ตรัสห้ามว่า “อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้ทำการแตกร้าวกัน” ดังนี้เป็นต้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่งและการวิวาทนั่น ทำความฉิบหายให้,
....................................................................
พระวินัยธรกับพระธรรมกถึกเถียงกันเรื่องวินัย
ความพิสดารว่า ภิกษุสองรูป คือพระวินัยธรรูป ๑ พระธรรมกถึกรูป ๑ มีบริวารรูปละ ๕๐๐ ได้อยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี. วันหนึ่ง ในภิกษุ ๒ รูปนั้น พระธรรมกถึก ไปถาน(ส้วมของพระ) แล้ว เว้นน้ำชำระที่เหลือไว้ในภาชนะ ที่ซุ้มน้ำแล้วก็ออกมา. ภายหลัง พระวินัยธรเข้าไปที่ซุ้มน้ำนั้น เห็นน้ำนั้น ออกมาถามพระธรรมกถึกนอกนี้ว่า “ผู้มีอายุ ท่านเหลือน้ำไว้หรือ?”
ธ. ขอรับ ผู้มีอายุ.
ว. ท่านก็ไม่รู้ว่าอาบัติ ในเพราะการเหลือน้ำไว้นี้หรือ?
ธ. ขอรับ ผมไม่ทราบ.
ว. ไม่รู้ก็ช่างเถิด ผู้มีอายุ เป็นอาบัติในข้อนี้.
ธ. ถ้าอย่างนั้น ผมจักทำคืนอาบัตินั้นเสีย.
ว. ผู้มีอายุ ก็ถ้าว่าข้อนั้นท่านไม่แกล้งทำ เพราะความไม่มีสติ, อาบัติไม่มี.
พระธรรมกถึกนั้นได้เป็นผู้มีความเห็นอาบัตินั้นว่ามิใช่อาบัติ.
ฝ่ายพระวินัยธรได้บอกแก่พวกนิสิตของตนว่า “พระธรรมกถึกรูปนี้ แม้ต้องอาบัติก็ไม่รู้” พวกนิสิตพระวินัยธรนั้น เห็นพวกนิสิตของพระธรรมกถึกนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า “พระอุปัชฌาย์ของพวกท่าน แม้ต้องอาบัติแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ” พวกนิสิตของพระธรรมกถึกนั้นไปแจ้งแก่พระอุปัชฌาย์ของตนแล้ว.
พระธรรมกถึกนั้นพูดอย่างนี้ว่า “พระวินัยธรรูปนี้ เมื่อก่อนพูดว่า ‘ไม่เป็นอาบัติ’ เดี๋ยวนี้พูดว่า ‘เป็นอาบัติ,’ พระวินัยธรนั้น พูดมุสา;” พวกนิสิตของพระธรรมกถึกนั้นไปกล่าวว่า “พระอุปัชฌาย์ของพวกท่านพูดมุสา.” พวกนิสิตของพระวินัยธรและพระธรรมกถึกนั้น ทำความทะเลาะกันและกันให้เจริญแล้ว ด้วยประการอย่างนี้.
ภายหลัง พระวินัยธรได้โอกาสแล้ว จึงได้ทำอุกเขปนียกรรม๑- แก่พระธรรมกถึก เพราะโทษที่ไม่เห็นอาบัติ. จำเดิมแต่กาลนั้น แม้พวกอุปัฏฐากผู้ถวายปัจจัยของภิกษุ ๒ รูปนั้น ก็ได้เป็น ๒ ฝ่าย. พวกภิกษุณีผู้รับโอวาทก็ดี พวกอารักขเทวดาก็ดี๒- ของภิกษุ ๒ รูปนั้น พวกอากาสัฏฐเทวดา๓- ผู้เพื่อนเห็น เพื่อนคบของพวกอารักขเทวดาเหล่านั้นก็ดี พวกปุถุชนทั้งปวงก็ดี ได้เป็น ๒ ฝ่ายตลอดจนพรหมโลกก็โกลาหลกึกก้องเป็นเสียงเดียว. ได้ขึ้นไปจนถึงอกนิฏฐภพ.
____________________________
๑- กรรมที่สงฆ์จะพึงทำแก่ภิกษุที่สงฆ์สมควรจะยกเสีย
๒- เทวดาผู้คุ้มครองรักษา
๓- เทวดาผู้สถิตอยู่ในอากาศ
พระศาสดาตรัสสอนให้สามัคคีกัน
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า กราบทูลการที่พวกภิกษุผู้ยกวัตรถือ๑- ว่า “พระธรรมกถึกรูปนี้ สงฆ์ยกเสียแล้วด้วยกรรมที่ประกอบด้วยธรรมแท้.” และการที่พวกภิกษุผู้ประพฤติตามพระธรรมกถึกผู้ที่สงฆ์ยกเสียแล้วถือว่า “พระอุปัชฌาย์ของพวกเรา สงฆ์ยกเสียแล้ว ด้วยกรรมซึ่งมิได้ประกอบด้วยธรรม.” และการที่พวกภิกษุผู้ประพฤติตามพระธรรมกถึก ผู้ที่สงฆ์ยกวัตรเหล่านั้น แม้อันพวกภิกษุผู้ยกวัตรห้ามอยู่ ก็ยังขืนเที่ยวตามห้อมล้อมพระธรรมกถึกนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงส่งโอวาทไปว่า “นัยว่า ภิกษุทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกัน” ถึง ๒ ครั้ง ทรงสดับว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาจะเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน.” ครั้นหนที่ ๓ ทรงสดับว่า “ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว” ดังนี้ จึงเสด็จไปสู่สำนักของเธอทั้งหลายแล้ว ตรัสโทษในการยกวัตรของพวกภิกษุผู้ยกวัตร และโทษในการไม่เห็นอาบัติของพวกภิกษุนอกนี้แล้ว ทรงอนุญาตสังฆกรรมทั้งหลายมีอุโบสถเป็นต้น ในสีมาเดียวกันที่โฆสิตารามนั่นเอง แก่เธอทั้งหลายอีกแล้ว ทรงบัญญัติวัตรในโรงฉันว่า “ภิกษุทั้งหลายพึงนั่งในแถวมีอาสนะหนึ่งๆ ในระหว่างๆ๒- ดังนี้เป็นต้น แก่เธอทั้งหลาย ผู้เกิดการแตกร้าวในสถานที่ทั้งหลาย มีโรงฉันเป็นต้น แล้วทรงสดับว่า “ถึงเดี๋ยวนี้ ภิกษุทั้งหลายก็ยังเกิดการแตกร้าวกันอยู่” จึงเสด็จไปที่โฆสิตารามนั้นแล้ว ตรัสห้ามว่า “อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้ทำการแตกร้าวกัน” ดังนี้เป็นต้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่งและการวิวาทนั่น ทำความฉิบหายให้,
แท้จริง แม้นางนกลฏุกิกา๓-. อาศัยการทะเลาะกัน ยังอาจทำพระยาช้างให้ถึงความสิ้นชีวิต” ดังนี้แล้ว ตรัสลฏุกิกชาดก๔- แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายขอพวกท่านจงพร้อมเพรียงกันเถิด อย่าวิวาทกันเลย, เพราะว่า แม้นกกระจาบตั้งหลายพัน อาศัยความวิวาทกัน ได้ถึงความสิ้นชีวิต”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น