อริยบุคคล และพระอริยเจ้าลำดับต่าง ๆ
เรียบเรียงใหม่โดย พระชิษณุำพงศ์ บุญชูยะ
อริยบุคคล แปลว่า บุคคลผู้ประเสริฐ, ผู้ไกลจากข้าศึก, ผู้หักกำล้อสังสารวัฏได้แล้ว
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
อริยบุคคล แบ่งตามประเภทใหญ่ มี ๒ คือ
๑. พระเสขะ คือคือพระผู้ยังต้องศึกษาไตรสิกขาเพิ่มขึ้นต่อไปอีกจนกว่าจะสำเร็จ
๒. พระอเสขะ คือพระผู้ศึกษาสำเร็จแล้ว เสร็จกิจการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอะไรต่อไปอีก
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
อริยบุคคล แบ่งตามประเภทบุคคล มี ๔ คือ
๑. พระโสดาบัน ละสังโยชน์ได้ ๓ ประการ ซึ่งผู้บรรลุธรรมขั้นโสดาบันนี้อาจเป็นฆราวาสหรือบรรพชิตก็ได้
๒. พระสกทาคามี ละสังโยชน์ได้ ๓ ประการ แต่สามารถทำกิเลสให้เบาบางลงกว่าพระโสดาบัน
๓. พระอนาคามี ละสังโยชน์ได้ ๕ ประการ
๔. พระอรหันต์ ละสังโยชน์ได้ครบ ๑๐ ประการ
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
อริยบุคคล แบ่งตามประเภทย่อย มี ๘ จัดเป็น ๔ คู่
คู่ที่ ๑ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค …. โสดาปัตติผล
คู่ที่ ๒ พระผู้ตั้งในสกิทาคามิมรรค …. สกิทามิผล
คู่ที่ ๓ พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค …. อนาคามิผล
คู่ที่ ๔ พระผู้ตั้งอยู่ในอรหันตมรรค …. อรหันตผล
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
๑.พระโสดาบัน
ละสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่ากายที่แยกออกเป็นปัญจขันธ์ เป็นตัวเป็นตนเสียได้
คือพระโสดาบันไม่ถือปัญจขันธ์เป็นตัวตน
และละวิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และในสิกขาเสียได้
พระโสดาบันไม่มีความสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์
และในสิกขาที่เป็นเหตุให้บรรลุถึงผล
เพราะว่าท่านได้บรรลุถึงธรรมที่เป็นกระแสเบื้องต้นปรากฏชัด
ความสงสัยในพระพุทธเจ้าว่า จะไม่ใช่พระพุทธเจ้าจริงก็ไม่มี
ความสงสัยในพระธรรมว่า พระธรรมจะไม่ดีจริงก็ไม่มี
ความสงสัยในพระสงฆ์ว่า จะไม่พระอริยสงฆ์จริงก็ไม่มี
เพราะท่านเป็นพระอริยะขึ้นด้วยตัวท่านเองแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ละสีลัพพตปรามาส คือ การยึดถือศีลและวัตรว่าเป็นของขลังเสียได้
และก็มีศีลมีวัตรที่ดีประจำอยู่ แต่ท่านไม่ได้ถือ
เหมือนอย่างคนเห็นโทษของการล่วงศีล ๕ แล้ว
ก็ไม่คิดจะล่วง แต่ไม่ต้องถือศีล เพราะการถือยังเป็นการยึดอยู่
เมื่อไม่มีความคิดที่จะล่วง ความถือก็ไม่มีแต่คงมีศีลมีวัตรที่ดี
พระโสดาบันละสังโยชน์ทั้ง ๓ เหล่านี้ได้เด็ดขาด และทำกามราคะ
ความยินดีในกามและพยาบาทให้อ่อนลง
ท่านแสดงว่าพระโสดาบันยังมีคู่ครองอยู่
จึงยังไม่ละกามราคะความยินดีหรือความติดอยู่ในกาม
แต่ทำให้เบาบาง คือไม่ประพฤติผิดประเพณีในทางกาม
อันเป็นเหตุที่จะให้ไปอบาย.ส่วนสังโยชน์ ข้อ พยาบาท
ท่านใช้ ปฏิฆะ แทนก็มี, ด้วยท่านเห็นว่าใช้ปฏิฆะเหมาะกว่า
เพราะพยายามเห็นเหตุให้ไปอบาย พระโสดาบันไม่ควรจะมี
แต่นั่นเป็นพยาบาทของปุถุชน หมายถึงความปองร้ายหรือคิดล้างผลาญ
เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล, ส่วนในสังโยชน์ หมายความอ่อนลงมา
คือยังมีพยาบาท แต่ว่าอ่อนกว่าคนสามัญ หรือปุถุชน
มีนักธรรมบางท่านแสดงว่า เพียงมุ่งจะต่อว่าเท่านั้น ไม่ถึงคิดล้างผลาญ
( โอ. ๒/๑๓๙-๑๔๐ ).
โสดาบัน แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสธรรม ผู้แรกถึงกระแสธรรม (คืออริยมรรค)
โสดาบัน เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทแรกใน ๔ ประเภท คือ
โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์
ผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วด้วยการละ สังโยชน์ เบื้องต่ำ ๓ ประการได้ คือ
1. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน
เช่นเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตนของเรา
2. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เช่นสังสัยในข้อปฏิบัติของตนว่าถูกต้องหรือไม่
สงสัยในพระรัตนตรัยหรือในอริยสัจ ๔ ว่ามีจริงหรือไม่
3. สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือยึดมั่นว่าความศักดิ์สิทธิ์มีได้ด้วยศีลและ พรตอย่างนั้นอย่างนี้
ข้อนี้ขยายความได้ว่ารักษาศีลแต่เพียงทางกาย ทางวาจา แต่ใจยังไม่เป็นศีล
หรืออย่างน้อยก็ยังไม่เป็นศีลตลอดเวลา
ความเป็นพระโสดาบันนี้ ก็เช่นเดียวกับความเป็นพระอริยบุคคลประเภทอื่น ๆ
ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศบรรพชิต(นักบวช) เท่านั้น
แม้ คฤหัสถ์ คือชายหรือหญิงผู้ครองเรือน ก็สามารถเป็นพระโสดาบันได้ เช่น
ในสมัยพุทธกาลคฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันที่มีชื่อเสียงก็มีจำนวนมาก ได้แก่
นางวิสาขามหาอุบาสิกา อนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น
การเข้าถึงกระแสธรรมของพระโสดาบันนั้น
เป็นการยกระดับจิตใจของท่านอย่างถาวร ทำให้ท่านไม่สามารถกลับมาเป็นปุถุชนได้อีก
เป็นผู้ที่จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ (เช่น นรก หรือ เดียรฉาน)
ทั้งยังเป็นผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
๒.พระสกทาคามี หรือ พระสกิทาคามี
ละได้อย่างพระโสดาบัน แต่ทำ โลภะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงไปอีก
แสดงว่าพระสกทาคามี หรือ พระสกิทาคามียังเป็นผู้ครองเรือนอยู่
ก็จำต้องมีการเลี้ยงคนในครองครัว เมื่อต้องเลี้ยงคนในครอบครัว
ก็ต้องแสวงหาทรัพย์ การมุ่งที่จะแสวงหาทรัพย์ก็เป็นโลภะ
แต่ว่าเป็นอย่างอ่อนไม่ถึงอภิชฌาที่จะมุ่งให้ได้มาอย่างเดียว ไม่คิดถึงดีชั่วถูกผิด
ท่านมีโลภะเพียงจะให้ได้ทรัพย์มา แต่ได้ในทางสุจริต
ไม่ใช่ในทางทุจริต เพราะทุจริตเป็นเหตุให้ไปอบาย
ทำโทสะให้เบาบางลงไปอีก ก็แปลว่ายังมีโทสะ คือ
ยังมีแน่อยู่ แต่ไม่ถึงมุ่งทำร้ายเขา
เพียงแต่ว่ากล่าวตักเตือน อันไม่เป็นเหตุที่จะให้ถึงไปอบาย
ทำโมหะความหลงให้เบาบางลง คือ ไม่หลงจนถึงกับเห็นผิดเป็นชอบ
เห็นชอบเป็นผิดซึ่งเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ยังหลงอยู่เพราะยังไม่รู้ตามเป็นจริง
จึงยังไม่เลื่อนชั้นไปได้ นี่ชั้นหนึ่ง
( โอ. ๒/๑๔๑ )
สกทาคามี หรือ สกิทาคามี แปลว่า ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว
เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลลำดับ ที่ ๒ ใน ๔ ประเภท ที่เรียกว่า "ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว"
หมายถึง พระสกิทาคามีจะเกิดในกามาวจรภพอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะถึงพระนิพพาน
ผู้ได้บรรลุสกทาคามิผลคือผู้ที่ละสังโยชน์ เบื้องต่ำ ๓ ประการแรกได้เช่นเดียวกับพระโสดาบัน
อีกทั้งทำสังโยชน์เบื้องต่ำอีก ๒ ประการที่เหลือให้เบาบางลงด้วยคือ
๑.กามราคะ หมายถึง ความพอใจในกาม คือ
การความเพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่าพอใจ
๒.ปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ คล้ายความพยาบาทอย่างละเอียด
หากสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งสองประการนี้หมดไปก็จะเป็นพระอนาคามี
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
๓.พระอนาคามี
อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มาเกิดอีก หมายความว่าจะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภพอีก
แต่จะเกิดใน พรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะนิพพานจากพรหมโลกนั้นเลย
อนาคามี เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทที่ ๓ ใน ๔ ประเภท คือ
โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ เป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยสังโยชน์)
ทั้ง ๕ ประการได้แล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) อีก ๕ ประการ คือ
๑. รูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ
๒. อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ เป็นต้น หรือ ความพอใจในอรูปภพ
๓. มานะ หมายถึง ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นพระอนาคามี (แม้ว่าจะเป็นจริงๆ) เป็นต้น
๔. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งของจิต
๕. อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง
อนึ่งพึงเข้าใจว่า แม้สังโยชน์เบื้องสูงบางข้อจะมีชื่อเหมือนกิเลสอย่างหยาบที่ยังมีในปถุชน
(ผู้ยังไม่เป็นบรรลุเป็นพระอริยบุคคล) เช่น มานะ อุทธัจจะ หรือ อวิชชา
แต่สังโยชน์เบื้องสูงอันเป็นกิเลสที่ยังหลงเหลืออยู่ในจิตใจของพระอนาคามี นั้น เป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าของปถุชนอย่างมาก
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
๔.พระอรหันต์
พระอรหันต์ คือ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา
พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด สามารถละสังโยชน์ได้ครบ 10 ประการ
ละสังโยชน์เบื้องต้น หรือเบื้องต่ำลงมาโดยลำดับ
และละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องบนหรือเบื้องสูงได้ด้วย
เพราะท่านสิ้นความยินดีอยู่ในรูปฌานหรือรูปภพ
และอรูปฌานหรือรูปภพ หมดมานะความสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน
หมดอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เพราะท่านถึงที่สุดแล้ว
ไม่ต้องมุ่งที่จะก้าวไปข้างหน้าอีกต่อไป และละอวิชชาได้
ก็เพราะวิชชาเกิดขึ้นเต็มที่ รวมเป็นพระอรหันต์ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ อย่าง
( โอ. ๒/๑๔๒ ).
ตามภาษิตของพระสารีบุตร ที่แสดงต่อพระยมกะ ( ขันธ์สังยุตต์ ๑๗/๑๓๓ )
แสดงว่าพระอรหันต์ไม่ใช่ปัญจขันธ์, เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ
เพราะที่เรียกว่าตายนั้นหมายถึงปัญจขันธ์เท่านั้น
ดังคำที่กล่าวอธิบายมรณะว่า ขนฺธนํ เภโท ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย
หรือดังคำที่เรียกในพระสูตรทั้งหลายโดยมากว่า กายสฺสเภทา
เพราะกายแตกทำลายและคำที่เรียกว่าพระอรหันต์ ขีณาสวะ
หรือพระตถาคตก็เป็นคำบัญญัติอาศัยปัญจขันธ์
ท่านจึงแสดงโดยความว่า พระอรหันต์ไม่ใช่ปัญจขันธ์
แต่ก็ไม่นอกไปจากปัญจขันธ์
[๑. น่าจะเทียบได้กับภาพถ่าย คือตัวภาพไม่ใช่กระดาษ (ที่บันทึกภาพนั้น)
แต่ก็ไม่นอกไปจากระดาษ หรือเทียบกับถ้วยลายคราม
คือลายครามไม่ใช่กระเบื้องถ้วย แต่ก็ไม่นอกไปจากกระเบื้องถ้วยง]
และพระอรหันต์ ( ผู้ยังมีชีวิต ) ก็ยังมีปัญจขันธ์
ฉะนั้น เมื่อปัญจขันธ์แตกทำลายแล้ว พระอรหันต์ก็สิ้นบัญญัติว่าอะไรสืบไป
พระอรหันต์ไม่มีคติทั้งทางสูญทั้งทางเกิด
ทั้งทรงอื่นที่เกี่ยวข้องกับทางทั้ง ๒ นั้น
ดังในอัคคิวัจฉโคตรสูตร ( ๑๓/๒๔๕ ) แสดงว่า
พราหมณ์ชื่ออัคคิวัจฉโคตร กราบทูลถามถึงภิกษุผู้มีจิตวิมุตว่าเป็นอย่างไร คือ
๑.เกิด
๒.ไม่เกิด
๓.ทั้งเกิด ทั้งไม่เกิด
๔.ไม่ใช่ทั้งเกิด ไม่ใช่ทั้งไม่เกิด.
พระศาสดาไม่ตรัสพยากรณ์ทุกข้อ, เมื่อพราหมณ์มีความงุนงงไม่เข้าใจ
จึงตรัสอุปมาว่า เหมือนไฟสว่างอยู่เบื้องหน้า ก็พึงรู้ว่าไฟสว่าง และไฟสว่างเพราะมีเชื้อ
แต่ถ้าไฟนี้ดับแล้ว ก็พึงรู้ว่าไฟดับและดับเพราะสิ้นเชื้อ
และไม่เพิ่มเชื้ออื่นเข้าอีก แต่ไม่รู้ว่าไฟดับแล้วไปทิศทางไหน ฉันใด
ตถาคต* ก็ฉันนั้น
( *หมายถึงพระอรหันต์ทั่วไป ทั้งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งพระอรหันตสาวก )
เมื่อจะบัญญัติ ( ตั้งภาษาพูดหมายรู้กัน ) ก็พึงบัญญัติได้ด้วย
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ใด ๆ
รูป ฯ ล ฯ วิญญาณนั้น ๆ ตถาคตละเสียแล้วไม่มีเกิดขึ้นต่อไป
ตถาคต วิมุตหลุดพ้นแล้วจากรูป ฯลฯ
วิญญาณนั้น ๆ จึงไม่มีวาทะจะพึงพูดถึงได้ว่าเกิดไม่เกิดเป็นต้น
พระพุทธภาษิตนี้แสดงว่า
บัญญัติภาษาหรือวาทะทั้งหมดมีที่ปัญจขันธ์
พ้นจากปัญจขันธ์ก็พ้นบัญญัติ
ไม่มีปัญจขันธ์ก็ไม่มีบัญญัติ
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะบัญญัติว่าเกิด ไม่เกิด ก็ต้องหมายว่าปัญจขันธ์เกิด ไม่เกิด
จะบัญญัติว่าไม่ใช่ทั้ง ๒ ก็ต้องหมายถึงปัญจขันธ์อีกนั่นแหละว่าไม่ใช่เป็นเช่นนั้น
บัญญัติเหล่านี้จังยังอาศัยเกี่ยวเกาะอยู่กับปัญจขันธ์
แสดงคติของปัญจขันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งสิ้น
พระพุทธภาษิตนี้ แสดงว่า พระตถาคตทั้งปวง เมื่อดังขันธ์ปรินิพพานแล้ว
ก็หมดบัญญัติหมดถ้อยคำพูดถึงหมดเรื่องพูดถึงว่าเป็นอะไร เป็นอย่างไรต่อไปทั้งสิ้น
เหมือนอย่างไฟสิ้นเชื้อดับไป แต่ก็ไม่สูญ ทั้งไม่ปรากฏ
เพราะพระตถาคต ลึกซึ้ง [๑.คมฺภีโร.]
ไม่พึงประมาณได้ [๒.อปฺปเมยฺโย.]
หยั่งถึงยาก [๓.ทุปฺปริโยคาโฬฺห.]
ลัทธิที่แสดงคติของพระตถาคต ภายหลังปรินิพพานแล้ว
จึงค้านกับพระพุทธภาษิตดังกล่าว
และถ้าแสดงคติที่ยั่งยืนนิรันดร ก็เข้าสัสสตทิฏฐิ
น่าเป็นเพราะเหตุนี้ พระพุทธภาษิตบางแห่งที่แสดงภูมิธรรมในชั้นนี้
จึงแสดงในด้านปฏิเสธ เช่น พระพุทธภาษิตแปลว่า
"ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ในอายตนะไรเล่า ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ฯลฯ"
[๔. อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายนตํ, ยตฺถ เนว ปฏวี น อาโป น เตโช น วาโยฯ เปฯ.]
คำสำหรับเรียกสิ่งที่ไม่สูญอันพ้นจากปัญจขันธ์
โดยปุคคลาธิษฐาน ( ยกบุคคลเป็นที่ตั้ง )
คือ ตถาคต หมายถึงพระอรหันต์ทั่วไป
โดยธรรมาธิษฐาน( ยกธรรมเป็นที่ตั้ง )
คือ วิสังขาร
นิพพานหรืออสังขตธรรม ( ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุง )
อมตธรรม ( ธรรมที่ไม่ตาย )
หรือคำว่า อายตนะ ( ที่ต่อ )
ในพระบาลีที่ยกมาข้างต้น
คำที่หมายถึงหรือนำให้เข้าใจไปในทางสัสตทิฏฐิ ( ความเห็นว่าเที่ยง )
และอุจเฉททิฏฐิ ( ความเห็นว่าขาดสูญ )
ท่านเว้นไม่ใช้ เช่น วิญญาณ มโนจิต อัตตา
*
ลักษณะของพระอรหันต์
*
แบ่งตามวิธีการในการพัฒนาตน
พระอรหันต์ ๒ คือ
๑. พระวิปัสสนยานิก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน แล้วได้ฌานในภายหลัง
๒. พระสมถยานิก ผู้มีสมถะเป็นญาณ ผู้เจริญสมถะกรรมฐาน จนได้ฌานก่อนแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาต่อ
*
แบ่งตามคุณวิเศษ
พระอรหันต์ ๔ คือ
1. พระสุกขวิปัสสก ไม่มีญาณวิเศษใดๆ นอกจากรู้การทำอาสวะให้สิ้นไป (อาสวักขยญาณ) อย่างเดียว
อานิสงค์จากการที่ปฏิบัติวิปัสสนาเพียงอย่างเดียว
๒. พระเตวิชชะ ผู้ได้วิชชา ๓ คือบุพเพนิวาสานุสสติญาณ (รู้ระลึกชาติได้)
จุตูปปาตญาณ (รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย)
อาสวักขยญาณ (รู้ทำอาสวะให้สิ้น
อานิสงค์จากการที่ปฏิบัติวิปัสสนา และถือวัตรธุดงค์
๓. พระฉฬภิญญะ ผู้ได้อภิญญา ๖ คือ
๓.๑ ทิพฺพจักขุ ตาทิพย์ คือฤทธิที่สามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ใกล้ไกลได้
มีพระอนุรุทธะ เป็นเอกทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านการมีตาทิพย์
คือ สามารถมองเห็นโลกใบนี้ ราวกับ มองเม็ดมะขามป้อมบนฝ่ามือ
๓.๒ ทิพยโสต หูทิพย์อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ โดยเฉพาะมโนมยิทธิการ แยกร่างและจิต
เป็นฤทธิที่แสดงได้เฉพาะพระอรหันต์ประเภทฉฬภิญโญเท่านั้น
๓.๓ เจโตปริยญาณ ทายใจผู้อื่นได้
๓.๔ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
และ ๓.๖ อาสวักขยะญาณ ญานที่ทำให้อาสวะสิ้นไป
อานิสงค์จากการปฏิบัติวิปัสสนาและเจริญสมาธิจนได้ฌานสมาปัตติ
๔. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4
คือ แตกฉานในความรู้อันยิ่ง 4 ประการ ได้แก่
อัตถปฏิสัมภิทา ความแตกฉานในอรรถ
ธัมมะปฏิสัมภิทา ความแตกฉานในธรรม
นิรุตติปฏิสัมภิทา ความแตกฉานในภาษา
ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ความแตกฉานในปฏิภาณไหวพริบ
อานิสงค์จากการปฏิบัติวิปัสสนา และเล่าเรียน ตรึกตรอง ทรงจำและแสดง
ซึ่งพระธรรมวินัยที่พระศาสดาทรงตรัสสอน(ไตรปิฎก) ซึ่ง
๔.๑ การเล่าเรียนธรรมอานิสงค์ได้ธรรมปฏิสัมภิทา รู้จริงในเหตุของสรรพสิ่งในธรรมชาติ
๔.๒ การตรึกตรองธรรม อานิสงค์ได้อัตถปฏิสัมภิทารู้จริงในผลลัพที่ลึกซึ้ง
๔.๓ การท่องทรงจำธรรม อานิสงค์ได้นิรุตติปฏิสัมภิทา รู้จริงในภาษาต่างๆในโลก
๔.๔ การเทศนาแสดงธรรม อานิสงค์ได้ปฏิภาณปฏิสัมภิทา รู้จริงในการแก้ไขปัญหาเข้าใจในนิสัยสันดานของสัตว์โลก
*
แบ่งตามคุณสมบัติเฉพาะตน
พระอรหันต์ ๕ คือ
๑. พระปัญญาวิมุต
๒. พระอุภโตภาควิมุต
๓. พระเตวิชชะ
๔. พระฉฬภิญญะ
๕. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ
*
พระอรรถกถาจารย์แสดงความหมายของพระอรหันต์ไว้ 5 นัย คือ
๑. ไกลจากกิเลส
๒. กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น
๓. เป็นผู้หมดสังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิด
๔. เป็นผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย
๕. ไม่มีที่ลับในการทำบาป ไม่มีความชั่วเสียหายที่จะต้องปิดบัง
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
*•-•-•-•-•*•-•-•-•-•*
อ้างอิง
๑.พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต
พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
๒.โปรแกรมธรรมานุกรมศัพท์โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น