาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 กล่าวถึงชื่อนาม “สฺยำ” (เสียม-สยาม) ข้ามแดนไปถึงกลุ่มคน “วุกํ” (พุกาม) โดยไม่เคยกล่าวถึงชื่อนามรามัญตามที่เคยปรากฏในจารึกเขมรในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 นั่นก็หมายความ ในพุทธศตวรรษที่ 17 ชื่อนามรามัญเดิม ได้ถูกชาวเขมรและจามปาในยุคหลังเรียกใหม่ในชื่อนามว่า “สฺยำ-เสียม-สยาม” เพราะไม่ปรากฏคำว่ารามัญในจารึกเขมรหลักอื่นอีกเลย    

รามัญที่กลายเป็นสยามแห่งแดนตะวันตกนี้ ในเวลาต่อมาชนกลุ่มนี้ ก็คือรัฐเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกที่มีนามว่า “รัฐสุพรรณภูมิ” ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 และเป็น "เสียน-เซียน" (สุพรรณภูมิ) ในเอกสารจีนช่วงราชวงศ์หมิง-หยวน ที่ได้เล่าถึงการผนวกรวมเข้ากับหลอหู (ละโว้) ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 พัฒนาเป็น “กรุงทวารวดีศรีอยุธยา” อย่างสมบูรณ์นั่นเอง

__________________

สาเหตุที่ รามัญ ถูกแทนที่ด้วย สยาม อาจเป็นเพราะ ชาวหริภุญชัย ได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่ที่สุพรรณ หริภุญชัยเป็นเขตสยามตามที่ชินกาลมาลีปกรณ์ว่าไว้ และชาวหริภุญชัยก็พูดภาษามอญ แถมกษัตริย์หริภุญชัยบางพระองค์ เช่น พระเจ้าอาทิจจ์ ก็มีเชื้อสายมาจากกษัตริย์เมืองสุวรรณภูมิด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างสุพรรณ-หริภุญชัย จะเห็นชัดขึ้นในยุคที่ล้านนาเข้าตีและยึดหริภุญชัยได้แล้ว ไม่ว่าจะศิลปะเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมแบบหริภุญชัย พอโดนล้านนาตีแตก ศิลปะเจดีย์แบบหริภุญชัยนี้ก็มาโผล่อยู่ที่รัฐสุพรรณภูมิซึ่งอยู่ทางใต้ลงมาแทน และพัฒนาต่อจนกลายเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมในแบบของสุพรรณภูมิ

กอปรกับจารึกวัดปู่บัวที่พบในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่กล่าวว่า

"ศรีสวัสติ หริภุญเชยฺย ชาเตน มาตาเสฏโฐ อนุตฺตโร ปีตา ตเร อิติ นาเมน อยฺยิก ปีตา ญาณเทพ ปีตา มหิสูโร โสวณฺณภูมึ ตุรคสฺส วสฺเส เอกาทสส รวิ ทิวเส เวสาขยมาเส สูลปกฺขิเตน สิริโสตฺถิวํส โภชนวํส ชาสํสฐาปีโต ชินวรํ นครสฺส"

แปลว่า "ศุภมัสถุ (ศรีสวัสดี) เมื่อวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย พ่อญาณเทพ ลูกปู่ข้าม  ชวดชายผู้ประเสริฐและยอดเยี่ยม กับชวดหญิงคนหริภุญชัย (คนลำพูน) เมื่อได้มาสู่เมืองสุวรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ขึ้นเป็นผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้ว ได้สร้างพระพุทธรูปประจำเมืองของวงศ์ศรีสวัสดิ์และวงศ์นายโภชน์ไว้"

• สรุป •
สุวรรณภูมิ คือ บริเวณภาคกลางของไทย ณ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี โดยรวมไปถึงฝั่งตะนาวศรี ทวาย สะเทิม ครอบจรดอ่าวเบงกอลในประเทศพม่าตอนใต้ด้วย ซึ่งสมัยโบราณพื้นที่ดังกล่าวนี้ คือ รามัญประเทศ

__________________

คำว่า "วัตติเดช" (ชื่อขุนหลวงพะงั่ว) ในชินกาลมาลีปกรณ์

ลองค้นพจนานุกรมบาลีและผูกคำดูได้ว่า...

1.วตฺตี แปลว่า ไส้เทียน

2.เตชะ แปลว่า ไฟ, เปลวไฟ, แสงสว่าง ฯลฯ

"วตฺตีเตชะ" ปริวรรตคำไทยเป็น "วัตติเดช" ลองแปลได้ว่า ผู้ส่องสว่างดุจแสงเทียน

ส่วนในสิหิงคนิทานเรียกขุนหลวงพะงั่วว่า "มหาเตชะ" หรือ "มหาเดช" ซึ่งหมายถึง ผู้มีแสงสว่างอันยิ่งใหญ่

เรื่องชื่อนี้ทำให้คิดถึงตอนที่เคยได้คุยกับคนๆ หนึ่งทางยูทูปเมื่อนานมาแล้ว เขาบอกคำว่า "งั่ว" ในชื่อของขุนหลวงพะงั่วนั้นเป็นภาษามอญ หมายถึง "ดวงตะวัน" หรือ "พระอาทิตย์" ทำให้คิดต่อไปว่าจะเกี่ยวข้องกับชื่อ "เดช" ที่หมายถึง "แสงสว่าง" หรือ "ไฟ" ของขุนหลวงพะงั่วหรือไม่

และลองไปค้นศัพท์มอญมาได้ว่า "တ္ၚဲ" อ่านว่า "ตงัว” แปลว่า วัน, พระอาทิตย์ โดยทางเพจรามัญคดีอธิบายว่าคำนี้มักจะออกเสียงเป็น “งัว”

တ္ၚဲ (ŋoa or Ngoa) = Sun, Sunshine, Day

(ไว้เป็นกรณีศึกษาต่อไป)

• เกร็ดความรู้ •

สุพรรณภูมินิยมสร้างโบสถ์ วิหาร และพระพุทธรูป ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (เช่น หลวงพ่อหินทราย วัดชุมนุมสงฆ์) คนเฒ่าคนแก่เมืองสุพรรณผู้รู้ประวัติศาสตร์เล่าว่า เพื่อเป็นที่ระลึกเตือนใจว่าครั้งหนึ่งบรรพบุรุษเราเคยอยู่ทางทิศตะวันตกที่ลุ่มแม่น้ำอิรวดี

อาจารย์ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ อธิบายว่า สำเนียงเหน่อภาคกลางทั้งหลายเป็น "เหน่อมอญทวารวดี" ดังที่ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ “ศรีสุพรรณภูมิ” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2553 หน้า 160-162 โดยมีข้อความดังนี้

"สําหรับเรื่องสําเนียงพูดเหน่อหรือที่เรียกว่า 'เหน่อสุพรรณ' นั้น มีกว้างขวางตั้งแต่ เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี อุทัยธานี คือบริเวณถิ่นเก่าแก่ดั้งเดิมของมอญอาณาจักรทวารวดีนั่นเอง เรื่องขุนช้างขุนแผนก็เป็นไทยปนมอญ มีเรื่องพัวพันกันอยู่ระหว่างสุพรรณบุรีกับกาญจนบุรี ความจริงเสียงเหน่อนี้ควรเรียกว่า 'เหน่อมอญ' เพราะสุพรรณบุรีเป็นเมืองมอญ ผู้คนทางฟากตะวันตกจึงล้วนมีเชื้อมอญ เรื่องขุนช้างขุนแผนความจริงก็เป็นเรื่องของพวกมอญทั้งเพ คําว่า 'พลาย' แปลว่า 'หนุ่ม' (เช่น พลายแก้ว, พลายชุมพล) ชื่อ เครื่องดนตรีไทย เช่น จะเข้ ฯลฯ ก็เป็นคํารามัญ ตํานานเมืองก็บอกไว้ว่าย่านนี้เป็นถิ่นมอญเก่า โบสถ์มอญ วิหารมอญ เจดีย์มอญ ที่ยังเหลืออยู่บ้างในวัดป่าเลไลยก์ วัดพระมหาธาตุ วัดพระรูป วัดโคกกระต่าย ฯลฯ ล้วนหันหน้าไปทางตะวันตกทั้งสิ้น ผู้เขียน (อ.ประทุม) สงสัยจึงถามผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่เมืองสุพรรณบุรีก็ได้รับคําตอบกลับมาว่า เพื่อเป็นที่ระลึกเตือนใจว่าครั้งหนึ่งบรรพบุรุษเราเคยอยู่ทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ ในช่วงก่อน พ.ศ.2500 มีคณะละครชาตรีพื้นบ้านและคณะโขนนั่งราวหรือโขนกลางแปลงพื้นบ้านมีชื่อมาเที่ยวแสดง อยู่ในเขตอ่างทอง สุพรรณบุรี ผู้เขียน (อ.ประทุม) เป็นเด็กเคยดูที่วัดเกาะ ตําบลดอนมะสังข์ ตื่นเต้นสนุก ติดใจมาก ตัวละครที่เล่นบทเป็นคนมอญเขาจะพูดไทยแต่เลียนสําเนียงชาวมอญ ซึ่งใครได้ฟังก็จะรู้ทันทีว่านี่แหละคือต้นกําเนิดของ 'เหน่อสุพรรณ' ผู้เขียน (อ.ประทุม) นั้นยังจําได้แม่นจนถึงทุกวันนี้"

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมรามัญแทรกไปในประเพณีวัฒนธรรมไทยทุกเรื่องราวประดุจเป็นพวกเดียวกัน อย่างมอญร้องไห้ มอญยันหลัก มอญซ่อนผ้า ขนมจีน และวิชาดาบสองมือของมอญอันเลื่องลือ

“ขุนช้างขุนแผน” ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมอญ ซึ่งมอญเรียก "โกนเพนโกนเชี่ยง" นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อบ้านนามเมืองใกล้กับเมืองเย (Re) ใต้เมืองเมาะลำเลิงลงมา มีเนินดินเรียบโล่งแน่นจนหญ้าขึ้นไม่ไหว คนมอญเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "ลานขุนแผน" เชื่อกันว่าเป็นลานฝึกม้าของขุนแผน

ส่วนเรื่อง "ม้าสีหมอก" มีผู้รู้ท่านหนึ่งสังเกตว่าลักษณะการบรรยายเหมือนม้าสายพันธุ์อาหรับ ซึ่งในท้องเรื่องผู้ขายระบุว่าได้ม้ามาจาก "มะริด" หรือ "ทวาย" ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งรามัญ

ต่อมา มีผู้รู้กล่าวว่าคนอยุธยาส่วนใหญ่เป็นพวกมอญอู่ทอง-สุพรรณ แต่พูดไท (ที่มาของเหน่อสุพรรณ) ซึ่งได้เข้ามาเป็นใหญ่ในอยุธยา รวมไปถึงในราชสำนักอยุธยาด้วย ศิลปะต่างๆ แม้จะเป็นเขมรอิทธิพลกัมโพชแต่รายละเอียดหรือส่วนประกอบจะเป็นมอญทวารวดี เช่น เครื่องดนตรีหรือการพากย์จะออกสำเนียงมอญ (สำเนียงสุพรรณ)

คลิปสำเนียงมอญในละครพันทาง
https://youtu.be/7g_xRYFGwjM

การพากย์โขนในสมัยอยุธยา สำเนียงที่คนในอาณาจักรอยุธยายุคนั้นใช้กันเป็นสำเนียงของมอญ ตัวอย่างในละครไทยที่ใช้คำว่า "ออ" นี่ก็สร้อยสำเนียงของคนมอญ

ศิลปะการเล่นโขนเป็นวัฒนธรรมของละโว้ (เขมร) เพราะอยุธยายุคแรกเริ่มยังเป็นของพวกเขมรละโว้ แต่เมื่อพวกสุพรรณเข้ามายึดอยุธยาต่อจากละโว้ จึงเอาศิลปะการเล่นโขนมาเป็นของตน และใช้สำเนียงมอญทวารวดีมาร้องโขน

และผลตรวจ DNA คนไทยก็มีผลออกมาแล้วว่าคนไทยภาคกลางบริเวณนครปฐมหรือจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ ล้วนมีเชื้อสายมอญเป็นหลัก แถมเป็นประเภท Cultural Diffusion กล่าวคือ เป็นคนมอญที่หันมาพูดภาษาไท (ไม่ใช่เป็นคนไทที่มีเชื้อสายมอญ)

คลิป DNA เธอ เขา เรา ใคร คนไทยมาจากไหน (นาทีที่ 49:00 เป็นต้นไป)
https://youtu.be/Fuf4xKxx0-o

__________________

บุคคลสำคัญในพุทธศาสนาของรามัญ

1."ตปุสสะ" กับ "ภัลลิกะ" (ตะเป๊า-ตะปอ)

ตะเป๊า ตะปอ (ตปุสสะ ภัลลิกะ) พ่อค้าวาณิชสองพี่น้องชาวรามัญ ได้เข้าเฝ้าถวายข้าวสัตตุแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ และเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยข้าวสัตตุนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงได้ลูบพระเศียรซึ่งมีพระเกศาติดพระหัตถ์มาด้วย 8 เส้น แล้วทรงประทานพระเกศานั้นแด่สองพี่น้องเป็นสิ่งแทนพระองค์ เพื่อน้อมนำถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อันเป็นมงคลชีวิต สองพี่น้องได้นำพระเกศานั้นกลับมาถวายกษัตริย์แห่งรามัญประเทศนามพระเจ้าเอิกกะลาปะ (พระเจ้าโอกกลปะ) พระองค์โปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์เละเกิ่ง (ชเวดากอง) ประดิษฐานไว้ยังรามัญเทศะสืบมา

ด้วยเหตุนี้ ตะเป๊ากับตะปอจึงนับว่าเป็นอุบาสกคู่แรกของโลก

2.พระพุทธโฆษะ

ในปี พ.ศ. 956 พระพุทธโฆษะ ชาวเมืองสุธรรมวดี (สะเทิม) ในรามัญประเทศ ผู้เดิมเป็นศิษย์แห่งมหาฤๅษีปตัญชลี แล้วต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของท่านมหาสถวีระ เรวตะ และเป็นผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคอันเลื่องชื่อ ได้เดินทางมายังเมืองนครไชยบุรี เชียงแสน แคว้นโยนก เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู มหาศักราช 335 พร้อมกับได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุ 16 องค์ มาถวายแก่พระเจ้าพังคราช ซึ่งได้จัดสร้างพระสถูปเจดีย์ พระธาตุจอมทองและพระธาตุดอยกิตติขึ้น

พระพุทธโฆษะท่านนี้ เป็นผู้แต่งคัมภีร์อรรถสาลินี (อัฏฐสาลินี) ซึ่งได้กล่าวพยากรณ์ว่าด้วยการโคจรดาววิปริต พักร์ มณฑ์ เสริด ที่ใช้กันอยู่ในตำราโหราศาสตร์ไทยในปัจจุบัน

จากรายละเอียดที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าชนชาติไทยมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เริ่มต้นในครั้งพุทธกาลมาโดยลำดับ และวิชาโหราศาสตร์ไทยก็ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลเป็นเวลากว่า 2,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ-ทวารวดี (รามัญโบราณ) จนได้มีพัฒนาการมาเป็นเอกลักษณ์ของไทยโดยเฉพาะ จึงเป็นที่น่าภาคภูมิใจและสมควรที่จะรักษามรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยอันแฝงอยู่ในวิชาโหราศาสตร์ไทยเอาไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลานไทยสืบไป

ข้อมูลของพระพุทธโฆษะอีกแหล่งหนึ่ง
กล่าวว่า...

พระพุทธศักราชล่วงได้ 949 ปี มีพระมหาเถระองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระพุทธโฆษะ เป็นชาติรามัญ มีบ้านเดิมอยู่เมืองสะเทิม
(พม่าเรียกว่า "ตะโท่ง") อยู่ใกล้กับเมืองเมาะลำเลิง ประเทศพม่าในปัจจุบัน

พระพุทธโฆษะนี้ ท่านได้ออกจากเมืองรามัญลงสำเภาไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา จนมีความรู้พระพุทธศาสนาจบพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน ก็ได้กลับมาสู่รามัญประเทศของตน ท่านได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศรามัญและประเทศพม่าตามลำดับ แล้วได้เดินทางเข้ามาจนถึงเมืองโยนกเมืองเชียงแสนในสมัยพระเจ้าพังคราช นอกจากพระพุทธโฆษะจะนำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ในนครโยนกแล้ว ท่านยังได้อัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามาด้วย 16 องค์ เป็นอัฏฐิหน้าผาก มีขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ได้แบ่งพระบรมธาตุขนาดใหญ่ 1 องค์ ขนาดกลาง 2 องค์ และขนาดเล็ก อีก 2 องค์ ถวายแก่พญาเรือนแก้ว ส่วนที่เหลือได้ถวายแก่พระเจ้าพังคราช พระเจ้าพังคราชได้นำพระโกฏเงิน พระโกฏทอง และพระโกฏแก้ว มารองรับพระบรมธาตุทั้ง 11 องค์นั้น ทรงมอบให้พระเจ้าพรหมมหาราช นำไปประดิษฐานก่อพระเจดีย์ไว้ที่บนดอยน้อยหรือจอมกิตติ ซึ่งเป็นดอยที่พระพุทธเจ้าทรงประทานเกษาธาตุ บรรจุไว้ก่อนแล้วในสมัยโน้น

ปล.คัมภีร์วิมุตติมรรคเป็นตำราปฏิบัติธรรมแบบล้ำลึก มุ่งไปทางดับกิเลสก็ได้ ทางอิทธิฤทธิ์ก็ได้ เป็นตำราของสำนักอภัยคีรีวิหารที่เมืองลังกา ซึ่งเป็นสำนักมหายานท่ามกลางดินแดนเถรวาท พระโพธิธรรม (พระตั๊กม้อ) ก็เคยแวะที่อภัยคีรีก่อนจะมาประกาศธรรมและสอนวิทยายุทธที่จีน (บางตำนานว่าท่านแวะปักษ์ใต้หรือมลายูด้วย แล้วถ่ายทอดมวยกับสีลัต) 

เชื่อกันว่าพระพุทธโฆษะท่านน่าจะเคยได้อ่านคัมภีร์วิมุตติมรรคมาก่อนที่ท่านจะแต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์อิทธิ (ฤทธิ) ของฝ่ายเถรวาท

__________________

“จารึกกัลยาณี” โดยพระเจ้าธรรมเจดีย์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2015-2035) พระมหากษัตริย์แห่งหงสาวดี รับสั่งให้จารึกศิลา 10 หลัก เมื่อปี พ.ศ. 2022 อันเป็นแหล่งอ้างอิงประวัติพระพุทธศาสนาที่สำคัญ โดยระบุว่า “สุวรรณภูมิ” สถานที่ซึ่งสมณทูตของพระเจ้าอโศกทั้งสองได้นำพระไตรปิฎกมาถึงนั้น มีชื่อเรียกว่า “รามัญประเทศ”

ด้วยเหตุนี้ รามัญจึงเป็นผู้ถึงพระพุทธศาสนาก่อนใครในอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...