วิธีปล่อยนิมิตนั้น คือว่า เมื่อจิตของตนจ้องมองดูภาพนิมิตอยู่ หรือวิ่งตามนิมิตอยู่ ก็ให้เราไม่ต้องสนใจกับภาพนิมิตทั้งหลายเราเห็นอยู่นั้น ถ้าจิตของตนยังอยากจะดูภาพนิมิตอยู่อีก ยังไม่ปล่อยวาง ก็ให้เราพยายามใช้สติปัญญาของตนประคองจิตของตน หรือดึงรั้งเอาจิตของตนมาคิดอยู่กับอารมณ์ที่เบาๆ และความสุขุมที่มีอยู่เดิมนั้นอีก
แต่ถ้าจิตของตนก็ยังดื้อดึง และยินดีเพ่งมองดูภาพนิมิตนั้นอยู่อีก ไม่ยอมปล่อยวางออกจากนิมิตนั้น
ก็ให้เราอุบายใช้สติปัญญายกไตรลักษณ์ขึ้นมาพิจารณาว่า นิมิตนี้ก็เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน คงที่อยู่อย่างเดิมสมดั่งปรารถนา ก็หากเป็นของที่เสื่อมหายไปได้ แม้บุคคลมีความปรารถนาอยากให้นิมิตนั้นตั้งอยู่ก็ตามย่อมไม่ได้ตามใจหวังของตน นิมิตนี้ก็ยังเลอะเลือนหายไปได้ จึงทำให้ทุกข์เมื่อนิมิตได้เป็นเช่นนี้แล้ว นิมิตนี้ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตนตัวของใคร ของบุคคลใดเลย แต่เราก็ไปหลงยึดมั่นถือมั่นในนิมิต
แต่นิมิตนั้นเมื่อได้หายไปแล้ว ก็ไม่เห็นว่ามีคนมีตัวอยู่ที่ไหน ก็มองไม่เห็นเลยเช่นนี้ จึงว่าเป็นอนัตตา ก็ทำไมเล่าเราจึงไปยึดถือนิมิตเล่า เมื่อมาพิจารณาอยู่อย่างนี้ จิตของตนก็จะยอมจำนนต่อสติปัญญา จิตของเราก็จะกลับคืนมาพิจารณาอยู่ที่ความเบาและความสุขสุขุมละเอียดนั้น
ลมหายใจที่ปลายจมูก หลักสมาธิวิปัสสนา
โดย พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
"อนึ่ง เพราะพระโยคาวจรเป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต เปรื่องปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยความรู้ เมื่อโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้น ย่อมกำหนด ย่อมสอบสวนโอภาสนั้นด้วยปัญญาว่า โอภาสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็โอภาสนั้นแลเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายราคะเป็นธรรมดา มีการดับกิเลสเป็นธรรมดาด้วยประการดังนี้."
บทว่า นิกนฺติ อุปฺปชฺชติ นิกันติ (ความพอใจ) ย่อมเกิดขึ้น คือความพอใจมีอาการสงบ สุขุมทำความอาลัยในวิปัสสนาอันประดับด้วยโอภาสเป็นต้นอย่างนี้ย่อมเกิดขึ้น ความพอใจใดไม่อาจแม้กำหนดลงไปว่าเป็นกิเลส ดุจในโอภาส เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น.
พระโยคาวจรคิดว่าญาณเห็นปานนี้ ไม่เคยเกิดแก่เรามาก่อนจากนี้ ปีติ ปัสสัทธิ อธิโมกข์ ปัคคหะ อุปัฏฐานะ อุเบกขา นิกันติ เห็นปานนี้เคยเกิดแล้ว เราเป็นผู้บรรลุมรรค เราเป็นผู้บรรลุผลแน่นอน แล้วถือเอาสิ่งมิใช่มรรคว่าเป็นมรรค สิ่งมิใช่ผลว่าเป็นผล.
เมื่อพระโยคาวจรนั้นถือเอาสิ่งมิใช่มรรคว่าเป็นมรรค และสิ่งมิใช่ผลว่าเป็นผล วิปัสสนาวิถีย่อมหลีกออกไป.
พระโยคาวจรนั้นสละมูลกรรมฐานของตนแล้วนั่ง ยินดีความพอใจนั้นเท่านั้น.
อนึ่ง ในบทนี้ท่านกล่าวโอภาสเป็นต้นว่าเป็นอุปกิเลส เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง เพราะไม่ใช่อกุศล ส่วนนิกันติเป็นอุปกิเลสด้วยเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าหมองด้วย. อุปกิเลสเหล่านี้มี ๑๐ อย่างด้วยสามารถแห่งวัตถุ มี ๓๐ ด้วยสามารถแห่งการถือเอา อย่างไร. เมื่อพระโยคาวจรถือว่า โอภาสเกิดแล้วแก่เรา ย่อมเป็นการถือเอาด้วยทิฏฐิ เมื่อถือว่าโอภาสน่าพอใจหนอเกิดแล้ว ย่อมเป็นการถือเอาด้วยมานะ เมื่อยินดีโอภาส ย่อมเป็นการถือเอาด้วยตัณหา การถือเอา ๓ อย่างด้วยสามารถแห่งทิฏฐิมานะและตัณหาในโอภาสด้วยประการดังนี้. แม้ในอุปกิเลสที่เหลือก็อย่างนั้น. อุปกิเลส ๓๐ ด้วยอำนาจแห่งการถือเอาย่อมมีด้วยประการฉะนี้.
บทว่า ทุกฺขโต มนสิกโรโต อนตฺตโต มนสิกโรโต เมื่อภิกษุมนสิการโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา.
พึงทราบความโดยนัยนี้แม้ในวาระทั้งหลาย.
ในบทนี้พึงทราบความเกิดแห่งวิปัสสนูปกิเลสแห่งวิปัสสนาหนึ่งๆ ด้วยสามารถแห่งอนุปัสสนาหนึ่งๆ มิใช่อย่างเดียวเท่านั้น.
พึงทราบวินิจฉัยในอนุปัสสนา ๓ ดังต่อไปนี้.
พระอานนทเถระ ครั้นแสดงอุปกิเลสทั้งหลายด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา โดยไม่ต่างกันอย่างนี้ แล้วเมื่อจะแสดงด้วยอำนาจแห่งความต่างกันอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า รูปํ อนิจฺจโต มนสิกโรโต เมื่อภิกษุมนสิการรูปโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ชรามรณํ อนิจฺจโต อุปฏฺฐานํ ชรามรณะอันปรากฏโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง คือความปรากฏของชราและมรณะโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง.
เพราะพระโยคาวจรผู้ไม่ฉลาด ไม่เปรื่องปราชญ์ด้วยอำนาจแห่งอุปกิเลส ๓๐ ดังกล่าวแล้วในบทก่อน ย่อมหวั่นไหวในโอภาสเป็นต้น ย่อมพิจารณาโอภาสเป็นต้นอย่างหนึ่งๆ ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ฉะนั้นพระอานนทเถระเมื่อจะแสดงความนั้น จึงกล่าวคาถา ๒ คาถามีอาทิว่า โอภาเสว เจว ญาเณ จ ในโอภาสและญาณดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า วิกมฺปติ ย่อมกวัดแกว่ง คือ ย่อมกวัดแกว่ง หวั่นไหว ๓ อย่างด้วยอำนาจกิเลสต่างๆ ในอารมณ์มีโอภาสเป็นต้น.
บทว่า เยหิ จิตฺตํ ปเวเธติ จิตย่อมหวั่นไหว คือ จิตย่อมกวัดแกว่งหวั่นไหวด้วยปัสสิทธิและสุขโดยประการต่างๆ ด้วยอำนาจกิเลสต่างๆ เพราะฉะนั้น พึงทราบความสัมพันธ์ ความว่า พระโยคาวจรย่อมกวัดแกว่งในปัสสัทธิและในสุข.
บทว่า อุเปกฺขา วชฺชนาย เจว จากความนึกถึงอุเบกขา คือ จิตย่อมกวัดแกว่ง จากความนึก คือ อุเบกขา.
อธิบายว่า ย่อมกวัดแกว่งจากความวางเฉยในการนึกถึง.
แต่ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า อุเปกฺขาวชฺชนายญฺจ ในการนึกถึงอุเบกขา.
บทว่า อุเปกฺขาย จ ความวางเฉย คือ จิตย่อมกวัดแกว่งด้วยความวางเฉยมีประการดังกล่าวแล้ว.
อธิบายว่า ย่อมกวัดแกว่งด้วยความพอใจ.
อนึ่ง ในบทนี้ เพราะท่านชี้แจงถึงอุเบกขา ๒ อย่าง จึงกล่าวอรรถโดยประการทั้งสองในฐานะที่ท่านกล่าวแล้วว่า อุเปกฺขา อุปฺปชฺชติ อุเบกขาย่อมเกิด.
อนุปัสสนาอย่างหนึ่งๆ เพราะความปรากฏแห่งความวางเฉยด้วยการนึกถึงแห่งอนุปัสสนาหนึ่งๆ ในอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น ท่านกล่าวว่า เจริญบ่อยๆ ว่า อนิจฺจํ อนิจฺจํ ทุกฺขํ ทุกฺขํ อนตฺตา อนตฺตา.
อนึ่ง เพราะพระโยคาวจรเป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต เปรื่องปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยความรู้ เมื่อโอภาสเป็นต้นเกิดขึ้น ย่อมกำหนด ย่อมสอบสวนโอภาสนั้นด้วยปัญญาว่า โอภาสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็โอภาสนั้นแลเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายราคะเป็นธรรมดา มีการดับกิเลสเป็นธรรมดาด้วยประการดังนี้.
อีกอย่างหนึ่ง พระโยคาวจรนั้นมีความดำริอย่างนี้.
หากโอภาสพึงเป็นตัวตน พึงควรที่จะถือเอาว่าเป็นตัวตน แต่โอภาสนี้มิใช่ตัวตน ยังถือกันว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรเมื่อเห็นว่า โอภาสนี้มิใช่ตัวตน เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ จึงถอนทิฏฐิเสียได้.
หากว่า โอภาสพึงเป็นสภาพเที่ยง พึงควรเพื่อถือเอาว่าเป็นสภาพเที่ยง แต่โอภาสนี้เป็นสภาพไม่เที่ยง ยังถือกันว่าเป็นสภาพเที่ยง เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนี้เมื่อเห็นว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง เพราะมีแล้วไม่มีย่อมถอนมานะเสีย.
หากว่า โอภาสพึงเป็นความสุข พึงควรถือเอาว่า เป็นความสุข แต่โอภาสนี้เป็นความทุกข์ ยังถือเอาว่าเป็นความสุข เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนี้เมื่อเห็นว่าเป็นความทุกข์ เพราะเกิดขึ้นสิ้นไปและบีบคั้น ย่อมถอนความพอใจ ดุจในโอภาส.
แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนั้น.
พระโยคาวจรครั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมพิจารณาเห็นโอภาสว่า นั่นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่กวัดแกว่ง ไม่หวั่นไหว ในโอภาสเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระอานนทเถระเมื่อแสดงความนั้น จึงกล่าวคาถาว่า อิมานิ ทส ฐานานิ ฐานะ ๑๐ ประการเหล่านี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ทส ฐานานิ คือ มีโอภาสเป็นต้น.
บทว่า ปญฺญายสฺส ปริจฺจิตา ภิกษุนั้นกำหนดด้วยปัญญา คือ กำหนดถูกต้อง อบรมบ่อยๆ ด้วยปัญญา พ้นจากอุปกิเลส.
บทว่า ธมฺมุทฺธจฺจกุสโล โหติ เป็นผู้ฉลาด ในความนึกถึงโอภาสเป็นต้น อันเป็นธรรมฟุ้งซ่าน คือพระโยคาวจรเป็นผู้กำหนดฐานะ ๑๐ อย่างด้วยปัญญา เป็นผู้ฉลาดด้วยการแทงตลอดตามความเป็นจริงแห่งธรรมุทธัจจะ มีประการดังกล่าวแล้วในตอนก่อน.
บทว่า น จ สมฺโมหคจฺฉติ ย่อมไม่ถึงความหลงใหล คือไม่ถึงความหลงใหลด้วยการถอนตัณหา มานะและทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ฉลาดในธรรมุทธัจจะ.
ที่มา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=7564&Z=7861
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น