ที่มาของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอัจฉริยภาพสูงยิ่ง ทรงเป็นทั้งกวี นักประพันธ์ นักวิชาการ นักภาษาศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักบริหารนักการเมือง นักการทูต และที่สำคัญสูงสุด คือ ทรงเป็น เจ้าแผ่นดิน ขณะผนวชทรงพยายามทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้ถึงซึ่งความบริสุทธิ์ ของศาสนา และในฐานะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำวิชาการสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาประเทศ ทรงรักษาชาติให้อยู่รอดปลอดภัย
พระองค์มีพระราชภารกิจมากมาย ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองเต็มไปด้วยความยากลำบาก และอยู่ในภาวะล่อแหลมจากแผนการล่ออาณานิคม แต่พระองค์ก็ทรงดำเนินการต้านกระแส คลื่นยักษ์ของการล่าเมืองขึ้นได้สำเร็จ ทรงวางรากฐานการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศชาติ แต่เนื่องด้วยทรงมีเวลาเพียง 17 ปี ในช่วงที่ทรงครองราชย์ ทั้งยังต้องทรงใช้เวลาในการศึกษา เรียนรู้วิทยาการต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองอยู่นานหลายปี
ขณะที่พสกนิกรชาวไทยยังไม่มีการศึกษามากนัก สถานการณ์บ้านเมืองจึงยังไม่พร้อมรับการ เปลี่ยนแปลงใด ๆ หากแต่พระองค์ทรงพยายามวางรากฐานทางการศึกษา ทรงโน้มน้าวให้ ประชาชนยอมรับวิทยาการแผนใหม่และมีเหตุผลมากขึ้น พระราชภารกิจหลายอย่างจึงมามี สัมฤทธิผลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสของพระองค์ เป็นส่วนใหญ่
เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 คณะนักวิทยาศาสตร์ไทย โดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัย ถึงพระอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศึกษาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขาว เหมือนวงศ์ นักดาราศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญานามพระองค์ท่านว่า พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เพื่อทรงเป็นมิ่งขวัญของวงการวิทยาศาสตร์ของชาติสืบไป จึงเป็นที่มาของ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคม มาจนทุกวันนี้
ด้านวิทยาศาสตร์
เป็นที่ยอมรับกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาราศาสตร์ ทรงมีความเชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์เทียบเท่ากับนักดาราศาสตร์สากล พระองค์ทรงวางรากฐานที่จะนำวิทยาการใหม่ของตะวันตก ตลอดจนความรู้ทางวิทยาศาสตร์แผนใหม่ และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารประเทศอย่างระมัดระวัง และดัดแปลงให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ของประเทศ สิ่งใดแปลกใหม่ แม้ไม่ทรงได้เคยรู้มาก่อนก็ทรงตั้งพระทัยติดตามศึกษาหาความรู้ด้วยน้ำพระทัยของนักวิทยาศาสตร์
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีการประชุมกัน เพื่อพิจารณาหาวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้ตกลงมีมติเลือกวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณคาดหมายไว้ว่าจะเกิดสุริยุปราคาที่ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 เมษายน อนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นไป และได้ประกาศยกย่องว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย นับว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
ผลงานทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ได้แก่ งานทางด้านการวิจัย และการสถาปนาเวลามาตรฐาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น