14 พฤษภาคม 2565

#แนวการสอนของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

🍀พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

หลักการสอนท่านก็สอนในหลักของสมถวิปัสสนา​ ดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วนั้น​ แต่ท่านจะเน้นหนักในการสอนให้เจริญพุทธคุณเป็นส่วนใหญ่

เมื่อเจริญพุทธคุณจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ

🍀เมื่อสอนให้พิจารณากายคตาสติ พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว

ก็สอนให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน ให้พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ​ แล้วก็พยายามพิจารณาว่าในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร​ มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี

🍀ในเมื่อฝึกฝนอบรมให้พิจารณาจนคล่องตัว จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน​ คือ​ เห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัว เป็นอนัตตาทั้งนั้นจะมีตัวมีตนในเมื่อแยกออกไปแล้ว มันก็มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี แต่อาศัยความประชุมพร้อมของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลมไฟ​ มีปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญามายึดครองอยู่ในร่างอันนี้​ เราจึงสมมุติบัญญัติว่า สัตว์บุคคลตัวตนของเรา

🍀อันนี้เป็นแนวการสอนของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์​ การพิจารณาเพียงแค่ว่าพิจารณากายคตาสติก็ดี พิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี​ ตามหลักวิชาการท่านว่าเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน​ แต่ท่านก็ย้ำให้พิจารณาอยู่ในกายคตาสติกรรมฐานกับธาตุกรรมฐานนี้เป็นส่วนใหญ่​ ที่ท่านย้ำ​ ๆ ให้พิจารณาอย่างนี้​ ก็เพราะว่าทำให้ภูมิจิตภูมิใจของนักปฏิบัติก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้เร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากายคตาสติ​ แยก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ออกเป็นส่วน​ ๆ

🍀เราจะมองเห็นว่า ในกายของเรานี้ก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน​ มันเป็นแต่เพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเท่านั้น​ ถ้าว่ากายนี้เป็นตัวเป็นตน ทำไมจึงจะเรียกว่าผม ทำไมจึงจะเรียกว่าขน ทำไมจึงจะเรียกว่าเล็บ ว่าฟัน ว่าเนื้อ ว่าเอ็น ว่ากระดูก​ ในเมื่อแยกออกไปเรียกอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

🍀นอกจากนั้น ก็จะมองเห็นอสุภกรรมฐาน​ เห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก น่าเบื่อหน่าย​ ไม่น่ายึดมั่นถือว่าเป็นอัตตาตัวตน แล้วพิจารณาบ่อยๆ​ พิจารณาเนือง​ ๆ​ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบ สงบแล้วจิตจะปฏิบัติตัวไปสู่การพิจารณาโดยอัตโนมัติ​ ผู้ภาวนาก็เริ่มจะรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของร่างกายอันนี้​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ​ พิจารณากายแยกออกเป็นส่วน​ ๆ ส่วนนี้เป็นดิน ส่วนนี้เป็นน้ำ ส่วนนี้เป็นลม ส่วนนี้เป็นไฟ​ เราก็จะมองเห็นว่าร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ​ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาไม่มี ก็ทำให้จิตของเรามองเห็นอนัตตาได้เร็วขึ้น

🍀เพราะฉะนั้นการเจริญกายคตาสติก็ดี การเจริญธาตุกรรมฐานก็ดี​ จึงเป็นแนวทางให้จิตดำเนินก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

🍀และอีกอันหนึ่ง อานาปานสติ ท่านก็ยึดเป็นหลักการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมฐานอานาปานสติ การกำหนดพิจารณากำหนดลมหายใจนั้น​ จะไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐาน จะบริกรรมภาวนาก็ดี จะพิจารณาก็ดี​ ในเมื่อจิตสงบลงไป ปล่อยวางอารมณ์ที่พิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่จิตจะไปรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก​ ในเมื่อจิตตามรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ จิตเอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ สติเอาลมหายใจเป็นสิ่งระลึก ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามปกติของร่างกาย 

🍀เมื่อสติไปจับอยู่ที่ลมหายใจ​ ลมหายใจก็เป็นฐานที่ตั้งของสติ ลมหายใจเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย​ สติไปกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จดจ่ออยู่ที่ตรงนั้น วิตกถึงลมหายใจ​ มีสติรู้พร้อมอยู่ในขณะนั้น จิตก็มีวิตกวิจารอยู่กับลมหายใจ​ เมื่อจิตสงบลงไป ลมหายใจก็ค่อยละเอียด​ ๆ ลงไปเรื่อย​ ๆ จนกระทั่งในที่สุดลมหายใจหายขาดไป​ เมื่อลมหายใจหายขาดไปจากความรู้สึก ร่างกายที่ปรากฏว่ามีอยู่ก็พลอยหายไปด้วย​ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าลมหายใจยังไม่หายขาดไป กายก็ยังปรากฏอยู่​ เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปข้างใน จิตจะไปสงบนิ่งอยู่ในท่ามกลางของกาย​ แล้วก็แผ่รัศมีออกมารู้ทั่วทั้งกาย จิตสามารถที่จะมองเห็นอวัยวะต่าง​ ๆ ภายในร่างกายได้หมดทั้งตัว

🍀เพราะลมย่อมวิ่งเข้าไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลมวิ่งไปถึงไหนจิตก็รู้ไปถึงนั่น​ ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เท้าจรดหัว ตั้งแต่แขนซ้ายแขนขวา ขาขวาขาซ้าย​ เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปแล้ว จิตจะรู้ทั่วกายหมด

🍀ในขณะใดกายยังปรากฏอยู่ จิตสงบอยู่ สงบนิ่ง​ รู้กว้างอยู่ในกาย วิตก วิจาร คือจิตรู้อยู่ภายในกาย สติก็รู้พร้อมอยู่ในกาย

🍀ในอันดับนั้นปีติและความสุขย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขบังเกิดขึ้น​ จิตก็เป็นหนึ่ง นิวรณ์ ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธ​ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็หายไป จิตกลายเป็นสมถะ​ มีพลังพอที่จะปราบนิวรณ์ ๕ ให้สงบระงับไป​ ผู้ภาวนาก็จะมองเห็นผลประโยชน์ในการเจริญสมถกรรมฐาน
.
โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่เสาร์​ กันตสิโล
[บันทึกตามคำบอกเล่าของพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)]​
.
ที่มาของบทความ: คัดลอกบางตอนมาจากหนังสือฐานิยตฺเถรวตฺถุ เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓
.
ทานานํ​ ยทิทํ ธมฺมทานํ​ เอตทคฺคํ
ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งหลาย
.
    Cr. fb.พระคุณเจ้า~Nirasho​ Bhikkhu~
.
........................................
หลวงปู่เสาร์​ กันตสีโล​ วัดดอนธาตุ​ อ.พิบูลมังสาหาร​ จ.อุบลราชธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...