31 มกราคม 2561
ฆราวาสบรรลุธรรม มีจริงในพุทธกาล สาธุ
ความหมายของคำว่า "พระ" กับ "สมมุติสงฆ์"
หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุงตอบปัญหาธรรม
30 มกราคม 2561
กระแสนิพพาน
จิตดวงเดียวนี้แหละที่จะพาไปเกิด เกิดเป็นภพใดชาติใดกำเนิดใดก็ตาม ก็ตัวนี้แหละเป็นตัวการไม่สงสัย เมื่อธรรมชาติที่จะพาให้เกิดได้สิ้นซากลงไปแล้ว เหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เท่านั้น ผู้นี้แลเป็นผู้หมดภัย ผู้นี้แลเป็นวิวัฏจักร ไม่เป็นวัฏจักรเหมือนแต่ก่อน กลับมาเป็นวิวัฏจักร หยุดแล้วซึ่งความหมุนเวียน เหลือแต่วิวัฏจักรคือไม่ต้องหมุน ไม่ต้องมีสิ่งใดมายุแหย่ก่อกวน มีแต่ความสุขล้วนๆ ภายในใจ
.
ร่างกายจะแตกก็แตกไป เพราะเป็นเหมือนโลกทั่วไป อันนี้เราหยิบยืมสมบัติของโลกมาใช้ จะให้คงเส้นคงวาอยู่ได้อย่างไร ดิน น้ำ ลม ไฟ มาผสมกันเข้ามีจิตเข้าไปยึดครองกลายเป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา เราก็ยึดถือดิน น้ำ ลม ไฟ ว่าเป็นเราเป็นตัวของเรา หากเราไม่รอบคอบเมื่อสิ่งนี้วิกลวิการไปเราก็เดือดร้อนเสียใจ เป็นโรคภายในใจขึ้นอีก หนักยิ่งกว่าโรคภายในกายเกิดขึ้นในเบื้องต้นเป็นไหนๆ
.
เมื่อรู้แจ้งแทงทะลุสิ่งเหล่านี้แล้ว ถึงกาลจะไปก็ไป เมื่อยังไม่ไปก็เยียวยารับผิดชอบกันไป เมื่อถึงกาลแล้วปล่อยวางลงตามเป็นจริง เพราะตาข่ายคือญาณความรู้แจ้งแทงตลอดนั้น ได้รอบไปหมดแล้วกับสภาพเหล่านี้ จะตายเมื่อไรก็ตายได้ไม่เสียดาย จะยังอยู่ก็ไม่เป็นกังวลยึดถือสิ่งใด
.
ความตายก็ดี ความยังมีชีวิตอยู่ก็ดีของพระขีณาสพทั้งหลายผู้สิ้นกิเลสแล้ว จึงมีน้ำหนักเท่ากัน ตายไปท่านก็ไม่ได้มีข้อหนักใจ จะยังอยู่ท่านก็ไม่มีข้อหนักใจ เพราะตายไปก็ไม่มีอะไรเสีย ความบริสุทธิ์ของท่านไม่ใช่ความตาย เรื่องความตายความสลายเป็นเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ต่างหาก จิตที่บริสุทธิ์เป็นจิตที่นอกจากขันธ์แล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียกันอีก ท่านจะไปเสียใจกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไรกัน ท่านจึงไม่เสียใจ มีชีวิตอยู่ท่านก็ไม่หวังเอาอะไรเพิ่มอีกจากธาตุขันธ์นั้น ให้ยิ่งไปกว่าความบริสุทธิ์นั้น
.
เพราะฉะนั้น ความเป็นอยู่กับความตายไปของพระอรหันต์ ถ้าไม่แยกแยะออกไปสู่ประโยชน์ของประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ท่านมีน้ำหนักเท่ากัน ถ้าแยกแยะความเป็นอยู่เพื่อประโยชน์ประชาชนนั้น ความเป็นอยู่มีน้ำหนักมากกว่า คือท่านมีชีวิต ความเป็นอยู่นานเพียงไร โลกก็ได้รับผลประโยชน์จากท่านด้วยการแนะนำสั่งสอน เขากราบไหว้บูชาทำบุญให้ทาน เขาก็ได้รับผลประโยชน์จากเนื้อนาบุญอันวิเศษวิโสจากท่าน ท่านจึงถือว่า การยังมีชีวิตอยู่มีน้ำหนักมากกว่าการตายไปเสีย ทั้งนี้ท่านเพื่อประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อท่าน ตายไปก็คือธาตุ สลายไปก็คือธาตุ ยังมีชีวิตอยู่นี้ก็คือดิน น้ำ ลม ไฟ ใจก็คือใจที่บริสุทธิ์รู้รอบขอบชิดแล้ว ไม่ยึดไม่ถือ อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นไม่มี จึงเป็นเหมือนกับตายหรือไม่ตายก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน
..........................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดเขาน้อยสามผาน จันทบุรี
เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๓
"จิตตภาวนาเป็นมหากุศล"
๓๐ มกราคม รำลึกคล้ายวันนิพพานหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เคยปรารถนาพุทธภูมิ เป็นพระพุทธเจ้า
ธรรมะก่อนนอน
หลวงพ่อฤาษี เคยเกิดเป็นนายพราน
ต่อมาได้เป็นกษัตริย์ ในสมัยสมเด็จพระพุทธทีปังกร
มีเรื่องที่น่าสนใจมากจากพระดำรัสของสมเด็จพระพุทธทีปังกร เรื่อง เวรและกรรม การฆ่ากันด้วยการจองเวรไม่เป็นเหตุให้ลงนรก แต่ก็ต้องชดใช้เวรที่ทำด้วยการถูกฆ่า หมุนเวียนกันไปมาถึง ๕๐๐ ชาติ
วันนี้นอนๆ ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ (พักอยู่ที่เมืองโอ๊คแลนด์ เดือนมีนาคม ๒๕๒๙) ถ้าอยู่คนเดียวไม่ได้ละ ภาวนาไม่ขาด พอจิตสบายก็ขึ้นไปหาสมเด็จองค์ปัจจุบัน ที่พระจุฬามณี ท่านคุยประเดี๋ยว ก็บอกไปนิพพานเถอะ พอไปถึงนิพพาน ท่านก็คุย
ท่านถามว่า “นึกออกไหม เธอเคยเกิดสมัยสมเด็จพระพุทธทีปังกรนะ”
ก็บอกว่า “นึกไม่ออก ไม่เคยคิด พระพุทธเจ้าข้า”
ท่านบอกว่า “ดินแดนนี้ สมัยนั้นเธอเคยเกิดเป็นนายพรานอยู่”
สมเด็จพระพุทธทีปังกรองค์นี้ ท่านบอกว่า ถอยหลังจากสมเด็จพระปุทุมมุตตระไป ๓ สมัย หลายอสงไขยกัป ไม่ใช่เล่นๆ นะ
ท่านบอกว่า สถานที่นี้มีภูเขาไฟเยอะ ท่านเปรียบเหมือนตะเกียง แต่ขอบเขตของแผ่นดินมันไม่ได้อยู่แค่นี้มันยาวไปอีกหน่อย อีตอนนั้นก็เป็นป่าบ้าง ไม่ใช่ป่าบ้าง ถามท่านเรื่องพาหนะ ท่านบอกว่า สมัยนั้นมีธนูยนต์ ธนูยนต์ คือเครื่องบินหรือจรวด
ตอนนั้นพรานก็ไม่ใช่แต่งตัวนุ่งผ้าเตียว แต่งตัวสวยมีบริวารเป็นแสนเป็นหัวหน้าคน มีคนเคารพนับถือมาก แต่ไม่ใช่เป็นพรานอย่างเดียวนะ ก็ทำการเกษตร มีการทำนาด้วย แต่ว่าการฆ่าสัตว์ ก็เลือกเฉพาะสัตว์แก่ คือ หมายความว่าสัตว์ยังหนุ่มสาวไม่ฆ่า ถ้าสัตว์แก่แล้วมันใช้งานไม่ได้ ไม่เป็นประโยชน์จึงฆ่า
ต่อมาเขาประกาศว่า เวลานี้พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันท่านเป็นดาบส เป็นนักบวช ก็พบกับท่านอยู่เสมอ อยู่แดนเดียวกัน และท่านก็สอน แต่ว่าเรื่องการฆ่าสัตว์ท่านไม่สอน เพราะอะไรรู้ไหม ขัดคอกัน
ท่านก็บอกว่า “นายพรานใหญ่ วันนี้พระพุทธเจ้าเสด็จแล้ว”
ถามว่า “พระพุทธเจ้าเป็นใคร..?”
ท่านก็คุยบอกว่า
“พระพุทธเจ้ามีความวิเศษมาก เหาะเหินเดินอากาศได้ นึกยังไง เป็นยังงั้น มีความศักดิ์สิทธิ์ พูดจาไพเราะ”
ก็ตกลงไปกับท่าน เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พอกราบท่าน ๓ ครั้ง พอเงยหน้าขึ้นมา ท่านถามว่า “สัตว์แก่ไม่มีประโยชน์รึ ?”
ตกใจเลย ก็กราบทูลว่า
“ที่ฆ่าสัตว์แก่เพราะสงสารมัน เห็นว่ากินไม่ทันเขา สัตว์แก่ใช้งานไม่ได้แล้ว อยู่ก็ลำบาก ถูกสัตว์หนุ่มสัตว์สาวรังแก แย่งที่ทำมาหากิน”
ท่านก็ถามว่า
“สัตว์แก่นี่พอใจในชีวิตไหม และสัตว์แก่ตัวไหนต้องการตายบ้าง หันไปถามคนข้างๆ ซิ ถามญาติผู้ใหญ่ของเธอว่าอยากตายหรือยัง”
ก็หันไปถามลุง เห็นหน้าชัดๆ ท่านแก่มาก เวลานั้นอายุตั้งแสนปีนะ เป็นเด็กเท่าไร ๒ หมื่น ๕ พันปี ถามผู้ใหญ่ท่านก็บอกว่า ท่านไม่อยากตาย เมื่อแก่แล้ว ท่านก็มีชีวิตอยู่กับลูกหลาน
พระพุทธเจ้าหันมาบอก
“ไม่มีใครเขาอยากตายหรอก การที่เธอทำแบบนี้ ถึงว่าเธอทำตามความจำเป็นก็แล้วแต่ แต่ว่าเขายังไม่พอใจในการตาย”
พูดตามภาษา เราก็ทำไม่ถูก แต่ท่านไม่หักโหม พระพุทธเจ้าไม่หักโหม ยังพูดแนะนำต่างๆ ว่าการประกอบอาชีพ ไม่มีความจำเป็นต้องฆ่าสัตว์ ผักหญ้าเราหากินเองได้
แล้วท่านก็ถามว่า
“เธอนึกออกไหม เธอเคยปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนนะ”
มาแล้ว หมัดหนักเข้ามาแล้ว ทีนี้ต่อยหนัก ท่านบอกว่า
“ยังอยู่แค่อสงไขยเศษ บารมีเธอก็จะเต็มพุทธภูมิ เขาไม่ฆ่าสัตว์กันนะ”
ก็กราบทูลท่านว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบ”
แล้วท่านก็ตรัสว่า
“ถ้าไม่ทราบก็จงทราบเสีย เวลานี้พระพุทธเจ้าบอกเธอนะ เธอเคยเป็นลูกตถาคตมาก่อน เธอเป็นลูกตั้งแต่สมัยเป็นช้าง แล้วตอนเป็นคนก็หลายสมัย ลูกพระพุทธเจ้าเขาไม่ฆ่าสัตว์กันนะ”
โดนอย่างหนักเชียวนะ ท่านว่าตามตำรับนะ ลูกพระพุทธเจ้าไม่ฆ่าสัตว์ แล้วท่านก็ตรัสต่อว่า
“พระโพธิสัตว์ย่อมไม่ทำบาป ถ้าหากว่าจะทำบาปก็เพื่อความอยู่เป็นสุขของคนส่วนมาก คนส่วนน้อยรังแกอย่างนี้อาจจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ ทีนี้พระโพธิสัตว์ฆ่าสัตว์แก่ที่ไม่อยากตาย สัตว์แก่ตายไป ๑ ตัว สัตว์หนุ่มสัตว์สาวที่เป็นลูกหลานมันก็จะเสียใจมาก กำลังใจจะเสีย”
แล้วท่านก็ตรัสต่อว่า
“วาสนาบารมีเธอมีมาก ที่ฆ่ามาแล้วเป็นสัตว์ที่เนื่องถึงกัน สัตว์ที่เธอเคยฆ่าเขา เขาเคยฆ่าเธอ แลกกันไปแลกกันมา เวลานี้ สัตว์ประเภทนั้นมันหมดแล้ว ถ้าทำต่อไปมันไม่ใช่เวร แต่เป็นกรรม เวรนั้นไม่ลงนรก เกิดมาเพื่อฆ่ากัน ชาตินี้เราฆ่าเขา ชาติหน้าเขาฆ่าเรา เปลี่ยนกันแบบนั้น ต่อไปนี้มันเป็นกฏของกรรมไม่ใช่เวร มันต้องลงนรก”
ท่านอธิบายเรื่องนรกเสียละเอียดละออเลย ขณะท่านพูดไป ท่านพูดช้าๆ เสียงเพราะมาก ท่านยิ้มตลอด สมเด็จพระสมณโคดม ท่านบอกว่า ท่านยิ้มกับเธอเท่านั้นนะ กับฉันไม่ค่อยยิ้มหรอก (สมัยเป็นดาบส) ท่านบอกว่า
“ที่ท่านยิ้มมากๆ ก็เพื่อจะเอาชนะพรานแก่ เพราะนิสัยของเธอชอบคนยิ้ม”
ท่านรู้นิสัย พอท่านพูดจบก็กราบ สั่งลูกน้องเอาธนู หอก ดาบ แร้ว เอามาถวายพระพุทธเจ้าหมด แล้วท่านก็รับประเคน ท่านรับประเคนแล้วถามว่า
“เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือฆ่าสัตว์ใช่ไหม” ก็บอกว่าใช่
“เธอถวายตถาคตหรือ” ก็บอกว่าใช่
ท่านบอก “ตถาคตเป็นพระพุทธเจ้านะ แต่ตถาคตจะรับ” แล้วท่านก็สั่งเผาเดี่ยวนั้น
ท่านตรัสต่อไปว่า
“วาสนาบารมีของเธอก็ดี เวลานี้ในเขตนี้ไม่มีกษัตริย์ แต่ว่าเธอก็สามารถคุมคนได้เป็นแสน ควรจะประกาศตนเป็นกษัตริย์เสีย”
ทุกคนที่นั่งป๋ออยู่นี่ พูดเก่งยกมือถามพระพุทธเจ้าว่า
“กษัตริย์ต้องเป็นยังไง พระพุทธเจ้าข้า”
เวลาพูดท่านยิ้มตลอดเวลา ท่านก็อธิบายถึงเรื่องการเป็นกษัตริย์ว่า ต้องปกครองคนโดยธรรม แนะนำลีลาของการเป็นกษัตริย์ และแนะนำว่ากษัตริย์ต้องทรงศีล ๕ มีทศพิธราชธรรม มีทาน มีศีล เป็นองค์ประกอบ ไม่มีการโกรธละทีนี้
ที่ท่านพูดแบบนั้นนะ ที่แรกก็ไม่เข้าใจ องค์ปัจจุบันท่านอธิบายเมื่อตอนบ่าย ค่อยเข้าใจ ท่านบอกว่าให้ช่วยประกาศพระศาสนา ลูกน้องของเราทั้งหมดก็อยู่ในเขต ต้องช่วยกัน
ถามว่าเครื่องแต่งกษัตริย์มีอะไรบ้าง ท่านบอกไม่มีความสำคัญ เวลานี้ไม่จำเป็น ไม่มีก็ไม่เป็นไร และท่านก็บอกว่าลีลาของการเป็นกษัตริย์ ต้องมีอะไรบ้าง กษัตริย์ถือว่าเป็นหัวหน้าคน และการเป็นหัวหน้าคนต้องป้องกันมิให้คนเบียดเบียนกัน ให้ตั้งอุดมการณ์ให้ดี
ต่อมาก็ยอมรับเป็นกษัตริย์ ท่านตั้งชื่อให้ยาวเลย ปัญจสีลาบรมราชา ก็ว่าเรื่อย ทศพิธราชธรรม และลงท้ายว่า ธรรมราชา แปลว่า พระราชา ผู้ทรงธรรมอย่างยิ่ง เสร็จเลย ท่านมุ่งห้ามฆ่าสัตว์กัน ต่อจากนั้นก็ให้พระอรหันต์ ๕ องค์ แต่มีหัวหน้า ๑ องค์อยู่แนะนำกษัตริย์ในการปกครอง มีอะไรก็ถามพระอรหันต์องค์นั้น เป็นอัครสาวก
เมื่อเป็นกษัตริย์ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องสร้างบ้านสร้างเมือง ก็ถามท่านว่าการสร้างบ้านสร้างเมืองทำอย่างไร ที่ไหนจึงจะดี
ท่านก็บอกหิมวันตประเทศ น่ะดีที่สุด ให้ตั้งพระราชฐานที่นั่น หิมวันตประเทศอย่านึกว่าเป็นป่าซะหมด มันเป็นป่าเขียวชะอุ่มมีต้นไม้มากเป็นป่าที่มีหมอก มีที่ทำมาหากิน หิมวันตประเทศตอนนั้น อยู่ห่างจากที่นี่ให้ล่องใต้ไป ๓๐ กม.
ทีนี้มาว่ากันถึงคน ผิวพรรณของคนเป็นคนขาวเหลืองหมด และทรวดทรงดี จากนั้นก็ครองราชสมบัติอยู่ ๕ หมื่นปี สมเด็จองค์ปัจจุบันท่านบอกจริงๆ ตั้ง ๕ หมื่น ๕ พันปี
การปกครองก็มีความเป็นสุข เพราะกษัตริย์ไม่ใช่นายคน มี อปจายนกรรม คือการอ่อนน้อม เมื่อเจอคนที่มีอายุแก่กว่า ต้องยกมือไหว้ ท่านบอกว่าการแก่กว่าต้องยกมือไหว้ ท่านบอกว่าการเป็นกษัตริย์ต้องทำแบบนั้น จึงจะชนะคนทุกชั้น ทุกประเภท เราชนะด้วยความดี
พูดถึงอาชีพเวลานั้น ก็ต้องเลิกการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่ท่านก็สั่งไว้ว่า ถ้าต้องการกินเนื้อสัตว์ ก็ให้ไปซื้อจากเขา เราจะไม่บาป เพราะเราไม่ได้สั่งให้เขาฆ่า ไม่ได้ผลัดกันสั่ง
และท่านก็บอกว่า การเป็นกษัตริย์สมัยนั้น ดินแดนกว้างขวางมาก มีคนเคารพนบนอบมาก การรบราฆ่าฟันซึ่งกันและกันไม่มี รวมความว่ากษัตริย์ในสมัยนั้นไม่รู้จักคำว่า “รบ” รู้จักอย่างเดียวว่า ที่ไหนมีความทุกข์ ทำอย่างไรจะมีความสุข ต่างคนต่างช่วยกัน
ถามท่านว่าคนจนมีไหม ท่านตอบว่าคนจนไม่มี นอกจากจะมีความเป็นอยู่เป็นสุข ไอ้สิ่งที่เราต้องการ แก้วและทองมีก็มาก ท่านบอกว่า แก้วก็คือเพชรและพลอย เราก็นำไปแลกเป็นสิ่งของ กับชาติอื่น จากเมืองอื่น เมืองอื่นเขามีความสมบูรณ์ แต่ว่าขาดบางอย่าง เขาขาดของที่เรามี ก็เอาไปแลกกับเขา ของที่เราขาดเขามี ก็เอามาแลกกันไปแลกกันมา
ฉะนั้น คนจนไม่มี มีแต่คนสวย คนสวยนี่ไม่สวยแต่รูปร่าง เห็นหน้ากันมีแต่คนยิ้ม เห็นหน้าก็ยิ้มกันแต่ไกล ยังไม่ทันเห็นยิ้มแล้ว ยังไม่ทันเห็นหน้ายิ้มไว้ก่อน หน้าบึ้งไม่มี
(แล้วหลวงพ่อก็สรุปว่า)
จำได้ไหมว่าถอยหลังจากนี้ไป ๑ อสงไขยกับแสนกัปเศษๆ พวกเราเคยเกิด ณ ที่นี้ (เมืองโอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์) สมัยสมเด็จพระพุทธทีปังกร ท่านบอกว่าต้องการให้ทราบเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกคนทราบว่า
เกิดมาแล้วกี่เที่ยว เกิดมาแล้วเท่าไร จงอย่าลืมว่าเกิดมาแล้วมีตาย ทรัพย์สมบัติที่เราสร้างไว้นี่ เมื่อตายแล้วเราก็หมดสิทธิ์ เกิดมาใหม่ทรัพย์สมบัติมันก็ยังอยู่ แต่เราไม่มีสิทธิ์จะเข้าไป มีหลายแห่งโผล่ไม่ได้ โผล่ถูกผลักใช่ไหม
ลงท้าย ท่านก็สรุป อริยสัจจ์ แบบง่ายๆ
การเกิดจะมีฐานะเป็นยังไงก็ตาม ก็ต้องมีทุกข์ หิวข้าวก็ทุกข์ การประกอบอาชีพก็ทุกข์ ถึงแม้จะมีเครื่องบินขี่ก็ทุกข์ จะมีรถนั่งก็เป็นทุกข์ มันอยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ในร่างกายของเราเอง คือ ความหิว ความต้องการของจิตใจ ถ้าไม่ได้สมความปรารถนาก็เป็นทุกข์
และเวลาที่ทุกคนจะตาย เมื่อตายแล้วทุกคนก็กลับไปสวรรค์และพรหมกันหมด ไม่ไปนรก ท่านบอกว่าที่ไม่ไปนรกเพราะการฆ่าสัตว์ มีเหตุ ๒ ประการ
๑.สัตว์ประเภทนั้นเป็นศัตรูกันมาก่อน และก็จองล้างจองผลาญกันมาก่อน เธอฆ่าฉันได้ ชาติต่อไปถ้ามี ฉันจะฆ่าเธอบ้าง อย่างนี้ต้องแลกกัน ๕๐๐ ชาติ จึงจะหมดเวรนะ
และคราวนั้นไม่ถึง ๕๐๐ ชาติ แค่เพียง ๓๐ ชาติเศษๆ เพราะเดิมที่พบพระอรหันต์ก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี ก็ระงับได้ ถ้าไม่พบพระอรหันต์หรือไม่พบพระพุทธเจ้าระงับ ก็ไม่มีทางระงับได้
อย่างเวร ต้องระงับด้วยการไม่จองเวร แต่ท่านบอกสัตว์ที่จะพึงฆ่าประเภทนั้น มันหมดไปแล้ว และก็หมดตัวจริงๆ ต่อไปถ้าเราไม่ทำเวรไม่ทำกรรม กรรมที่เป็นอกุศลต่างคนต่างระงับ
๒.ช่วงหลังทำบุญอย่างเดียว อันนี้เป็นฌาน ในเมื่อเป็นฌาน เวลาตาย ก็นึกถึงบุญอย่างเดียว ก็ไปสวรรค์บ้าง ไปพรหมบ้าง
สวัสดี แล้วหลวงพ่อกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “แล้วชาตินี้พวกเราจะไปไหนกันละ….?”
จากหนังสือ คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่ม ๒๒
ถ้าปรารถนาจะถึงพระนิพพานแล้ว ต้องทำจิตใจของตนให้เป็นเหมือนแผ่นดิน
พึงให้ดูอย่างแผ่นพระธรณีมีลักษณะอาการฉันใด ก็ให้ตัวเรามีลักษณะอาการฉันนั้น
ถ้าทำได้เช่นนั้นก็ได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ*
ถ้าทำไม่ได้แต่พูดว่าอยากได้ จะพูดมากมายๆเท่าไรก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะได้จะถึงเลย
ถ้าปรารถนาจะถึงพระนิพพานแล้ว ต้องทำจิตใจของตนให้เป็นเหมือนแผ่นดินเสียก่อน
ไม่ใช่เป็นของทำได้ด้วยง่าย ต้องพากเพียรลำบากยากยิ่งนักจึงจักได้
จะเข้าใจว่าปรารถนาเอาด้วยปากก็คงจักได้ อย่างนี้เป็นคนหลงไป ใช้ไม่ได้
ต้องทำตัวทำใจให้เป็นเหมือนแผ่นดินให้จงได้
ลักษณะของแผ่นดินนั้น คนแลสัตว์ทั้งหลายจะทำร้ายทำดี
กล่าวร้ายกล่าวดีประการใด มหาปฐพีนั้นก็มิได้รู้โกรธเคือง
ที่ว่าทำใจให้เหมือนแผ่นดินนั้น คือว่าให้วางใจเสีย
อย่าเอื้อเฟื้ออาลัยว่าใจของตน ให้ระลึกอยู่ว่าตัวมาอาศัยอยู่ไปชั่วคราวเท่านั้น
เขาจะนึกคิดอะไรก็อย่าตามเขาไป ให้เข้าใจอยู่ว่าเราอยู่ไปคอยวันตายเท่านั้น
ประโยชน์อะไรกับวัตถุข้าวของและตัวตนอันเป็นของภายนอก
แต่ใจซึ่งเป็นของภายในแลเป็นของสำคัญก็ยังต้องให้ปล่อยให้วาง
อย่าถือเอาว่าเป็นของๆตัว กล่าวไว้แต่พอให้เข้าใจเพียงเท่านี้โดยสังเขป
.
*เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่ ได้เสวยพระนิพพานนั้นได้ชื่อว่า พระนิพพานดิบ
.
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า : คิริมานนทสูตร
เรียบเรียงโดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท )
ฆราวาสบรรลุธรรม ได้หรือไม่
หลักการทำบุญประจำวัน ควรแผ่เมตตาส่งบุญได้ทุกครั้งที่ทำ
28 มกราคม 2561
เราสมาคมคบหาใคร ดูให้ถึงตา ถึงหู ถึงใจ อย่าหลงตามใคร
พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของศาสนายังถูกโลกธรรมรุมตี
แต่ก็คงเป็นพระพุทธเจ้าตามเดิมจนวันเข้านิพพาน
เราทุกคนมีพุทธประจำตัว เมื่อชำระให้บริสุทธิ์แล้ว
แม้โลกธรรมจะรวมหัวกันหมดทั้งโลกมาโจมตี ก็คงบริสุทธิ์อยู่ตามเดิม
เพราะความบริสุทธิ์นั้นไม่ใช่โลกธรรม ๆ จึงไม่สามารถแทรกซึม
หรือลบล้างความบริสุทธิ์นั้นได้
ความจริงแท้ ๆ (แก่นแท้) มีอยู่กับท่านผู้ใด จะเป็นหญิงชาย
หรือนักบวชใด ๆ เพียงว่าผู้นั้นแย้มออกมาเท่านั้น เราก็พอรู้หรือเข้าใจได้
เราอย่าหลงกระพี้คือเห่าหอนของโลก หูตาเรามี ใจเรามี
ดูให้ดี ฟังให้ดี คิดให้ดี จะเห็นของดี (นักปราชญ์ภายนอกภายใน)
หนีจากตาหูและใจ ปัญญาของเราไปไม่พ้น
ต้นไม้บางชนิดมีแก่นอยู่ข้างนอก เช่นต้นตาลเป็นต้น
บางชนิดมีแก่นอยู่ข้างใน มีไม้พะยูงเป็นต้นคนเราก็ฉันนั้น ดีนอกก็มี
เช่น มีแต่กิริยามารยาทคำพูดถูกกาละ สำนวนโวหารไพเราะ
ภายในเหมือนถ่านไฟ ดีในก็มี เช่น สมัยนี้ดีในมีน้อย
ส่วนดีนอกตามสัญญาจะเหลือโลกอยู่แล้ว
เราสมาคมคบหาใคร ดูให้ถึงตา ถึงหู ถึงใจ
อย่าหลงตามใคร เมื่อถึงใจแล้วจับให้มั่น
ใครจะเห่าหอนแทะกัดไปอย่างไรไม่ต้องหวั่นไหว นั่นแลท่านว่าใจนักปราชญ์
อนึ่ง สมัยนี้นักวิทยาศาสตร์เจริญ สุนัขบ้าก็ชุมไปตาม ๆ กัน
เรารีบเตรียมยาไว้ติดตัว ไม่อย่างนั้นจะแย่
.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ "ธัมมะในลิขิต"
อริยบุคคล และพระอริยเจ้าลำดับต่าง ๆ
อริยบุคคล และพระอริยเจ้าลำดับต่าง ๆ
เรียบเรียงใหม่โดย พระชิษณุำพงศ์ บุญชูยะ
อริยบุคคล แปลว่า บุคคลผู้ประเสริฐ, ผู้ไกลจากข้าศึก, ผู้หักกำล้อสังสารวัฏได้แล้ว
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
อริยบุคคล แบ่งตามประเภทใหญ่ มี ๒ คือ
๑. พระเสขะ คือคือพระผู้ยังต้องศึกษาไตรสิกขาเพิ่มขึ้นต่อไปอีกจนกว่าจะสำเร็จ
๒. พระอเสขะ คือพระผู้ศึกษาสำเร็จแล้ว เสร็จกิจการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอะไรต่อไปอีก
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
อริยบุคคล แบ่งตามประเภทบุคคล มี ๔ คือ
๑. พระโสดาบัน ละสังโยชน์ได้ ๓ ประการ ซึ่งผู้บรรลุธรรมขั้นโสดาบันนี้อาจเป็นฆราวาสหรือบรรพชิตก็ได้
๒. พระสกทาคามี ละสังโยชน์ได้ ๓ ประการ แต่สามารถทำกิเลสให้เบาบางลงกว่าพระโสดาบัน
๓. พระอนาคามี ละสังโยชน์ได้ ๕ ประการ
๔. พระอรหันต์ ละสังโยชน์ได้ครบ ๑๐ ประการ
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
อริยบุคคล แบ่งตามประเภทย่อย มี ๘ จัดเป็น ๔ คู่
คู่ที่ ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค …. โสดาปัตติผล
คู่ที่ ๒ พระผู้ตั้งในสกิทาคามิมรรค …. สกิทามิผล
คู่ที่ ๓ พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค …. อนาคามิผล
คู่ที่ ๔ พระผู้ตั้งอยู่ในอรหันตมรรค …. อรหันตผล
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
๑.พระโสดาบัน
ละสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่ากายที่แยกออกเป็นปัญจขันธ์ เป็นตัวเป็นตนเสียได้
คือพระโสดาบันไม่ถือปัญจขันธ์เป็นตัวตน
และละวิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และในสิกขาเสียได้
พระโสดาบันไม่มีความสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์
และในสิกขาที่เป็นเหตุให้บรรลุถึงผล
เพราะว่าท่านได้บรรลุถึงธรรมที่เป็นกระแสเบื้องต้นปรากฏชัด
ความสงสัยในพระพุทธเจ้าว่า จะไม่ใช่พระพุทธเจ้าจริงก็ไม่มี
ความสงสัยในพระธรรมว่า พระธรรมจะไม่ดีจริงก็ไม่มี
ความสงสัยในพระสงฆ์ว่า จะไม่พระอริยสงฆ์จริงก็ไม่มี
เพราะท่านเป็นพระอริยะขึ้นด้วยตัวท่านเองแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ละสีลัพพตปรามาส คือ การยึดถือศีลและวัตรว่าเป็นของขลังเสียได้
และก็มีศีลมีวัตรที่ดีประจำอยู่ แต่ท่านไม่ได้ถือ
เหมือนอย่างคนเห็นโทษของการล่วงศีล ๕ แล้ว
ก็ไม่คิดจะล่วง แต่ไม่ต้องถือศีล เพราะการถือยังเป็นการยึดอยู่
เมื่อไม่มีความคิดที่จะล่วง ความถือก็ไม่มีแต่คงมีศีลมีวัตรที่ดี
พระโสดาบันละสังโยชน์ทั้ง ๓ เหล่านี้ได้เด็ดขาด และทำกามราคะ
ความยินดีในกามและพยาบาทให้อ่อนลง
ท่านแสดงว่าพระโสดาบันยังมีคู่ครองอยู่
จึงยังไม่ละกามราคะความยินดีหรือความติดอยู่ในกาม
แต่ทำให้เบาบาง คือไม่ประพฤติผิดประเพณีในทางกาม
อันเป็นเหตุที่จะให้ไปอบาย.ส่วนสังโยชน์ ข้อ พยาบาท
ท่านใช้ ปฏิฆะ แทนก็มี, ด้วยท่านเห็นว่าใช้ปฏิฆะเหมาะกว่า
เพราะพยายามเห็นเหตุให้ไปอบาย พระโสดาบันไม่ควรจะมี
แต่นั่นเป็นพยาบาทของปุถุชน หมายถึงความปองร้ายหรือคิดล้างผลาญ
เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล, ส่วนในสังโยชน์ หมายความอ่อนลงมา
คือยังมีพยาบาท แต่ว่าอ่อนกว่าคนสามัญ หรือปุถุชน
มีนักธรรมบางท่านแสดงว่า เพียงมุ่งจะต่อว่าเท่านั้น ไม่ถึงคิดล้างผลาญ
( โอ. ๒/๑๓๙-๑๔๐ ).
โสดาบัน แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสธรรม ผู้แรกถึงกระแสธรรม (คืออริยมรรค)
โสดาบัน เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทแรกใน ๔ ประเภท คือ
โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์
ผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วด้วยการละ สังโยชน์ เบื้องต่ำ ๓ ประการได้ คือ
1. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน
เช่นเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตนของเรา
2. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เช่นสังสัยในข้อปฏิบัติของตนว่าถูกต้องหรือไม่
สงสัยในพระรัตนตรัยหรือในอริยสัจ ๔ ว่ามีจริงหรือไม่
3. สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือยึดมั่นว่าความศักดิ์สิทธิ์มีได้ด้วยศีลและ พรตอย่างนั้นอย่างนี้
ข้อนี้ขยายความได้ว่ารักษาศีลแต่เพียงทางกาย ทางวาจา แต่ใจยังไม่เป็นศีล
หรืออย่างน้อยก็ยังไม่เป็นศีลตลอดเวลา
ความเป็นพระโสดาบันนี้ ก็เช่นเดียวกับความเป็นพระอริยบุคคลประเภทอื่น ๆ
ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศบรรพชิต(นักบวช) เท่านั้น
แม้ คฤหัสถ์ คือชายหรือหญิงผู้ครองเรือน ก็สามารถเป็นพระโสดาบันได้ เช่น
ในสมัยพุทธกาลคฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันที่มีชื่อเสียงก็มีจำนวนมาก ได้แก่
นางวิสาขามหาอุบาสิกา อนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น
การเข้าถึงกระแสธรรมของพระโสดาบันนั้น
เป็นการยกระดับจิตใจของท่านอย่างถาวร ทำให้ท่านไม่สามารถกลับมาเป็นปุถุชนได้อีก
เป็นผู้ที่จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ (เช่น นรก หรือ เดียรฉาน)
ทั้งยังเป็นผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
๒.พระสกทาคามี หรือ พระสกิทาคามี
ละได้อย่างพระโสดาบัน แต่ทำ โลภะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงไปอีก
แสดงว่าพระสกทาคามี หรือ พระสกิทาคามียังเป็นผู้ครองเรือนอยู่
ก็จำต้องมีการเลี้ยงคนในครองครัว เมื่อต้องเลี้ยงคนในครอบครัว
ก็ต้องแสวงหาทรัพย์ การมุ่งที่จะแสวงหาทรัพย์ก็เป็นโลภะ
แต่ว่าเป็นอย่างอ่อนไม่ถึงอภิชฌาที่จะมุ่งให้ได้มาอย่างเดียว ไม่คิดถึงดีชั่วถูกผิด
ท่านมีโลภะเพียงจะให้ได้ทรัพย์มา แต่ได้ในทางสุจริต
ไม่ใช่ในทางทุจริต เพราะทุจริตเป็นเหตุให้ไปอบาย
ทำโทสะให้เบาบางลงไปอีก ก็แปลว่ายังมีโทสะ คือ
ยังมีแน่อยู่ แต่ไม่ถึงมุ่งทำร้ายเขา
เพียงแต่ว่ากล่าวตักเตือน อันไม่เป็นเหตุที่จะให้ถึงไปอบาย
ทำโมหะความหลงให้เบาบางลง คือ ไม่หลงจนถึงกับเห็นผิดเป็นชอบ
เห็นชอบเป็นผิดซึ่งเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ยังหลงอยู่เพราะยังไม่รู้ตามเป็นจริง
จึงยังไม่เลื่อนชั้นไปได้ นี่ชั้นหนึ่ง
( โอ. ๒/๑๔๑ )
สกทาคามี หรือ สกิทาคามี แปลว่า ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว
เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลลำดับ ที่ ๒ ใน ๔ ประเภท ที่เรียกว่า "ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว"
หมายถึง พระสกิทาคามีจะเกิดในกามาวจรภพอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะถึงพระนิพพาน
ผู้ได้บรรลุสกทาคามิผลคือผู้ที่ละสังโยชน์ เบื้องต่ำ ๓ ประการแรกได้เช่นเดียวกับพระโสดาบัน
อีกทั้งทำสังโยชน์เบื้องต่ำอีก ๒ ประการที่เหลือให้เบาบางลงด้วยคือ
๑.กามราคะ หมายถึง ความพอใจในกาม คือ
การความเพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่าพอใจ
๒.ปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ คล้ายความพยาบาทอย่างละเอียด
หากสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งสองประการนี้หมดไปก็จะเป็นพระอนาคามี
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
๓.พระอนาคามี
อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มาเกิดอีก หมายความว่าจะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภพอีก
แต่จะเกิดใน พรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะนิพพานจากพรหมโลกนั้นเลย
อนาคามี เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทที่ ๓ ใน ๔ ประเภท คือ
โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ เป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยสังโยชน์)
ทั้ง ๕ ประการได้แล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) อีก ๕ ประการ คือ
๑. รูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ
๒. อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ เป็นต้น หรือ ความพอใจในอรูปภพ
๓. มานะ หมายถึง ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นพระอนาคามี (แม้ว่าจะเป็นจริงๆ) เป็นต้น
๔. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งของจิต
๕. อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง
อนึ่งพึงเข้าใจว่า แม้สังโยชน์เบื้องสูงบางข้อจะมีชื่อเหมือนกิเลสอย่างหยาบที่ยังมีในปถุชน
(ผู้ยังไม่เป็นบรรลุเป็นพระอริยบุคคล) เช่น มานะ อุทธัจจะ หรือ อวิชชา
แต่สังโยชน์เบื้องสูงอันเป็นกิเลสที่ยังหลงเหลืออยู่ในจิตใจของพระอนาคามี นั้น เป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าของปถุชนอย่างมาก
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
๔.พระอรหันต์
พระอรหันต์ คือ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา
พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด สามารถละสังโยชน์ได้ครบ 10 ประการ
ละสังโยชน์เบื้องต้น หรือเบื้องต่ำลงมาโดยลำดับ
และละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องบนหรือเบื้องสูงได้ด้วย
เพราะท่านสิ้นความยินดีอยู่ในรูปฌานหรือรูปภพ
และอรูปฌานหรือรูปภพ หมดมานะความสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน
หมดอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เพราะท่านถึงที่สุดแล้ว
ไม่ต้องมุ่งที่จะก้าวไปข้างหน้าอีกต่อไป และละอวิชชาได้
ก็เพราะวิชชาเกิดขึ้นเต็มที่ รวมเป็นพระอรหันต์ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ อย่าง
( โอ. ๒/๑๔๒ ).
ตามภาษิตของพระสารีบุตร ที่แสดงต่อพระยมกะ ( ขันธ์สังยุตต์ ๑๗/๑๓๓ )
แสดงว่าพระอรหันต์ไม่ใช่ปัญจขันธ์, เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ
เพราะที่เรียกว่าตายนั้นหมายถึงปัญจขันธ์เท่านั้น
ดังคำที่กล่าวอธิบายมรณะว่า ขนฺธนํ เภโท ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย
หรือดังคำที่เรียกในพระสูตรทั้งหลายโดยมากว่า กายสฺสเภทา
เพราะกายแตกทำลายและคำที่เรียกว่าพระอรหันต์ ขีณาสวะ
หรือพระตถาคตก็เป็นคำบัญญัติอาศัยปัญจขันธ์
ท่านจึงแสดงโดยความว่า พระอรหันต์ไม่ใช่ปัญจขันธ์
แต่ก็ไม่นอกไปจากปัญจขันธ์
[๑. น่าจะเทียบได้กับภาพถ่าย คือตัวภาพไม่ใช่กระดาษ (ที่บันทึกภาพนั้น)
แต่ก็ไม่นอกไปจากระดาษ หรือเทียบกับถ้วยลายคราม
คือลายครามไม่ใช่กระเบื้องถ้วย แต่ก็ไม่นอกไปจากกระเบื้องถ้วยง]
และพระอรหันต์ ( ผู้ยังมีชีวิต ) ก็ยังมีปัญจขันธ์
ฉะนั้น เมื่อปัญจขันธ์แตกทำลายแล้ว พระอรหันต์ก็สิ้นบัญญัติว่าอะไรสืบไป
พระอรหันต์ไม่มีคติทั้งทางสูญทั้งทางเกิด
ทั้งทรงอื่นที่เกี่ยวข้องกับทางทั้ง ๒ นั้น
ดังในอัคคิวัจฉโคตรสูตร ( ๑๓/๒๔๕ ) แสดงว่า
พราหมณ์ชื่ออัคคิวัจฉโคตร กราบทูลถามถึงภิกษุผู้มีจิตวิมุตว่าเป็นอย่างไร คือ
๑.เกิด
๒.ไม่เกิด
๓.ทั้งเกิด ทั้งไม่เกิด
๔.ไม่ใช่ทั้งเกิด ไม่ใช่ทั้งไม่เกิด.
พระศาสดาไม่ตรัสพยากรณ์ทุกข้อ, เมื่อพราหมณ์มีความงุนงงไม่เข้าใจ
จึงตรัสอุปมาว่า เหมือนไฟสว่างอยู่เบื้องหน้า ก็พึงรู้ว่าไฟสว่าง และไฟสว่างเพราะมีเชื้อ
แต่ถ้าไฟนี้ดับแล้ว ก็พึงรู้ว่าไฟดับและดับเพราะสิ้นเชื้อ
และไม่เพิ่มเชื้ออื่นเข้าอีก แต่ไม่รู้ว่าไฟดับแล้วไปทิศทางไหน ฉันใด
ตถาคต* ก็ฉันนั้น
( *หมายถึงพระอรหันต์ทั่วไป ทั้งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งพระอรหันตสาวก )
เมื่อจะบัญญัติ ( ตั้งภาษาพูดหมายรู้กัน ) ก็พึงบัญญัติได้ด้วย
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ใด ๆ
รูป ฯ ล ฯ วิญญาณนั้น ๆ ตถาคตละเสียแล้วไม่มีเกิดขึ้นต่อไป
ตถาคต วิมุตหลุดพ้นแล้วจากรูป ฯลฯ
วิญญาณนั้น ๆ จึงไม่มีวาทะจะพึงพูดถึงได้ว่าเกิดไม่เกิดเป็นต้น
พระพุทธภาษิตนี้แสดงว่า
บัญญัติภาษาหรือวาทะทั้งหมดมีที่ปัญจขันธ์
พ้นจากปัญจขันธ์ก็พ้นบัญญัติ
ไม่มีปัญจขันธ์ก็ไม่มีบัญญัติ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะบัญญัติว่าเกิด ไม่เกิด ก็ต้องหมายว่าปัญจขันธ์เกิด ไม่เกิด
จะบัญญัติว่าไม่ใช่ทั้ง ๒ ก็ต้องหมายถึงปัญจขันธ์อีกนั่นแหละว่าไม่ใช่เป็นเช่นนั้น
บัญญัติเหล่านี้จังยังอาศัยเกี่ยวเกาะอยู่กับปัญจขันธ์
แสดงคติของปัญจขันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งสิ้น
พระพุทธภาษิตนี้ แสดงว่า พระตถาคตทั้งปวง เมื่อดังขันธ์ปรินิพพานแล้ว
ก็หมดบัญญัติหมดถ้อยคำพูดถึงหมดเรื่องพูดถึงว่าเป็นอะไร เป็นอย่างไรต่อไปทั้งสิ้น
เหมือนอย่างไฟสิ้นเชื้อดับไป แต่ก็ไม่สูญ ทั้งไม่ปรากฏ
เพราะพระตถาคต ลึกซึ้ง [๑.คมฺภีโร.]
ไม่พึงประมาณได้ [๒.อปฺปเมยฺโย.]
หยั่งถึงยาก [๓.ทุปฺปริโยคาโฬฺห.]
ลัทธิที่แสดงคติของพระตถาคต ภายหลังปรินิพพานแล้ว
จึงค้านกับพระพุทธภาษิตดังกล่าว
และถ้าแสดงคติที่ยั่งยืนนิรันดร ก็เข้าสัสสตทิฏฐิ
น่าเป็นเพราะเหตุนี้ พระพุทธภาษิตบางแห่งที่แสดงภูมิธรรมในชั้นนี้
จึงแสดงในด้านปฏิเสธ เช่น พระพุทธภาษิตแปลว่า
"ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ในอายตนะไรเล่า ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ฯลฯ"
[๔. อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายนตํ, ยตฺถ เนว ปฏวี น อาโป น เตโช น วาโยฯ เปฯ.]
คำสำหรับเรียกสิ่งที่ไม่สูญอันพ้นจากปัญจขันธ์
โดยปุคคลาธิษฐาน ( ยกบุคคลเป็นที่ตั้ง )
คือ ตถาคต หมายถึงพระอรหันต์ทั่วไป
โดยธรรมาธิษฐาน( ยกธรรมเป็นที่ตั้ง )
คือ วิสังขาร
นิพพานหรืออสังขตธรรม ( ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุง )
อมตธรรม ( ธรรมที่ไม่ตาย )
หรือคำว่า อายตนะ ( ที่ต่อ )
ในพระบาลีที่ยกมาข้างต้น
คำที่หมายถึงหรือนำให้เข้าใจไปในทางสัสตทิฏฐิ ( ความเห็นว่าเที่ยง )
และอุจเฉททิฏฐิ ( ความเห็นว่าขาดสูญ )
ท่านเว้นไม่ใช้ เช่น วิญญาณ มโนจิต อัตตา
*
ลักษณะของพระอรหันต์
*
แบ่งตามวิธีการในการพัฒนาตน
พระอรหันต์ ๒ คือ
๑. พระวิปัสสนยานิก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน แล้วได้ฌานในภายหลัง
๒. พระสมถยานิก ผู้มีสมถะเป็นญาณ ผู้เจริญสมถะกรรมฐาน จนได้ฌานก่อนแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาต่อ
*
แบ่งตามคุณวิเศษ
พระอรหันต์ ๔ คือ
1. พระสุกขวิปัสสก ไม่มีญาณวิเศษใดๆ นอกจากรู้การทำอาสวะให้สิ้นไป (อาสวักขยญาณ) อย่างเดียว
อานิสงค์จากการที่ปฏิบัติวิปัสสนาเพียงอย่างเดียว
๒. พระเตวิชชะ ผู้ได้วิชชา ๓ คือบุพเพนิวาสานุสสติญาณ (รู้ระลึกชาติได้)
จุตูปปาตญาณ (รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย)
อาสวักขยญาณ (รู้ทำอาสวะให้สิ้น
อานิสงค์จากการที่ปฏิบัติวิปัสสนา และถือวัตรธุดงค์
๓. พระฉฬภิญญะ ผู้ได้อภิญญา ๖ คือ
๓.๑ ทิพฺพจักขุ ตาทิพย์ คือฤทธิที่สามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ใกล้ไกลได้
มีพระอนุรุทธะ เป็นเอกทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านการมีตาทิพย์
คือ สามารถมองเห็นโลกใบนี้ ราวกับ มองเม็ดมะขามป้อมบนฝ่ามือ
๓.๒ ทิพยโสต หูทิพย์อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ โดยเฉพาะมโนมยิทธิการ แยกร่างและจิต
เป็นฤทธิที่แสดงได้เฉพาะพระอรหันต์ประเภทฉฬภิญโญเท่านั้น
๓.๓ เจโตปริยญาณ ทายใจผู้อื่นได้
๓.๔ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
และ ๓.๖ อาสวักขยะญาณ ญานที่ทำให้อาสวะสิ้นไป
อานิสงค์จากการปฏิบัติวิปัสสนาและเจริญสมาธิจนได้ฌานสมาปัตติ
๔. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4
คือ แตกฉานในความรู้อันยิ่ง 4 ประการ ได้แก่
อัตถปฏิสัมภิทา ความแตกฉานในอรรถ
ธัมมะปฏิสัมภิทา ความแตกฉานในธรรม
นิรุตติปฏิสัมภิทา ความแตกฉานในภาษา
ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ความแตกฉานในปฏิภาณไหวพริบ
อานิสงค์จากการปฏิบัติวิปัสสนา และเล่าเรียน ตรึกตรอง ทรงจำและแสดง
ซึ่งพระธรรมวินัยที่พระศาสดาทรงตรัสสอน(ไตรปิฎก) ซึ่ง
๔.๑ การเล่าเรียนธรรมอานิสงค์ได้ธรรมปฏิสัมภิทา รู้จริงในเหตุของสรรพสิ่งในธรรมชาติ
๔.๒ การตรึกตรองธรรม อานิสงค์ได้อัตถปฏิสัมภิทารู้จริงในผลลัพที่ลึกซึ้ง
๔.๓ การท่องทรงจำธรรม อานิสงค์ได้นิรุตติปฏิสัมภิทา รู้จริงในภาษาต่างๆในโลก
๔.๔ การเทศนาแสดงธรรม อานิสงค์ได้ปฏิภาณปฏิสัมภิทา รู้จริงในการแก้ไขปัญหาเข้าใจในนิสัยสันดานของสัตว์โลก
*
แบ่งตามคุณสมบัติเฉพาะตน
พระอรหันต์ ๕ คือ
๑. พระปัญญาวิมุต
๒. พระอุภโตภาควิมุต
๓. พระเตวิชชะ
๔. พระฉฬภิญญะ
๕. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ
*
พระอรรถกถาจารย์แสดงความหมายของพระอรหันต์ไว้ 5 นัย คือ
๑. ไกลจากกิเลส
๒. กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น
๓. เป็นผู้หมดสังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิด
๔. เป็นผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย
๕. ไม่มีที่ลับในการทำบาป ไม่มีความชั่วเสียหายที่จะต้องปิดบัง
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
อ้างอิง
๑.พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต
พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
๒.โปรแกรมธรรมานุกรมศัพท์โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย
อริยสัจ 4 และมรรคแปด
ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...
-
การจับพลังพระเครื่องนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีรูปแบบการใช้อยู่อย่างหลากหลายเพื่อให้ทราบว่า พระเครื่ององค์นี้ หรือวัตถุมงคล ชิ้นนี้ ...
-
https://youtu.be/V5b6fr4VMjU หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ระยอง - พลังจตุธาตุหนักแน่นเช่นเดิม มาเต็มๆ 100 ทุกพลังธาตุ ตามมาตรฐานหลวงปู่ทิม...
-
พระหลวงพ่อทวด ชุดนี้จัดสร้างโดยมีพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ดำเนินการร่วมกับพระครูสมุห์อำพล วัดประสาทบุญญาวาสใ พิธีปลุกเสกเมื่อวัน...