ผู้ที่ยังไม่เน้นการบรรลุธรรม..ให้ข้ามโพสนี้ไปนะคะ😊
#หากไม่เน้นบรรลุธรรม แค่มีธรรมะธรรมดาในระดับศีล 5 ก็ใช้ชีวิตราบเรียบในแต่ละวันได้แล้ว..
#ส่วนการบรรลุธรรม เน้นผู้ที่ต้องการเข้าถึงความหลุดพ้นจริงๆ (ออกจากกองทุกข์อย่างเด็ดขาดจริงๆ) ..ค่ะ...😊
___________________________________
18 ขั้นตอนบรรลุธรรม !!
หลวงตามหาบัวได้แสดงธรรมเทศนา"ครั้งที่ดีที่สุด"
ครั้งหนึ่งในชีวิตของท่าน เป็นการเทศน์ที่ยากนักจะได้รับฟังจากที่ใด ตลอดการเทศน์ท่านได้รวบรวมกระแสจิต หลับตาดำดิ่งลงสู่ห้วงสมาธิ และถ่ายทอดธรรม
จากใจออกสู่ทางวาจา ภิกษุสงฆ์ชราภาพสังขาร
เกือบร้อยปี เทศนาธรรมด้วยน้ำเสียงก้องกังวานใส ตลอดระยะเวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที โดยที่ไม่มีการหยุดดื่มน้ำ ไม่มีการหยุดพักครึ่งใดๆ ทั้งสิ้น วันนั้นเป็นวันที่คณะสงฆ์สายพระป่ากรรมฐานเดินทางมารวมตัวกันนับหมื่นรูป บางองค์อยู่ต่างจังหวัด บางองค์อยู่ต่างแดนหรือแม้แต่อยู่ในป่าลึกก็ยังออกมา ฟังธรรมเทศนาในครั้งนี้ของสุดยอดอรหันต์ จึงถือได้ว่า การรวมตัวของเหล่าภิกษุในวันนั้น เป็นการรวมตัวกันของเหล่าศิษย์แห่งพระคถาคต ผู้ที่ต้องการบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้น เป็นการรวมตัวของพระนักปฏิบัติผู้มีนิพพานเป็นธงชัยแทบทั้งสิ้น
ธรรมะที่สอนกันในวันนั้นจึงเป็นธรรมชั้นสูง เป็นแก่นธรรมแท้ที่ไม่มีการผ่อนปรนใดๆ เนื้อหาสาระจึงเต็มไปด้วยรสธรรมอันเผ็ดร้อน ดุเดือด องอาจแกล้วกล้า ถึงลูกถึงคน ด้วยมิต้องห่วงคำนึงถึงความเป็นโลกียะจอมปลอม หรือเป็นห่วงฆราวาสที่ฟังธรรมเสร็จแล้วต้องหวนกลับไป ดูแลลูกผัว เฝ้าเหย้า เฝ้าเรือนใช้ชีวิตทางโลกธรรม เทศนาในวันนั้นว่าด้วยเรื่อง “การปฏิบัติเพื่อเอามรรคเอาผลสำหรับผู้ไม่ต้องการเกิด” เป็นธรรมะชั้นลึกจากประสบการณ์ตรงที่มีคุณค่าประหนึ่งมหาสมบัติเพราะทำให้นักเดินทางผู้มีนิพพาน เป็นธงชัย ได้รู้ชัดถึงหนทางเดินว่า ถ้าปรารถนานิพพานในชาตินี้ เราต้องปฏิบัติอย่างไรเริ่มตรงไหน จบตรงไหน ต้องทำอะไรก่อนหลัง การเดินทางสู่เส้นทางแห่งพระนิพพานโดยปราศจากคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์คงไม่ต่างอะไรกับการคลำหาทางกลับบ้านกลางถ้ำมืดๆ เมื่อท่านได้เขียนแผนที่ทิ้งไว้ให้เราแล้ว ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้สำรวจตรวจสอบกันว่า ในปัจจุบันนี้สองเท้าของเรากำลังเหยียบย่าง
อยู่ตรงไหนในระหว่างทางกันแน่ กำลังเดินอยู่ในทาง หรือหลงออกนอกเส้นทางไปแล้ว
โอกาสนี้เอง ผู้เขียนจึงใคร่ขออนุญาตนำบทเทศนา
ของหลวงตามหาบัวมาถอดความ และจำแนกออกเป็นข้อๆ พร้อมทั้งอนุญาติอธิบายเพิ่มเติมสมทบลงไป เพื่อให้เหล่าโยคาวจรทั้งหลายได้ศึกษาหนทางแห่งการดับทุกข์ที่ถูกต้องตรงธรรม และสามารถเข้าใจได้โดยง่ายไปพร้อมๆกันดังนี้
1. ผู้ปฏิบัติเพื่อมุ่งนิพพานจะต้องถือศีลให้บริสุทธิ์ ข้อนี้สำคัญมาก ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ก่อนเรื่องอื่นใด คือใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของศีลธรรมความดีงาม อะไรผิดศีลห้ามทำโดยเด็ดขาด
2. ให้คิดถึงนิพพานทุกขณะ เหมือนนิพพาน
อยู่ตรงหน้า คือระลึกไว้เสมอว่า เราจะไปนิพพานเท่านั้น จุดเดียวที่เดียว อย่างอื่นไม่เอา ให้พุ่งตรง ตัดตรงไปเลย
3. ทำสมาธิในชีวิตประจำวันให้ได้
คือ ถ้าใครบริกรรมพุทโธ ก็ให้ทำไป ใครดูลมหายใจ ก็ให้ดูไป เรื่องนี้เน้นย้ำมากให้คุมกรรมฐานไว้ระหว่างวันส่วนจะใช้ กรรมฐานชนิดใด ตรงนี้ใช้ได้หมด ขอให้อยู่ในหมวดกรรมฐาน 40 ไม่มีอะไรผิด จุดนี้ให้เน้นไปที่การทำสมถะก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจวิปัสสนาในช่วงแรกๆ ต้องฝึกให้จิตมีความตั้งมั่นก่อน ให้จิตอยู่กับกรรมฐานของตนตลอดเวลาทั้งวัน ยกเว้นเวลาที่ต้องทำงานเท่านั้น เน้นว่า นี่คือการปฏิบัติเบื้องต้นไม่ควรทำสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ควรทำผิดไปจากนี้
4. เมื่อทำสมาธิในชีวิตประจำวัน ไปจนจิตเข้าสู่สมาธิได้แล้ว ให้สังเกตดู ช่วงนี้จิตจะปรุงกิเลสน้อยลง เพราะจิตมันอิ่มอารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่งมากขึ้น ทำความสงบได้ง่ายขึ้น พูดง่ายๆ ว่าจิตของเราเริ่มมีกำลังเกิดความตั้งมั่นได้ง่าย คือในชีวิตประจำวันก็ทรงอารมณ์อยู่กับกรรมฐานได้ เมื่อทำสมาธิในรูปแบบก็มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ อย่างนี้ถือว่าเริ่มใช้ได้แล้ว ตรงนี้ ให้เริ่มพัฒนาในขั้นตอนต่อไป อย่าหยุดอยู่แค่การทำสมาธิ
5. พอจิตสงบ ตั้งมั่นแล้ว คราวนี้ท่านให้เริ่มเดินปัญญาต่อไปเลย เพียงแค่สมาธิอย่างเดียวนั้น จิตจะไม่มีความกว้างขวาง จะต้องเดินปัญญาต่อ จึงจะเกิดความกว้างขวาง นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำเอาไว้ ต้องทำตามพระพุทธเจ้าท่านสอน
6. ให้เริ่มต้นพิจารณาร่างกาย โดยให้แยกเป็นส่วนๆ
คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรือ
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่เป็นตำหรับแท้ๆ
ของพระพุทธเจ้า ให้เอามาดูเป็นส่วนๆ ดูสิ เส้นผมของเราเป็นยังไง สะอาดหรือสกปรก เหมือนกันกับขนสัตว์ชนิดอื่นหรือเปล่า ถ้าไม่อาบน้ำมันจะเป็นอย่างไร แล้วไล่พิจารณาเรียงไปเรื่อยๆ จนครบทั้ง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กรรมฐาน 5 นี้เป็นพื้นฐานทางเดินทางด้านปัญญา ให้หัดดูไปเรื่อยๆ เห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้างก็ให้พิจารณาไป ให้เห็นว่าที่ทำอยู่นี้คือหินลับปัญญา
7. เมื่อทำจนชำนาญ ต่อไปก็ลองแยก
ให้เป็นธาตุ 4 คือดิน น้ำ ลม ไฟ
พิจารณาให้เป็น อนิจจัง(ไม่เที่ยง)
ทุกข์ขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา(ไม่ใช่ตัวตน)
ทำเช่นนี้ สติปัญญาจะมากขึ้นเป็นลำดับ
8. เมื่อพิจารณาสักพัก ก็ให้ย้อนกลับมา
ทำสมาธิ เอาความสงบ เอากำลังของจิตใหม่ ต่อเมื่อจิตอยู่ในความสงบ เริ่มมีกำลังฟื้นตัว ก็กลับมาเดินไปปัญญาอีกครั้ง ให้ทำเช่นนี้สลับไป ห้ามทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว ต้องมีทั้งการทำสมาธิ และเดินปัญญาสลับกันเรื่อยไป
9. เมื่อถึงจุดหนึ่ง คราวนี้ให้กำหนดเป็นอสุภะ อสุภะก็คือกรรมฐานกองหนึ่ง ที่ทำให้เห็น ธรรมชาติของร่างกายคนเรา มีอยู่10 ระยะคือ ซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด
ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่างๆ
ซากศพที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลเยิ้ม (เน่าเฟะ)
ซากศพที่ขาดออกเป็น ๒ ท่อน
ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว
ซากศพที่กระจุยกระจายซากศพที่ถูกฟัน บั่นเป็นท่อนๆ
ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบอยู่ (จมกองเลือด)
ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด
ซากศพที่เหลืออยู่แต่ร่างกระดูก
หรือเหลือแต่ท่อนกระดูก
ในการกำหนดอสุภะนี้ ให้กำหนดภาพเหล่านั้นมาตรงหน้าเลย ทำให้ภาพนิ่งอยู่ตรงหน้าอย่างนั้น หมั่นเอาภาพอสุภะมาตั้งไว้ตรงหน้าเสมอ ตอนนี้ยังไม่ต้องทำอะไร แค่ให้จิตกำหนดภาพเหล่านี้ให้ได้ก็พอ แล้วดูไป ดูอย่างเดียว เพ่งไปเลยอย่าให้คลาด เมื่อถึงจุดที่เพียงพอ จิตมันจะรู้ของมันเอง
10. เมื่อถึงจุดที่เพียงพอแก่ความต้องการของจิต คราวนี้ธรรมชาติจะหมุนไปสู่ความจริง ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเป็นธรรมที่ละเอียดมาก จิตมันจะมีปัญญาในเรื่องกามราคะ ถึงตอนนั้น จิตมันจะสิ้นข้อสงสัยในเรื่องกามราคะไปเลย โดยไม่ต้องมีใครบอก ในขั้นนี้จะสำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว
11. เมื่อทำซ้ำๆ จนบรรลุอนาคามี จิตจะไม่กลับมาเกิดอีก
เพราะกามราคะมันขาดสะบั้นไปสิ้น จิตมันจะหมุนขึ้นสูงอย่างเดียวไม่ลงต่ำ ไปอยู่ชั้นพรหมสุทธาวาส เวลานั้นจิตจะรู้ความจริงไปตามลำดับ
12.ทบทวนและย้ำอีกรอบว่า "เมื่อทำสมาธิ (สมถะ) ให้พักเรื่องปัญญา (วิปัสสนา) และเมื่อเดินปัญญา (วิปัสสนา)
ก็ให้พักเรื่องสมาธิ (สมถะ) ทั้งสองสิ่งนี้จะต้องทำสลับกันไปตลอด
ห้ามทิ้งอย่างหนึ่งอย่างใด และเมื่อทำสิ่งหนึ่ง ก็ไม่ต้องคิดถึงอีกสิ่ง คือทำความสงบ ก็ทำไป พิจารณาความจริงก็ทำไป ห้ามนำมาปนกัน ให้ทำสลับไปอย่างนี้เรื่อยๆ ตลอดการปฏิบัติ
13. เมื่อก้าวถึงภูมิอนาคามีแล้ว จะมีภูมิของอนาคามีที่เข้มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีความเข้มข้นอยู่ 5 ระดับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลื่อนขึ้นไปเป็นขั้นๆ พวกที่ก้าวข้ามขั้นไปเลยก็มี แต่ส่วนใหญ่ในช่วงกึ่งพุทธกาลเช่นนี้ จะหายาก โดยมากแล้วจะไปทีละขั้น เพราะด้านกามราคะมันยากจริงๆ ไม่ใช่ของง่าย
14. ในขั้นนี้ปัญญาจะเดินอัตโนมัติตลอดเวลาแล้ว เห็นนิพพานอยู่ตรงหน้า ช่วงนี้ปัญญาจะฆ่ากิเลสตลอดเวลาทุกอิริยาบถ
ทั้งยืน เดิน นั่ง ฆ่ากิเลสตลอดเวลา ยกเว้นเวลานอนหลับ ตอนนั้นไม่มีคำว่า เผลอแล้ว เพราะปัญญาจะเกิดอย่างถี่ยิบ
15. สติปัญญาเดินมาก ต้องย้อนสู่สมาธิ ห้ามเดินปัญญาแต่อย่างเดียวเด็ดขาด ต้องทำสลับกันไปเช่นนี้
16. ต่อไปจะก้าวเข้าสู่มหาสติปัญญา ถึงตรงนี้จะหมดนิมิตที่เกี่ยวกับจิต เหมือนฟ้าแลบตลอด ไม่ต้องบังคับให้จิตทำงาน กิเลสซ่อนอยู่ตรงไหน ปัญญาจะตามไปฆ่าเชื้อที่นั่น ส่วนใหญ่ถึงตรงนี้ ทุกข์เวทนาจะน้อยมากๆ เหลือเพียงสุขเวทนาเท่านั้น มันจะเห็นสุขเวทนาชัดเจนมาก จุดนี้เองที่มันจะเข้าไปในปราสาทราชวัง ไปเจอนายใหญ่ คืออวิชชา ค้นพบอริยสัจ 4
มันจะเห็นกษัตริย์แห่งวัฏฏะคือ ตัวอวิชชา ถึงตรงนั้นทุกสรรพสิ่งจะว่างไปหมด ยกเว้นเพียงตัวเองที่ยังไม่ว่าง
17. เมื่อถึงจิตตะ คืออวิชชา
พอเปิดอันนี้ออก จิตมันก็จ้าขึ้น
ตอนนี้ข้างนอกก็สว่าง ภายในก็สว่าง ว่างทั้งหมด
ตัวเราก็ว่าง เป็นวิมุต คือธรรมชาติที่แท้จริง
จิตเป็นธรรมธาตุ เป็นภาวะนิพพาน จิตไม่เคยตาย ถึงธรรมชาติแล้ว หายสงสัยล้านเปอร์เซ็นต์
18. แรกเริ่ม ธาตุขันธ์ เป็นเครื่องมือของกิเลส แต่ปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง ธาตุขันธ์จะเป็นเครื่องมือของธรรมทั้งหมด"
ธรรมเทศนาของหลวงตามหาบัว ข้างต้นเปรียบได้ดั่งแผนที่เส้นทางปฏิบัติธรรมที่ชัดเจนที่สุด ตั้งแต่เบื้องต้นต้นถึงปลายทาง
แห่งพระนิพพาน เป็นของขวัญอันล้ำค่าที่ครูบาอาจารย์
ได้มอบแก่เหล่าศิษย์นักปฏิบัติทั้งหลาย
ผู้บรรลุธรรมกำชัยชนะเหนือกองอาสวะกิเลสทั้งปวง เมื่ออ่านทำความเข้าใจตามไปตลอด จะทำให้ผู้ปฏิบัติคลายความสงสัยในเส้นทางแห่งพระนิพพาน ทั้งยังจะพบว่า ธรรมะของพระอรหันต์ที่สั่งสอนเรานั้นล้วนเป็นไปในทางเดียวกัน แม้เป็นคำพูดที่ไม่ได้ออกจากปากของคนๆเดียวกัน แม้จะเป็นคำพูดที่ต่างกรรมต่างวาระ แม้จะมีกุศโลบายในการปฏิบัติที่ต่างกันไป และแม้ว่าพระอรหันต์จะมีถึง 4 ประเภทคือ สุขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ สัมปัตติภิทาญาณ แต่เนื้อแท้แห่งวิมุตติธรรมนั้นย่อมเหมือนกันไม่มีผิดเพี้ยนไปจากธรรมแห่งพระตถาคต ที่กล่าวไว้เมื่อ 2500 ปีก่อนว่า
“ธรรมะเป็นอกาลิโก
ผู้เข้าถึงธรรมย่อมทราบโดยทั่วกัน”
คัดลอกจากหนังสือ"ตามรอยอริยเจ้าเข้านิพพาน"
โดย พศิน อินทรวงค์
วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2546
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น