คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้านี่ ตามประวัติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ #หลวงพ่อปาน ได้ออกท่องเที่ยวจากวัดไปปักษ์ใต้ไปถึงนครศรีธรรมราช แล้วย้อนขึ้นมาทางทิศตะวันออกเข้าไปถึงอินโดจีนของฝรั่งเศส ด้วยความเอื้อเฟื้อของบรรดาเจ้านายทั้งหลาย
เมื่อท่านไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านได้ข่าวว่า มีท่านผู้หนึ่งทรงคุณความดี ชื่อว่า #อาจารย์ผึ้ง ในบางที่บางแห่งเรียก"พึ่งบุญ" อันนี้ฉันก็ไม่ทราบชัดว่าจะเป็นความจริงแค่ไหน หรือจะมาต่อสร้อยให้ท่านก็ไม่ทราบ สำหรับหลวงพ่อปานท่านเรียกท่านผู้นั้นว่า"อาจารย์ผึ้ง"อย่างเดียว
หลวงพ่อปานท่านไปพบตัวอาจารย์ผึ้งเองที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้ทราบข่าวว่าอาจารย์ผึ้งมีวิชาพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ #คาถาแก้ความยากจน
ท่านได้พบอาจารย์ผึ้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ เวลานั้นอาจารย์ผึ้งอายุได้ ๙๙ ปี สมัยนั้นค่าของเงินมีมาก เงินครึ่งสตางค์ยังซื้อของได้ อาจารย์ผึ้งมีกรณีพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือว่า ใครจะไปขอเงินท่าน จะเป็นขอทาน คนบอกบุญ บอกทาน งานบวชพระ งานแต่งงาน งานโกนจุกอะไรก็ตามท่านมักจะสงเคราะห์บุคคลที่ไปบอกหรือขอท่านเป็นเงิน ๑๐๐ บาท ค่าของเงินสมัยนั้น ๑๐๐ บาทรู้สึกจะมีค่าลิ่ว ข้าราชการสัญญาบัตร อันดับแรกยังมีเงินเดือนไม่ถึง ๑๐๐ บาท อย่างร้อยตรีมีเงินเดือน ๘๐ บาท ท่านก็ทำบุญด้วย ๑๐๐ บาท เป็นปกติ
หลวงพ่อปานมีความสงสัยจึงต้องการพบท่าน เมื่อพบท่านแล้วก็ถามความเป็นไป ท่านก็บอกว่า ท่านมีคาถาบทหนึ่ง เรียกว่า "คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า" ท่านได้ศึกษามาจากพระธุดงค์ ตั้งแต่สมัยท่านมีอายุน้อยๆ ในสมัยนั้นพระธุดงค์มาปักกลด ท่านออกไปปฏิบัติพระธุดงค์ตลอด ๗ วัน ท่านปักอยู่ ๗ วันในที่แห่งเดียว เมื่อพระองค์นั้นจะไป ก็ได้บอกว่า..
"สิ่งเหล่าอื่นที่อาตมาจะสงเคราะห์โยม ตอบแทนความดีของโยมนะไม่มี ขึ้นชื่อว่าอริยทรัพย์คือความดีที่พระพุทธเจ้ามอบให้ แล้วก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลตอบแทนโยมได้ก็คือคาถาของพระปัจเจกพุทธเจ้า
คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ ถ้าใครศึกษาไว้และปฏิบัติให้ถึงด้านจิตเป็นสมาธิ บุคคลผู้นั้นจะไม่มีความยากจนเข็ญใจ ขึ้นชื่อว่าการขัดข้องใดๆที่ปรากฏสามารถขจัดปัดเป่าได้โดยสิ้นเชิง"
หมายความว่า..
คนที่ปฏิบัติถึงสมาธิแล้ว บุคคลนั้นจะไม่จน แต่ทว่าบุคคลใดปฏิบัติแค่เบาๆคือ สวดมนต์ด้วยคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้านี้คืนละ ๓ จบ ๕ จบ ๗ จบ ๙ จบเป็นที่สุด ทั้งหัวค่ำและเช้ามืด แล้วก็ใส่บาตรเป็นนิจ ก่อนที่จะทำกิจอะไรก็ตาม ให้ว่าคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้านี้ก่อนครั้งหนึ่ง
ท่านจะรับราชการก็ว่าคาถาก่อนหนึ่งครั้ง จะค้าขายก็ว่าคาถาบทนี้หนึ่งจบ ตอนเช้าเวลาจะใส่บาตรและบูชาพระด้วยคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้านี้คืนละกี่จบ เวลาใส่บาตรให้จบขันข้าวด้วยคาถานี้เท่านั้น เท่าจำนวนที่สวดในตอนกลางคืน หรือตอนเช้า ถ้าทำอย่างนี้เป็นปกติ ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติแบบเพลาๆสามารถที่จะยังบุคคลผู้นั้นให้เป็นผู้ไม่ขัดข้องด้วยทรัพย์สมบัติ เรียกว่าหากินพอกินพอใช้ พอแก่ความต้องการ
อันนี้ถ้าบุคคลใดเจริญคาถานี้เป็นพระกรรมฐานให้เป็นสมาธิ บุคคลผู้นั้นก็จะถึงความร่ำรวยในทรัพย์สมบัติ นี่ ท่านว่าอย่างนั้น
เมื่อทราบคุณสมบัติของคาถาบทนี้แล้ว หลวงพ่อปานก็ขอเรียนมา คาถาบทนี้ขึ้นต้นว่าอย่างนี้..
พุทธะ มะอะอุ นะโมพุทธายะ
สำหรับคำนี้ว่าครั้งเดียว ต่อไปว่า..
วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี
วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มานีมามะ
พุทธัสสะ สวาโหม
ว่า ๓ ครั้ง หรือ ๕ ครั้งหรือ ๗ ครั้งหรือ ๙ ครั้งตามอัธยาศัยนี่เฉพาะการสวดมนต์เป็นประจำ ถ้าว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้ว่าโดยตรงแต่ทางที่ดีแล้วท่านเคยแนะนำให้ว่า ๗ ครั้ง หรือ ๙ ครั้ง
ว่า ๓ ครั้งนี่รู้สึกจะขี้เกียจเกินไป คนเราก็ต้องการความร่ำรวย ต้องการความดี เขาอุตส่าห์สละแรงกายแรงงานทำงานกรำแดดฝนเหนื่อยยากยังทำได้ แล้วแค่เพียงสวดมนต์ ๗ จบหรือ ๙ จบ เท่านี้ทำไม่ได้ คนประเภทนี้ไม่ควรจะร่ำรวย ควรจะกินหญ้ามากกว่ากินข้าว นี่ความเห็นของฉันนะ
ฉันไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านชาวเมืองเขา
ทำอะไรโดยมากฉันจะเอาชีวิตเข้าแลกคือทำงานทุกอย่างสมัยเป็นฆราวาสก็ตาม มาเป็นพระก็ตาม ฉันคิดว่าจะทำอะไรฉันจะต้องพยายามทำสิ่งนั้นให้เสร็จ ถึงแม้ว่าจะยากลำบากด้วยการเอาชีวิตเข้าแลกฉันก็ยอมพลี นี่เป็นคติของฉัน ดูเหมือนว่าคติอันนี้จะตรงกับอัธยาศัยของหลวงพ่อปาน หลวงพ่อปานท่านเองก็มีคติอย่างนั้น
ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า การเจริญกรรมฐานก็ดี การธุดงค์ก็ดี การปฏิบัติกิจการงานต่างๆ ใดๆ ก็ตาม ท่านเอาชีวิตเข้าแลก เมื่อสิ่งนี้ถ้าต้องการให้สำเร็จคนอื่นบอกว่าไม่สำเร็จแต่ว่าท่านคิดว่าจะทำให้สำเร็จ ท่านยอมตายหากว่าสิ่งนั้นทำไม่ได้ ความคิดเห็นอย่างนี้ถ้าจะกล่าวเป็นบารมี เขาเรียกกันว่า #ปรมัตถบารมี มีจิตถึงขั้นปรมัตถบารมี เขาต้องทำกันอย่างนั้นทุกคน นี่เป็นคติในพระพุทธศาสนาที่นักปฏิบัติจะพึงปฏิบัติ
#หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
วัดจันทาราม(ท่าซุง) จ.อุทัยธานี
หนังสือพ่อสอนลูก หน้า ๑๓๔-๑๓๖
#เพจคำสอนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
พิมพ์เพื่อธรรมทานโดย..
🖋..Moddam Thammawong
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น