20 กันยายน 2563

"ไตรลักษณ์อย่างหยาบ กลาง ละเอียด"


อนึ่ง คำว่า “สมาธิ” การทำใจให้มีความสงบเยือกเย็น ท่านผู้ฟังทั้งหลายคงจะเคยได้ทราบแล้วว่ามีหลายชั้น ขณิกสมาธิ จิตที่รวมลงเพียงขณะเดียวแล้วถอนขึ้นมาเสีย อุปจารสมาธิ คือสมาธิที่รวมสงบแล้วถอนออกมาเล็กน้อยแล้วออกรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาสัมผัสใจในขณะนั้น จะเป็นเรื่องสัตว์ บุคคล หรือภูตผีก็ตาม จัดเข้าในวงอุปจารสมาธินี้ ส่วนอัปปนาสมาธิ จิตที่หยั่งลงแล้วมีความสงบอย่างเต็มที่ และรวมอยู่ได้เป็นเวลานาน ๆ คำว่า “อัปปนาสมาธิ” นี้มีความหมายกว้างขวางมาก จิตรวมอยู่ได้นานด้วย มีความชำนิชำนาญในการเข้าออกของสมาธิด้วย ต้องการเวลาใดได้ตามความต้องการด้วย

แต่เราผู้บำเพ็ญในทางปัญญานั้น ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้วจึงจะต้องพิจารณาทางปัญญา เรื่องของสมาธิ คือความสงบ จะสงบมากน้อย พึงทราบว่าเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาคือปัญญาเป็นขั้น ๆ ไป เพราะปัญญามีหลายขั้น ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด สมาธิในขั้นหยาบก็เป็นบาทฐานของวิปัสสนาขั้นหยาบได้ ขั้นกลาง ขั้นละเอียดก็เป็นบาทฐานของปัญญาขั้นกลาง ขั้นละเอียดได้ และในขณะเดียวกันพึงทราบว่า สมาธิกับปัญญานั้นเป็นธรรมคู่เคียงโดยจะแยกจากกันไม่ออก ควรใช้ปัญญาคู่เคียงกันไปกับสมาธิตามโอกาสอันควร คือถ้าเราจะดำเนินในทางสมาธิโดยถ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องปัญญาเลยแล้ว จะเป็นเหตุให้ติดสมาธิคือความสงบ

เมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาในทางปัญญา เช่นพิจารณาธาตุขันธ์โดยทางไตรลักษณ์ วันนี้ก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันหน้าก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตร่ตรองอยู่เช่นนี้ทุกวันทุกคืนไป ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ชำนาญในทางปัญญา ต้องมีความคล่องแคล่วชำนาญเช่นเดียวกันกับทางสมาธิ ปัญญาในเบื้องต้นต้องอาศัยการบังคับให้พิจารณาอยู่บ้าง ไม่ใช่จิตเป็นสมาธิแล้วจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาทีเดียว ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วกลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง โดยผู้บำเพ็ญไม่ต้องสนใจมาพิจารณาทางด้านปัญญาเลยแล้ว จิตก็ไม่มีโอกาสจะติดสมาธิ ดังที่เคยปรากฏดาษดื่นในวงนักปฏิบัติ ความจริงเบื้องต้นต้องอาศัยมาพิจารณา ปัญญาจะมีความคล่องแคล่วและมีความสว่างไสว ทั้งรู้เท่าทันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องเป็นลำดับ จะเป็นไตรลักษณ์ที่หยาบก็จะเห็นในทางปัญญา

ไตรลักษณ์อย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณา เช่นเราพิจารณาในส่วนร่างกายจัดว่าเป็นไตรลักษณ์ส่วนหยาบ พิจารณาในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จัดเป็นไตรลักษณ์ส่วนกลาง พิจารณาเรื่องจิตที่เป็นรากเหง้าแห่งวัฏฏะจริง ๆ แล้ว นั่นคือไตรลักษณ์ส่วนละเอียด เมื่อจิตได้ก้าวเข้าสู่ไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ไตรลักษณ์ส่วนกลาง ไตรลักษณ์ส่วนละเอียด จนผ่านพ้นไตรลักษณ์ทั้งสามนี้ไปแล้ว ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นในอันดับต่อไปอย่างไม่มีปัญหาใด ๆ นั้น จะเรียกว่า อัตตาก็ตาม อนัตตาก็ตาม ไม่เป็นไปตามความสมมุตินิยมใด ๆ ทั้งนั้น เพราะอัตตากับอนัตตาเป็นเรื่องของสมมุติ ซึ่งโลกก็มีอยู่ด้วยกัน ธรรมชาติอันนั้นไม่ใช่สมมุติ โลกทั้งหลายจึงเอื้อมถึงได้ยาก เมื่อมีอัตตาและอนัตตาเป็นเครื่องเคลือบแฝงอยู่ในใจ

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
จากหนังสือ "ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์"

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...