ปรางค์ ซึ่งเราใช้เป็นเครื่องยอดในศิลปไทยที่ปรากฏในประเทศไทยมี ๓ ชนิด
ชนิดที่ ๑ คือ ปรางค์ทรงจอมภูเขาหรือทรงศิขร เป็นปรางค์สมัยลพบุรีและสมัยสุโขทัย สืบเนื่องจากเขมรได้เคยปกครองประเทศไทยมาก่อน จึงได้มีการสร้างปรางค์เป็นเทวสถานของเทพ แต่มาภายหลังเรานำมาใช้ในทางพุทธ เราจึงเอาเทวรูปออกแล้วนำพระพุทธรูปเข้าไปใส่แทน
ชนิดที่ ๒ คือปรางค์ทรงงาเนียมหรืองาช้างหนุ่ม เป็นปรางค์สมัยอยุธยา
ชนิดที่ ๓ คือปรางค์ทรงฝักข้าวโพด เป็นปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์
ปรางค์ในสมัยสุโขทัยนั้นเป็นเครื่องยอดที่แท้จริงคือใช้เป็นยอดอาคารของสถูปเจดีย์ แต่ปรางค์ของรัตนโกสินทร์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องยอดปราสาท เช่น ปราสาทพระเทพบิดรเป็นปรางค์ทรงฝักข้าวโพด หรือพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามก็เป็นทรงฝักข้าวโพด เป็นความคิดของสมัยรัตนโกสินทร์ มีลักษณะคือทรงยาวต่างจากทรงงาเนียมสมัยอยุธยาที่จะเป็นทรงสั้น แต่ปลายป้อม เป็นทรงงาช้างหนุ่ม
ฉะนั้นเราจึงมีเครื่องยอดทรงปรางค์อยู่ ๓ ชนิด สามารถนำมาใช้สอยเป็นสถูปเจดีย์หรือนำมาเป็นเครื่องยอดของอาคารสถาปัตยกรรมไทยได้การนำเครื่องยอดทรงปรางค์ไปใช้เป็นยอดอาคารจะต้องศึกษาให้เข้าทรงเข้าแบบไม่ใช่การตัดเฉพาะส่วนยอดมาเสียบลงบนหลังคา ต้องศึกษาและออกแบบให้ประสานเสียงในศาสตร์ศิลปเพื่อความงาม รูปแบบนี้เป็นเพียงทางเดินของความคิด แต่เราจะเลือกแบบมาใช้ได้ตามปรัชญาความคิดของแบบนั้น เราต้องดูความเหมาะสมด้วย
ตามรูปแบบที่แสดงมานี้ ส่วนยอดเหนือจอมโมที่เราเรียกว่า อิศวรวัชระ คืออาวุธ ของพระอิศวรมาปักลงยอด เพราะว่าปรางค์เป็นเทวสถานของฮินดู พระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก เพราะฉะนั้นอาวุธของท่านจึงเรียกว่า อิศวรวัชระ คือเมื่อยกขึ้นแล้วมีอำนาจ แสดงถึงผู้มีอำนาจ ถ้าตรีศูลอันนั้นเป็นของหนุมานคือมีสามง่าม จึงต้องเรียกตามฐานะของผู้ใช้
___________________________________
ภาพ : พระปรางค์รูปแบบต่างๆที่พบในประเทศไทย
ที่มาของบทความ : “เครื่องยอดในสถาปัตยกรรมไทย” (วารสารหน้าจั่ว ฉบับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ปีที่ 5 ฉบับที่ 5 กันยายน 2550) / เอกสารประกอบการสอน ของ อ.ประเวศ ลิมปรังษี วิชาการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น