23 เมษายน 2565

หลักธรรมพุทธศาสนา

#หลักธรรมพุทธศาสนา 
#ทำตามนี้ได้เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ
- อริยสัจ 4 
- อิทธิบาท 4 
- สังคหวัตถุ 4 
- พรหมวิหาร 4
- อริยมรรค 8
- โลกธรรม 8  
- ความกตัญญู 
- ภัยจากความเสน่หา
- ทิศ 6
- มงคลชีวิต

อริยสัจ 4
 มีความจริงอยู่ 4 ประการคือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า อริยสัจ 4

1. ทุกข์  :  คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์

2. สมุทัย  :  คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง

3. นิโรธ :  คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน

4. มรรค :  คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้

อิทธิบาท 4
 
 คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ

    ๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
    ๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
    ๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
    ๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน

    ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่า ดีที่สุด ที่มนุษย์เรา ควรจะได้ ข้อนี้ เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อ

    วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้ มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วย ส่วนหนึ่ง

    จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้ง สิ่งนั้น ไปจากความรู้สึก ของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่

    วิมังสา หมายถึงความสอดส่องใน เหตุและผล แห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่

สังคหวัตถุ 4
สังคหวัตถุ 4 หมายถึง หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่
    1. ทาน คือ การให้ การเสียสละ หรือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้

    2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับการพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น จะต้องพูดโดยยึดถือหลักเกณฑ์
ดังต่อไปนี้
        เว้นจากการพูดเท็จ
        เว้นจากการพูดส่อเสียด
        เว้นจากการพูดคำหยาบ
        เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

3. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย

พรหมวิหาร 4
ความหมายของพรหมวิหาร 4
- พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่

    เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
    กรุณา ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
    มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
    อุเบกขา การรู้จักวางเฉย

คำอธิบายพรหมวิหาร 4

    1. เมตตา : ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ 
และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น
    2. กรุณา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย
ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

        - ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และ
ความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์

        - ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์

    3. มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เช่น เห็นเพื่อนแต่งตัวเรียบร้อยแล้วครูชมเชยก็เกิดความริษยาจึงแกล้งเอาเศษชอล์ก โคลน หรือหมึกไปป้ายตามเสื้อกางเกงของเพื่อนนักเรียนคนนั้นให้สกปรกเลอะเทอะ เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง

    4. อุเบกขา : การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
         

มรรค 8 ( อัฏฐังคิกมรรค )
(มรรค = อริยมรรค = มัชฌิมาปฏิปทา = มรรคแปด = ทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐ = ทางสายกลาง)

    แนวทางดำเนินอันประเสริฐของชีวิตหรือกาย วาจา ใจ เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์  เรียกว่า อริยมรรค แปลว่าทางอันประเสริฐ เป็นข้อปฏิบัติที่มีหลักไม่อ่อนแอ จนถึงกับตกอยู่ใต้อำนาจ ความอยากแห่งใจ แต่ก็ไม่แข็งตึงจนถึงกับเป็นการทรมานกายให้เหือดแห้งจากความสุขทางกาย เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือทางดำเนินสายกลาง ไม่หย่อนไม่ตึง แต่พอเหมาะเช่นสายดนตรีที่เทียบเสียงได้ที่แล้ว  คำว่ามรรค แปลว่าทาง ในที่นี้หมายถึงทางเดินของใจ เป็นการเดินจากความทุกข์ไปสู่ความเป็นอิสระหลุดพ้นจากทุกข์ซึ่งมนุษย์หลงยึดถือและประกอบขึ้นใส่ตนด้วยอำนาจของอวิชชา 
    มรรคมีองค์แปด คือต้องพร้อมเป็นอันเดียวกันทั้งแปดอย่างดุจเชือกฟั่นแปดเกลียว องค์แปดคือ

    1. สัมมาทิฏฐิ คือความเข้าใจถูกต้อง
    2. สัมมาสังกัปปะ คือความใฝ่ใจถูกต้อง
    3. สัมมาวาจา คือการพูดจาถูกต้อง
    4. สัมมากัมมันตะ คือการกระทำถูกต้อง
    5. สัมมาอาชีวะ คือการดำรงชีพถูกต้อง
    6. สัมมาวายามะ คือความพากเพียรถูกต้อง
    7. สัมมาสติ คือการระลึกประจำใจถูกต้อง
    8. สัมมาสมาธิ คือการตั้งใจมั่นถูกต้อง

         

โลกธรรม 8
ความหมายของโลกธรรม 8
    โลกธรรม 8 หมายถึง เรื่องของ โลกมีอยู่ประจำกับชีวิต สังคมและโลกของมนุษย์เป็นความจริงที่ทุกคนต้องประสบด้วยกันทั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ข้อแตกต่างคือ ใครประสบมาก ประสบน้อย ช้าหรือเร็ว โลกธรรมแบ่งออกเป็น 8 ชนิด จำแนกออกเป็น 2 ฝ่ายควบคู่กันและมีความหมายตรงข้ามกัน คือ

    1. โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือ ฝ่ายที่มนุษย์พอใจมี 4 เรื่อง คือ
        - ได้ลาภ หมายความว่า ได้ผลประโยชน์ ได้ทรัพย์สินเงินทอง ได้บ้านเรือนหรือที่สวน ไร่นา 
        - ได้ยศ หมายความว่า ได้รับแต่งตั้งให้มีฐานันดรสูงขึ้น ได้ตำแหน่ง ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต 
        - ได้รับสรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกยอ
        - ได้สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ได้ความเบิกบาน ร่าเริง ได้ความบันเทิงใจ

    2. โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ คือ ฝ่ายที่มนุษย์ไม่พอใจมี 4 เรื่อง คือ
        - เสียลาภ หมายความว่า ลาภที่ได้มาแล้วเสียไป
        - เสื่อมยศ หมายถึง ถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ
        - ถูกนินทา หมายถึง ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี มีใครพูดถึง ความไม่ดีของเราในที่ลับหลังเรียกว่าถูกนินทา
        - ตกทุกข์ คือ ได้รับความทุกข์ทรมานกายทรมานใจ

ทิศหก

 ทิศหก บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัวจัดเป็น ๖ ทิศ ดังนี้ 
    ๑. ปุรัตถิมทิส ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ บิดา มารดา 
    ๒. ทักขิณทิสทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์
    ๓. ปัจฉิมทิส ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ สามีภรรยา
    ๔. อุตตรทิส ทิศเบื้องซ้ายได้แก่ มิตรสหาย
    ๕. อุปริมทิส ทิศเบื้องบนได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์ 
    ๖. เหฏฐิมทิส ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง

ความกตัญญู

     พระพุทธศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี คนดีย่อมเป็นที่ปราถนาที่ต้องการในที่ทุกหนทุกแห่งในทุกกิจการ และในทุกยุคทุกสมัย คนดีทำให้ครอบครัวเจริญ โรงเรียนเจริญ ชุมชนเจริญ สังคมและประเทศชาติเจริญ คนดีอยู่ในครอบครัวใด โรงเรียนใดและสังคมใด ครอบครัว โรงเรียน และสังคมนั้นๆ ย่อมมีความสุข ความกตัญญู คือ คุณสมบัติและสัญลักษณ์ของคนดี กตัญญูกับกตเวทีรวมเป็นกตัญญูกตเวที เป็นคุณธรรมคู่กันเสมอ เป็นหลักถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของสัตบุรุษ คือ คนดี หรือคนในอุดมคตินั่นเอง ในสังคมชาวพุทธ คนมีกตัญญูกตเวทีย่อมเป็นผู้ควรค่าแก่ความรัก เกียรติ ศักดิ์ศรี และการยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่น เพราะได้ปฏิบัติธรรมอันถือเป็นมงคลยิ่ง

ข้อหนึ่ง คือ ความกตัญญู บุคคลย่อมมีชีวิตประสบแต่ความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง
ความคิดและความเชื่อตามวัฒนธรรมไทยนั้น สรรเสริญผู้มีความกตัญญูและตำหนิผู้ที่ไม่รู้จักบุญคุณคนอื่นเป็นอย่างมาก คนไทยมีความเชื่อว่าผู้ที่มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ จะมีความเจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนผู้ที่เนรคุณนั้นจะประสบความวิบัติเป็นที่รังเกียจในสังคม ได้มีการเปรียบเทียบว่า คนที่เนรคุณนั้น 
เป็นคนไร้ค่ามีจิตใจกระด้างดังเนื้อหิน เขาจะกรุณาคนอื่นได้อย่างไรในเมื่อคนที่มีบุญคุณต่อเขา ยังทำให้เขา
สำนึกไม่ได้

กตัญญู เป็นธรรมอันเป็นมงคลที่ 25 ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้โดยเน้นให้นำไปพัฒนาคุณสมบัติของคนดีแปลตาม
ตัวหนังสือคือผู้รู้ว่า คนอื่นทำความความดีอะไรไว้แก่ตนบ้าง เอาความหมายสั้นๆ ว่าา "ผู้รู้คุณคน" การรู้บุญคุณคน
หรือรู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำให้ตนเองนับถือเป็นหลักแห่งความยุติธรรมและความเป็นธรรมอย่างหนึ่งในสังคมมนุษย์ เพราะเป็นการสอดคล้องกับหลักคำสอนว่า การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ มีคนทำดีให้
กับเราแล้ว และเราได้รับผลประโยชน์จากการทำดีของเขา เป็นต้นว่า ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข แต่เรารับรู้แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่รับรู้คุณความดีของเขา ย่อมถือได้ว่าไม่ยุติธรรมต่อกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...