เคยถามมันหรือเปล่า เหมือนที่ว่านั่งไปแล้วมีเวทนาเกิดขึ้น เคยถามมันกลับไปหรือเปล่า เอ๊ะ..ไอ้เวทนานี้มันมีที่สิ้นสุดหรือเปล่า ในระยะทางแห่งมรรค..มันมีที่สิ้นสุดหรือไม่ว่ามันจะเจ็บไปเพียงใด เคยปรารภถามมันบ้างหรือเปล่า นี่แลเราต้องถาม..ปุจฉาวิสัชนามันบ่อยๆ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วจิตเราจะมีความกลัว มีความลังเล แต่ถ้าเราถามมันในเวทนา..เค้าเรียกดูเวทนาในเวทนาก็เพราะเหตุนี้ เอาเวทนานั้นมาพิจารณา..
ดูกายในกายเป็นอย่างไร ปรารภกายเกิดขึ้นว่ากายนี้มันใช่ของเรามั้ย ถ้ามันใช่ของเรา..เราลองสั่งมันซิ ว่าไม่ให้มันแก่ไม่ให้มันชรา แล้วว่าถ้าสั่งมันแล้วลองพิจารณาตามความเป็นจริงซิ..มันไม่เป็นไปอย่างที่เราสั่ง เอ๊ะ..ตกลงมันใช่เราจริงหรือเปล่า แล้วเรานี่เป็นใครมาจากไหน หรือว่าเราเป็นเพียงสมมุติขึ้นมาว่าเราชื่อนั่นชื่อนี่..
พ้นจากว่าเราเป็นเราแล้วเนี่ยะ ไม่มีกายแล้วเนี่ยะ ไอ้ตัวเรายังอยู่มั้ย ถ้าจิตยังคิดว่าเป็นเราอยู่ เมื่อจิตยังยึดว่าเป็นเรา..อย่างนั้นก็ยังมีสังขารอยู่ ยังมีอุปาทานอยู่ จิตก็ยังมีอารมณ์อยู่ จิตยังมีอารมณ์อยู่อย่างนี้..ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎน้อยใหญ่อยู่อย่างนี้อีก
แต่เมื่อใดเราคิดว่าจิตนี้ก็ไม่ใช่เรา..เป็นแค่เพียงสภาวะอารมณ์ของจิต เราไม่มีอะไร..คือความว่าง เมื่อมันมีความว่างที่เราไม่ไปปรุงแต่งในอารมณ์แล้ว อารมณ์ไม่มี..ความอยากจะมีมั้ยจ๊ะ ผัสสะจะเกิดขึ้นได้มั้ย ธรรมารมณ์เหล่าใดเกิดขึ้นมา..มันไม่มีอะไรจะไปปรุงแต่งแล้ว ถ้าเรานั้นวางความพอใจไม่พอใจเสียได้แล้ว ดังนั้นให้ลองพิจารณา..
การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ดูกายนี้..ให้เราพิจารณากายคือการละ จะดูพิจารณากาย..อาการ ๓๒ เรียกกายคตานุสสติก็ดี ความไม่สวยไม่งามเค้าเรียกว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้เราพิจารณาให้มาก มาก..มากเพียงใดจิตเราก็สงบมากเท่านั้น เมื่อเราละกายได้มากเพียงใด..เวทนาเราก็จะอ่อนกำลังมากเท่านั้น
เค้าถึงบอกว่าเมื่อเราดูกายจนถึงที่สุดแล้ว เวทนามันจะเริ่มดับลง แสดงว่าเวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารที่เราไปปรุงแต่ง..มันเกิดจากกายมั้ยจ๊ะ กายนี้ยังไม่ใช่ตอใช่หรือเปล่า เพราะเรามียังไปปรุงแต่งไปพอใจ มันยังมีเชื้อใช่หรือเปล่า แสดงว่ามันยังไม่ตาย..คือใจ ใจมันเป็นใหญ่ ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน..
เมื่อใจเราไปผูกกับกายไว้ ไปยึดถือว่านี่เรา..ตัวเรา..ของๆเรา เมื่อมีการพลัดพรากไม่ได้ดั่งใจ..รู้สึกเจ็บมั้ยจ๊ะ ความเป็นจริงร้อนหนาวนี้..กายร้อนหรือกายหนาวนี้ แท้ที่จริงแล้วกายมันร้อนหรือเปล่า (ลูกศิษย์ : ไม่ได้ร้อน) เราอย่าเพิ่งบอกว่าไม่ร้อน..ไม่จริง เราต้องบอกว่ากายเรานี้มันร้อน รู้สึกว่าที่กายมันร้อนใช่หรือเปล่า หนาว..ก็รู้สึกว่ากายมันหนาวใช่หรือเปล่า นี่คือความเป็นจริงของมนุษย์
แต่แท้ที่จริงมองให้ลึกลงไปว่า กายมันหนาวกายมันร้อน..ไม่จริง เรายังไม่ได้กำหนดรู้ เมื่อเรากำหนดรู้ว่าที่ร้อนที่หนาว เมื่อเราวางใจให้เป็นกลาง..วางอุเบกขา อ้าว..กลับไม่รู้สึกว่าร้อนหรือหนาว ความรู้สึกนั้นหายไป “ตัวรู้สึก”นี้คืออะไร..เวทนา คือสัญญาที่ไปยึดมั่นถือมั่นในกาย เมื่อเราถอดถอนวางกายได้..อารมณ์เวทนาที่บอกว่าหนาวร้อนนั้นมันหายไปไหน
แสดงว่ามันไม่ใช่เราใช่หรือไม่ ที่ว่าเป็นเราปรุงแต่งเป็นรูปร่างขึ้นมา เพราะเราไปผัสสะไปปรุงแต่ง..พอใจไม่พอใจ มันจึงเกิดสัญญาเกิดขึ้น..ว่ายึดมั่นถือว่านี่กายของเรา โทสะโมหะมันก็เลยบังเกิด ใช่หรือเปล่าจ๊ะ
บางคนที่กำหนดรู้ได้แล้วเท่าทันแล้ว..นิโรธมันจึงเกิด คือการดับอารมณ์นั้นเกิดขึ้นมา นี่เค้าเรียกว่าการพิจารณาให้เห็นในสติปัฎฐาน เค้าเรียกวิปัสสนาญาณอย่างหนึ่ง ที่ฉันบอกว่าไม่ว่าโยมจะเจอทุกข์เวทนาอันใด..ให้กำหนดรู้ก่อน เหมือนเรานั่งแล้วมีเวทนา หรือนั่งแล้วมีนิวรณ์มันเข้ามาครอบงำ ดูซิ..นิวรณ์ตัวใดที่มันเกิดขึ้น จิตนั่นแลคือไปเสวยอารมณ์
การเสวยอารมณ์นั่นคือชาติที่เราไปเสวยอยู่ ภพที่เราอยู่เสวย ก็ให้ดูซิว่าจิตเรานั้นเสวยอารมณ์ใด ถ้าสามารถสลัดได้เร็ว เค้าเรียกอินทรีย์เราผ่องใส แต่ถ้ายังไม่สามารถสลัดได้โดยในทีเดียว..แสดงว่าศีลเรามีความชำรุด เราต้องค่อยๆปะค่อยๆแก้ คือเราต้องชำระล้างศีล คือเพ่งโทษในกายให้มาก กายเรานั้นทุจริตมาก เราก็ต้องชำระล้างเพ่งโทษในกาย..ความชั่วความเลวของเรา นี่คือคนที่มีธรรมมาก มันจะเห็นเท่าทันได้มากขึ้น..
นั้นโยมต้องรู้..ใจและจิตเรานั้นเอาให้เป็นหนึ่ง เพราะใจเราเป็นประธานแห่งธรรมแห่งกรรม ดูจิตก่อนเลยอันดับแรก เมื่อกำหนดอานาปานสติเข้าไป ล้างลมเสียออกจากปอด ลมเสียในปอด..ก็คืออารมณ์ที่เรายังมีโทสะ มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง เมื่อเรา(สูดลมหายใจลึก)..กำหนดรู้ลม ล้างลมเสียออกจากปอดซัก ๒-๓ ครั้ง จนรู้สึกว่าลมมันเริ่มสงบลง
คำว่าลมเริ่มสงบลงคือเรากำหนดลมเข้าไปแล้ว..ลมมันเริ่มไม่ขัดในท้อง อย่างนี้เรียกว่าลมเริ่มสงบ เรียกล้างลมเสีย เมื่อเราล้างลมแล้ว..ก็ให้ดู การที่เรากำหนดรู้ลมนี่แลเค้าเรียกว่าเป็นการกำหนดรู้กาย ลมและกายนั้นมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กายก็ดีมันขาดลมไม่ได้ ลมถ้าขาดกาย..เราก็ไม่สามารถรู้ลมได้ อย่างนี้กายและลมนี่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเปล่า
เค้าถึงบอกว่ารู้ลม..ก็อย่ารู้กาย ใช่หรือไม่ เพราะว่าถ้าลมไม่มี..กายอยู่ได้มั้ยจ๊ะ กายก็ตั้งอยู่ไม่ได้ แสดงว่ามันอาศัยกันหรือเปล่าจ๊ะ พระพุทธองค์หรือนักปราชญ์ทั้งหลาย เค้าจึงอาศัยอานาปานสตินี้แล คือดูลมหายใจนี้ ลมเข้า-ลมออก ลมเกิด-ลมตาย คือลมนิพพาน รู้จนถึงความละเอียดของลม
เมื่อรู้ถึงความละเอียดของลม..จากหยาบ จากปานกลาง จากละเอียด ลมนี้แลเค้าเรียกว่าลมปรมาณู จะทำให้ฟอกจิตเข้าไป..ฟอกจิตเข้าไปจนจิตนั้นมีกำลัง หรือเรียกว่าจิตนั้นมีตัวรู้หรือเรียกว่าญาณ ดังนั้นแล้วในการที่เรานั้นดูลมหายใจ..ถ้าเป็นมหาสติขึ้นมาเมื่อไหร่
คำว่ามหาสติคือจิตที่มีกำลัง สติที่มีกำลังมาก..กำลังมากอย่างไร เราสามารถทรงรู้อารมณ์ของกายได้ สามารถเท่าทันในอารมณ์ที่มาครอบงำเราได้ คือจิตนั้นปราศจากนิวรณ์ที่มาครอบงำ..นี่เรียกเป็นมหาสติ มหาสติเหมือนที่ว่าไม้ปักลงไปในโคลนตมแล้วหรือปักไว้ที่ใด..มันจะนิ่งอยู่อย่างนั้น ไม่ถูกซัดเอนไปไหน
แต่ที่มันยังไม่เป็นมหาสติก็คือยังมีอารมณ์มากระทบอยู่..หรือธรรมารมณ์ จึงเรียกว่าจิตยังฟุ้งซ่าน จิตยังไม่เป็นหนึ่ง อย่างนี้..ต้องทำอย่างไร เราต้องมีอุบาย..เช่นมีภาวนาบ้าง มีการยกธรรมเรียกว่าสมถกรรมฐาน สมถวิปัสสนา ยกธรรมมาเป็นเครื่องอยู่ น้อมจิตนั้นเป็นอุบายให้จิตเราคอยปลงสละ คลายจากความกำหนัด คลายจากความคิดปรุงแต่ง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอุบายแห่งธรรม..
มูลนิธิเมืองธรรมพรหมรังสี สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น