06 มิถุนายน 2565

#ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวตนของเราเป็นอนัตตา


-----------------
เราจะยึดกรรมฐานไหนมาให้ใจของเราเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว คือสมาธิกรรมฐานไหน 
ก็ได้พูดให้ฟังว่า กำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นหลัก อันนี้คือเป็นเบื้องต้นของสมาธิ
 
ส่วนปัญญานี้กว้างขวาง 
พิจารณาปัญญาเราพิจารณาแนวไหน 
แนวรูป แนวเวทนา แนวสัญญา แนวสังขาร แนววิญญาณ มันมีหลายแนว เมื่อพิจารณาถึงด้านปัญญาแล้วมีหลายแนว
 
#แนวรูป
ก็เห็นพิจารณาให้ร่างกายเป็นอสุภะปฏิกูล อันนี้ก็คือพิจารณาให้เกิดปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริงในแนวรูป
 
#แนวเวทนา 
เวทนาทางใจ เวทนาทางกาย 
เราก็พิจารณาให้รู้เห็นคือเวทนา ทางกายและทางใจ ทางกายคืออะไร ทางกายก็นี่แหละ เรานั่งเข้ามา ปวดแข้ง ปวดขา ปวดเหน็บ ปวดเมื่อย ร้อน หิวกระหายอย่างนี้เป็นต้น อันนี้กาย ส่วนใจนั้นคืออะไร สิ่งที่มากระทบทางใจ เราเป็นทุกข์ ทุกข์ใจที่คนฆ่าตัวเองตายมันมีมากหลากหลาย เพราะเหตุไร เพราะทุกข์ทางใจ นี่ก็เวทนาเหมือนกัน เวทนาทางใจ นี่แหละเวทนามันเกิดทางกายและทางใจ
 
#สัญญา 
คือความจำได้หมายรู้ สัญญานั้นก็เป็นอนิจจังเหมือนกัน บางทีก็จำได้ดี บางทีก็เสื่อมจากความจำ สังขารคือความปรุงแต่ง สังขารก็มี ๒ สังขารร่างกายส่วนหนึ่ง
 
#สังขาร
คือแนวความคิด ความปรุงความแต่งนั้นส่วนหนึ่ง
 
#วิญญาณ
คือความรับรู้ รับรู้เรื่องราวต่างๆ อันนี้ก็คือเรื่องวิญญาณ รู้แล้วก็ รู้เรื่องนั้น รู้เรื่องนี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน
 
นี่แหละ อันนี้ก็คือการพิจารณาทางนามธรรม ทางด้านจิตใจ หรือนามธรรม รูปธรรมคือร่างกาย นามธรรมคือแนวความคิดที่มองไม่เห็น แต่มีความรู้สึกอยู่ ถ้าพิจารณาทางด้านปัญญามีมากหลากหลายที่เราจะพิจารณา ใจของเราไปติดไปข้องเรื่องอะไร ในรูป หรือในเวทนา หรือในสัญญา หรือในสังขาร หรือเรื่องวิญญาณ นี่แหละ อันนี้ก็ต้องพยายามตามคิดค้น ใช้สติใช้ปัญญา
 
สรุปแล้วก็คือ 
ให้ม้วนลงที่เดียว คือว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นอนัตตา เมื่อเราพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว อันไหนก็ไม่เที่ยง อันไหนก็เป็นทุกข์ มันจะเป็นตัวตนของเราได้อย่างไร เป็นอนัตตา นี่แหละ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ของพวกเรา แนะนำ สั่งสอน ก็ลงในลักษณะอย่างนี้

#หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา “อุปนิสัยในชาติที่แล้ว”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...