03 กันยายน 2563

การละอารมณ์ในขันธ์ ๕

การละอารมณ์ในขันธ์ ๕ ชื่อว่าเป็นตัวขันธ์แล้วเรียกว่ากองทุกข์ทั้งนั้น เรายึดสิ่งใดมาก..สิ่งนั้นก็ให้ผลเป็นกรรมมาก เราละสิ่งใดมากที่เรายึด..จิตมันก็จะเบา กายมันก็จะเบา เวทนาความรู้สึก ความอยากก็ดี กามตัณหาก็ดี ภวตัณหาก็ดี วิภวตัณหาก็ดี..มันก็จะน้อยลง 

นั้นความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้..ก็เป็นตัณหา ความอยากได้ ความอยากมี ความอยากเป็น..ก็เป็นตัณหา ความทะยานอยากในตัณหา..สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วเค้าเรียกว่าไฟ เพราะมีความอยากมันจึงทำให้จิตเราเร่าร้อน

คำว่าไฟใครไปอยู่ใกล้จนเกินไปหรือมีมากจนเกินไป มันก็ย่อมต้องร้อนเป็นธรรมดา แม้นเมื่อเรากำหนดรู้ว่าเราเป็นไฟ..เมื่อเราพยายามละมัน เมื่อไฟมันมีกำลังน้อย..เมื่อมันน้อยเราก็จะทนอยู่กับมันได้ เมื่อเราไม่เพิ่มเชื้อมัน..มันก็สามารถดับได้

การดับอารมณ์ในขันธ์ ๕ ก็มีอยู่ว่า ดับด้วยวางอุเบกขาฌาน ดับด้วยปัญญา ดับด้วยอุบายแห่งสมถะแห่งกรรมฐานวิปัสสนา ก็เมื่ออารมณ์เหล่าใดก็ตามที่เมื่อเรากำหนดจิตขึ้นมา ยกขึ้นมาพิจารณาแล้ว..ให้ปลง ให้พิจารณาไปทางสละ ให้จิตมันปลงคลายความยึดมั่นถือมั่นได้นั่นแล ก็เรียกว่าเราได้เข้าถึงกรรมฐาน เป็นจิตที่ตั้งการงานของกรรมฐานได้..อย่างนี้

แต่ถ้าเรามากำหนดนั่งนี้ แต่ไม่รู้ว่าในขณะนี้จิตนั้นเสวยอารมณ์ใดอยู่ แสดงว่าเราตกอยู่ในนิวรณ์หรือตกอยู่ในทาสของขันธมารอยู่ เราก็ไม่สามารถข้ามพ้นภัยแห่งวัฏฏะได้ เมื่อเรายังไม่รู้โทษรู้ภัยแห่งวัฏฏะเสียแล้ว..การเกิดก็มีอยู่ร่ำไป 

ดังนั้นแลแม้เราจะมีความอ่อนล้าในกายสังขารก็ดี ก็ขอให้เรากำหนดรู้อยู่ในกาย คำว่ารู้อยู่ในกายแสดงว่าเรายังมีสติอยู่ นั่นก็หมายถึงว่าถ้าจิตเรายังไม่มีกำลังที่จะไปกำหนดไปพิจารณาอะไร..ก็ให้ดูกาย คือรู้ลมหายใจเข้าออก มันจะเข้ามันจะออกอย่างไรก็รู้ แต่ไม่ได้ไปตามรู้ลมหายใจที่เข้าและออก แต่ให้รู้ว่าเอาลมหายใจนั้นมากำหนดรู้ อย่างน้อยนี้ลมหายใจนี้เราสามารถสัมผัสมันได้ กายเราสามารถรู้สึกได้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม อย่าได้พลัดพราก

เมื่อมันไม่พลัดพรากแล้ว สตินั้นมันย่อมมีกำลังตามมา จิตมันค่อยๆมีกำลังขึ้นมาโดยธรรมชาติของจิต เค้าถึงบอกว่ากายนี้ถ้าเราพักผ่อนเพียงพอ จิตเมื่อเรามีกำลังพอมีศรัทธาพอ การจะกระทำการสิ่งใดมันย่อมเกิดมรรคเกิดผลในการเจริญอิทธิบาท ๔  แต่ถ้ากายนั้นเราอ่อนล้าแล้วมีจิตที่ตั่งมั่น..มันก็มีแต่ความเพียร แต่สติเรานั้นแลไม่สามารถประคองกายสังขารได้..

ดังนั้นก็เอาจิตที่มีกำลังมีความเพียรนั้นแลทรงดูอยู่ในกาย จนกายนั้นมันตื่น เมื่อกายมันตื่นมันมีกำลังผนวกกับจิตที่มีกำลังแล้วไซร้..ตัวปัญญามันจะลุกโชนขึ้นมาเอง นั้นเราไม่รู้ได้เลยว่าปัญญาจะเกิดขึ้นตอนไหน เค้าถึงบอกว่าปัญญามันจะเกิดขึ้นตอนที่เรามีสติ แล้วสตินั้นมันต้องคู่ก้บอะไร สตินั้นมันต้องคู่กับสิ่งที่เรานั้นมีความสงบ ความสงบนั้นมันเกิดขึ้นจากการที่เราอบรมบ่มจิต เจริญสมถะ เจริญสมาธิให้มากๆ 

แล้วสมาธินั้นจะเกิดขึ้นได้ และมีกำลังและผลได้ ก็เกิดจากการที่เราอบรมบ่มจิต คือการเจริญศีลให้มันเกิดขึ้น ศีลนี้มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรานั้นเจริญภาวนาจิตอยู่ ดังนั้นการเจริญภาวนานี้จึงเป็นผลใหญ่ ไม่ว่าเราจะทำอะไรหากเรานั้นโอกาสไม่อำนวยที่จะเจริญมนต์ก็ดี ที่จะพิจารณาธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ตรึกตรองในธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี..ให้เรามีภาวนาไว้

การภาวนาคือการดึงสติ คือการรวบรวมจิตให้มีหลัก เมื่อเรามีองค์ภาวนาแล้ว..องค์ศีลองค์ธรรมมันก็บังเกิด เค้าจึงบอกว่าคนที่เจริญศีลอย่างเดียวแต่ไม่ได้เจริญปัญญาควบคู่กันไปแล้ว..มันก็จะไปช้า แต่ถ้าบุคคลใดรักษาศีลผนวกกับการเจริญปัญญาแล้ว..มันก็จะไปได้ไว 

อะไรที่เกิดขึ้นมาอย่างเดี่ยวๆโดดๆ มันย่อมอยู่ตั้งคงทนได้ยาก นั้นต้องไปเป็นคู่ เพราะคนไม่มีคู่ย่อมโดดเดี่ยว เหงาเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย แม้ตัวเราเองก็ดี..หากเราไม่มีคู่แล้ว ไม่มีอะไรจะยึดได้แล้วเป็นที่พึ่งแล้ว..ก็เอาธรรมนั้นแลเป็นที่พึ่ง เป็นคู่ เป็นสรณะ

อันว่าสรณะคืออะไร..สิ่งนั้นคือการรองรับหรือหลัก สรณะคือการรองรับหรือหลัก..ถ้าเราไม่มีหลักที่รองรับแล้ว เราก็ไม่สามารถจะยึดถือจับต้องอะไรได้ เมื่อยึดถือจับต้องอะไรไม่ได้ของจิต จิตย่อมเคว้งคว้าง เมื่อจิตเรานั้นได้ตายจากโลกนี้ไปสู่สัมปรายโลกแล้ว ก็จะหาหลักอะไรรองรับไม่ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้จิตย่อมล่องลอยเป็นสัมภเวสีอยู่อย่างนั้น

ดังนั้นแล้วแม้เราจะตายไปแล้วก็จะหาว่าเรานั้นจะประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้ ก็จิตนี้ยังคงอยู่ ก็เอาจิตเรานั้นเมื่อที่เรายังมีลมหายใจ มีกายสังขารได้ประพฤติปฏิบัติ และมีศรัทธาในธรรมในทางเดินแห่งมรรคแล้ว เมื่อจิตนั้นน้อมจิตถึงในพระรัตนตรัย ก็เอาพระรัตนตรัยนั้นเป็นสรณะ นั้นจึงเรียกว่าเรานั้นมีธรรม มีคู่ เมื่อมีคู่แล้วเป็นคู่ที่จับต้องได้ เป็นคู่ที่มีแก่น คู่นั้นก็ย่อมช่วยรองรับเรา เป็นที่อยู่อาศัยของเราได้ เป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่ของวิญญาณแห่งดวงจิต อย่างนี้แลเค้าถึงบอกว่าอานาปานสติเมื่อทำให้มากแล้ว ทุกอย่างมันก็จะบริบูรณ์เอง..

ที่มา
มูลนิธิเมืองธรรมพรหมรังสี สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
โทร ๐๙๕ ๕๖๙๕๑๙๙ , ๐๘๑ ๙๒๙๓๒๒๒

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...