สรุปหนังสือ :
The Power of Now –
พลังแห่งจิตปัจจุบัน
ทางสู่การตื่นรู้และเยียวยา
ทางสู่การตื่นรู้และเยียวยา
SaroopBook Team
March 1, 2017
SaroopBook 5410
March 1, 2017
SaroopBook 5410
1. พลังแห่งจิตปัจจุบัน
เป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลเล่มหนึ่ง
ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก
ถึง 33 ภาษา
และได้รับการตอบรับที่ดีในฐานะ
หนังสือที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนมากมาย
ผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์ของ
Eckhart Tolle ครูด้านจิตวิญญาณ
ผู้เชื่อมั่นในพลังของจิตปัจจุบัน
หมายเหตุ บทความนี้เป็นการรีโพสจาก
Facebook ของ SaroopBook
——————
2. จิตปัจจุบัน ความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถที่จะฝึกฝน เรียนรู้ ผ่านการเฝ้าดูความคิด เพื่อที่จะแยกแยะความคิด ความรู้สึก ออกจากตัวตนของเรา และค่อยๆสร้างหนทาง เชื่อมโยงถึงจิตเดิมแท้ ซึ่งเรียกกันว่าการตื่นรู้
——————
3. ใครหลายคนมักเข้าใจว่าการ “ตื่นรู้” เป็นปาฎิหาริย์ หรือเรื่องที่เกินจริง เกิดขึ้นได้กับคนพิเศษๆ เช่น ศาสดา หรือพระพุทธเจ้า แต่ในความเป็นจริงแล้วการตื่นรู้เป็นสมบัติที่ทุกคนสามารถค้นพบได้ เพราะ “จิตเดิมแท้” ซึ่งไม่ผ่านการปรุงแต่งด้วยความคิดนั้น เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เราจึงสามารถที่จะตื่นรู้ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าเพียงแต่รู้วิธี
——————
4. อุปสรรคสำคัญที่กั้นขวางระหว่างเรากับการตื่นรู้ คือ “ความคิด” เรามักไม่รู้ตัวว่าเรากำลังคิด ความคิดจึงกลายเป็นตัวของเราไปโดยปริยาย การยึดติดกับความคิดนั้น ทำให้เราตัดสินผู้อื่น สร้างตัวตนจอมปลอมคืออัตตาขึ้นมา และอัตตานั้นจะปิดกั้นเราจากผู้อื่น เราส่วนใหญ่จึงตกเป็นทาสของความคิด ถูกความคิดครอบงำ และเราเชื่อว่าความคิดนั่นแหละคือตัวเรา
——————
5. การแยกความคิด ออกจากตัวเรา ทำได้ง่ายๆ โดยวิธี “เฝ้าดูตัวคิด” การเฝ้าดูตัวคิดนั้น คือ การฝึกฟังเสียงในใจ คอยสังเกตความคิดที่วิ่งวนในหัวเรา ขณะเดียวกันก็รับรู้ว่า “มีผู้สังเกต” นั่นคือตัวเราเองอยู่ เมื่อฝึกทำเช่นนี้ พลังของความคิดจะลดน้อยลง เพราะเรารู้แล้วว่า ความคิดกับตัวเรานั้น สามารถแยกออกจากกันได้ ความคิดไม่ใช่ตัวเรา ทำให้เราเป็นอิสระจากความคิด
——————
6. นอกจากการเฝ้าดูความคิด หนทางที่จะช่วยดึงจิตออกจากความคิดได้อีกทางคือการ พุ่งความสนใจไปที่ปัจจุบันขณะ หรือที่เรียกกันว่า การทำสมาธิ นั่นคือการกำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน จนเกิดความว่าง และเกิดพลังของจิตที่แยกจากความคิดได้
——————
7. ทั้งการเฝ้าดูความคิด และการทำสมาธิ สามารถฝึกฝนได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การกำหนดรู้ขณะก้าวเดิน ทำงานบ้าน หรือ กิจกรรมอื่นๆ ซึ่งการฝึกจิตนี้จะช่วยให้จิตแยกออกจากกระแสที่ไหลวนของความคิด เกิดภาวะที่เรียกว่า “จิตว่าง” แม้อาจเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่เมื่อเกิดสภาวะนั้น จิตใจจะรู้สึกสว่าง สงบ เป็นหนทางแห่งการเกิดปัญญา
——————
8. ปัญญาอยู่เหนือความคิด เรามักสงสัยว่าจะดำเนินชีวิตโดยปราศจากการคิดได้อย่างไร ในความเป็นจริงคือ การดำเนินชีวิตยังคงต้องมีตัวคิดอยู่ เพียงแต่เราต้องเป็นนายของความคิด คิดเท่าที่จำเป็น คิดอย่างไม่ปรุงแต่งปัญญาและการตื่นรู้ เป็นระดับของจิตสำนึกที่อยู่เหนือความคิด นั่นคือ เรายังคงคิด แต่คิดอย่างมีประสิทธิภาพ คิดเพื่อจุดประสงค์ในการปฏิบัติ คิดอย่างมีพลังแห่งความสร้างสรรค์ ไม่ใช่การคิดบนพื้นฐานของการยึดติดกับอัตตา ตัวตนเช่นเดิม
——————
9. หนทางในการพ้นทุกข์ ความทุกข์นั้นยึดโยงอยู่กับกาลเวลา ไม่เป็นเพราะอดีตที่สร้างบาดแผลในใจ ก็เพราะความกังวลห่วงใยในอนาคต หนทางในการพ้นทุกข์จึงอยู่ที่ “ปัจจุบันขณะ” การใช้ชีวิตโดยตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน และคอยหมั่นสังเกตกลไกการทำงานของความคิด จิตใจ ยอมรับในความทุกข์ที่มี จิตใจก็จะเบาสบายขึ้น
——————
10. ความทุกข์นั้นเป็นภาพลวงตา และหล่อเลี้ยงไว้ด้วยอัตตา สิ่งที่ความทุกข์กลัวที่สุด คือการถูกค้นพบ เรามักกลัวกับการเผชิญหน้ากับความทุกข์ ทำให้หลบเลี่ยงหลีกหนี แต่การหลีกหนีนั้น ยิ่งทำให้ความทุกข์ฝังลึกในตัวเรา ดังนั้น การยอมรับและเฝ้าดู เผชิญหน้ากับความทุกข์ รู้ว่ามันคือตัวทุกข์ ไม่คิด ไม่วิเคราะห์ รู้เพียงแต่รู้ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกตัวว่า “เรากำลังเป็นผู้สังเกต” นั่นแหละ พลังแห่งจิตปัจจุบันและความรู้ตัวทั่วพร้อมจะเกิดขึ้น
——————
11. ลึกลงสู่ปัจจุบันความคิดและเวลา เป็นสิ่งที่ยึดโยงถึงกันอย่างแยกไม่ได้ การยึดอยู่กับความคิดจึงเท่ากับติดกับดักของเวลา ความคิดจะพาเราไปยังอดีตเพราะอดีตนั้นสร้างตัวตนของเรา หรือไม่ก็พาไปยังอนาคตเพื่อเติมเต็มตัวตนบางอย่าง การยุติภาพลวงตาของเวลาด้วยการอยู่กับปัจจุบัน จึงช่วยให้เราแยกตัวออกจากความคิดได้โดยอัตโนมัติ
——————
12. บรมครูแทบทุกสายด้านจิตวิญญาณ ล้วนชี้แนะว่า “ปัจจุบัน” คือ กุญแจสำคัญสู่การเติบโตทางจิตวิญาณ เพราะอดีตและอนาคตนั้น ไม่มีจริง มีเพียงปัจจุบันที่ดำรงอยู่ การเฝ้าสังเกตตัวเอง คือหนทางที่จะช่วยให้เรา “รู้เนื้อรู้ตัว” มากขึ้นโดยอัตโนมัติ จงเฝ้าดูจิต เฝ้าดูความคิด สังเกตตนเองว่าบ่อยแค่ไหนที่เราปล่อยให้ใจลอยไปกับอดีตหรืออนาคต
——————
13. สภาวะที่เราเฝ้าดูความคิด โดยรับรู้ว่ามีตัวเราเป็นผู้เฝ้าดูนั้น เรียกว่าสภาวะที่ “รู้ตัวทั่วพร้อม” สภาวะเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่ออัตตาหรือตัวตนของเราถูกคุกคาม เช่น ถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม เรามักมีแนวโน้มจะขาดความรู้สึกตัว หรือรู้ไม่เท่าทันจิต แต่สภาวะรู้ตัวทั่วพร้อมจะทำให้พลังของอัตตาและตัวตนนั้นลดลง เกิดพลังแห่งสติที่ระลึกรู้ทดแทน และจะก้าวสู่ปัจจุบันขณะในระดับที่ลึกขึ้นต่อไป เมื่อเราฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอก็สามารถใช้ในเชิงปฏิบัติ ช่วยให้การคิด การทำสิ่งต่างๆ เฉียบแหลมขึ้น ปราศจากตัวตนหรืออคติส่วนตน
——————
14. ผู้มีปัญญานั้น ต้องมีสมาธิจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็รับรู้มิติของเวลาควบคู่ไป นั่นคือ เรายังใช้เวลาทางโลกในการดำเนินชีวิต แนวทางการฝึก คือ การวางแผนเวลาของชีวิตตามเวลาทางโลก เมื่อทำภารกิจต่างๆเสร็จสิ้น ให้กลับเข้าสู่เวลาทางจิต นั่นคือ ปัจจุบันขณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการยึดโยงกับอดีตและอนาคต
——————
15. ชีวิตนั้นไม่ได้ตัดขาดจากอดีตและอนาคต แต่เราใช้อดีตเพื่อการเรียนรู้เป็นประสบการณ์ โดยอาศัยเวลาตามนาฬิกา เมื่อจบภารกิจก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปัจจุบันขณะ นั่นคือเวลาทางจิต การคิดคร่ำครวญ เสียใจ รู้สึกผิดกับสิ่งที่ผ่านมา เป็นข้อควรระวังเพราะนั่นหมายถึงคุณใช้เวลาทางจิตไปกับเรื่องในอดีต ส่วนอนาคตนั้น เราสามารถตั้งเป้าหมายของชีวิตได้ตามเวลานาฬิกา แต่ยังคงให้ความสำคัญกับปัจจุบัน ขณะก้าวเดินสู่จุดหมาย เมื่อใดก็ตามที่มุ่งมั่นให้ถึงปลายทาง จนลืมความงดงามขณะเดิน นั่นอาจหมายถึงคุณลืมปัจจุบันขณะ และใช้เวลาทางจิตไปกับอนาคตที่ต้องการสร้างตัวตนปลายทาง
——————
16. เมื่อเราละทิ้งตัวตน ปัญหาทุกอย่างก็เป็นเพียงสิ่งสมมติ พลังด้านลบและความทุกข์นั้น หยั่งรากด้วยกาลเวลา เมื่อใช้เวลาทางจิตไปกับปัจจุบัน เราจะไม่พบว่าปัจจุบันนั้นมีปัญหาอะไร เพราะปัจจุบันไม่ใช่อีก 5 หรือ 10 นาทีข้างหน้า แต่เป็นเดี๋ยวนี้ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ชีวิตที่ยุ่งยาก ให้เราลองแยกตัวเองออกมา เฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น รับรู้ทุกสิ่งๆตามความเป็นจริง เราจะพบว่า มันก็เป็นเช่นนั้นเอง จิตของเราจะขยับลงลึกไปถึงปัจจุบัน
——————
17. หากเรากังวลสงสัยว่า จิตของเรานั้นถูกเวลาทางจิตครอบงำ ไม่อยู่กับปัจจุบันใช่หรือไม่ ให้ทดสอบด้วยการตั้งคำถามกับตนเองว่า มันมีความเบิกบาน ปลอดโปร่ง โล่งสบาย ในสิ่งที่เราทำอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่มี แสดงว่าชีวิตเราไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่ถูกมิติของเวลาครอบงำ ชีวิตถูกมองว่าเป็นภาระ ซึ่งในกรณีนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสิ่งที่ทำ แต่ควรใส่ใจกับ “วิธี” ที่เราทำ หากเราสามารถสนใจใส่ใจสิ่งที่ทำ มากกว่าหวังผลที่ได้ ชีวิตก็จะอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น และการอยู่กับปัจจุบันจะทำให้รู้สึกเบิกบาน ปลอดโปร่ง โล่งสบาย
——————
18. อย่างไรก็ตาม การมีจิตปัจจุบัน หรือสภาวะรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ทันทีที่ฝึก บางคนจึงไม่เคยได้เข้าสู่สภาวะที่เรียกว่าจิตปัจจุบันเลย ในขณะที่บางคนอาจจะสลับไปสลับมาระหว่างจิตปัจจุบันที่รู้ตัวทั่วพร้อม กับจิตที่ยึดโยงกับความคิด เมื่อหมั่นฝึก จิตปัจจุบันก็จะกลายเป็นจิตหลักแทนจิตที่ยึดโยงกับความคิดในที่สุด
——————
19. ตราบใดที่เราตั้งมั่นกับจิตปัจจุบัน มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เราย่อมเป็นอิสระจากความคิด การคงความรู้ตัวในชีวิตประจำวันจะช่วยให้เราหยั่งรากลงลึกภายใน นั่นหมายถึง การที่เราอยู่กับเนื้อกับตัว จนกำหนดรู้ความเป็นไปในร่างกาย เกิดช่วงเวลาที่เรียกว่า “จิตว่าง” หรือการตื่นรู้อย่างฉับพลัน จิตที่ตื่นรู้นั้น จะรับรู้ถึงความงดงามของโลกและธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง แม้เป็นเพียงชั่วขณะก็ทำให้เกิดความเบิกบาน
——————
20. เมื่อเราระลึกรู้ถึงจิตเดิมแท้ สิ่งที่เกิดขึ้นนั่นคือ จิตเดิมแท้ระลึกรู้ถึงการมีอยู่ของตนเอง หลุดพ้นจากการยึดติดรูปลักษณ์หรืออัตตา จิตจะกลายเป็นจิตบริสุทธิ์ หรือจิตที่ตื่นรู้ หรือจิตปัจจุบัน
——————
21. อย่ายึดติดกับคำเรียกขาน จิตปัจจุบัน จะเรียกแทนโดยคำใดก็ได้ อาจจะเป็น อาตมัน (ตัวตน) ในโลกตะวันออก หรือเรียกว่า “พระคริสต์” หากพระคริสต์คือแก่นแท้แห่งพระเจ้าในตัวเรา เพราะท้ายที่สุดแล้วความจริงแท้นั้นมีหนึ่งเดียว อย่าสร้างตัวตนหรือกำหนดรูปลักษณ์ ให้กับศาสดาผู้รู้แจ้ง เพราะพวกเขาเหล่านั้นเป็นเพียงคนธรรมดาเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ การได้เรียนรู้ สัมผัสถึงความจริงของจิตปัจจุบัน
——————
22. ร่างกาย คือสื่อที่จะพาเราไปพบกับจิตเดิมแท้ ในร่างกายนั้นมีชีวิตหรือจิตเดิมแท้อยู่ภายใน ช่องทางที่เราจะค้นพบจิตเดิมแท้ คือ การอยู่กับร่างกายและระลึกรู้ถึงการตั้งอยู่ในกาย โดยมีลมหายใจเป็นตัวเชื่อมความรับรู้ เพ่งความสนใจไปที่ร่างกาย รับรู้ถึงสภาวะของร่างกาย รับรู้ถึงสนามพลังภายในร่างกาย กุญแจสำคัญคือการอยู่กับกายภายในอย่างมั่นคง รู้สึกถึงมันตลอดเวลา เมื่อกำหนดรู้ในร่างกายได้มากพอ จะสามารถเชื่อมต่อกับจิตปัจจุบัน หรือจิตเดิมแท้ได้ และต่อไปศาสตร์ในการเชื่อมโยงกับจิตเดิมแท้นี้จะพัฒนาเป็นรูปแบบชีวิต
——————
23. ในระหว่างที่ฝึกฝน เราจะพบกับสภาวะอารมณ์ต่างๆมากมาย ที่จะชวนให้เกิดความอึดอัด คับข้องใจ นั่นคือการต่อสู้กับความคิดและอัตตา การเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยตนเอง สิ่งที่เรารู้สึกคืออารมณ์ที่ตกค้าง ที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีในตัวเรา จนเราได้เพ่งมองเข้าไป จงใส่ใจกับอารมณ์นั้น สำรวจว่าตนเองยึดติดกับอารมณ์ชนิดใด มีการตำหนิติเตียน โกรธเคืองที่คอยหล่อเลี้ยงอารมณ์หรือไม่ ถ้ามี เป็นไปได้ว่าเรายังมีเรื่องค้างใจ ที่ยังไม่ได้ให้อภัยแก่ผู้อื่น หรือไม่ให้อภัยตนเอง การให้อภัย คือการปลดปล่อยและเลิกต่อต้านชีวิต
——————
24. สร้างสัมพันธ์ด้วยจิตที่ตื่นรู้ ความสัมพันธ์นั้น เป็นสนามแห่งการเรียนรู้การตื่นรู้ ช่วยให้เราได้ระลึกรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่มีภายในตัวเรา ทั้งอารมณ์ โกรธ น้อยใจ หึงหวง ในสถานการณ์ที่ยุ่งยากของความสัมพันธ์ ให้เราถือโอกาสนั้นในการเรียนรู้ที่จะเติบโตทางจิตวิญญาณ โดยเฝ้าสังเกต รู้เพียงแต่รู้ เมื่อเรามองว่าความสัมพันธ์คือสนามฝึกปฏิบัติการตื่นรู้ของจิต เราย่อมละวางการยึดถือในความสัมพันธ์ และโอบอุ้มความสัมพันธ์นั้น ด้วยจิตที่เมตตา เพราะตัวตนของเรานั้นถูกถอนออกไป มีเพียงจิตเดิมแท้ที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังแห่งความรัก
——————
25. กระทำด้วยใจศิโรราบ ศิโรราบ เป็นภูมิปัญญาที่เรียบง่ายทว่าลุ่มลึกด้วยพลังแห่งการ “ยอม” มากกว่าต้าน การยอมในที่นี้ หมายถึงการยอมรับปัจจุบันขณะอย่างไร้เงื่อนไข ไม่มีพลังของความคิดเชิงลบในปัจจุบันขณะที่พบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ผิดปกติ ศิโรราบจึงเป็นสภาวะของจิตที่น้อมรับปัจจุบันอย่างไร้เงื่อนไข แต่ไม่ได้หมายถึงการสยบยอมแบบไม่คิดทำอะไร เช่น เมื่อรถติดหล่ม เราไม่ได้ยอมติดหล่มอยู่ตลอดไป แต่การศิโรราบ หมายถึง การตระหนักรู้ว่าปัจจุบันเรากำลังติดหล่ม โดยไม่มีความคิดหรือพลังงานเชิงลบ ทำให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหา ได้ดียิ่งขึ้น
——————
26. เมื่อศิโรราบ เราจะไม่ต้องการกลไกการป้องกันตัวของอัตตาอีก เราไม่ต้องการหน้ากากจอมปลอม หากแต่เราจะกลายเป็นคนที่เรียบง่าย และตรงไปตรงมา ศิโรราบต่อความจริงที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ยอมรับทั้งสิ่งที่มันเป็นไปแล้ว และสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จากนั้นทำสิ่งที่ต้องทำ หรือสิ่งที่จำเป็นต่อสถานการณ์นั้น การยอมรับทำให้คุณไม่สร้างพลังงานเชิงลบ ไม่สร้างทุกข์ จิตจะปลอดโปร่งและเป็นอิสระจากการดิ้นรนต่อสู้
สรุปหนังสือ The Power of Now – พลังแห่งจิตปัจจุบัน ทางสู่การตื่นรู้และเยียวยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น