07 มิถุนายน 2565

มหัศจรรย์แห่งความเงียบ

รู้ไว้ใช่ว่า...ใส่บ่าแบกหาม
“มหัศจรรย์แห่งความเงียบ”   
      ตราบใดที่สมองยังคิดฟุ้งซ่าน ไม่มีทางที่จะเข้าถึงความมหัศจรรย์แห่งจิต ดังที่หลวงปู่ดุลย์ เคยสอนไว้ว่า "คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงได้รู้” สภาวะที่เรียกว่าสุญญตาจึงสำคัญมากต่อการบรรลุ

     วิธีหยุดคิดมีสองวิธีคือ ทำสมาธิจนถึงฌาน 4 และฝึกวิปัสสนาจนรู้เท่าทันความคิด ทั้งสองวิธีทำให้สมองติดต่อกับจักรวาลได้เหมือนกัน เพียงแต่ถ้าใช้สมาธิไปกดความคิด จะมีกำลังสติน้อย เมื่อเข้าถึงข้อมูลอันมหาศาลของจักรวาล แต่ขาดพลังปัญญา จะไม่สามารถทำความเข้าใจได้

       ความเงียบภายในใจ เป็นเรื่องสำคัญมากในการติดต่อกับจิตจักรวาล ท่าน ติช นัท ฮันห์ เคยสอนไว้ว่า “การฝึกสตินั้นง่ายมาก เธอทำจิตให้สงบ หยุดเสียงรบกวนในใจเพื่อจะได้รับฟังเสียงอันมหัศจรรย์แห่งชีวิต แล้วเธอ จะสามารถเริ่มต้นใช้ชีวิตอย่างแท้จริงและลุ่มลึก”

        พระอาจารย์สุเมโธภิกขุ ได้อธิบายถึงเสียงแห่งความเงียบไว้มีความว่า “เมื่อท่านสงบลงแล้ว ท่านจะได้ยินเสียงในจิตของท่าน เมื่อท่านเริ่มได้ยินเสียงแห่งความเงียบ แสดงว่ามีความว่างและมีความสงบในจิต”

        ท่านเล่าจื๊อ ปราชญ์แห่งลัทธิเต๋าได้เคยกล่าวไว้ว่า “ความเงียบทำให้เราคืนสู่ต้นกำเนิด เป็นเสมือนยุทธวิธีที่เหนือกว่าความพยายามอื่นๆ ความสงบนี้เองจะนำพามนุษย์เราไปสู่การหยั่งรู้ด้วยปัญญาอีกขั้นหนึ่ง”

         ดร.ไซนา นิโคลา (.Zeina Nicola ) แห่งศูนย์วิจัยเสริมสร้างสมองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี พบว่า ในกลุ่มทดลองที่อยู่กับความเงียบเป็นเวลาเจ็ดวัน มีการสร้างเซลล์สมองใหม่ๆขึ้นมาจำนวนมาก เธอสันนิษฐานว่า ยิ่งเงียบสมองยิ่งต้องการได้ยิน จึงสร้างเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองส่วนฮิบโปแคมปัส ซึ่งทำหน้าที่ในด้านความจำและการเรียนรู้

          สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความเงียบของจิตมากที่สุด ไม่ใช่เสียง แต่เป็นอารมณ์ การตัดอารมณ์ต่างๆทำได้ยากมาก ซึ่งนอกจากอารมณ์ตัวแม่อย่าง รัก โลภ โกรธ หลง แล้ว ยังมีอารมณ์ที่เรียกว่านิวรณ์ห้า อันได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ความเกียจคร้าน ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย 

          ธรรมชาติสร้างสมองซีกขวาให้สามารถติดต่อกับจิตใต้สำนึกและจิตเหนือสำนึกได้ แต่ธรรมชาติก็สร้างสิ่งที่ใช้สกัดการเข้าถึงมาด้วย สิ่งนั้นก็คือทำให้สมองซีกขวาเต็มไปด้วย “อารมณ์” ดังนั้นการจะเข้าถึงจิตใต้สำนึก ควรรู้จักวิธีการกำจัดอารมณ์ทุกชนิดออกจากใจ 

         มนุษย์เรามีความรู้สึกตัวกู ของกู สูงมากที่สุดในจักรวาล ถ้าตัดความรู้สึกแห่งอัตตาได้ อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง ก็จะลดลง ความรู้สึกตัวกู ทำให้เกิด ผัสสะ เวทนา ตัณหา เมื่อเห็นสิ่งใด ก็อยากได้เป็นของตัว เมื่อได้ตามปรารถนาแล้วเอาจิตเข้าไปยึดเหนี่ยว ก็จะเกิดเป็นอารมณ์รัก ความสุขจากอารมณ์รัก ทำให้อยากได้เพิ่มอีก กลายเป็นอารมณ์โลภ แต่เมื่อใดสิ่งที่มี สูญเสียหรือถูกแย่งชิงไป ก็จะเกิดอารมณ์โกรธ หรือถ้าไม่ถูกแย่งชิง ก็ดื่มด่ำกับอารมณ์รัก จนกลายเป็นอารมณ์หลง เพราะฉะนั้นความรู้สึก ตัวกู ของกู คือต้นเหตุของอารมณ์ทั้งหมด 

     งานวิจัยของ ด็อกเตอร์แอนดรูว์ นิวเบิร์ก (Andrew Newberg) แห่งมหาวิทยาลัยโทมัส เจฟเฟอร์สัน พบว่า การฝึกสมาธิทำให้สมองส่วนตัวตนหยุดทำงานลง

     พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ สอนไว้ว่า “จิตนี้เลื่อมเป็นประภัสสร แจ้งสว่างมาแต่เดิม แต่อุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองมาปกคลุมหุ้มห่อ จึงทำให้จิตมิส่องสว่างได้” ซึ่งอุปกิเลสนี้ ก็คืออารมณ์นั่นเอง อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ โลภะ ผสมรวมกันในอัตราส่วนต่างๆ ทำให้เกิดอารมณ์แยกย่อยขึ้นมาเป็น ตระหนี่ พยาบาท โกรธ อิจฉา ประมาท น้อยใจ ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนมีปกคลุมหุ้มห่อจิตเต็มไปหมด การทำสมาธิโดยไม่กรองอารมณ์จึงไม่มีทางเข้าถึงจิตที่เลื่อมเป็นประภัสสรได้...เครดิต นพ.สม สุจีรา

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...