14 มีนาคม 2563

พระอมิตาภะพุทธเจ้า (阿彌陀佛) 阿彌陀佛 (ออนี้ทอฮุก) , 彌陀如來अमिताभबुद्ध – Amitabha Buddha


พระอมิตาภะพุทธเจ้า (ออมีท้อฮุก หรือ อามีท้อฮุดโจ๊ว) นั้นได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องของพระธยานิพุทธเจ้าในแบบวัชรนิกาย โดยในรูปแบบนี้ถือว่าพระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่ง พระธรรมกาย
พระอมิตาภะพุทธเจ้า แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีแสงรัศมีเปล่งประภาสออกมาไม่มีประมาณ (無量光佛, 無邊光佛) ทรงมีอีกพระนามคือ
พระอมิตายุพุทธเจ้า แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีอายุขัยยาวนานไม่มีประมาณ (無量壽佛) แต่สาธุชนนิยมเอ่ยพระนามของพระองค์แบบทับศัพท์ว่า
ออ มี ท้อ ฮุก (阿彌陀佛) แปลว่า พระอมิตาพุทธเจ้า ซึ่งคำว่า “อมิตา” แปลว่ามากมายเกินกว่าจะประมาณค่า เข้าใจว่าเป็นการเรียกขานพระนามของพระพุทธองค์ในความหมายทั้ง ๒ คือ
๑. ทรงมีแสงรัศมีเจิดจรัสมากมายเกินกว่าที่จะประมาณได้
๒. ทรงมีอายุขัยยาวนานมากมายเกินกว่าที่จะประมาณได้
พระสูตรของมหายานกล่าวว่า “หากผู้ใดภาวนาพระนามของพระองค์อย่างแน่วแน่ตลอดเวลา ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน จนถึงตลอด ๗ วัน ๗ คืน เวลาใกล้จะสิ้นใจพระอมิตาภะพุทธเจ้าพร้อมด้วยอริยบริษัทจะเสด็จมารับดวงวิญญาณของผู้นั้นไปเกิดยังดินแดนสุขาวดีอันสุขารมณ์”
อันแดนสุขาวดี(極樂世界)นี้ เป็นชื่อเฉพาะของพุทธเกษตรหรือดินแดนของพระอมิตาภะพุทธเจ้าซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโลกเรา
ในคัมภีร์มหาสุขาวดีวยุหสูตร กล่าวว่า ครั้นหนึ่งเมื่อหลายอสงไขยกัลป์มาแล้ว มีพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่า “ธรรมการะ” ได้ฟังพระธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตร์พระโลเกศวร แล้วเกิดความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะขอเกิดเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง จึงได้กราบทูลให้พระองค์ทรงแสดงหลักธรรมอันจะนำไปสู่การเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสและบริบูรณ์ด้วยธรรมอันประเสริฐ
พระตถาคตเจ้าทรงใช้เวลาแสดงธรรมสั่งสอนพระภิกษุธรรมการอยู่เป็นเวลานานหลายปี หลังจากนั้นก็ทรงรับสั่งให้พระภิกษุธรรมการะ เริ่มลงมือปฏิบัติธรรมและเพ่งสมาธิไป ณ ดินแดนสุขาวดี ซึ่งเป็นพุทธเกษตรแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคตถึง 5 กัลป์
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าทำไม ดินแดนสุขาวดีพุทธเกษตร ของพระอมิตาภะพุทธเจ้านั้นจึงเป็นดินแดนที่ชาวพุทธนิกายมหายานให้ความสำคัญมาก และใฝ่ฝันอยากไปเกิดที่นั่น เพราะ เป็นที่สถิตของพระอมิตาภะพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ที่จะลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตนั่นเอง
ในพระสูตรกล่าวว่า แดนสุขาวดีเป็นสถานที่สวยงามวิจิตรที่สุดยิ่งกว่าแห่งใดๆ ทั้งทศทิศ ผู้ที่ได้มาอุบัติยังพุทธเกษตรแห่งนี้จะเป็นผู้ปราศจากทุกข์ภัยทั้งปวง จะได้ฟังธรรมเทศนาจากพระอมิตาภะและพระมหาโพธิสัตว์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด จนดวงวิญญาณของเขาผู้นั้นได้สำเร็จมรรคผลเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วกลับมาจุติยังโลกมนุษย์เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์อื่นๆ ต่อไป
การจะได้ไปเกิดยังแดนสุขาวดีนั้นก็ไม่ยาก เพียงแต่ระลึกถึงพระอมิตาภะพุทธเจ้าอยู่เสมอ โดยการสวดพระนามของพระองค์โดยสม่ำเสมอ ว่า
“นำ มอ ออ มี ท้อ ฮุก” (南無阿彌陀佛) และเพียรบำเพ็ญกุศลผลกรรมความดีงามทั้งปวงกตัญญูรู้คุณ ฯลฯ
พระปฏิมาหรือภาพวาดของพระองค์จะประดิษฐานอยู่เบื้องขวาของพระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภะพุทธเจ้าจะทรงมีปัทมบัลลังก์อยู่บนพระหัตถ์ที่ประสานกันในท่าสมาธิ บางแห่งจะทรงแบพระหัตถ์ขวาออกมา เบื้องหน้าแสดงกิริยารับดวงวิญญาณของสรรพสัตว์ที่ประกอบกุศลพร้อมกับระลึกถึงพระองค์ไปเกิดยังแดนสุขาวดี
วันคล้ายวันพุทธสมภพคือ วันที่ ๑๗ เดือน ๑๑ จีน
พระโพธิสัตว์คู่บารมี พระอมิตาภพุทธเจ้า
พระอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ (กวนอิมผ่อสัก) เป็นผู้ช่วยฝ่ายขวา
พระมหาสถามปราปต์มหาโพธิสัตว์ (ไต้ซีจี้ผ่อสัก) เป็นผู้ช่วยฝ่ายซ้าย
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (觀世音菩薩)
เจ้าแม่กวนอิม (观世音、观音) เป็นพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มีผู้รู้จักและศรัทธามากที่สุด เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการกราบไหว้บูชาจากชาวจีนทั่วทุกมุมโลก และแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางในทุก ๆ ที่ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ ในคตินิยมทางสัญลักษณ์วัฒนธรรมมงคลของจีน องค์เจ้าแม่กวนอิม คือ พระผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักความเมตตาต่อสรรพสัตว์ เป็นพระผู้เปี่ยมด้วยความกตัญญู และเป็นสัญลักษณ์แห่งเมตตามหาการุณย์เพื่อโปรดสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงทุกข์ ดังคำปณิธานของพระองค์ที่ว่า “หากยังมีสัตว์ตกทุกข์ได้ยากอยู่ ก็จะไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ”
พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ (大勢至菩薩)
พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ (Mahasthamaprapta) คือ พระโพธิ์สัตว์ในดินแดนสุขาวดีแห่งพุทธเกษตรอัครสาวกของพระอมิตาภะพุทธเจ้า เคียงคู่กับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นพระอัครสาวกที่ประทับอยู่ ณ ตำแหน่งเบื้องขวาของพระอมิตาภพุทธะ แต่หากมองจากผู้กราบไหว้บูชาจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ อีกทั้งพระอวโลกิเตศวร(กวนอิม) เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ ในขณะที่พระสถามปราปต์โพธิสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของดวงจันทรา ในพระสูตรสุขาวดีวยูหสูตรกล่าวไว้ว่า พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังและปัญญาบารมี แต่มีคนรู้จักน้อยกว่า ถือว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ด้านกำลัง
ทั้งสามพระองค์จะตั้งประดิษฐานไว้เรียงกันภายในวิหารแห่งสุขาวดี เรียกกันว่า ไตรเทพแห่งประจิมทิศ หรือ ซีฟางซานเสิ้ง (西方三圣)

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...