“ตอนใกล้ตาย” มันมีความรู้สึกอย่างไร?
“ตอนใกล้ตาย” มันมีความรู้สึกอย่างไร? อาการของการ “ตาย” ที่คนอื่นได้ศึกษามาหรือเคยได้พูดคุยกับคนมีประสบการณ์ใกล้ตาย (near-death experience) นั้นเป็นเช่นไร
คุณหัชชา ณ บางช้าง เคยค้นคว้าเรื่องนี้มาเขียนใน “ภาวะหลังตาย” และเล่าว่า “กระบวนการตาย” ในระยะต่าง ๆ นั้นเป็นเช่นไร
ท่านบอกว่ามันมี 4 ขั้นตอนอย่างนี้
๑. ระยะแรก เป็นระยะที่ธาตุดินเริ่มสลายตัวกลายเป็นน้ำ ผู้ตายจะรู้สึกอ่อนระโหย ไม่มีแรง การมองเห็นต่าง ๆ เริ่มเสื่อม มองอะไร ๆ ก็ไม่ชัด ทุกอย่างดูมัว ๆ ไปหมด ทุกอย่างที่เห็นเหมือนมองไปกลางถนนขณะแดดจัด ๆ ภาพต่าง ๆ จะเต้นระยิบระยับไปหมด
๒. ระยะที่น้ำจะกลายเป็นไฟ ช่วงนั้น น้ำในร่างกายเริ่มแห้งลง จะรู้สึก ชาๆ ตื้อๆ เริ่มหมดความรู้สึก ไล่จากปลายเท้าขึ้นมาประสาทหูเริ่มไม่รับรู้คือเริ่มไม่ได้ยินเสียงอะไรมองไปทางไหนก็เห็นแต่ควัน
๓. ระยะนี้ไฟเปลี่ยนเป็นลม หูจะไม่ได้ยินอะไรอีกเลย รู้สึกหนาวจับใจ ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ หยุดหมดลมหายใจอ่อนลงเรื่อยๆจมูกเริ่มไม่รับความรู้สึกเรื่องกลิ่น
๔. ระยะนี้ธาตุลมจะเปลี่ยนเป็นอากาศธาตุ ตอนนี้ เจตสิกทุกอย่าง รวมทั้งการหายใจจะหยุดหมด พลังงานทั้งหลายที่เคยไหลเวียนอยู่ในร่างกายจะไหลกลับคืนไปสู่ระบบประสาทส่วนกลางหมด ลิ้นแข็ง ไม่รับรู้เรื่องรสชาติใด ๆ ความรู้สึกสัมผัสหมดไป ความรู้สึกอยากโน่น อยากนี่ต่าง ๆ ที่เคยมีก็หมดไป มีความรู้สึกเหมือนอยู่กับแสงเทียนที่กำลังลุกโพลงอยู่เท่านั้น
ท่านบอกว่าตอนนี้แหละที่แพทย์จะประกาศว่าผู้ป่วยในความดูแล “ถึงแก่กรรม” แล้ว (clinical death)นั่นก็คือจุดที่ “เวทนา” ทั้งหมดดับไป สมองและระบบไหลเวียนต่าง ๆ ของร่างกายหยุดทำงานหมด แปลว่ารูปและนาม หรือเบญจขันธ์ ตายไปแล้วก็ต้องถกกันต่อไปว่า ถ้าเราเชื่อว่า วิญญาณยังอยู่ต่อเมื่อร่างกายสลายไป จะไปอยู่ที่ไหนอย่างไรต่อไป
อ่านเจออีกแหล่งหนึ่งเรื่อง “ลักษณะการตาย” ตามแนวคิดแบบ “เซน” ที่คุณ “โชติช่วง นาดอน” เคยรวบรวมไว้ในหนังสือ “จิตคือพุทธะ” เมื่อนานมาแล้ว
ท่านบอกว่าคนเราตายได้สองลักษณะ คือ “ตายอย่างปราศจากที่พึ่ง” และ “ตายอย่างสมบูรณ์ด้วยที่พึ่ง”คนที่ตายย่างแรกนั้นเวลาใกล้จะสิ้นลม มีอารมณ์ผิดไปจากปกติ จิตใจกลัดกลุ้มยุ่งเหยิง เรียกว่า “จิตวิการ” ซึ่งหมายถึงจิตเกิดความปวดร้าวทรมานเพราะยัง “ยึดติด” กับหลายเรื่อง
หรือที่ผมเรียกว่า “ไม่ยอมตายทั้ง ๆ ที่ต้องตาย” นั่นคือจิตใจยังติดข้องกับอุปาทาน ๔ ประการคือ
๑. ติดอยู่กับทรัพย์สินเงินทอง
๒. ห่วงใยอาลัยในสิ่งที่เป็นรูป และอรูป โดยเห็นว่าเป็นของเที่ยง
๓. มีนิวรณ์ความวุ่นวาย ฟุ้งซ่าน มาห้ามจิตมิให้บรรลุความดี
๔. มีความดูแคลนเมินเฉยในคุณพระรัตนตรัย
เขาบอกว่าคนส่วนใหญ่ตายลักษณะอาการอย่างนี้ เรียกว่าตายอย่าอนาถา
ส่วนการตายอย่างสมบูรณ์ด้วยที่พึ่งนั้นแปลว่าคนใกล้ตายมีสติอารมณ์ผ่องใส ไม่หวั่นไหว และซาบซึ้งในวิธีของมรณกรรม และยึดหลัก ๔ ประการคือ
๑. มีอารมณ์เฉย ๆ ซาบซึ้งถึงกฎธรรมดาแห่งความตาย
๒. ซาบซึ้งถึงสภาพการณ์สิ่งในโลกของความไม่เที่ยง ไม่เป็นแก่นสาร
๓. รำลึกถึงกุศลกรรมที่ได้ผ่านมาในชีวิต และเกิดปิติปลาบปลื้ม
๔. ยึดมั่นเอาคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอยู่ตลอดเวลาจนสิ้นลมหายใจ
ด้วยเหตุนี้แหละ, ผมจึงเห็นว่าการ “ฝึกตายก่อนตาย” ดั่งที่ท่านพุทธทาสเคยสอนเรานั้นเป็นเรื่องประเสริฐสุด แต่คนส่วนใหญ่กลัวตาย แม้จะเอ่ยถึงคำว่าตายก็รับไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการ “แช่ง” ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครหนีความตายได้แม้แต่คนเดียว
การเรียนรู้ “มรณาอุปายะ” หรือ “ฝึกตายก่อนตาย” นั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้มันสนุกเสีย ให้มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นน่ายินดี ก็จะทำให้ความทุกข์ระหว่างมีชีวิตอยู่นั้นลดน้อยถอยลง และเมื่อถึงเวลาที่ต้องจากโลกนี้ไปก็ไม่ตกตื่นรันทดและทรมานเพราะความกลัวและความไม่ต้องการที่จะจากไป
ชาวพุทธที่ฝึกธรรมะในสาระจริง ๆ (ไม่ใช่แค่ทำบุญแล้วนึกว่าจะต้องไปสวรรค์โดยไม่ต้องปฏิบัติธรรม) ก็จะเข้าใจว่า “ขันธ์ทั้งห้า” ล้วนไม่เที่ยง ไม่มีความแน่นอน เปลี่ยนแปลงและทรุดโทรม และท้ายสุดก็แตกดับไป และระหว่างที่มรณกาลมาถึงนั้น ขันธ์ห้าก็ย่อมจะแปรปรวน จึงควรจะเตรียมตัวและเตรียมใจไว้ เมื่อความตายมาถึง, เราก็จะได้ไม่ทุรนทุราย และตายอย่างมีสติ และ “รู้เท่าทันความตาย” ซึ่งเป็นสุดยอดของการมีชีวิตอยู่นั่นเอง
ขอบคุณบทความจาก Kanlayanatam
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น