การตายของคนนี้มีอยู่ 2 อย่างคือ "กาลมรณะ" อย่างหนึ่ง "อกาลมรณะ" อย่างหนึ่ง สำหรับกาลมรณะนั้นจะต้องตายก่อนอายุขัยที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าอำนาจของโทษปาณาติบาตเดิมที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมามากมันเข้ามาลิดรอนชีวิต
ถ้าโทษอย่างนี้จะพึงมีขึ้น ถ้ารู้ทันเสียทำพิธีการต่ออายุได้ เพราะว่าอายุมันยังไม่หมด สมมุติว่าเขากำหนดว่าคนนี้จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ 60 ปี พออายุ 10 ปี 20 ปี 30 ปี หรือเท่าไรก็ตาม อุปฆาตกรรมมันเข้ามาถึง โทษแห่งการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจะเข้ามาปลิดชีวิตในระหว่างนี้ ตอนนี้เราทำพิธีต่ออายุกันได้
แต่ว่าถ้าทำพิธีต่ออายุนี้ต้องมีคนรู้ คำว่า "รู้" ในที่นี้ก็หมายความว่า ต้องรู้เรื่องไม่ใช่ต่อส่งเดช ถ้าต่อส่งเดชดีไม่ดีไปต่ออายุของหมอเข้า หมอบอกว่าเคราะห์ร้ายแกจะต้องตายให้ต่ออายุ พอเริ่มต่อหมอเขาเรียกเป็นพันเป็นหมื่น เป็นอันว่าคนนั้นอายุน้อยไปเป็นพันเป็นหมื่นบาท แต่หมอมีอายุเพิ่มขึ้นแบบนี้ใช้ไม่ได้
คนที่จะต่ออายุได้จริงถ้าเป็นพระก็ต้องมีอารมณ์ไม่น้อยกว่า "วิชชาสาม" หรือ "อภิญญาหก" หรือ "ปฏิสัมภิทาญาณ" น้อยกว่านั้นจะรู้เหตุนี้ไม่ได้ อย่างนี้เป็นการที่จะหลีกเลี่ยงได้. แต่ต้องหาพระประเภทนั้นให้ได้
*ตามวิธีโบราณาจารย์ท่านสอนไว้อย่างนี้นะว่า "วิธีต่ออายุใหญ่" คือถึงปีหนึ่งถ้าเป็นวันเกิดหรือเป็นวันสำคัญของเราวันไหนก็ได้ ทำกับข้าวทำอาหารพิเศษตามที่เราพอใจเท่าที่ทุนจะพึงมี จัดการใส่บาตรแก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
แล้วก็ถ้าหากว่ามีสตางค์ก็สร้างพระพุทธรูปสัก 1 องค์ พระพุทธรูปนี่จะเป็นพระดินเหนียวก็ได้ เป็นพระปูนซีเมนต์ก็ได้ เป็นปูนพลาสเตอร์ก็ได้ หรือพระโลหะก็ได้ไม่จำกัด เพราะเป็นรูปพระแล้วมีอานิสงส์เสมอกัน แต่ต้องมีหน้าตักไม่น้อยกว่า 4 นิ้ว ถวายไว้เป็นสมบัติของสงฆ์
หลังจากนั้นก็เอาสัตว์ที่จะพึงถูกฆ่าตาย อย่างที่เขานำเอามาขายเพื่อแกง หรือที่เขาทอดแหสุ่มปลาได้ ถ้ามีสตางค์ก็ไปซื้อเขาสักตัวสองตัวตามกำลัง แล้วปล่อยไป และก็อุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรและเทวดาผู้รักษาชีวิต
ท่านบอกว่าถ้าทำอย่างนี้เป็นนิจ คำว่า "อุปฆาตกรรม" คือกรรมที่เข้ามาลิดรอนก่อนอายุขัยก็ดีและ "อกาลมรณะ" การที่จะตายก่อนอายุขัยก็ดี จะไม่มีสำหรับผู้ที่ทำแบบนี้
แต่ทว่าถ้ากรรมอย่างนี้เข้ามาถึง ก็แค่ป่วยแต่ไม่มากก็เป็นของธรรมดา*
พระราชพรหมยาน,ธัมมวิโมกข์ (2531,*2563),(84,*466),(53,*33)
Facebook : นิตยสารธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง
(ภาพนี้ ถ่ายที่ป่าหลังวัด ตอนซื้อที่ใหม่แถวสนามหญ้าที่ปักกลดธุดงค์ของพราหมณ์หญิงในปัจจบันนี้)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น