หลังจากนี้ ปิติ และ ความสุข ก็เกิดขึ้น...เมื่อ ปิติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จิตเข้าสู่อัปนนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ
ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่า อัปนนาจิต
ถ้าเรียกโดยสมาธิเรียกว่า อัปปนาสมาธิ
ถ้าเรียกโดยฌานก็เรียกว่า อัปปนาฌาน
บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่ 5
จิตในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น
เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ให้พิจารณา กายคตาสติ เรียกว่ากายคตาปฏิปทา โดยการพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังโดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง รู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา
เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิตเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริงๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็น อสุภกรรมฐาน
และเมื่อได้พิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ 4 ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ
เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น.
เมื่อเป็นเข่นนั้น จิตก็ย่อมรู้จักอำนาจของความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวของเรานี้ไม่มีอะไรอัตตา ทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น
ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่าเพียงธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้เพียงแค่ขั้น สมถกรรมฐานและในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิบัติความรู้ไปสู่ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง...ถ้าหากมีอนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่เที่ยง ทุกขสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้นก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา.
เมื่อฝึกฝนอบรมจิต ให้มีความรู้ด้วยอุบายต่างๆ และมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะของอสุภกรรมฐานโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จนมีความรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะที่ว่า กายเรานี้เป็นแต่เพียงธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ มีความเห็นว่า ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ด้วยอุบายดังกล่าวแล้ว ผู้ปฏิบัติยึดหลักอันนั้น ภาวนาบ่อยๆ กระทำให้มากๆ พิจารณาให้มากๆ พิจารณาย้อนกลับไปกลับมาจิตจะค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรม เป็นลำดับๆ ไป.."
โอวาทธรรม หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี (๒๔๐๒-๒๔๘๔)
🙇🏻♂️สิริธมฺโม📖🖋️
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น