องค์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺโต ได้เมตตาอรรถาธิบายแสดงธรรม เรื่อง "นโม" อย่างลึกซึ้งว่า..
"...เหตุใดหนอ นักปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดีจึงต้องตั้ง นโม ก่อนจะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็น สิ่งสำคัญ จะยกขึ้นพิจารณา ได้ความปรากฏว่า น คือธาตุน้ำ โม คือธาตุดิน พร้อมกับบทพระคาถาขึ้นมาว่า
มาตาเปตฺติกสมฺภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย
สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกันจึงเป็นตัวตนขึ้นมา เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้วก็ได้รับข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นเครื่องเลี้ยงจึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้
"น" เป็นธาตุ ของมารดา โม เป็นธาตุของบิดา ฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า "กลละ" คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ปฏิสนธิในธาตุ "นโม" นั้น
เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว "กลละ" ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น "อัมพุชะ" คือ เป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น "ฆนะ" คือ แท่งและ เปสี คือ ชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็น ปัญจสาขา คือ แขน ๒ ขา ๒ หัว ๑
ส่วนธาตุ "พ" คือ ลม "ธ" คือ ไฟนั้น เป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลัง เพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจาก กลละ นั้นแล้ว กลละ ก็ต้องเข้ามาอาศัยภายหลัง เพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละ ก็ต้องทิ้งเปล่า หรือ สูญเปล่า ลม และไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นโม เป็นดั้งเดิม
ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย "น" มารดา "โม" บิดาเป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา ด้วยการให้ข้าวสุก และขนมกุมมาสเป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง
ท่านจึงเรียกมารดาบิดา ว่า "ปุพพาจารย์" เป็นผู้สอนก่อนใคร ๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ท่านทำให้กล่าวคือ รูปกายนี้แลเป็นมรดกดั้งเดิม ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นภายนอก ก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย
เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น "มูลมรดก" ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณของท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่
เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อน แล้วจึงทำกิริยา น้อมไหว้ลงภายหลัง นโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปล ต้นกิริยาไม่
มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุนทำการฝึกหัดปฏิบัติตน ไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ
นโม เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้นยังไม่สมประกอบ หรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระอะ จากตัว "น" มาใส่ตัว "ม" เอา สระโอจากตัว "ม" มาใส่ตัว "น" แล้วกลับตัวมะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่า ใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้ทั้งกายทั้งใจ เต็มตามสมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้
มโน คือ ใจ นี้เป็นดั้งเดิมเป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมดได้ในพระพุทธพจน์ว่า
มโนปุพฺพงฺ คมา ธมฺมา มโนเสฎฐา มโมยา
ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ
พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ทรงบัญญัติออกไปจากใจ คือ มหาฐานนี้ทั้งสิ้น
เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้จัก นโม แจ่มแจ้งแล้ว มโน ก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น
สมบัติทั้งหลาย ในโลกนี้ต้องออกไปจากนโมทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมบัติ บัญญัติตามกระแสแห่งน้ำ โอฆะ จนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลงถือว่าตัวเป็นเราเป็นของเราไปหมด..."
เทศนาธรรมคำสอน..
องค์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺโต
องค์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺโต
- จากหนังสือชีวประวัติและปฏิปทาของ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น