23 สิงหาคม 2564

ผลการตัดสังโยชน์ คือระดับการบรรลุธรรม ในแต่ละขั้น ตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์

ผลการตัดสังโยชน์ คือระดับการบรรลุธรรม ในแต่ละขั้น ตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์

: สังโยชน์ ๑๐ ประการ :
โดยหลวงพ่อฤาษี  วัดท่าซุง

เนื่องจากการตัด “สังโยชน์ ๑๐” เป็นสิ่งสำคัญมาก ในการก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยะเจ้า  ถ้าเราไม่สามารถตัดกิเลส  ที่เป็นเครื่องร้อยรัดใจของเราได้แล้ว ความสำเร็จที่จะบรรลุธรรม หรือจะก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยะเจ้า ในขั้นใดๆ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย 

จึงเห็นความจำเป็นที่จะขออธิบายเรื่องนี้ซ้ำให้ละเอียด เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ  ในการตัดกิเลสที่เป็นตัวสำคญ  ที่จะขัดขวาง หรือ  เป็นอุปสรรค  ในการก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยะเจ้า
ในลำดับต่าง ๆ ดังนี้

*** สังโยชน์ ๑๐ ประการ 
(ธรรมที่ใช้เป็นตัววัดผล ของการปฏิบัติธรรม)

นักเจริญวิปัสสนาญาณ  นักปฏิบัติธรรม  บรรดาเหล่าท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ท่านผู้แสวงหาโมกธรรม เพื่อที่จะได้หลุดพ้นไปจาก  กองทุกข์ทั้งหมด  

ได้ประพฤติ  ปฏิบัติธรรม  ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  โดยการ ให้ ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรือ ถ้าได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ในบวรพระพุทธ
ศาสนา  ก็ปฏิบัติตาม "ไตรสิกขา" คือ ศีล  สมาธิ  ปัญญา  

เมื่อได้ปฏิบัติไปแล้ว จะรู้ตัวว่า ได้อะไรหรือไม่...? ตัวเราปฏิบัติธรรมไปถึงไหนแล้ว  มีอะไรมาเป็นตัววัด  เป็นเครื่องมือวัดผล  ของการปฏิบัติธรรม  ท่านให้ใช้การพิจารณา ตัด ละ เลิกสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการ คือ... 

๑.สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

หมายความว่าเราไม่พอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใด ๆ ทั้งหมด เราไม่หลงใหลใฝ่ฝันอยู่ในขันธ์ ๕ คิดว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสมบัติของกิเลส และตัณหา 

เป็นแดนของความทุกข์ และสิ่งนี้มันจะพลัดพรากจากเราก็คือจิต มันจะแตกจะทำลาย  มันจะป่วยไข้ไม่สบาย  จะถูกอารมณ์ร้ายต่าง ๆ ของโลกเข้ามายั่วยวน เราก็ไม่หวั่นไหว คิดว่าเมื่อถึงกาลถึงสมัยมันก็ต้องพัง ห้ามปรามมันไม่ได้ กฎธรรมดาเป็นอย่างนั้น

๒.วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระนิพพานไม่มี คิดว่าพระนิพพานมีจริง ผลของการปฏิบัติที่เราปฏิบัติอยู่นี่ ถ้าปฏิบัติจริง ๆ ต้องถึงพระนิพพานแน่นอน มีจิตตั้งมั่นอยู่อย่างนี้

๓.สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลให้เคร่งครัด ไม่ทำศีลให้ด่าง ให้พร้อย ให้ขาด ให้ทะลุ รักศีลยิ่งกว่ารักชีวิต (ยอมตายดีกว่าต้องทำลายศีล)

อาการ ๓ อย่าง คือ สังโยชน์ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นผลที่พึงได้จากอารมณ์วิปัสสนาญาณ เมื่อได้แล้วจะมีอาการอย่างใดก็ตาม  เข้ามายั่วยวน ทำให้เราหลงใหลใน รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส เสียดายในชีวิต เสียดายในร่างกาย คิดว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา ก็ไม่เกิด

ใครจะมาทำให้จิตของเราให้คลายจากพระนิพพาน โดยพรรณนาว่า... พระนิพพานไม่มีอะไรดี ไม่มีของน่าอยู่ น่าชม เราก็ไม่เชื่อ เมื่อจิตใจใฝ่ฝันตั้งมั่นอยู่แล้ว ถึงแล้วว่า..เราต้องการพระนิพพาน มีความมั่นคงอยู่อย่างนั้น

สีลัพพตปรามาส ใครจะมายั่วเย้าให้เราทำลายศีล แม้แต่หน่อยหนึ่งเราก็ไม่ทำ  อย่างนี้เชื่อว่าท่านเป็น  #พระโสดาบันแน่ 

ก็หมายถึงว่า จิตที่ละได้อย่างนี้แล้ว  ไม่กลับคืนมาอีก ไม่มีความเสียดายในชีวิต ไม่มีความเสียดายในทรัพย์สมบัติ  ที่สูญสลายไป  ไม่สงสัยในคุณพระรัตนตรัย  คิดว่าพระนิพพานมีจริง 

ถ้าปฏิบัติแล้วต้องได้จริง ได้ถึงจริง รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นสมุจเฉทปหาน คือไม่สร้าง ไม่ทำลายศีล ให้ด่าง ให้พร้อย ให้ขาด ให้ทะลุ อาการ ๓ อย่างนี้  เป็นผลของพระอริเจ้าขั้น...

 #พระโสดาบัน และ #พระสกิทาคามี

๔.กามฉันทะ ทำจิตให้เหือดแห้ง ในความพอใจในกามารมณ์ ความยินดีในเพศไม่ปรากฏ

๕.พยาบาท ความผูกโกรธ ขังโกรธไว้ในใจไม่มี ใครมาทำให้โกรธ โกรธนิดหนึ่งแล้วก็ทิ้งสลายตัวไป ไม่มีความพยาบาท 

แล้วต่อไปก็ทำลายความโกรธให้สิ้นไป ในเมื่อจะมีบุคคลหมู่ใดจะมายั่วมาเย้าให้เรามีความโกรธ เราก็ไม่โกรธ หรือมายั่วเย้าให้เราเกิดกามราคะ มีความปรารถนาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส และสัมผัส อารมณ์อย่างนั้นก็ไม่เกิด 

อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผลของวิปัสสนาญาณจริง เป็นองค์ของพระอริเจ้าขั้น #พระอนาคามี เป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูงในขั้นต่อไป

๖.รูปราคะ หมายความว่า เรามีฌานจริง แต่เราไม่หลงว่าฌานนี้เป็นตัววิเศษ  เกินไปกว่าตัววิปัสสนาญาณ รู้อยู่เสมอว่าฌานเป็นบันไดที่จะเป็นกำลังของจิตใจ ให้เข้าไปใช้อารมณ์ของวิปัสสนาญาณ เข้าประหัตประหารกิเลส ที่เรียกกันว่า “รูปฌาน”

๗.อรูปราคะ เราเห็นว่าอรูปฌานเป็นของดี แต่ว่ายังไม่ดีวิเศษ เพราะอรูปฌานนี้   ยังเป็นผลของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร  ยังเป็นโลกียฌาน แต่ว่าเป็นกำลัง  เป็นบันไดขั้นหนึ่ง หรือ  เป็นกำลังที่เข้ามาค้ำจุนจิตใจ  ให้เข้าไปเจริญวิปัสสนาญาณ ได้รับผลดี

๘.มานะ ความถือตัวถือตน ถือว่าเราเลวกว่าเขา ถือว่าเราเสมอเขา ถือว่าเราดีกว่าเขา  อย่างนี้เราตัดเสียได้  คือไม่คิดอย่างนั้น 

คิดว่าคนในโลกนี้  ไม่มีใครดี ไม่มีใครเลว เกิดมาแล้วก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย  เหมือนกันหมด ไม่มีอะไรที่จะต้องเข้าไป ถือยศ  ถือศักดิ์ ถือชาติวาสนา และ ตระกูลใด ๆ ทั้งสิ้น

๙.อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญในจิตใจไม่มี ตัดเสียได้แล้ว มีอารมณ์เป็นอันเดียวคือ เอกัคคตารมณ์ มีจิตใจชุ่มชื่น รู้ได้ตามสภาวะของความเป็นจริง

๑๐.อวิชชา คือความพอใจในทรัพย์สมบัติของโลก คือในร่างกายของเรา หรือในรูปของคนอื่นไม่มี 

ความกำหนัดยินดีในทรัพย์สินของโลก ที่มีชีวิต และ ไม่มีชีวิต แม้แต่ตัวเองก็ไม่มี อย่างนี้เรียกว่า...ตัดอุปาทานขันธ์เสียได้ ตัดตัวอวิชชาความโง่เสียได้ 

จากพระอริเจ้าขั้นพระอาคามี ตัดละสังโยชน์ ๕ ข้อได้  เมื่อท่าน ตัด ละ สังโยชน์ ข้อที่ ๖ ถึง ข้อที่ ๑๐ ได้หมดแล้ว  ท่านก็เป็นองค์ของพระอริเจ้าขั้น #พระอรหันต์  

ที่มา บันทึกธรรมพระราชพรหมยานมหาเถระ
หลวงพ่อฤาษี วัดจันทาราม (วัดท่าซุง)
อ.เมือง จ.อุทัยธาน๊

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...