23 มีนาคม 2563

พุทธานุสสติถึงสมาบัติ

แทนที่เราจะภาวนาเฉยๆ เราก็จับภาพพระพุทธรูป 
กำหนดภาพไว้ ลืมตาดูภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ 
นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ 
ที่เราต้องการ เรามีความเลื่อมใสพอใจอยู่ 

เวลาจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาว่า พุทโธ 
ก็นึกภาพขององค์สมเด็จพระบรมครู 
จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ ให้ปรากฏอยู่ในใจ 
ไม่ใช่ไปนั่งคอยให้ภาพลอยมาแบบนี้ใช้ไม่ได้ 

ภาวนาไปแล้วก็นึกถึงภาพไปด้วย 
จะนึกอยู่ในอก ให้เห็นอยู่ในอก 
หรือเห็นภายนอกก็ได้ไม่จำกัด 

ถ้านึกถึงภาพนั้นตามภาพเดิม 
อย่างนี้เรียกว่า อุคคหสมาธิ หรือ อุคคหนิมิต

ถ้าภาพเดิมนั้นขยายไป เปลี่ยนแปลงไป
ชักจะใหญ่ขึ้น จะสูงขึ้น จะเล็กลง 
แล้วก็มีสีสันวรรณะ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยๆ 
จากสีเดิมกลายเป็นสีจางไปนิดหน่อย จางลงไปจางลงไป 
แต่เรารู้สึกอารมณ์จิตนึกเห็นชัด 
นึกเห็นนะ ไม่ใช่ภาพลอยมา 
อารมณ์จิตนึกเห็นจนกระทั่งปรากฏเป็นแก้วใส 

อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็น อุปจารสมาธิตอนกลาง

ตอนนี้แก้วใสที่กลายเป็นแก้วประกายพรึก แพรวพราวไปหมดทั้งองค์ 
จิตใจสามารถจะบังคับให้ภาพนั้นเล็กก็ได้ จะให้ใหญ่ก็ได้ 
สูงก็ได้ ต่ำก็ได้ ตั้งอยู่ข้างหน้าก็ได้ ข้างหลังก็ได้ 
ตามใจนึก นึกอย่างไร ภาพนั้นปรากฏไปตามนั้น 
มีความใสสะอาดสุกใสเป็นกรณีพิเศษ 

อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ท่านกล่าวว่าเป็น ปฐมฌาน

การจับภาพนี่จับให้สนิท ให้คิดอยู่เมื่อไรได้เมื่อนั้น 
เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ นั่งอยู่ 
นึกเห็นเมื่อไรเห็นได้เมื่อนั้นทันที 
นี่อย่างนี้เป็น กสิณ ด้วย 
เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานด้วย 

ถ้าการเห็นภาพแบบนั้นปรากฏว่า 
คำภาวนาว่า พุทโธ หายไป 
ภาพใสขึ้นผิดกว่าเดิม อันนี้เป็น ฌานที่ ๒ 
แต่มีจิตชุ่มชื่น อาการของจิตมันเหมือนกัน 
ภาพใสสะอาดขึ้น มีการทรงตัวมากขึ้น มีความแจ่มใสขึ้น 
ความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด 
จิตทรงตัวแนบนิ่งสนิท แล้วก็ลมหายใจน้อย 
ได้ยินเสียงภายนอกเบา อันนี้เป็น ฌานที่ ๓

การเห็นภาพชัดเจนแจ่มใสมากเป็นกรณีพิเศษ 
สว่างไสว คล้ายกับพระอาทิตย์ทรงกลด 
หรือว่าคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงแดดดวงใหญ่ 
ใจไม่ยุ่งกับอารมณ์อย่างอื่น เป็นอุเบกขารมณ์ 
ทรงสบาย เห็นแนบนิ่งสนิท 
จะนั่งนานเท่าไรก็เห็นได้ตามความปรารถนา 
หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก ไม่ปรากฏลมหายใจ 
อย่างนี้เป็น ฌานที่ ๔ ก็ยังเป็นรูปฌานอยู่

ทีนี้ถ้าหากว่า เราจะทำเป็นอรูปฌาน จะทำอย่างไร
เราจะทำถึงฌาน ๘ กันนี่ 
นี่เป็นวิธีแนะนำปฏิบัติตามผลแห่งการปฏิบัติจริงๆ 
ไม่ใช่เกาะตำราเสียจนแจแล้วไปไหนไม่พ้น 

การทำให้ถึงฌาน ๘ เขาทำแบบนี้
จับภาพพระพุทธเจ้าองค์นั้นแหละ 
ที่เป็นประกายพรึกอยู่ เพ่งจับจุดให้จิตจับดี 
เมื่อจิตทรงอารมณ์ดีแล้ว ก็เพิกภาพนั้นให้หายไป 

คำว่า เพิก เป็นภาษาโบราณ คือ
นึกว่าขอภาพนี้จงหายไป 
จับ อากาสานัญจายตนะ แทน คือ
พิจารณาอากาศว่า อากาศนี้หาที่สุดมิได้ 
มันเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีจุดจบ 
จับอากาศเป็นอารมณ์อย่างนี้ เรียกว่า อากาสานัญจายตนะ 

จิตทรงอยู่ในด้านของฌาน ๔ จับอากาศ 
ความหวั่นการเคลื่อนไหวของอากาศว่า 
ว่างมาก โลกนี้หาอะไรเป็นที่สุดมิได้ 
หานิมิตเครื่องหมายอะไรไม่ได้เลย หาจุดจบไม่ได้ 
จนกระทั่งจิตทรงอารมณ์ทรงตัวดีแล้ว 
อย่างนี้จัดเป็น อรูปฌานที่ ๑ 
ถ้าจะเรียกกันว่าฌาน ก็เป็น ฌานที่ ๕ หรือ สมาบัติ ๕

เมื่อจับอารมณ์ของอากาศได้แบบสบายๆ ใจสบาย 
นึกขึ้นมาว่า อากาศมันเวิ้งว้าง 
ทุกอย่างมันว่างเปล่าเป็นอากาศไปหมด 
โลกทั้งโลกไม่ีมีอะไรทรงตัว 
คนเกิดมาแล้วก็ตาย 
สัตว์เกิดมาแล้วก็ตาย 
ต้นไม้เกิดมาแล้วก็ตาย 
ภูเขาไม่ช้ามันก็พัง 
บ้านเรือนโรงก็พัง 
ผลที่สุดมันก็ว่างไปหมด 

อย่างนี้เรียกว่า จิตเข้าถึงอากาศได้เป็นอย่างดี 
เป็น อากาสานัญจายตนะ

ทีนี้ก็มาเป็นวิญญานัญจายตนะ 
นึกถึงวิญญาณ คือ จิต 
สภาวะของจิต ที่มีอารมณ์คิดเป็นปกติ 
มันก็ไม่มีอาการทรงตัว มันหาที่สุดไม่ได้ 
มันไม่มีอะไรทรงตัวอยู่เฉพาะแน่นอน 
เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนั้น 
เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนี้ 
เดี๋ยวมันก็คิดอย่างโน้น 
ขึ้นชื่อว่าเอาจิตมีอารมณ์เกาะว่า 
นั่นเป็นเรา นี่เป็นเรา นี่มันไม่ใช่มีอะไรจริง 
ความจริงจิตมีสภาพไม่นิ่ง
 จิตมีสภาพไม่แน่นอน 
เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนั้น 
เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนี้ 
เดี๋ยวมันก็ต้องการอย่างโน้น 
จึงถือว่าอารมณ์ของจิตนี่หาที่สุดมิได้
นี่เราไม่มีความต้องการอารมณ์อย่างนี้ 

จนกระทั่งอารมณ์จิตของเรานี้ 
มีความแนบแน่นสนิท ไม่มีความผูกพันอะไร 
ในด้านร่างกายก็ดี ในวัตถุก็ดี ไม่เอา 
แล้วก็ไม่สนใจ 
ต้องการอย่างเดียว อากาศ คือ ความว่างเปล่า 
ปราศจากแม้แต่จิต 
ถ้าถือว่าขณะใดยังมีขันธ์ ๕ ยังมีภาพอยู่ 
ยังมีจิตเป็นเครื่องเกาะ มันมีความทุกข์อย่างนี้ 

ถ้าจิตมันทรงอยู่ได้ตลอดเวลา นึกขึ้นมาเมื่อไร 
อารมณ์ว่างไม่เกาะอะไรทั้งหมด 
มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน 
สภาวะทั้งหลายในโลกไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเลย 
มันไม่มีอะไรทรงตัว มีอารมณ์ว่าง หาที่สุดมิได้ 

ถ้าเราเกาะโลกอยู่เพียงใด ก็ชื่อว่า เราเป็นผู้มีทุกข์

นี่อาการอย่างนี้คล้ายคลึงวิปัสสนาญาณมาก 
อย่างนี้เรียกว่าได้ วิญญาณัญจายตนะฌาน 

นี่เป็นอารมณ์ เราพูดกันถึงอารมณ์ 
เราพูดกันถึงอารมณ์ 
ถ้าไปอ่านตามแบบบางทีจะค้านกัน 
เมื่อเราได้วิญญาณัญจายตนะแล้ว 
ก็ชื่อว่าได้สมาบัติที่ ๖ หรือ ฌานที่ ๖ 

อย่าลืมนะว่า เราต้องจับภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณก่อน 
ต่อมาเราก็เพิกให้หายไป 
ถือเอากสิณนำให้จิตมันจับเป็นอารมณ์ทรงตัวก่อนนั่นเอง 
เพราะกสิณเป็นของหยาบ จับให้ทรงตัวแล้ว 
จงนึกว่าขอภาพนี้จงหายไป

ทีนี้ก็มาพิจารณา ฌานที่ ๗ หรือสมาบัติที่ ๗ คือ
อากิญจัญญายตนะฌาน 
พิจารณาว่า โลกนี้มันไม่มีอะไรเหลือเลยนี่ 
มันพังหมดมันสลายตัวหมด 
ตึกรามบ้านช่อง เขาสร้างขึ้นมาอย่างดีๆ ก็พัง 
บ้านเมืองเก่าๆ เขาสร้างแข็งแรงก็พัง 
กำแพงเมืองใหญ่ อย่างกำแพงเมืองจีน 
กำแพงเมืองไทย กำแพงเมืองฝรั่ง 
เขาสร้างแข็งแรงมากที่สุด มันก็พัง 
ภูเขามันก็มีอาการผุ เขาเอาดินมาทำลูกรัง มันก็ผุจมหายไปหมด 
คนก็ดี สัตว์ก็ดี ต้นไม้ก็ดี เรือนโรงก็ดี 
เมื่อถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรเหลือ 

อากิญจัญญายตนะ นี่เขาแปลว่า หาอะไรเหลือไม่ได้ 
จิตใจว่างจากอารมณ์ เลยไม่ยึดถืออะไรทั้งหมด 
อะไรเล่าที่เป็นสาระสำหรับเราไม่มี 
แม้แต่ร่างกายของเรานี้ ไม่ช้ามันก็พัง 
การทรงร่างกายอยู่อย่างนี้มันเป็นทุกข์ 
เราไม่ต้องการมีร่างกายอีก 
ถ้าอารมณ์อย่างนี้มันทรงตัวได้ดีแล้ว 
ก็ชื่อว่าเราได้ อากิญจัญญายตนะฌาน 
เป็นสมาบัติที่ ๗

ทีนี้มาสมาบัติที่ ๘ 
จับภาพพระพุทธรูปเป็นอารมณ์ 
ทรงอารมณ์แจ่มใสให้ใจสบาย เป็นอุเบกขารมณ์ 

อรูปฌานนี่ก็ทรงฌาน ๔ นั่นเอง 
แต่มาจับเป็นส่วนอรูป อารมณ์มันเท่ากัน 

มาจับเนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน 
เรามีสัญญาความรู้สึก 
ทำตนเหมือนคนไม่มีสัญญา 
เพราะเห็นว่าร่างกายไม่มีสาระ 
ร่างกายไม่มีแก่นสาร 
ร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ 
วัตถุทั้งหมดไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว 
ไม่มีอะไรเป็นที่อาศัยจริงจัง 
ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้

เวลาร่างกายมันจะหิว 
มันมีอาหารกินก็กิน ไม่มีกินก็ทำสบาย 
รู้สึกว่าหิวแล้วทำเหมือนว่าไม่หิว 
มันหนาวมันไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปกปิด 
ก็นอนมันเฉยๆ มันหนาวก็หนาวไป 
ทำเหมือนว่าเป็นคนไม่หนาว 
ร้อนก็ทำเฉยๆ ทำเหมือนว่าเป็นคนไม่ร้อน 

ใครเขาด่าว่าอะไรก็ทำเหมือนว่าไม่มีคน ไม่สนใจกับอะไรทั้งหมด 

มีสัญญาก็เหมือนกับคนที่ไม่มีสัญญา คือความจำมันมีอยู่ 
แต่ทำเหมือนกับคนที่ไม่มีความจำ 
ทำแบบนี้แล้วจิตมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ 
จิตมันเป็นสุข ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา 
หนาวก็หนาวไป ช่างหัวมันไม่สนใจ 
ร้อนก็ร้อนไป 
มันอยากหิว หิวก็หิวไป 
ไม่มีจะกินก็แล้วไป มีกินก็กิน ไม่มีก็ไม่กิน 
มันอยากจะแก่ก็แก่ไป 
มันอยากจะป่วยก็ป่วยไป 
มันจะตายเมื่อไรก็ช่างหัวมัน 

ขันธ์ ๕ มันไม่ดี เราไม่ตั้งใจจะคบเลย 
ไม่ต้องการจำอะไรมันทั้งหมด 
ไม่สนใจอะไรกับมันเลยทั้งหมด 

อย่างนี้เรียกว่าเป็น ฌานที่ ๘ หรือสมาบัติที่ ๘ 
นี่อาการมันใกล้วิปัสสนาญาณเต็มที

ฉะนั้นองค์สมเด็จพระชินศรีจึงกล่าวว่า 
คนที่ได้สมาบัติ ๘ แล้ว ถ้าเจริญวิปัสสนาญาณ 
พระโบราณาจารย์ สมัยโบราณท่านบอกว่า 
เพียงแค่เคี้ยวหมากแหลกเดียวก็เป็น พระอรหันต์ 

หากว่าเราได้สมาบัติ ๘ แบบนี้แล้ว 
ใช้สมาบัติ ๘ เป็นพื้นฐาน 
พิจารณาวิปัสสนาญาณในด้านสังโยชน์ ๑๐ คือ
มีสักกายทิฏฐิ เป็นต้น 
หรือว่าพิจารณา อริยสัจ ๔ 
วิปัสสนาญาณ ๙ หรือ
พิจารณาขันธ์ ๕ ก็ตาม 
ประเดี๋ยวเดียวมันก็เป็น พระโสดา สกิทาคา อนาคา 
พอเข้าถึงพระอนาคามี เราก็ได้ปฏิสัมภิทาญาณ

จากหนังสือ กรรมฐาน ๔๐ 
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน 
(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง)

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...