ลมหายใจเป็น "กาย"
สบายไม่สบายเป็น "เวทนา"
ความบริสุทธิ์ผ่องใสเป็น "จิต"
ความตั้งเที่ยงของจิตเป็น "ธรรม"
-------------------------------
“ภาวนา” ไม่ใช่เป็นเรื่องของพระธุดงค์ หรือเป็นของพระของเณร เป็นคนโง่คนฉลาดหรือคนมีคนจน แต่เป็นของซึ่งทุกคน ทุกเพศ ทุกชั้น ทุกวัยทำได้ คนเจ็บคนไข้นั่งนอนอยู่กับบ้านก็ทำได้ และทำได้ไม่เลือกกาลเลือกเวลา
เราเสียสละเพียงเล็กน้อยเพื่อแลกกับความดีอันนี้ คือ เสียสละเวลา สละการนอน สละความเจ็บปวดเมื่อย ต้องใช้ความอดทนพยายาม สละกายบูชาพระพุทธ สละวาจาบูชาพระธรรม สละใจบูชาพระสงฆ์ เรียกว่า “ปฎิบัติบูชา”
ตั้งใจอุทิศตัวของเราให้เป็นกุฎิ แล้วก็นิมนต์พระพุทธเจ้า เสด็จเดินจงกรมเข้าไปในช่องจมูก ด้วยลมหายใจเข้า “พุท” ออก “โธ”
ทำดังนี้ พระพุทธเจ้าก็ต้องมาอยู่กับตัวเรา ช่วยคุ้มครองรักษาเรา เราก็จะมีแต่ความสุขร่มเย็น และเบิกบานแจ่มใส
-------------------------------
“พุทโธ” เป็น คำภาวนา
การมีสติรู้ลมหายใจเข้าออก เป็นองค์ภาวนา เป็นตัว “พุทธะ”
เมื่อจิตอยู่ ทิ้งคำภาวนาได้ คำภาวนาเหมือนเหยื่อหรือเครื่องล่อ เช่นเราอยากให้ไก่เข้ามาหาเรา เราก็หว่านเมล็ดข้าวลงไป เมื่อไก่วิ่งเข้ามาหาแล้ว เราก็ไม่ต้องหว่านอีกฉันใดก็ฉันนั้น
-------------------------------
ท่านพ่อลี ธัมมธโร
ที่มา เรื่องของลม
ดาวน์โหลด PDF >> https://app.box.com/s/4gugixbfnubi07ejdykfswhm8rqldhhc
-------------------------------
หลักวิธีฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ ของท่านพ่อลี ธมฺมธโร
.. หลักในการปฏิบัติ ก็มีดังนี้ คือ
๑. กำจัดอารมณ์ที่ชั่วออกจากจิตให้หมด
๒. ทำจิตให้อยู่ในอารมณ์ที่ดี
๓. อารมณ์ที่ดีต่างๆ ให้ต้อนเข้าไปรวมอยู่ในจุดอันเดียวที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์
๔. พิจารณาอารมณ์หนึ่งนั้นให้เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคล ว่างเปล่า
๕. วางอารมณ์ที่ดีและอารมณ์ชั่วไปตามสภาพของอารมณ์ เพราะดีและชั่วย่อมอยู่ด้วยกัน มีสภาพเสมอกัน วางจิตไว้ตามสภาพของจิต รู้ไว้ตามสภาพแห่งรู้ รู้นั้น ไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักดับ นั้นแล คือ สันติธรรม
ดีก็รู้ ดีไม่ใช่รู้ รู้ไม่ใช่ดี ชั่วก็รู้ รู้ไม่ใช่ชั่ว ชั่วไม่ใช่รู้ คือ รู้ไม่ติดความรู้ รู้ไม่ติดสิ่งที่รู้ นั่นแหละคือธรรมชาติธาตุแท้อันบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนน้ำที่อยู่ในใบบัว ฉะนั้นจึงเรียกว่า อสังขตธาตุ เป็นธาตุแท้
เมื่อใครทำได้เช่นนี้ ก็จะเห็นของดีวิเศษเกิดขึ้นในใจแห่งตน จะเป็นกุศลวาสนาบารมีของท่านผู้ปฏิบัติในทางสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน จะได้ผล ๒ ประการดังกล่าวมา คือ โลกิยผลที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์อนามัยของร่างกายแห่งท่านและคนอื่นๆทั่วไปในสากลโลกนี้ประการหนึ่ง ประการที่ ๒ จะได้โลกุตรผลอันเป็นประโยชน์อนามัยในด้านจิตใจของท่านมีความสุขความเยือกเย็นและความราบรื่นชื่นบาน ก็จะถึงพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย..
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
ที่มา วิธีฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ
-------------------------------
ศึกษาต่อ...
ที่มา วิธีฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ แบบที่ ๑
http://www.yajai.com/index.php/dhamma-master/tp-lee/143-anapansati-1a
................................................................
ลิงค์ วิธีฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ แบบที่ ๒
http://www.yajai.com/index.php/dhamma-master/tp-lee/142-anapansati-2a
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น