28 กุมภาพันธ์ 2561

ประวัติและความเป็นมาของวันมาฆบูชา


.
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาท "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าในปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)
.
วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญทางศานาพุทธเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 รูปนั้นได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4
.
เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร ในปี 2561 นี้ วันมาฆบูชาจะตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ ๑ มีนาคม
.
#ความสำคัญ
"วันมาฆบูชา" เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แก่มหาสังฆสันนิบาตในมณฑลวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการคือ
1.พระสงฆ์ 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
2.พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
3.พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์
4.วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
.
ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จตุ+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) โดยประชุมกัน ณวัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)
.
#จาตุรงคสันนิบาต
โดยพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นต่างไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ อันเป็นที่ประทับ โดยมีคณะทั้ง 4 คือ คณะศิษย์ของชฎิล 3 พี่น้อง คือ คณะพระอุรุเวลกัสสปะ (มีศิษย์ 500 องค์) คณะพระนทีกัสสปะ (มีศิษย์ 300 องค์) คณะพระคยากัสสปะ (มีศิษย์ 200 องค์) และคณะของพระอัครสาวกคือคณะพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ (มีศิษย์ 250 องค์) รวมนับจำนวนได้ 1,250 รูป (จำนวนนี้ไม่ได้นับรวมชฎิล 3 พี่น้อง และพระอัครสาวกทั้งสอง)
.
การเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันมาฆฤกษ์นี้ เป็นไปโดยมิได้มีการนัดหมาย และเป็นการเข้าประชุมของพระอรหันต์จำนวนมากเป็นมหาสังฆสันนิบาต และประกอบด้วย "องค์ประกอบอัศจรรย์ 4 ประการ" คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 องค์นั้น ได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นพระสงฆ์ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง , พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6 และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 ดังกล่าวแล้ว
.
มีผู้เข้าใจผิดว่าเหตุสที่พระสาวกทั้ง 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายนั้น เพราะวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์เป็นวันพิธีมหาศิวาราตรีเพื่อบูชาพระศิวะ พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน แต่ความดิดนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะพระศิวะเป็นเทพที่ชาวฮินดูเริ่มบูชากันในยุคหลังพุทธกาล คือตั้งแต่ พ.ศ. 800 เป็นต้นมา
.
#ประทานโอวาทปาฏิโมกข์
พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้
•พระพุทธพจน์คาถาแรกทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดังพระบาลีว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา"
•พระพุทธพจน์คาถาที่สองทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้เองของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น
•ส่วนพระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา 6 ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร, การไม่ทำร้ายใคร , การมีความสำรวมในปาฏิโมกข์ทั้งหลาย, การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร และการรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด
.
ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

26 กุมภาพันธ์ 2561

จริงหรือ..แม้จะรักษาศีลถึง 100 ปี..ก็สู้การทำสิ่งนี้ไม่ได้

“บุญเราไม่เคยสร้าง ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อนเมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว…”

การเจริญภาวนานั้นเป็นการสร้างบุญสะสมไว้ที่ถือได้ว่าได้บุญบารมีมากที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นแก่นแท้และได้บุญสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก เพราะว่าการเจริญภาวนาเป็นการเน้นระงับการทำความชั่วทาง “ใจ” คือเป็นการซักฟอกจิตให้สะอาดบริสุทธิ์

พระพุทธองค์กล่าวเอาไว้ว่า

“แม้จะรักษาศีล 227 ข้อให้ไม่ด่างพร้อยถึง 100 ปีก็สู้การทำสมาธิภาวนาเพียงแค่ชั่วไก่กระพือปีกหรือช้างกระดิกหูไม่ได้”
การเจริญภาวนานั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. การทำสมาธิด้วยสมถะภาวนา

การทำสมาธิแบบสมถะภาวนาคือ การกำหนดใจให้นิ่งกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เป็นอารมณ์เดียว ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตามขอให้เพียงแต่ใจอยู่นิ่งไม่วอกแวกก็คือเป็นสมาธิ ถ้าเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและคนไทยเราคุ้นเคยที่สุดก็คือ “การไหว้พระสวดมนต์” การกำหนดจิตด้วยการสวดมนต์นี้จะทำให้จิตนิ่งอยู่ที่บทสวดก็เรียกได้ว่าเป็นการทำสมาธิระดับต้นขั้นที่หนึ่ง (ขณิกสมาธิ)

2. การเจริญปัญญา

การเจริญปัญญานั้นต่างไปจากความเป็นสมาธิ ตรงที่สมาธิเป็นเพียงการทำใจให้สงบนิ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่เพียงอารมณ์เดียวแน่นิ่งอยู่อย่างนั้นโดยไม่ได้นึกคิดอะไร แต่การเจริญปัญญา (คำพระท่านว่า วิปัสสนา) ไม่ใช่ทำให้แค่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น

การเจริญปัญญานั้นเป็นการคิด “ใคร่ครวญ” เพื่อหาเหตุผลในสภาวะที่เป็นธรรมและความจริงในแต่ละสรรพสิ่งว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป (อนิจจัง) ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ (ทุกขัง) คือทุกอย่างเป็นสภาพที่ไม่อาจทนอยู่ในสภาพเดิมได้ เกิดขึ้นแล้วไม่อาจทรงตัวต้องเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อารมณ์เกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามวัตถุซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา และ สุดท้ายคือ ทุกสิ่งไม่มีตัวตนและไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนหรือเป็นของๆ ใครใดๆ ทั้งสิ้น (อนัตตา)

ผลของการเจริญสมาธิและปัญญาจะทำให้พบความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร

ความสุขที่ได้จากการเจริญภาวนานั้นเป็นความสุขที่เรียกได้ว่า “ละเอียด” กว่าความสุขทางกายมากมายนัก และมีถึง 3 ขั้นคือมีความสุขในปัจจุบัน สุขในโลกหน้า และมีความสุขเป็นที่สุดคือนิพพาน

1. ความสุขในปัจจุบัน

เมื่อฝึกทำสมาธิได้ในระดับเบื้องต้นเพียงแค่ปล่อยวางใจให้ผ่อนคลายกับเรื่องราวต่างๆ ได้ก็เกิดผลบุญขึ้นคือ ใจเป็นสุขที่ได้ปล่อยวางได้พบกับความสุขใจขั้นพื้นฐานได้แก่ เมื่อหลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข จะนั่ง นอน ยืน หรือเดิน ไม่ว่าอิริยาบถไหนๆ ก็มีความสุขทั้งสิ้น สุขไม่ต้องเลือกเวลาและสถานที่เพราะว่าจิตใจของเรานิ่งเป็นสุขแล้ว (พระท่านว่า “นัตถิ สันติปะรัง สุขัง” สุขอื่นนอกจากหยุดนิ่งนั้นไม่มี

2. ความสุขในโลกหน้า

ความสุขในระดับขั้นต่อไปคือ เมื่อได้ละจากโลกนี้ไปแล้วจะได้ไปเสวยสุขในภพภูมิที่เป็นสุขขึ้นไปในโลกหน้า เพราะการที่เราจะไปสู่ “สุคติ” หรือภพที่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับความหมองหรือความใสของจิตเป็นหลักหากก่อนตายมีจิตใจที่ผ่องใสเป็นสุข ก็มีสุคติเป็นที่ไป หากก่อนตายจิตมีความขุ่นข้องเป็นทุกข์ก็มี ทุคติเป็นที่ไปตามหลักกรรมแห่งอาสันนกรรม

3. ความสุขอันเป็นนิพพาน

การเจริญภาวนานั้นเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากกิเลส หากหมั่นเพียรฝึกฝนจนกระทำสำเร็จจนสิ้นกิเลสในภพชาติปัจจุบันก็จะทำให้จิตหลุดพ้นไม่ต้องกลับไปเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีก อันหมายถึงพระนิพพาน ซึ่งความสุขแบบนี้มีแต่พระพุทธเจ้ากับเหล่าพระอรหันต์เท่านั้นที่สามารถไปถึงได้

หากเราต้องการที่จะไปถึงความสุขพ้นทุกข์ไปตลอดกาล ในภพชาติปัจจุบันก็ต้องพยายามฝึกฝนไปเรื่อยๆ หากไม่ถึงนิพพานในชาตินี้ชาติหน้าก็จะถึงได้แน่นอนต้องหมั่นสะสมบุญบารมีไปและต้องมีเคล็ดวิธีการฝึกสมาธิและการเจริญปัญญาที่ถูกต้องจากผู้ที่รู้จริงเท่านั้น

การสร้างและสั่งสมบุญนั้นจึงเป็น “งานสำคัญของชีวิต” ควรที่เราจะต้องกระทำให้เป็นนิสัยจนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งไปเลยดังที่บรรพบุรุษของเราเคยกระทำมาโดยคนโบราณนั้นถึงกับมีคติในการสร้างบุญบารมีเอาไว้ว่า

“เช้าใดยังไม่ได้ให้ทานหรือทำทาน เช้านั้นก็อย่าเพิ่งกินข้าว”

“วันใดที่ยังไม่ได้สมาทานศีลเพื่อที่จะตั้งใจรักษาศีล วันนั้นก็อย่าเพิ่งออกจากบ้าน”

“คืนใดที่ยังไม่ได้สวดมนต์ นั่งเจริญสมาธิภาวนาคืนนั้นก็อย่าเพิ่งเข้านอน”

ลองถ้าเราตั้งเงื่อนไขการสร้างบุญซึ่งไม่ใช่เรื่องทำยากเลยไว้เช่นนี้เมื่อทำจนเป็นนิสัยมันก็จะติดตัวเราไปและยังประโยชน์ให้เกิดกับคนรอบข้างไปด้วยเพราะเขาจะพบเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้วก็จะเริ่มเกิดศรัทธาหันมาทำตามเป็นการพากันสร้างบุญกลุ่มให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก

เมื่อสร้างบุญมาดีแล้ว บุญนี้จะเก็บไว้กับตัวเสียก่อน เมื่อสร้างให้มากๆ ยิ่งดีเพราะเมื่อถึงเวลานำไปใช้แล้วจะได้มีใช้ไม่ขาดแคลน ดังคำสอนของสมเด็จของพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสีที่ท่านกล่าวเป็นอมตะวาจาว่า

“บุญเราไม่เคยสร้าง ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อนเมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัวแล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง จงจำไว้นะเมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงเวลา ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่ จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า”

หมั่นสร้างบุญอย่างสม่ำเสมอให้มากพอและยาวนานพอส่วนจะนำบุญไปใช้ให้เกิดผลเร็วๆ อย่างไรนั้นจะกล่าวในบทของ เคล็ดของการนำบุญมาใช้ต่อไป

ที่มา : ธ.ธรรมรักษ์ และ adchips.com

ขอบคุณที่มา
http://108resources.com/2509-2/

25 กุมภาพันธ์ 2561

"การบวชจิต"

หลวงปู่ปรารภว่า...

จะเป็นชายหรือหญิงก็ดี ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติมีศีล
รักในการปฏิบัติจิตมุ่งหวังเอาการพ้นทุกข์เป็นที่สุด
ย่อมมีโอกาสเป็นพระกันได้ทุกๆ คนมีโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้เท่าเทียมกันทุกคนไม่เลือกเพศ เลือกวัย หรือฐานะ แต่อย่างใด

ไม่มีอะไรจะมาเป็นอุปสรรคในความสำเร็จได้ นอกจากใจของผู้ปฏิบัติเอง

ท่านได้แนะเคล็ดในการบวชจิตว่า.....

" ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น
คำกล่าวว่า

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ให้นึกถึงว่าเรามีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัฌาย์ของเรา

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ...
ให้นึกว่าเรามีพระธรรมเป็นพระกรรมวาจาจารย์

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ...
ให้นึกว่าเรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

แล้วอย่าสนใจขันธ์ 5 หรือร่างกายเรานี้ ให้สำรวมจิตให้ดี
มีความยินดีในการบวช

ชายก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุ
หญิงก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุณี

อย่างนี้จะมีอานิสงส์สูงมาก
จัดเป็นเนกขัมบารมีขั้นอุกฤษฎ์ทีเดียว "

กายทิพย์ของเรานั้นหากก่อนภาวนาเราได้ตั้งจิตบวชพระแล้ว
ระหว่างที่ภาวนาอยู่กายทิพย์เราก็เป็นพระมีรัศมีกายทิพย์สว่างมาก อย่างนี้จะมีอานิสงส์พลังบุญสูงมาก ภาวนาได้ง่าย เนื่องจากตั้งจิตไว้ในศีลและฐานะอันสูง อย่างนี้เรียกว่าบวชจิต ซึ่งการบวชจิตด้วยใจกุศลศรัทธานั้น มีอานิสงค์ดีกว่าผู้ที่บวชรูปลักษ์ภายนอกแล้วไม่บวชจิตเสียอีก แต่หากบวชได้ทั้งนอกและในอานิสงค์ก็ทวีคูณแต่สำหรับ ฆราวาสผู้ครองเรือนนั้นเวลาสวดมนต์หรือภาวนาทำสมาธิ ตั้งจิตบวชเป็นพระแล้วอานิสงส์มากภาวนาได้ง่าย

23 กุมภาพันธ์ 2561

ความบังเอิญไม่มีในโลก เป็นเช่นนั้นเอง

5 สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอน สละเวลาอ่าน 1 นาที แล้วคุณจะเข้าใจชีวิตมากขึ้น พระพุทธองค์ทรงสอนพวกเราว่า…

1.ไม่ว่าเราได้พบเจอใคร เขาเหล่านั้นคือคนที่เราจะต้องได้พบเจอ ไม่มีใครเข้ามาในชีวิตเราด้วยเหตุบังเอิญ

2.ไม่ว่าจะเกิดเรื่องราวใดๆ ขึ้นในชีวิตเรา มันเป็นเรื่องที่จะต้องเกิด ไม่ว่าเรื่องนั้นจะดีหรือร้าย ไม่มีเรื่องใดที่บังเอิญ เพราะเราก็เคยทำอย่างนี้กับเขามาก่อนเมื่ออดีตชาติ

3.เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน เวลาใด นั่นคือเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่ไม่ควรเกิด เพราะมันต้องเกิด
ต่อให้คุณเตรียมตัวหรือไม่ได้เตรียมตัว เมื่อปัจจัยถึงพร้อม สิ่งเหล่านั้นก็จะเกิดขึ้นในทันที

4.เมื่อปัจจัยจบ ต้องยอมรับว่าจบ อย่าเหนี่ยวรั้ง อย่าเอาแต่อาลัยอาวรณ์ ขอให้รู้ว่าเมื่อสุดมือสอยก็ให้ปล่อยมันไป กล้าเผชิญในสิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องดีๆกำลังรอคุณอยู่ข้างหน้า

5.ทำความดีในปัจจุบันให้มากที่สุด แล้วไม่ต้องสนใจว่า เราเคยทำกรรมอะไรมาบ้าง เพราะคิดไปก็เปล่าประโยชน์ เราทำอะไรกรรมเก่าไม่ได้แล้ว แต่ผู้มีปัญญาจะคิดว่า กรรมใหม่ดีๆมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ และควรทำได้บ้าง แล้วจึงทำ สรุป กรรมดีในปัจจุบันสำคัญที่สุด!!!

การนินทาว่าร้าย เป็นเรื่องของเขา การให้อภัย เป็นเรื่องของเรา

การชอบพูดถึงความดีของเขา คือ ความดีของเรา

การชอบพูดถึงความไม่ดีของเขา คือ ความไม่ดีของเรา

22 กุมภาพันธ์ 2561

กรรมของพระติสสะ โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

กรรมของพระติสสะ
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง
"...ในสมัยพระพุทธกัสสป ท่านติสสะ เป็นคนที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำ คือยิงนกมาแล้วก็แกงขายบ้าง ขายเป็นบ้าง ขายตายบ้าง ถ้าวันไหนได้นกมามาก ขายวันนั้นไม่หมดก็หักแข้งหักขา หักกระดูกปีก เกรงว่านกจะบินหนีไป เอาไว้ขายสดๆ ในวันพรุ่งนี้ ท่านทำอย่างนี้มาตลอดกาล คำว่าบุญกุศลไม่เคยทำเลย
ต่อมาวันหนึ่งก่อนที่ท่านจะไปหานกในตอนเช้า วันนั้นบังเอิญพระอรหันต์มาบิณฑบาตองค์เดียว ท่านเองก็ไม่รู้ว่าเป็นพระอรหันต์ ก็คิดในใจว่าในชีวิตของเราทั้งชีวิตขึ้นชื่อว่าการทำความดีที่จะทำบุญกุศลไม่เคยมีในเรา เรามีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทุกวัน วันนี้ขอทำบุญตอนเช้า
เมื่อเห็นพระเดินมาก็ออกไปรับบาตรกล่าวคำนิมนต์ แล้วก็นำพระเข้าบ้าน สั่งแม่บ้านแกงนกที่มีอยู่ให้แกงอย่างดีที่สุด เมื่อแกงเสร็จก็นำมาใส่บาตรพระ พระท่านก็ให้พรแล้วท่านก็กลับ หลังจากนั้นมาท่านก็ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตลอดมา
เป็นอันว่าในชีวิตของท่านทำบุญครั้งเดียวในชีวิต แต่เป็นการบังเอิญทำบุญกับพระอรหันต์ซึ่งมีอานิสงส์มาก แต่ไม่เท่าสังฆทาน ก่อนที่จะตายท่านก็นึกถึงการทำบุญ ตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก
ครั้นหมดบุญวาสนาบารมี ในสมัยสมเด็จองค์ปัจจุบันท่านก็กลับมาเกิดเป็นคน อาศัยที่เคยทำบุญทำกุศลมาแล้วครั้งเดียวในชีวิต คือถวายทานกับพระอรหันต์ จึงไปพบพระพุทธเจ้าเข้ามีความเลื่อมใส ตั้งใจฟังเทศน์ เมื่อฟังเทศน์จบก็มีจิตเลื่อมใสอยากจะบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเห็นวิสัยว่าเขาจะเป็นอรหันต์ได้ จึงอนุญาตให้บวช
เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็เจริญฌานสมาบัติแต่ว่ายังไม่ได้ฌานโลกีย์ ท่านก็เกิดอาการป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นในร่างกาย ตามตัวมีการพุพองเม็ดเล็กๆ ตลอดทั้งตัว ต่อไปการพุพองเม็ดเล็กๆ ก็โตขึ้นๆ จนกระทั่งเท่าผลส้ม ในที่สุดก็แตกมีนํ้าเหลืองรอบตัว กระดูกต่างๆ ในร่างกายก็หัก มีทุกขเวทนามาก พระที่พยาบาลอยู่เห็นเข้าก็ทนไม่ไหวจึงทิ้ง เพราะท่านขยับตัวไม่ได้ยังไงก็ต้องตายกันแน่แล้ว
คืนวันนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงตรวจอุปนิสัยของสัตว์ว่า วันพรุ่งนี้จะมีใครได้บรรลุมรรคผลบ้าง ก็ทรงทราบว่าพระติสสะเวลานี้ป่วยหนักและการตายของเธอจะเข้ามาถึงในวันพรุ่งนี้ ถ้าเราไปสงเคราะห์เธอ เธอจะได้เป็นพระอรหันต์พร้อมกับนิพพาน
ฉะนั้นในตอนเช้าพอฉันข้าวเสร็จเรียบร้อย พระพุทธเจ้าจึงเสด็จออกจากพระมหาวิหารเดินเรื่อยๆ ไปไม่บอกใคร เมื่อบรรดาพระทั้งหลายเห็นพระพุทธเจ้าเดินก็เดินตาม
พอไปถึงกุฏิของพระติสสะ พระองค์ก็แวะเข้าไป เห็นนํ้าเหลืองไหลเกรอะเปื้อนผ้า ก็ทรงเปลื้องผ้าทั้งหมดเอาไปจะต้มนํ้าร้อน พระทั้งหลายก็รับอาสาว่า การต้มให้นํ้าเหลืองหมดเป็นหน้าที่ของข้าพระพุทธเจ้า
หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็เอาผ้ามาชุบนํ้าอุ่นๆ เช็ดร่างกายพระติสสะ จนกระทั่งนํ้าเหลืองแห้ง ร่างกายก็มีอาการปลอดโปร่ง ผ้าที่เอาไปต้มนั้นก็แห้งพอดี พระพุทธเจ้าก็สั่งให้นุ่งผ้าให้พระติสสะ พระก็ห่มให้
แล้วพระองค์ก็ทรงยืนอยู่ข้างๆ บอกว่า "ติสสะ ร่างกายนี้อีกไม่ช้าก็มีวิญญาณไปปราศแล้ว ร่างกายนี้ก็ต้องถูกทอดทิ้งเหมือนกับท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์"
หมายความว่าจิตใจจะพ้นไปจากร่างกายแล้ว ร่างกายของเราก็ต้องตาย เมื่อตายแล้วร่างกายของเราก็ไร้ประโยชน์ เป็นของที่ชาวบ้านเขาจะทอดทิ้ง เขาไม่ต้องการ สู้ท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ก็ไม่ได้ พระติสสะฟังเพียงเท่านี้ อานิสงส์ที่เคยถวายทานกับพระอรหันต์เพียงครั้งเดียวในชีวิต ก็เป็นพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทาญาณทันทีและก็นิพพานทันทีในวันนั้น
หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรจึงทรงสั่งให้พระสงฆ์ทำฌาปนกิจศพคือเผาศพ แล้วก็ให้ทำสถูป หมายความว่าพูนดินขึ้นมาคล้ายๆ กับบาตรควํ่าเป็นโคกพูนไว้เอากระดูกไว้ในนั้น บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายจึงเข้ามากราบทูลถามว่า "เวลานี้พระติสสะตายแล้วไปไหน"
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า "พระติสสะ ตายจากความเป็นคนไปนิพพานแล้ว"
พระทั้งหลายจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า "อยากจะทราบว่าพระติสสะเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เมื่อไร"
พระองค์ก็ตรัสว่า "พระติสสะ เป็นพระอรหันต์เมื่อเราพูดจบ"
บรรดาพระทั้งหลายก็เลยถามว่า "พระติสสะ ทำบุญอะไรไว้จึงเป็นอรหันต์ง่าย"
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า "ในสมัยสมเด็จพระพุทธกัสสป พระติสสะ ทำแต่บาปอย่างเดียวไม่เคยทำบุญ หมายถึงทำบุญอย่างชาวบ้านธรรมดาๆ นี่ไม่เคยทำ มีหน้าที่ยิงนกดักนกเอามาขายแก่ชาวบ้าน ถ้าวันไหนนกเหลือมาก ตัวไหนมันใกล้จะตายก็ย่าง นกย่างขายได้ราคาถูกกว่านกเป็นๆ ถ้านกเป็นๆ มีมากเกินไปก็เกรงว่านกจะบินหนีก็หักกระดูกแข้งเสียบ้าง หักกระดูกปีกเสียบ้าง
ผลอันนี้เป็นปัจจัยให้ท่านติสสะเมื่อบวชเข้ามาแล้ว จึงมีร่างกายเป็นตุ่มทั้งตัว และตุ่มนั้นค่อยๆ โตมาทีละน้อยจนกระทั่งแตกเป็นนํ้าเหลืองเยิ้ม และกระดูกร่างกายที่หักก็เพราะเคยหักกระดูกแข้ง กระดูกขา กระดูกปีกนก เพราะกฎของกรรมอย่างนี้มาสนอง
แต่อาศัยที่พระติสสะได้ทำบุญกับพระอรหันต์เพียงครั้งเดียวในชีวิต เพราะอานิสงส์นี้เองทำให้พระติสสะเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้เมื่อตถาคตเทศน์จบ"
:: เจริญพระกรรมฐานขั้นพระนิพพาน ::
ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีความรู้สึกว่าการเกิดเป็นคนเต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ถ้าเราจะเกิดไปอีกกี่ชาติ เราก็จะพบกับความทุกข์อย่างนี้อีก และคิดว่าการตายของเราคราวนี้จะเป็นการตายครั้งสุดท้าย ฉะนั้นทุกคนก่อนจะหลับให้คิดง่ายๆ ดังนี้ ขึ้นชื่อว่าการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นเทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี จะไม่มีสำหรับเราอีก การตายคราวนี้เราขอไปพระนิพพาน และก็ภาวนาต่อท้ายสักเล็กน้อยว่า "นิพพานัง สุขัง นิพพานัง สุขัง นิพพานัง สุขัง"
ภาวนาอย่างนี้สัก ๓ ครั้งด้วยความเต็มใจ การทำอย่างนี้ได้ชื่อว่า เจริญพระกรรมฐานขั้นพระนิพพาน เวลาที่ท่านจะตายบุญกุศลทั้งหลายที่ทำแล้วจะรวมตัวทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่ได้มโนมยิทธิ คืออภิญญาและวิชชาสามควบกัน ก่อนจะหลับเมื่อศีรษะถึงหมอน เอาจิตไปตั้งไว้ที่พระนิพพาน ไปที่วิมานพระพุทธเจ้าก็ได้ หรือไปที่วิมานของเราก็ได้ ถ้าไปที่วิมานของเราให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก็จะพบท่านทันที แล้วตัดสินใจว่าถ้าร่างกายนี้ตายเมื่อไรขอมาที่นี่เมื่อนั้น เพียงเท่านี้ แต่ต้องทำทุกวันนะ ตายเมื่อไรไปพระนิพพานเมื่อนั้น..."

การสวดมนต์มาก สวดมนต์น้อย อันนี้ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่กำลังใจ

การบูชาพระจะ
สวดมนต์มาก สวดมนต์น้อย อันนี้ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่กำลังใจ
ถ้าเราสวดมนต์ไม่ได้เลย ก็ตั้งใจว่า
“ นะโม ตัสสะ ภะคะว ะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ”
ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้าขอเคารพพระพุทธเจ้า พระอรหันต์องค์นี้ 
เพียงเท่านี้ ก็เหลือแหล่แล้ว ว่าด้วยความเคารพจริงๆ ตั้งใจจริงๆ หรือถ้าว่ามากกว่านี้
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
ไปอีก ๓ วาระ ตามที่ว่ากันมา เวลาที่ว่านั้น ก็ว่าด้วยความตั้งใจ ด้วยเคารพ ด้วยความจริงใจ เวลานั้นอานิสงส์สูงขึ้น
เป็นทั้ง พุทธานุสสติ ด้วย
เป็นทั้ง ธัมมานุสสติ ด้วย
เป็นทั้ง สังฆานุสสติ ด้วย
เอาเพียงแค่อย่างเดียวแค่นี้
บรรดาท่านพุทธบริษัทให้ท่านสังเกตว่าถ้าถึงเวลาจะบูชาพระ ถ้าวันไหนยังไม่ได้บูชาพระ วันนั้นไม่สบายใจ ต้องบูชาพระให้ได้ ถ้าจิตใจของท่านเป็นอย่างนี้ แสดงว่าท่านมีกำลังใจเป็น ฌานในพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ
คำว่า “ ฌาน ” นี่เป็นกำลังสูง
คำว่า “ ฌาน ” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า
ต้องไปนั่งขัดสมาธิจนเป็นฌาน ไอ้อย่างนั้นเรียกว่า “ ฝึกความเป็นฌาน ” ฌานจริงๆ ที่ทรงตัวก็คือ จิตนึกอยู่ เมื่อถึงวาระจริงๆ จิตต้องการบูชาพระ
ถ้ามีพระพุทธรูป นั่งมองดูพระพุทธรูปเป็น พุทธานุสสติ กล่าวถึงพระธรรมเป็น ธัมมานุสสติ กล่าวถึงพระสงฆ์เป็น สังฆานุสสติ ถ้าอย่างเก่งจริงๆ ก็ว่า อิติปิ โส อีกสักจบก็จะดีมาก
บท อิติปิ โส บทต้นพรรณนาความดีของพระพุทธเจ้า
บท สวากขาโต พรรณนาความดีของพระธรรม
บท สุปฏิปันโน พรรณนาความดีของพระสงฆ์
แค่เท่านี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท
เพียงแค่นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
ถ้าทำได้ทุกวัน เวลาจะตายมันลงนรกกันไม่ได้แน่
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง
หนังสือ ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๖๒
ประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๑

21 กุมภาพันธ์ 2561

ทำสมาธิชอบกลืนน้ำลาย

ทำสมาธิชอบกลืนน้ำลาย
ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ กระผมสังสัยว่าเวลาภาวนา ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ คือว่าอย่างนี้ เวลาภาวนาไป พอจิตจะสงบหรือเริ่มจะสงบ มีเหตุจะต้องกลืนน้ำลาย พอเอื๊อกสมาธิก็ตกทุกที.
หลวงพ่อ : เขาไม่เรียกว่ากลืนน้ำลาย เขาเรียกว่ากลืนสมาธิ คิดผิดเอง ของดีหาว่าเป็นของเลว กลืนสมาธิเลย กิเลสจับไม่ได้หลอก ความจริงเขาก็ดีนะ เขารู้ตัวนี่ ที่นี่ไม่มีอะไรไม่ดี คนไปสวรรค์ก็ดี ไปพรหมโลกก็ดี ไปนิพพานก็ดี ไปนรกก็ดี ไปเป็นเปรตก็ดี ไปเป็นอสุรกายก็ดี ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ดี ไปเป็นมนุษย์ก็ดี.
ผู้ถาม : เป็นเปรตดียังไงครับ ?
หลวงพ่อ : ดีที่ได้เป็นเปรต ใครอยากเป็นเปรตก็ภาวนา เปตรจ๋า ๆ ๆ (หัวเราะ) เอ๊ะ! เมื่อกี้ว่ายังไงนะ ?
ผู้ถาม : คือทำสมาธิชอบกลืนน้ำลายครับ.
หลวงพ่อ : คือสมาธิมันมี ๒ แบบ คือ สมถะมันมี ๒ แบบ อารมณ์ทรงตัว กับ อารมณ์คิด อารมณ์คิดมันบวกวิปัสสนาไปด้วย ใช่ไหม ในเมื่อเราภาวนาจิตใจมันสบาย พอถึงเขตตรงนั้นปั๊บ อยากกลืนน้ำลายหรือเสมหะ ก็คิดว่าขึ้นชื่อว่าร่างกายมันเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยงอย่างนี้ นี่เราต้องสงบมันกลับเป็นอย่างนี้ เพราะว่าร่างกายเป็นทุกข์ นี่เป็น อนิจจัง มันไม่เที่ยง เราทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง ในที่สุดมันก็เป็น อนัตตา ขึ้นชื่อว่าการเกิดเป็นคนอย่างนี้ เราไม่ต้องการมันอีก เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน แค่นี้ก็หมดเรื่องหมดราว.
ผู้ถาม : ทำสมาธิกลืนน้ำลายนี่ยังดีนะ เขาเล่ามาบอกว่าเวลาสวดมนต์ อิติปิ โส ภควา ขากถุย ขากตลอดเวลาเลย สู้กลืนสมาธิไม่ได้นะ.
หลวงพ่อ : ถ้าขาก อิติปิ โส บทต้นนะ ขากพระพุทธเจ้า ถ้าบทกลาง สวากขาโต เป็นธรรมคุณ ถ้าสุปฏิปันโน เป็นบทของพระสงฆ์ ขากตรงนั้นขากพระสงฆ์ทิ้ง
รวมความว่า กำลังกรรมฐานต้องมี ๒ อย่าง ให้เข้าใจตามนั้นนะ ว่าการเจริญสมาธิไม่ใช่อารมณ์สงบอย่างเดียว ในกรรมฐาน ๔๐ มี “อารมณ์สงบ” ๑๑ กอง และก็มี “อารมณ์คิด” ๒๙ กอง เห็นไหม อารมณ์คิดมากกว่า ในมหาสติปัฏฐานสูตร หลายสิบกองมีกรรมฐานที่ทำให้จิตสงบกองเดียว นั่นคือ อานาปานุสสติกรรมฐาน นอกจากนั้นเป็นอารมณ์คิดหมด ก็ต้องฝึกทั้ง “อารมณ์สงบ” และ “อารมณ์คิด” คือคิดอยู่ในขอบเขตนะ.
ที่มา : นิตยสารธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๑๐ ประจำเดือน มกราคม ๒๕๕๐ หน้าที่ ๘๒-๘๓

16 กุมภาพันธ์ 2561

อธิษฐานยกพระศรีอาริย์ หลวงพ่อปาน โดย - หลวงพ่อพระราชพรหมยานมหาเถระ

ธรรมะก่อนนนอน..
ประวัติ
โดย - หลวงพ่อพระราชพรหมยานมหาเถระ
อธิษฐานยกพระศรีอาริย์
หลวงพ่อปานเล่มเก่า
ทีนี้ต่อไปฉันจะเล่าเรื่องอีกอย่างหนึ่งซึ่งมันเป็นเรื่องอัศจรรย์อยู่สำหรับปฏิปทา ของหลวงพ่อปาน เล่ากันแต่เพียงบางเรื่องนะเพราะว่าเทปมันจะหมดเสียแล้ว เหลืออีกประมาณ ๒ หน้าครึ่งก็จะหมด
ทีนี้ก็จะเล่ากันบางตอน ถ้าเล่ากันไปจริง ๆ มันไม่จบหรอกเพราะเรื่องของหลวงพ่อปานเยอะแยะ
ทีนี้ปฏิปทาอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อสมัยฉันบวช เห็นจะเป็นย่างเข้าพรรษาที่ ๒ ฉันจำได้ ระหว่างนั้นเป็นเวลาตีสอง คือในตอนต้นทางวัดไลย์ จ.ลพบุรี มีรูปหล่อพระศรีอาริยเมตไตรย เขากล่าวกันว่าพระศรีอาริย์มาเกิด แล้วเวลาตายก็กระดูกเป็นทองแดง
เขาก็เลยตั้งใจจะหล่อรูปปั้นท่าน หล่อเท่าไหร่หลอมเท่าไร ๆ ทองแดงก็ไม่ละลายจนกระทั่งถึงเวลาฉันเพล พระก็ไปฉันเพล ก็มีช่างคนหนึ่งมาอาสาหล่อ พอพระไปฉันเพลกลับลงมาปรากฏว่ารูปท่านหล่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาว่าอย่างนั้นตามประวัตินะ
แล้วนายช่างที่รับอาสานี้ท่านกล่าวว่าเป็น วิษณุกรรมเทพบุตร เป็นนายช่างของพระอินทร์ ข้อนี้จะเป็นข้อเท็จจริงประการใดฉันไม่ทราบ ประวัติเขาเขียนไว้อย่างนั้น ทีนี้เขานำรูปพระศรีอาริยเมตไตรยไปที่วัดบางนมโค รูปหล่อของ
พระศรีอาริย์นี่หนักมาก เฉพาะแท่นต้องยกถึง ๔ คน ๔ คนนี่ก็หลังยืดไม่ไหว เพราะเขาหล่อเป็น ๒ ตอน องค์ท่านเขาก็หามไปถึง ๔ คน คนเดียวไม่มีทางจะขยับ
อธิษฐานยกพระศรีอาริย์
แต่คืนวันนั้นเวลาตีสอง หลวงพ่อปานให้ตาเชิดคนรับใช้ไปปลุกฉัน เพราะว่าตอนนั้นฉันอยู่ในป่าช้า ตาเชิดบอกว่าหลวงพ่อปานต้องการพบตัว เวลานี้ท่านนั่งอยู่ที่ศาลาการเปรียญที่เขาตั้งพระศรีอาริยเมตรไตร ฉันก็ไปหาท่าน ห่มสบงทรงจีวรพาดสังฆาฏิเรียบร้อย พอไปถึงก็ไปกราบท่าน ท่านก็ถามว่า เอาธูปเทียนมาหรือเปล่า
บอกว่า เอามาครับ เพราะว่าสงสัยถ้าหลวงพ่อสั่งเวลา ดึก ๆ ฉันมักจะถือดอกไม้ธูปเทียนมาด้วย เท่าที่พึงจะหาได้ ท่านก็บอกจุดธูปบูชาพระรัตนตรัยสิ ฉันจะทำอะไรให้ดู เมื่อจุดธูปเสร็จท่านก็อธิษฐานว่า
ด้วยเดชะบารมีที่ข้าพระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญบารมีมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งบัดนี้ ถ้าหากต่อไปข้าพเจ้าจะได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลแล้ว ขออำนาจพระศรีรัตนตรัยและเทพเจ้าทั้งหลาย จงบันดาลให้ข้า
พระพุทธเจ้ายกพระศรีอาริย์นี้ขึ้นและให้เบา รู้สึกเบา ( ไม่หนัก ) และถ้าข้าพเจ้าจะไม่ได้บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ขออย่าให้ยกพระศรีอาริย์นี้ขึ้นเลย
พอท่านอธิษฐานเสร็จท่านก็นั่งคุกเข่า ใช้สองมือช้อนแท่น ยกขึ้นได้ เบาที่สุดคล้าย ๆ กับยกหมอนนุ่นเบา ๆ เมื่อท่านอธิษฐานเสร็จท่านก็บอกให้ฉันอธิษฐานบ้าง ให้อธิษฐานตามแบบท่าน ฉันอธิษฐานแล้วฉันก็นั่งช้อนแต่ไม่ขึ้น พอยกไม่ขึ้นท่านก็บอกว่าลุกยืนขึ้นบารมีแกมันยังตํ่ากว่าข้า พอลุกยืนขึ้นพอจับสองมือนิดเดียวก็ขยับขึ้นมาเบาเหวง ชูขึ้นชูลงได้ตามสบาย
ท่านก็บอกว่า เอ้า..แกปรารถนาพระโพธิญาณอีกครั้งหนึ่งเพื่อความมั่นใจ ฉันก็ว่าตามท่าน แล้วท่านก็บอกว่า เอ้..ไอ้แกอายุเท่าไรมันจะตาย นี่แกลองอธิษฐานยกพระศรีอาริย์สิ ความจริงท่านรู้แต่ว่ามันยังไม่มีเหตุที่จะบอกว่าฉันจะต้องตาย
แต่แล้วในที่สุดท่านก็ให้อธิษฐานเมื่ออธิษฐานแล้วก็ยกขึ้นไปตั้งแต่ ๑, ๒, ๓ จนกระทั่ง ๒๑, ๒๒, ๒๓, ๒๔, ๒๕, ๒๖ ยกไม่ขึ้น ถ้าจะตายปีไหนอายุเท่าไรให้ยกขึ้น พอถึงอายุ ๒๗ ยกขึ้นเบาเหวงเลยทีเดียว ปรากฏว่าต้องตายอายุ ๒๗ แน่
ท่านก็ถามว่า เสียดายชีวิตไหม
ก็บอกว่า ไม่เสียดายครับ ผมพอใจแล้ว ผมคิดว่าอายุ ๒๗ ก็พอแล้ว อีกตั้งหลายปี เวลานี้ผมได้ฌานสมาบัติพอ สมควรแล้วครับ ผมพอใจ
ท่านก็บอกว่ามันยังน้อยนัก ยังไม่ควรจะตาย ถ้าเรามีชีวิตมากขึ้นไปอีกเราก็สามารถบำเพ็ญบารมีขึ้นสูงกว่านี้
ให้เร่งสะสมบารมี
การบำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิเราจะหวังไปบำเพ็ญบารมีต่อในการเกิดเป็นเทวดา หรือว่าพรหมน่ะไม่มีทาง ไม่เหมือนกับสาวกภูมิ สาวกภูมิสามารถบำเพ็ญบารมีต่อบนสวรรค์หรือพรหมโลกได้ แต่ว่าถ้าบำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิแล้ว จะบำเพ็ญบารมีนอกจากความเป็นมนุษย์ไม่ได้
ฉะนั้นก่อนที่เราจะตายถ้าบารมีใดที่ยังอ่อนอยู่ ก็ควรจะส่งเสริมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะไม่เต็มก็ให้ใกล้เต็มเข้าไป ทนลำบากเอา เพื่อพระพุทธภูมิเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า เพราะการปฏิบัติเพื่อการเป็นพระพุทธเจ้าก็เพื่อทำลายความทุกข์ บำรุงสุขให้แก่บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก หรือชี้ช่องบอกทางให้พ้นอบายภูมิเป็นอย่างน้อย แล้วก็แนะนำให้เข้าถึงพระนิพพานเป็นที่สุด
ในที่สุดก็อธิษฐานตามท่าน คือไม่ใช่อธิษฐานนะ ตั้งใจจะปฏิบัติตามท่าน ท่านก็บอกว่าเอาอย่างนี้ พออายุ ๒๗ แกต้องตายแน่ ความจริงฉันรู้ แต่มันไม่มีเหตุที่จะพึงบอก แต่พอดีเขาเอาพระศรีอาริย์มา ฉันก็ให้แกยก ถ้าจะบอกเฉย ๆ เธออาจจะไม่เชื่อก็ได้
ทีนี้วิธีต่ออายุทำอย่างนี้นะ ให้ปล่อยปลา เพราะกรรมมันไม่หนักนัก ให้ปล่อยปลา ปลาที่จะถูกฆ่านี่ เขาเอามาขาย เขาจับมาแล้วเขาจะมาแกง เราก็ซื้อปล่อย ตัวหนึ่งต่อชีวิตได้ ๑ ปี ท่านว่าอย่างนั้น
พอรุ่งขึ้นเช้าฉันก็ไปซื้อปลามา ๑๐ ตัว ฉันว่า ๑๐ ปีก็พอแล้ว เพราะ ๓๗ มันก็ชักแก่เต็มทีแล้ว ฉันไม่เอาหรอก มากเกินไปฉันไม่ต้องการ ก็ปล่อยไป ๑๐ ตัว
เล่าเรื่องความตาย
ตอนนี้ก็จะขอเล่าถึงเรื่องตายเลยที เดียว มันเป็นเรื่องติดต่อกัน ทีนี้ต่อมาเมื่ออายุ ๒๗ ปี อีตอนนั้นฉันไปอยู่ที่วัดประยูรวงศาวาส ไปเป็นเจ้าคณะ ๔ สมเด็จฯ ท่านย้ายไป ก็เป็น พ.ศ. ๒๔๘๗ ปีนั้นญี่ปุ่นขึ้นมาแล้ว ลูกระเบิดลงตูมตาม ๆ กำลังหนัก
ฉันก็ป่วย ป่วยอยู่วันเดียวไม่ได้ป่วยนาน ป่วยตอนเช้าเป็นโรคท้องร่วง รู้สึกว่าไม่ใช่อหิวาต์ แต่เป็นโรคท้องร่วงธรรมดา โรคทางท้องเขาเรียกว่าโรคท้องร่วง แต่พอถ่าย ๓ ครั้งก็รู้สึกว่าหมดสิ้นแรง ฉันก็นอน สมเด็จฯ รู้ข่าวก็มาเยี่ยม พระเยี่ยมกันมาก มีเณรของฉัน ๒ องค์นั่งอยู่ข้าง ๆ
ไอ้คนจะตายนี่มันเป็นอย่างนี้คือสายตามันก็สั้นเข้ามา มันฟางน่ะ มองเห็นไกลมันสั้นเข้ามา ๆ จนกระทั่งเณรของฉัน ๒ องค์ที่นั่งข้าง ๆ นี่ฉันไม่เห็นตัว
แต่ว่าเวลาป่วยตอนนั้นจิตใจของฉันเป็นอย่างไร ฉันเคยตายมาแล้ว ๒ วาระ เห็นจะไม่ต้องอธิบายกัน เพราะว่าตามปกติฉันจะไปอยู่ที่ไหนก็ตามเรื่องกรรมฐานนี่ฉันไม่ลดตัว ฉันพยายามทำเป็นปกติ อารมณ์ของฉันเป็นฌาน
ในที่สุดฉันก็รู้สึกตัวว่าฉันมานั่งอยู่ในโพรง ๆ หนึ่ง มันใหญ่โตเหลือเกินเหมือนกับถํ้า มองไปดูว่าไอ้ถํ้านี้มันถํ้าอะไร มองไปมองมาเห็นซี่โครง เห็นอะไรต่ออะไร เอ้าก็มันร่างกายนี่เอง ไอ้นี่มันร่างกายเดิมของเรานี่ เราเข้ามานั่งอยู่ เอ๊ะ ทีแรกทำไมมันไม่โตนี่ ทำไมถึงโตอย่างนี้ แล้วไปดูตัวก็เห็นตัวเหลืองอร่าม มีเครื่องประดับเหลืองอร่ามผิวเนื้อเป็นแก้ว แต่อาศัยรัศมีของ เครื่องประดับเข้าไปจับกายแลดูเป็นทองคำไปหมด
ฉันก็รู้ได้ทันทีว่าฉันตาย ถ้าฉันไปจากร่างกายเวลานี้ฉันก็เป็นพรหม ร่างกายฉันเป็นพรหมครบถ้วนบริบูรณ์ มีชฎา สวยสดงดงาม แต่ก็ยังไม่ตัดสินใจที่จะไป นั่งมันกำลังสบาย โปร่ง สบายมาก ก็นึกในใจว่านี่เราควรจะไปหรือควรจะอยู่ และการจะตัดสินใจเองก็ยังไม่ดีนัก ก็จึงอธิษฐานถึงบารมีพระพุทธเจ้าว่า
เดชะบารมีขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นบรมครูของข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าควรจะละอัตภาพนี้ก็ขออย่าให้มีอะไรปรากฏขึ้น ถ้าหากข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ควรจะละอัตภาพนี้ขอให้เห็นฉัพพรรณรังสีรัศมีทั้ง ๖ ประการขององค์สมเด็จพระพิชิตมารพวยพุ่งมาเป็นเพดานให้ข้าพระพุทธเจ้าได้นมัสการ
เห็นฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการ
พออธิษฐานเสร็จก็ปรากฏว่ามีสี ๖ สี เป็นรัศมีของพระพุทธเจ้าพุ่งพรืดมา แผ่เป็นเพดานอยู่ประมาณ ๕ นาที ฉันก็นมัสการ แล้วก็หายไป ทีนี้ฉันยังไม่แน่ใจว่าการอยู่นี่มันจะดีกว่าเก่าหรือเท่าเก่า ถ้าเท่าเก่านี่ฉันไม่เอา อันนี้หมายถึงสมณธรรมนะ ยศถาบรรดาศักดิ์ฉันไม่ต้องการ ถ้าฉันต้องการฉันได้นานแล้ว
ฉันอธิษฐานต่อไปว่า ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ต่อไปจะเจริญสมณธรรมได้ดีกว่านี้ เพราะเวลานั้นก็ได้ฌาน ๘ แล้วจบฌานโลกีย์ ก็ขอให้ฉัพพรรณรังสีรัศมีทั้ง ๖ ประการขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพุ่งมาและวนเป็นทักษิณาวัตร ให้ข้าพระพุทธเจ้าได้นมัสการอีกวาระหนึ่ง แต่ว่าถ้าข้าพระพุทธเจ้าอยู่ไปแล้วจะไม่ได้ดีกว่านี้ เสมอนี้หรือตํ่ากว่านี้ ขอฉัพพรรณรังสีรัศมีทั้ง ๖ ประการจงอย่าปรากฏแก่ข้าพเจ้า
พออธิษฐานเสร็จก็ปรากฏว่ารัศมีทั้ง ๖ ประการพุ่งมาอีก วนเป็นทักษิณาวัตร ก็นมัสการ เลยตัดสินใจอยู่ คิดว่าถ้าอยู่แล้วดีกว่าจะอยู่ ถ้าอยู่แล้วไม่ดีกว่าก็จะไป จะมีประโยชน์อะไรในการอยู่เพราะสภาพเมืองมนุษย์ไม่มีอะไรดีมีแต่ของเลว พบคนก็คนเลว พบวัตถุก็วัตถุเลว เพราะมันมีสภาพไม่คงทนถาวรมีความเปลี่ยนแปลงและมีการสลายตัวไปในที่สุด
แม้แต่อารมณ์ของคนวันนี้ดีพรุ่งนี้เขาอาจจะรัก วันนี้เขาด่าเราพรุ่งนี้เขาอาจจะชม วันนี้เขาชมเราพรุ่งนี้เขาอาจจะนินทาเรา เอาดีอะไร วันนี้เขาเป็นมิตรพรุ่งนี้อาจจะเป็นศัตรู เรื่องของคนเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ รวมความว่าอารมณ์ของคนธรรมดามีแต่ความเลว ไม่มีความดี สิ่งที่ปรารภก็ปรารภความเลว อยากจะฆ่าคนนั้น อยากจะฆ่าสัตว์ตัวนี้ อยากจะกินอย่างนู้น อยากจะรวยอย่างนี้ อยากจะยื้อแย่งทรัพย์สมบัติ อยากจะยื้อแย่งความรัก อยากจะพูดปด อยากจะดื่มสุราเมรัย อะไรต่ออะไรอย่างนี้เป็นต้น หาความดีไม่ได้ นี่เรื่องของโลกจริง ๆ
แต่คนที่ปนความดีนี่หมายถึงคนที่เข้าถึงธรรมะ คนประเภทนี้น่าคบ น่าเลื่อมใส น่าไหว้น่าบูชา แต่เราไม่ค่อยจะพบนัก ส่วนมากเราก็ไปพบคนจัญไรประเภทนั้นน่ะมากที่สุด ทีนี้ความเบื่อหน่ายมันเกิดขึ้น เมื่อตัดสินใจจะอยู่ ถึงแม้ว่าคนเขาจะเลวเขาจะดีประการใดก็ช่างเขา เราจะสร้างตัวของเราให้ดี เราจะสร้างที่พึ่งของเราให้มั่นคง หมายความว่าเราจะทำตนของเราให้ดีกว่านี้ สร้างบุญบารมีให้ดีกว่านี้
พบพระอินทร์
พอตัดสินใจเท่านี้แล้วก็ปรากฏว่ามีชายคนหนึ่ง นุ่งขาวห่มขาว ถือยามาก้อนหนึ่ง คล้าย ๆ ก้อนดิน พอเดินเข้ามาใกล้ก็จำได้ว่าเป็นโยมนั่นเอง คือ พระอินทร์ เข้ามาส่งยาให้ แล้วบอกว่า คุณ! ฉันยาอันนี้เสีย แล้วร่างกายจะปกติ
จึงรับยามาฉัน รสชาติเหมือนดินแต่หอม พอฉันยาเสร็จแล้ว ท่านก็บอกว่าเทศน์วันมะรืนนี้ที่รับไว้ที่ จ.สมุทรสงคราม คุณไม่ต้องให้ใครไปแทนนะ คุณไปได้ร่างกายจะปกติ แล้วท่านก็ลากลับ เมื่อลากลับแล้วฉันก็รู้สึกตัว ลืมตาแล้วก็เห็นสมเด็จฯ อยู่ที่ด้านศีรษะ ท่านถามว่า กลับแล้วหรือคุณไม่ไปหรือ
บอกว่า ไม่ไปขอรับ
ถามว่า หลวงพ่อรู้หรือขอรับ
ท่านบอก ทำไมฉันจะไม่รู้ ( สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดอนงค์ ) ท่านเก่งเหมือนกัน โดยมากฉันก็เป็นคนโชคดี เมื่อออกจากหลวงพ่อปานแล้วก็ไปพบสมเด็จพระ พุฒาจารย์ วัดอนงค์ ท่านเก่งกรรมฐานอย่างเดียวกับหลวงพ่อปานไม่ผิด ปฏิปทาทุกอย่างเหมือนกัน เหมือนกับลอกแบบกันไว้ทีเดียว นี่เป็นโชคดีของฉัน
แต่ว่าท่านก็เป็นพระปกปิด หมายความว่าท่านไม่เปิดเผย ถ้าใครไม่เข้าถึงท่านจริง ๆ ย่อมจะไม่รู้อะไรจากท่านเลย เมื่อกลับมามีชีวิตคราวนั้นแล้ว ฉันก็ไม่เห็นจะต้องเล่าเรื่องอะไรมาก ก็จะเล่าต่อไปเลยถึงเรื่องท้าย ๆ เพราะมันมีตายอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นตายครั้งที่ ๓ ฉันก็เร่งรัดปฏิบัติในกรรมฐานหนักขึ้น
การตายอีกวาระหนึ่ง
ตอนนี้ว่ากันเรื่องตายอีกทีหนึ่งมันจะได้ติดต่อกันไปซะ นี่ฟังเรื่อย ๆ พอถึงอายุ ๓๙ ปลายปี ปีนั้น ฉันสร้างโบสถ์ ๒ หลังซ้อน หมายความว่าสร้างควบกัน ๒ หลัง วางศิลาฤกษ์เดือนเมษายน เมื่ออายุ ๓๘ พออายุ ๓๙ เดือนเมษายน ฉันก็ฝังลูกนิมิตทั้ง ๒ หลัง โบสถ์คราวนั้นสร้างหลังหนึ่งราคา ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท ที่ จ.ราชบุรี หลังหนึ่ง จ.สมุทรสาครหลังหนึ่ง เมื่อฝั่งลูกนิมิตโบสถ์เสร็จ ฉันป่วย เมื่อกำลังสร้างโบสถ์หลังนั้นฉันป่วยหนักแล้ว
หลวงพ่อปานเคยมาเตือนฉันบอกว่าอีก ๓ ปีนะคุณ จะทนไม่ไหว คือร่างกายจะทนไม่ไหว ให้พักก่อสร้าง ฉันก็พักไม่ได้ ในที่สุดมันป่วยหนัก เมื่อฝังลูกนิมิตเสร็จฉันก็ต้องเดินเข้าโรงพยาบาล คือเข้ากรมแพทย์ทหารเรือ
ทำไมจึงเข้าที่นั่น ก็เพราะว่ามันเป็นที่เก่าของฉัน หมอก็ยังรู้จักกันมาก ไอ้เพื่อนเก่า ๆ ก็ยังพออยู่ เดี๋ยวนี้ก็ไปกันหลายคนแล้ว เหลือแต่เด็ก ๆ แต่มันก็รู้จักกัน ไอ้รุ่นเดียวกันเขาก็เป็นนายพลไปหลายคนเต็มที ที่ออกไปแล้วก็มี เป็นผู้ชำนาญการไปเสียบ้างก็มีเพราะว่าต้องหลีกทางให้หลังขึ้น
เพราะว่าแพทย์ในสมัยนั้นถ้าเป็น พลตรีแล้วก็ไปไม่ได้อีก ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้เขาขยับขึ้นเป็นพลโท นี่ใครเป็นพลตรี พลโท พอกินเงินเดือนเต็มขั้นก็ลาออกไป ถ้าขืนอยู่บำนาญมันก็ไม่ได้มากไปกว่านี้ ออกดีกว่า จะได้เพิ่มไปก็นิดหน่อยไม่มีความหมาย
จึงเข้าไปในกรมแพทย์ทหารเรือ เข้าไปทีแรกก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร พอตกกลางคืนเข้าสิอาการมันหนัก พอดีก็ยังไปพบหลวงสุวิชาญ แล้วก็หลวงประกอบ ซึ่งเป็นคนเก่า ๒ คนนี้ฉันนับถือท่านเหมือนน้า เพราะว่าเป็นเพื่อนเก่าของน้า เพราะน้าก็เป็นนายทหารหมอเหมือนกัน ท่านรับเป็นอุปการะ
พบท่านสหัมบดีพรหม
อาการมันแน่นขึ้นมา พอถึงตี ๓ ฉันตัดสินใจเจริญวิปัสสนาญาณเข้าฌานเต็มที่แล้วเจริญวิปัสสนาญาณ ปรากฏการณ์พิเศษ คือพอเข้าฌานเต็มที่ด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณเบื้องต้นแล้ว พอฌานเข้าถึงระดับสูงสุด ปรากฏว่าเห็นพรหมองค์หนึ่ง เป็นพรหมไม่ใช่เทวดา แต่งตัวสวยมาก ฉันไม่เคยเห็นมาก่อน มายืนอยู่ข้างหน้า แล้วเรียกว่า สัมพเกษีไปกับฉัน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เธอไปเยี่ยม
ฉันแปลกใจ คำว่าสัมพเกษีนี่เป็นชื่อพรหม ฉันเป็นพรหมนี่เขาเรียกกันว่าสัมพเกษี ฉันก็เดินตามท่านไป สภาพของฉันที่ไปเวลานั้นก็ไปแบบเป็นพระ ผิวกายผ่องใส เนื้อละเอียดอ่อนมาก เป็นแก้วบางที่สุด ท่านพาไปตามลำดับถึงสวรรค์ ๖ ชั้นแล้วก็กลับย้อนมาขึ้น พรหมชั้นที่ ๑ ถึงพรหมชั้นที่ ๑๖ พอถึงพรหมชั้นที่ ๑๖
ท่านก็บอกว่าเธอไปคนเดียวเถิด ฉันไม่ไปด้วยแล้ว
จึงถามว่า ทำไมไม่ไปล่ะ
ท่านบอก ไม่ไป
ถามว่า ไปไหน
ท่านบอก ไปทางนี้ ท่านชี้ทางให้ เป็นทางสวยระรื่น น่าเดิน เป็นแก้วระยิบระยับ แพรวพราว ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ก็ไปตามทางนั้น ฉันไม่รู้ว่าไปไหนหรอก ทีแรกฉันรู้แค่พรหม แต่นิพพานนี่ฉันไม่เคยเห็น เห็นแค่พรหมชั้นที่ ๑๖ ไอ้เรื่องพรหมนี่ฉันเที่ยวเป็นปกติฉันรู้
ในภาพอาจจะมี 1 คน

15 กุมภาพันธ์ 2561

สมาธิเนี่ยจะทำโลกให้สงบได้ ทำความสันติสุขให้แก่โลก หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หลวงปู่มั่นประกาศท่ามกลางสงฆ์ว่า................
"วิริยังค์ เธอได้ธรรมะนี้แล้ว เธอเข้าไปกรุงเทพเถิด"
"แต่องค์อื่นไม่ให้ไป"
เวลาที่ท่านประกาศนั้น ท่านประกาศท่ามกลางสงฆ์
พระอาจารย์อยู่ตั้งเป็นร้อยๆ บอกว่าให้ไปที่กรุงเทพ
กรุงเทพเป็นคนที่มีวาสนา...ยังมีอยู่
...
...
...
หลวงพ่อได้ศึกษาสมาธิกับหลวงปู่มั่น
เป็นระยะเวลา 4ปี
อย่างช่ำชอง
อย่างลึกซึ้ง
อย่างละเอียด
อย่างหมดเปลือก
อย่างแน่นหนา
อย่างแน่นหนาที่สุด
.
จนกระทั้ง ท่าน หลวงปู่มั่น
ได้ออกปากพูดกับหลวงพ่อว่า
"วิริยังค์ เธอได้ธรรมะนี้แล้ว เธอเข้าไปกรุงเทพเถิด"
"แต่องค์อื่นไม่ให้ไป"
เวลาที่ท่านประกาศนั้น ท่านประกาศท่ามกลางสงฆ์
พระอาจารย์อยู่ตั้งเป็นร้อยๆ บอกว่าให้ไปที่กรุงเทพ
กรุงเทพเป็นคนที่มีวาสนา...ยังมีอยู่
..
ท่านก็พูดเป็นภาษาอีสาน ภาษาลาว
พูดบอกว่า
.
" ตกใส่น้ำดังโป๊ก ตกใส่บ๊กดังท้วน
ตกใส่หนองหญ้าป้อง ดังก้องทั่วเมือง
คำเฮืองท้าวจักรวาลทั้งสี่"
.
นี่ท่านบอกว่าอย่างงั้น
จักรวาลทั้ง4ก็หมายความว่า 4 ทวีป
ซึ่งจะต้องมารับเอาธรรมะ
เพื่อจะทำความสันติสุขให้แก่โลก
เพราะว่าจริงๆแล้วนั้น ท่านบอกว่า
.
สมาธิเนี่ยจะทำโลกให้สงบได้
เมือทำให้เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้อง
.
สมาธิที่ถูกต้องนั้น คือได้ประโยชน์ทั้งฆราวาส
ได้ประโยชน์ทั้งพระ
โดยส่วนมากจะเป็นประโยชน์เฉพาะพระ
แต่ว่าโยมได้ประโยชน์น้อยมาก ในสมัยหนึ่ง
.
ท่านจึงได้แนะนำให้ สอนฆราวาสให้เป็นอาจารย์..ให้จงได้

ฝึกตนอย่างไรให้พ้น "ทุกข์" โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ประยุตโต)

ฝึก 8 อย่าง จะได้ไม่ "ทุกข์" 

1. ฝึกมองตัวเองให้เล็กเข้าไว้ หมายความว่า จงเป็นคนตัวเล็ก อย่าเป็นคนตัวใหญ่ จงเป็นคนธรรมดา อย่าเป็นคนสำคัญ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา อย่าไปให้ความสำคัญกับตัวเองมากไป
2. ฝึกให้ตัวเองเป็นนักไม่สะสม หมายความว่า การสะสมอะไรสักอย่างนั้นเป็นภาระ ไม่มีอะไรที่เราสะสมแล้วไม่เป็นภาระยกเว้นความดี นอกนั้นล้วนเป็นภาระทั้งหมดไม่มากก็น้อย
3. ฝึกให้ตนเองเป็นคนสบายๆ หมายความว่า อย่าไปบ้ากับความสมบูรณ์แบบ เพราะความสมบูรณ์แบบมันไม่มีจริง มีแต่คนโง่เท่านั้นที่มองว่า ความสมบูรณ์แบบมีจริง
4. ฝึกให้ตัวเองเป็นคนนิ่งๆ หรือไม่ก็พูดในสิ่งที่ดีๆ หมายความว่า ถ้าอะไรไม่ดีก็อย่าไปพูดมากไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด แต่ถ้ามันไม่ดี เป็นไปได้ก็ไม่ต้องพูด เพราะการพูด หรือวิจารณ์ในทางเสียหายนั้น มีแต่ทำให้จิตใจตนเองตกต่ำ และขุ่นมัว
5. ฝึกให้ตัวเองรู้ธรรมชาติว่า อะไรๆ ก็ผ่านไปเสมอ หมายความว่า เวลามีความสุข ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความสุขมันก็ผ่านไป เวลามีความทุกข์ ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความทุกข์ก็ผ่านไป เวลามีสถานการณ์แย่ๆ เกิดขึ้น ก็ให้รู้ทันว่า เรื่องราวเหล่านี้ มันไม่ได้อยู่กับเราจนวันตาย
6. ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่อง ของการนินทา หมายความว่า เราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่า เราต้องถูกนินทาแน่นอน ดังนั้น เมื่อถูกนินทาขอให้รู้ว่า "เรามาถูกทางแล้ว" แปลว่า เรายังมีตัวตนอยู่บนโลก คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกา กับคำนินทาก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังนินทาลูก คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่ นับประสาอะไรกับคนอื่น ถ้าเราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคิดว่า เราจะไม่ถูกนินทา
7. ฝึกให้ตัวเองพ้นไปจาก ความเป็นขี้ข้าของเงิน หมายความว่า เราต้องหัดพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ รถยนต์ใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน นาฬิกาใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน เสื้อผ้าใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน การที่คนเราจะเลิกเป็นขี้ข้าเงินได้ ต้องเริ่มจากการรู้จักเพียงพอก่อน เมื่อรู้จักพอแล้ว ก็ไม่ต้องหาเงินมาก เมื่อไม่ต้องหาเงินมาก ชีวิตก็มีโอกาสทำอะไรที่มากกว่าการหาเงิน
8. ฝึกให้ตัวเองเสียสละ และยอมเสียเปรียบ หมายความว่า การที่คนๆ หนึ่งยอมเสียเปรียบผู้อื่นบ้าง เป็นเรื่องจำเป็น ใครก็ตามที่บ้าความถูกต้อง บ้าเหตุบ้าผล ไม่ยอมเสียเปรียบอะไรเลย ไม่ช้า คนๆ นั้นก็จะเป็นบ้าสติแตก กลายเป็นคนที่ถูกทุกอย่างแต่ไม่มีความสุข เพราะต้องสู้รบกับคนรอบข้างเต็มไปหมดเพื่อความถูกต้องที่ตนเองยึดมั่นถือมั่น
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ประยุตโต)

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...