จงอย่าสนใจกับจริยาของบุคคลอื่น ให้ทรงพรหมวิหาร 4 มีอิทธิบาท 4
(หลวงพ่อเคยเทศน์ที่บ้านสายลม เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2534 ว่าถ้าไม่มีอิทธิบาท 4 ปฏิบัติอีกโกฏิปีก็เอาดีไม่ได้ อิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)
มีศีลเป็นปกติ คนที่เขามีศีลน่ะ เขาไม่สร้างความยุ่งยากให้กับบุคคลอื่น เพราะว่าเขามองหาความเลวของตัวเขาเป็นสำคัญ ถ้าจิตของเราดีมันก็ไม่ยุ่ง กายก็ดี วาจาก็ดี ถ้าจิตของเราเลวลง วาจาก็เลว กายก็เลว ทีนี้ทุกคนจงสำนึกตัวไว้ อย่าให้มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการผิดตามพระพุทธศาสนาและตามระเบียบ เราก็ควบคุมศีล ศีลของเรามีเท่าไหร่ ปฏิบัติให้ครบ ทำไว้ให้มันครบ ธรรมะมีเท่าไหร่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน มีเท่าไหร่ปฏิบัติให้ครบ อารมณ์สมถะมี 40 ปฏิบัติให้มันครบองค์ วิปัสสนาญาณมีเท่าไหร่ ปฏิบัติให้ครบ
ถ้าพยายามคิดประพฤติอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่มีเวลาไปยุ่งกับบุคคลอื่น ถ้าเราดีเสียแล้ว ก็ไม่สร้างความยุ่งยาก ความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่น อันนี้อาการที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลอื่น ก็ชื่อว่าไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง
เป็นอันว่าด้านสมาธิจิตของพระโสดาบัน นับไปให้ดีว่ามีอะไรบ้าง
หนึ่ง พุทธานุสสติ
สอง ธัมมานุสสติ
สาม สังฆานุสสติ
สี่ สีลานุสสติ
ห้า อุปสมานุสสติ
หก มรณานุสสติ
ทีนี้การเจริญพระกรรมฐานพร้อมๆกัน เขาทำยังไง การที่จะเป็นพระโสดาบัน มีกฎบังคับว่า ถ้าอารมณ์จิตต่ำกว่าปฐมฌาน จะเป็นพระโสดาบันไม่ได้ หรือเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ อย่างเลวสุดจิตต้องทรงอยู่ในอารมณ์ปฐมฌานเป็นปกติ แล้วอารมณ์ปฐมฌานเป็นยังไง อารมณ์ปฐมฌานก็คือว่า เมื่อกิจการงานอย่างใดอย่างกนึ่งเกิดขึ้นสำหรับเรา อารมณ์นี้จะคุมอยู่ในอนุสสติทั้งหกตลอดเวลา
เราจะไม่ลืมพระพุทธเจ้า
เราจะไม่ลืมพระธรรม
เราจะไม่ลืมพระสงฆ์
เราจะไม่ลืมศีล
เราจะไม่ลืมพระนิพพาน
เราจะไม่ลืมนึกถึงความตาย
นี่ถ้าทุกคนมีอารมณ์อย่างนี้ จะมีบ้างไหมที่จะสร้างความเดือดร้อน ให้กับบุคคลอื่น จะไปยุ่งกับอาการของบุคคลอื่นไม่มี แต่ถ้าอารมณ์ของเราเลวทรามลงกว่าพระโสดาบันล่ะ ถ้าเป็นพระก็เลยเป็นพระเดรัจฉานไป ถ้าฆราวาสก็จัดว่าเป็นปุถุชนคนหนาแน่นไปด้วยกิเลส เป็นคนพาล คนโง่
หวังว่าต่อไปนี้ท่านทั้งหลาย คงจะไม่มีใครเลว มีแต่ความดี และก็ทรงความดีทั้งหลายเหล่านี้ไว้
“ความสำคัญมีอยู่อย่างเดียว คือ ทำจิตให้หมดจากกิเลส เป็นสมุทเฉทปหาน นี่เป็นความต้องการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็เป็นความต้องการของผม (หลวงพ่อ)ด้วย”
เรา คือ จิต ที่สิงภายในหรือเรียกว่า อทิสสมานกาย เราจริงๆคือ จิต ร่างกายเป็นแค่เรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว เมื่อเรานึกถึงอารมณ์ของจิต คำว่า เรา คือ จิต เราไม่เคยคิดว่าต้องการให้ร่างกายของเราแก่ ไม่ต้องการให้หิว ไม่ต้องการให้ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ต้องการให้ป่วยไข้ไม่สบาย ไม่ต้องการให้มีทุกข์อย่างอื่น ไม่ต้องการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ไม่ต้องการตายในที่สุด แล้วร่างกายมันตามใจเราไหม ลองนึกดูเวลานี้เราอายุเท่าไหร่กันแล้ว ถ้าร่างกายมันเป็นของเราจริง เราพอใจอยู่แค่ไหน ถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาว ร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็เพราะว่า เราไม่อยากจะไม่แก่ แล้วมันเชื่อไหมล่ะ
อยากจะกินอาหารอย่างไหนที่มันอร่อยที่สุด ร่างกายจะได้ไม่ทรุดโทรม แต่กินเข้าไปเท่าไหร่ก็โทรม ก็แก่ ยาขนานไหนดีที่สุด กินแล้วไม่แก่ ไม่ป่วย กินเข้าไปเถอะ ไม่ช้ามันก็ตาย มันก็แก่ นี่เป็นอันว่า เราห้ามร่างกายไม่ได้
ในเมื่อร่างกายมันห้ามไมได้แล้ว เราก็ต้อง รู้ด้วยว่าร่างกาย ความจริงมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือ จิต ที่เรียกว่า อทิสสมานกาย ที่เข้ามาอาศัยร่างกายเป็นเรือนร่างที่อาศัยอันนี้ ร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แล้วมันก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา เราจะปรนเปรอบังคับบัญชามันอย่างไรก็ตาม มันจะไม่ยอมปฏิบัติตามด้วยประการทั้งปวง
ถึงเวลาที่มันจะแก่ มันก็ต้องแก่ ถึงเวลาที่มันจะป่วยก็ต้องป่วย ถึงเวลาเวทนาต่างๆ เวทนาจะเกิด มันก็เกิด ถึงเวลามันจะตาย จ้างมันเท่าไหร่ มันก็ไม่เอา
แต่พอตายแล้ว ไปสวรรค์บ้าง ไปนรกบ้าง ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานบ้าง ไปเป็นพรหมบ้าง ไปนิพพานบ้าง ไอ้ที่ไปจริงๆร่างกายมันไปด้วยหรือเปล่า มันก็เปล่า ร่างกายเน่าทับถมพื้นแผ่นดินอยู่ บางทีเขาก็เผา บางรายไม่ได้เผาก็ละกระจาย เป็นกรวดเป็นดิน อันนี้ร่างกายไม่ได้ไป ผู้ที่ตกนรก ไปสู่สวรรค์ มันเป็นใคร นั่นแหละ คือ เรา ที่เรียกกันว่า อทิสสมานกาย หรือจิต ที่สิงในกายนี่
มาถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ทันทีถ้าไม่โง่เกินไป หรือว่าไม่ฉลาดเกินพอดี ก็จะเห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงๆ ในเมื่อมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงๆจะไปนั่งเมาเพื่อประโยชน์อะไร ต้องการมันหรือเกิดมาชาตินี้ความทุกข์ถมเต็มกำลังอยู่แล้ว เกิดในชาติต่อๆไป มันก็เป็นรูปนี้ ไม่ว่าชาติไหน แต่เกิดเป็นคนมันก็ยังดี แต่ถ้าเป็นคนเลวลงนรกไป มันก็นานนักถึงจะกลับ นี่พระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราก็จงวางภาระเสีย ทำใจให้สบาย ว่าร่างกายนี้เกิดขึ้นมาในเบื้องต้น แล้วมีความเสื่อมโทรมไปในท่ามกลาง มีการแตกสลายไปในที่สุด เป็นของธรรมดา เอาใจเข้าไปรับตัวธรรมดาเข้าไว้
ตนของตนเองยังไม่มีทรัพย์หรือบุตรจะมีแค่ไหน “เจ้าจงใครครวญอย่างนี้ จงคิดว่า เราเป็นผู้ไม่มีอะไรเลย ทรัพย์สินไม่มี ญาติ เพื่อน ลูก หลาน เหลนไม่มี แม้ร่างกายเราก็ไม่มี เพราะทุกอย่างกล่าวมา มีสภาพพังหมด เราจะทำกิจที่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อสิ้นภาระคือร่างกายพังแล้ว เราจะไปนิพพาน เมื่อความป่วยไข้ปรากฏ จงดีใจว่า วาระที่เราจะมีโอกาสเข้าสู่นิพพานมาถึงแล้ว เราสิ้นทุกข์แล้ว” คิดไว้อย่างนี้ทุกวันจิตจะชิน จะเห็นเหตุผล เมื่อจะตาย อารมณ์จะสบายดีแล้ว ก็จะเข้านิพพานได้ทันที
ที่มา
คัดลอกจาก หนังสือ พ่อรักลูก เนื่องในวาระครบรอบ 6 ปี การมรณภาพของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
หน้า 88-98
รุ่งทิพย์ เวทส์ คัดลอก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น