อภิญญา คือ ความรู้ยิ่ง ความรู้ชั้นสูง มี ๖ อย่างคือ
๑. อิทธิวิธีแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
๒. ทิพพโสต หูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่กำหนดรู้ใจคนอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ทำให้ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป
☆ คำว่า "อภิญญา๖" กับ "ฤทธิ์๑๐" จึงมีทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกันอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือสับสน กล่าวคือ
☆ อิทธิวิธีข้อ๑ การแสดงฤทธิ์ได้ เป็นฤทธิ์ตามข้อ๑-๓ และข้อ๕ในฤทธิ์ ๑๐ ประการ ฤทธิ์ดังกล่าวอาจมีในศาสนาอื่น ลัทธิอื่นด้วย
และหลายๆอย่าง พระพุทธองค์ห้ามแสดงบ้าง ห้ามโอ้อวดบ้าง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ(อาบัติเบาแก้ไขได้)
☆ อิทธิวิธีข้อ๔ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ระลึกชาติได้) แม้บุคคลธรรมดาบางคนก็อาจมีได้เองโดยไม่ได้ฝึกหรือปฏิบัติ
☆ อิทธิวิธีข้อ๖ อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป มีเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น
☆ คำว่า"อภิญญา" นิยมใช้ในพระพุทธศาสนามากกว่าคำว่า"ฤทธิ์" ที่นิยมใช้กันทั่วไป
☆ ฤทธิ์ ๑๐ อย่าง คือ
๑. ฤทธิ์ที่อธิษฐาน
๒. ฤทธิ์ที่แสดงได้ต่างๆ
๓. ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ
๔. ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ
๕. ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ
๖. ฤทธิ์ของพระอริยะ
๗. ฤทธิ์ที่เกิดจากผลกรรม
๘. ฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ
๙. ฤทธิ์ที่สำเร็จมาจากวิชชา
๑๐. ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะมีสภาวะสำเร็จด้วยการประกอบโดยชอบในส่วนนั้นๆ เป็นปัจจัย.
☆ฤทธิ์ที่อธิษฐาน เป็นอย่างไร? คือ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง เช่น
- คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ - หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ - แสดงให้ปรากฏก็ได้
- แสดงให้หายไปก็ได้
- ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้
- ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือน ดำลงในน้ำก็ได้
- เดินไปบนน้ำโดยน้ำไม่แยกเหมือนเดินไปบนแผ่นดินก็ได้
- เหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้
- ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
*คำว่า ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกได้ อธิบายว่า ท่านผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิตนั้น ถ้าประสงค์จะไปยังพรหมโลก ก็อธิษฐานที่ไกลให้เป็นที่ ใกล้ว่า “จงเป็นที่ใกล้” ก็เป็นที่ใกล้ได้ อธิษฐานที่ใกล้ให้เป็นที่ไกลว่า “จงเป็นที่ไกล” ก็เป็นที่ไกลได้ฯ อธิษฐานของมากให้เป็นของน้อยว่า “จงเป็นของน้อย” ก็เป็นของ น้อยได้ อธิษฐานของน้อยให้เป็นของมากว่า “จงเป็นของมาก” ก็เป็นของมากได้ ย่อมเห็นรูปพรหมนั้นได้ด้วยทิพพจักขุ ย่อมฟังเสียงพรหมนั้นได้ด้วยทิพพโสตธาตุ ย่อมรู้จิตของพรหมนั้นได้ด้วยเจโตปริยญาณ ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตนั้น
☆☆☆ ประสงค์จะไปยังพรหมโลกด้วยกายที่ปรากฏ ก็น้อมจิตอธิษฐานด้วยอำนาจกาย ครั้นหยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาแล้วก็ไปยังพรหมโลกได้ด้วยกายที่ปรากฏอยู่ ถ้าท่านผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตนั้นประสงค์จะไปยังพรหมโลกด้วยกายที่ไม่ ปรากฏ ก็น้อมกายอธิษฐานด้วยอำนาจจิต ครั้นหยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา แล้วก็ไปยังพรหมโลกได้ด้วยกายที่ไม่ปรากฏ ท่านผู้มีฤทธิ์เนรมิตรูปที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบทุกส่วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่องไว้ข้างหน้าของพรหมนั้นฯ นี้คือฤทธิที่อธิษฐาน
ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ เป็นอย่างไร? คือ การเนรมิตกายอื่นจากกายนี้มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะ ครบทุกส่วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เปรียบเหมือนบุรุษชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาพึงมีความหมายรู้อย่างนี้ว่า “นี้หญ้าปล้อง นี้ไส้ หญ้าปล้องเป็นอย่างหนึ่ง ไส้ ก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ไส้ก็ชักออกจากหญ้าปล้องนั่นเอง”ฯ แล้วเนรมิตกายอื่นนอกจากกายนี้มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบทุกส่วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง นี้ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ.
♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡
สาธุอนุโมทามิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น