.
“...#การถือชาติ_คนทั้งหลายย่อมมีปกติเห็นแก่ตัว จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง #แม้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น_ตัวต้องได้ประโยชน์ด้วย จึงจะทำ....." พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 10
.
@@@@@
.
“พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้ถือธรรม คือความถูกต้องตามเหตุผลเป็นประมาณ ที่เรียกว่า ธรรมาธิปไตย ไม่สอนให้ถือตนเองเป็นใหญ่ หลักคำสอนเรื่องผู้เห็นพระพุทธเจ้า คำสอนเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา และการตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสนาแทนพระองค์ของพระพุทธเจ้า ก็เป็นการสอนแบบธรรมาธิปไตยนี้”
.
หลักการข้อนี้ของพระพุทธศาสนา เป็นหลักกว้างขวางครอบคลุมถึงคุณงามความดีอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ถือกันว่าทันสมัยและสูงในคุณค่ารวมทั้งหลักเรื่องการทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี
.
ผู้เขียนขออัญเชิญพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มาตั้งเป็นประธานในบทนี้ เพราะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของพระองค์ท่าน ในเมื่อได้อ่านแล้วรู้สึกจับใจ ทำให้พยายามค้นคว้าเฉพาะในข้อนี้เป็นพิเศษมาตั้งแต่ในสมัยที่ยังเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่
.
@@@@@
.
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น มีพิมพ์ไว้ในที่หลายแห่ง ในที่นี้ จะขออ้างหนังสือพุทธคุณกถา ฉบับหอสมุดวชิรญาณ พิมพ์ พ.ศ. 2473 หน้า 51 ดังนี้ :-
.
“อนึ่ง เนื่องด้วยการถือชาติ คนทั้งหลายย่อมมีปกติเห็นแก่ตัว จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ตัวต้องได้ประโยชน์ด้วยจึงจะทำ อัธยาศัยนี้ติดมาในสันดาน แม้แห่งคนถือพระพุทธศาสนาทำบุญให้ทานยังปรารถนาจะได้สมบัติอย่างนั้นอย่างนี้...
.
...สมเด็จพระบรมศาสดาทรงชักนำให้ละความเห็นแก่ตัว และให้ตั้งใจทำมุ่งความสมควรเป็นใหญ่ ทรงติการทำด้วยอัตตาธิปไตยยกตนเป็นใหญ่ และโลกาธิปไตย เพ่งโลกเป็นใหญ่ และทรงสรรเสริญธรรมาธิปไตย มุ่งธรรมเป็นใหญ่”
.
@@@@@
.
ข้อธรรมเรื่องอธิปไตย 3 นี้ มีปรากฏในพระสุตตันตปิฏกเล่ม 20 หน้า 186 เล่ม 11 หน้า 231 และในวิสุทธิมรรค สีลนิทเทส หน้า 16 เป็นแต่ไม่มีข้อที่ติอัตตาธิปไตย หรือโลกาธิปไตยไว้โดยตรง หากชี้ให้เห็นความดีกว่ากันอยู่ในตัวของอธิปไตยทั้ง 3 ข้อนี้
.
แต่พระพุทธภาษิตที่ยกย่องธรรมาธิปไตยโดยตรงมีอยู่ คือในพระสุตตันตปิฏก เล่ม 20 หน้า 138 ทรงแสดงคุณธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิ เทียบเคียงกับคุณธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ถือธรรมเป็นใหญ่ (ธัมมาธิปเตยย = ธรรมาธิปไตย) ซึ่งประกาศความที่พระพุทธศาสนายกย่องธรรมาธิปไตยเป็นเลิศ
.
@@@@@
.
ก่อนที่จะกล่าวเรื่องอื่นต่อไป ขอให้เราวิเคราะห์เรื่องอธิปไตย 3 เป็นอันดับแรก เพื่อเป็นมูลฐานแห่งความเข้าใจในหลักแห่งพระพุทธศาสนา อธิปไตยหรือความเป็นใหญ่ 3 อย่างที่แสดงในหลักพระพุทธศาสนา คือ
.
1. #อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ ปรารภตนหรือประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าปรารภแล้วทำคุณงามความดี ก็ยังดีกว่าคนไม่ทำความดี บุคคลประเภทนี้ถ้าจะทำอะไรจะบริจาคเงินหรือสิ่งของ ก็ต้องการให้ประกาศชื่อเสียง ต้องได้เป็นผู้มีเกียรติจึงจะทำ
.
บางครั้งบุคคลบางคนที่ทำอะไรโดยดีดลูกคิดถึงผลได้ผลเสีย คือหวังประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง นำอะไรไปให้ใครก็เข้าทำนองให้น้อยเพื่อให้ได้มาก อย่างไรก็ตาม ถ้าจะถือว่า ความเห็นแก่ตัวจูงให้คนทำความดี แม้ความดีนั้นยังไม่สมบูรณ์ ก็ยังถือได้ว่าเป็นบันไดขั้นแรกแห่งการก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้มีจิตใจสูงขึ้นในโอกาสต่อไป
.
@@@@@
.
2. #โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ ปรารภสังคม หรือโลกเป็นประมาณ สุดแต่คนอื่นหรือส่วนมาก เขาว่าอย่างไร ก็ถืออย่างนั้น อันนี้เอง บางครั้งก่อความเดือดร้อนให้เป็นอันมาก เช่นคนใดในครอบครัวตายลง ตามประเพณีต้องสวด 3 คืน ต้องมีทำบุญ 7 วัน ต้องเลี้ยงคนเลี้ยงพระ และในบางกรณีต้องเลี้ยงเหล้าด้วย ตนเองยากจนไม่มีเงิน ก็สู้ไปหยิบยืมเขามาทำบุญ เพื่อไม่ให้คนทั้งหลายติเตียน
.
หรือในกรณีอื่น จะบวชลูกบวชหลานต้องเชิญแขกมาเลี้ยงอาหาร มีการลงขัน คือผู้รับเชิญเอาเงินมาช่วยแล้วก็จดจำนวนไว้เพื่อถึงคราวเขาจะได้เอาเงินไปช่วยให้สมส่วนกัน ในการนี้ ต้องฆ่าสัตว์เอามาเลี้ยงกันอย่างรื่นเริง
.
ยิ่งกว่านั้น ถ้าเจ้าภาพใจใหญ่ แต่การเงินไม่ใหญ่ตามใจพยายามจัดงานใหญ่โตให้ครบเครื่อง มีทั้งมหรสพและดนตรีด้วย ก็ต้องถึงเป็นหนี้เป็นสินเขาเพื่อทำบุญ การทำอะไรตาม ๆ ผู้อื่นโดยไม่ดูฐานะของตนอย่างนี้ บางครั้งก็ก่อเหตุเดือดร้อนให้ และถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วย ก็เลยได้บาปแทนบุญไป การทำความดีด้วยถือโลกเป็นใหญ่จึงมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย
.
@@@@@
.
3. #ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ ปรารภความถูกต้องความสมควร ซึ่งอาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการทำความดี เพราะเห็นแก่ความดี เมื่อทำไปแล้วและแน่ใจว่าเป็นการสมควรแล้ว ใครจะเห็นหรือไม่เห็น ใครจะโฆษณาชื่อเราหรือไม่ แม้ที่สุดเมื่อทำบุญคุณแก่ใครแล้ว เขาไม่กล่าวแม้คำขอบใจ และไม่สำนึกบุญคุณเลย บางครั้งยังเนรคุณเอาด้วยซ้ำ ก็ไม่ถือเป็นข้อควรเสียใจ
.
เพราะความมุ่งหมายที่ทำนั้นคือทำความดี เพราะเห็นแก่ความดี, ความถูกต้อง, ไม่ใช่ทำด้วยหวังอะไรตอบแทน เมื่อจิตใจสูงเช่นนี้ ก็เป็นเหตุให้การกระทำเป็นไปในทางที่เหมาะที่ควร ไม่มีการแฝงความลับลมคมในอะไรไว้เบื้องหลัง จะไม่มีการบ่นน้อยอกน้อยใจว่าทำดีไม่เห็นได้ดี เพราะบางครั้งคนที่ชอบบ่นอย่างนี้ มักไม่ค่อยทำความดีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จุดประสงค์ของเขาดูเหมือนอยู่ที่การทวงผลดีมากกว่า
.................................................................
ที่มา : พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนให้ "ถือธรรม" , ธรรมาธิปไตย โดยสุชีพ ปุญญานุภาพ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7559.0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น