๓๐ มกราคม มหาเถรปูชาคุณานุสรณ์
รำลึกวันคล้ายวันนิพพานองค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล(หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) “พระอริยเจ้าผู้เป็นมหาบุรุษของแผ่นดิน” แห่งวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
อมตธรรมวาจา
“..เวลามีชีวิตอยู่นี้ เราจะทำความดีให้โลกทั้งหลายได้เป็นคติตัวอย่างอันดีงาม และทำด้วยความเมตตาสงสาร เพราะหลังจากนี้แล้ว เราตายแล้ว เราจะไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีกต่อไป เป็นตลอดอนันตกาล..”
องค์ท่านเดิมมีชื่อว่า "บัว โลหิตดี" ถือกำเนิด ตรงกับวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ณ บ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
อุปสมบทเป็นพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ณ วัดโยธานิมิต อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พระธรรมเจดีย์(หลวงปู่จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ โดยได้ฉายานามว่า "ญาณสมฺปนฺโน" แปลว่า "ถึงพร้อมแล้วด้วยการหยั่งรู้"
องค์ท่านออกเดินทางไปจังหวัดสกลนครโดยตั้งใจจะไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์มั่นรับท่านเป็นลูกศิษย์และได้พูดขึ้นว่า..
"...ท่านมาหามรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ฟ้าอากาศเป็นฟ้าอากาศ แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส กิเลสจริง ๆ มรรคผลจริง ๆ อยู่ที่ใจ ขอให้ท่านกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่หัวใจ ท่านจะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรมของทั้งกิเลสอยู่ภายในใจ แล้วขณะเดียวกัน ท่านจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับ..."
คำกล่าวนี้ ทำให้ท่านเชื่อมั่นว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่จริง และเชื่อมั่นในพระอาจารย์มั่นที่พูดไขข้อข้องใจได้ตรงจุดแห่งความสงสัย ท่านรักษาระเบียบวินัยข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด หลังจากศึกษาอยู่กับพระอาจารย์มั่น
ในพรรษาที่ ๒ ท่านเริ่มหักโหมความเพียรในการปฏิบัติกรรมฐาน จนกระทั่งผิวหนังบริเวณก้นช้ำระบมและแตกในที่สุด จนพระอาจารย์มั่นได้เตือนว่า "กิเลสมันไม่ได้อยู่กับร่างกายนะ มันอยู่กับจิต" ซึ่งท่านก็น้อมรับคำเตือนของพระอาจารย์มั่นทันที
อย่างไรก็ตาม ด้วยจริตนิสัยของท่านในเรื่องการภาวนานั้นถูกกับการอดอาหารเพราะทำให้ธาตุขันธ์เบาสบาย การตั้งสติทำสมาธิภาวนาก็ง่าย และช่วยให้การบำเพ็ญจิตภาวนาเจริญขึ้นได้เร็วกว่าขณะที่ออกฉันตามปกติ ถึงแม้จะมีผู้คัดค้านก็ไม่ทำให้ท่านเปลี่ยนใจได้ ด้วยท่านพิจารณาแล้วว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุอดอาหารเพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการโอ้อวดหรืออดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ฝึกฝนด้านจิตภาวนาเลยซึ่งไม่เกิดประโยชน์อันใด ดังนั้น ท่านจึงใช้อุบายนี้เพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาเรื่อยมา
ในพรรษาที่ ๑๐ ของท่าน ท่านฝึกสมาธิจนมั่นคงหนักแน่นและสามารถอยู่ในสมาธิได้เท่าไหร่ก็ได้ ท่านมีความสุขอย่างยิ่งจากที่จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ท่านติดอยู่ในขั้นสมาธิอยู่ถึง ๕ ปี โดยไม่ก้าวหน้าสู่ขั้นปัญญา
จนกระทั่ง พระอาจารย์มั่น จึงให้อุบายเพื่อให้ท่านออกพิจารณาทางด้านปัญญาและเตือนท่านว่า "...สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่ สมาธินอนตายอยู่นี่หรือเป็นสัมมาสมาธิ..." ท่านจึงออกจากสมาธิและพิจารณาทางด้านปัญญาต่อไป
การบรรลุธรรม หลวงตาได้บรรลุอมฤตธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุดในพรรษาที่ ๑๖ บนหลังเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร เวลา ๒๓.๐๐ น. เมื่อแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓
หลวงตามหาบัวเป็นที่รู้จักในฐานะพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ผู้มีปฏิปทาที่มั่นคง แน่วแน่ เด็ดขาด และจริงจัง ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งได้มีโอกาสอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่มั่นในช่วงปัจฉิมวัย และเป็นผู้หนึ่งที่ได้บันทึกประวัติของหลวงปู่มั่นโดยละเอียดในเวลาต่อมา บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มั่น ต่างนับถือกันว่าท่านเป็นลูกศิษย์องค์หนึ่งที่มีปฏิปทาที่คล้ายคลึงกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
องค์หลวงตาเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๐๓.๕๓ น. ณ กุฏิท่านที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี สิริอายุ ๙๗ ปี ๕ เดือน ๑๙ วัน พรรษา ๗๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น