“ลัทธิพิสดาร”
สมัยข้าพเจ้าอยู่ภูเก้าเบื้องต้น ข้าพเจ้าอยู่องค์เดียว ๕ เดือน ได้มีโยมคนหนึ่งขึ้นไปหาข้าพเจ้า อายุประมาณ ๓๐ ปี เป็นคนรูปร่างขนาดกลาง ในสมัยนั้นเขามาหาถ่ายรูป เขาเลยขึ้นไปหาข้าพเจ้า เมื่อขึ้นไปหาแล้วจึงชักชวนข้าพเจ้าว่า
.
“ญาครู ญาครู จะพูดอันหนึ่งให้ฟังจะเอาด้วยไหม”
.
ข้าพเจ้าก็เลยบอกว่า “เออ เอาไม่เอาก็ขอให้จงพูดไปเสียก่อน อย่าเพิ่งเร่งรีบมาข่มเหงนัก ให้อาตมาฟังเสียก่อน”
.
เขาจึงพูดไปว่า “เอา ตั้งใจฟังให้ดี จะพูดให้ฟัง ศาสนาไม่มี พ่อแม่ก็ไม่มี คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่มี ทำการทำงานได้แล้วให้ทำขึ้นสู่รัฐบาล ไม่ให้มีกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ให้แต่พอเพียงได้กินได้อยู่ ทำงานให้รัฐบาลหมด ให้คนเสมอกัน ญาครูจะยินดีด้วยไหม”
.
ข้าพเจ้าเลยบอกว่า “ยินดีไม่ยินดีก็ขอให้จงพูดไปก่อน อาตมาจะฟัง อย่าเพิ่งเร่งเพิ่งรัดมากนัก”
.
เขาจึงพูดต่อไปว่า “ไม่ให้มีผู้ใหญ่ ไม่ให้มีผู้ต่ำ ไม่ให้มีผู้สูง ให้เสมอกันหมด เงินเดือนให้เท่ากัน มีความสุขเสมอกันหมด มีลูกออกมาให้รัฐบาลเอาไปเลี้ยงไม่ต้องลำบาก ของถ้าหากได้มา ก็ให้เอาขึ้นรัฐบาลหมด ไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเจ้าของ ให้แต่พอกินพอใช้ ให้คนเสมอกัน ไม่ให้มีชั้นวรรณะ ให้เป็นนายเหมือนกันหมด ถ้าหากเป็นลูกน้องก็ให้เป็นถูกน้องเหมือนกันหมด ถ้าจะเรียกว่าลูกน้องก็ให้เรียกว่าลูกน้องเหมือนกันหมด ถ้าจะเรียกว่านาย ก็เรียกว่านายเหมือนกันหมด ไม่ให้มีผู้ใดเป็นใหญ่ให้เสมอกันหมด ศาสนาไม่มี ญาครูเห็นดีด้วยไหม คุณพ่อคุณแม่ไม่มี ท่านเลี้ยงมาเป็นเรื่องของท่าน ท่านเป็นผู้ทำออกมาท่านก็ต้องเลี้ยง บาปไม่มี บุญไม่มี บุญก็คือกินได้นอนหลับนั่นเอง จะเอาด้วยไหม”
.
ข้าพเจ้าเลยบอกว่า “เออ หมดแล้วหรือยัง ถ้าหากหมดแล้วอาตมาจะตอบ ถ้าหากว่ายังไม่หมดให้พูดต่อไป”
.
เขาบอกว่า “ขอพูดแค่นี้เสียก่อน ขอให้ญาครูตอบมา”
.
ข้าพเจ้าเลยพูดว่า “อาตมาจะถามบ้างหละ จะทำให้คนเสมอกันได้อย่างไร คนขาหักจะทำให้เป็นคนขาดีได้ไหม คนโง่ทำให้เป็นคนฉลาดได้ไหม คนมีกำลังน้อยทำให้มีกำลังมากได้ไหม”
.
เขาตอบยอมรับความเป็นจริงว่า “ทำไม่ได้”
.
ข้าพเจ้าจึงพูดต่อไปว่า “พ่อก็เป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็เป็นแม่เต็มภูมิ จะไปพูดว่าเสี่ยว ว่าสหายได้หรือ จะไม่ให้มีคุณมีค่าได้อย่างไร หน้าที่ท่านเลี้ยงมาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะเลี้ยงท่านตอบ ท่านได้เลี้ยงมาแล้วเลี้ยงตอบท่าน ทำกิจธุระของท่าน ดำรงวงศ์ตระกูล ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน เราต้องประพฤติอย่างนั้น
.
เหมือนมีคน ๆ หนึ่งมายกมือไหว้เราว่า สบายดีหรือ เราก็ยังได้ยกมือไหว้ตอบว่า สบายดี เรื่องของท่านเลี้ยงเรา เราก็ควรเลี้ยงท่านตอบ จะไปพูดอย่างนั้นก็ไม่ได้ อาตมาก็ไม่เลื่อมใสด้วย ถ้าพูดอย่างนั้น ทำคนให้เสมอกันจะทำอย่างไร มันไม่เสมอกันดอก
.
เอ้า อาตมาจะพูดให้ฟัง อย่างโยมนี้เก่งทางช่างไม้ เก่งทางช่างเหล็ก อาตมาเป็นแต่เพียงทุบหิน เขาก็ไล่อาตมานี้แหละไปทุบหิน โยมเป็นช่างไม้ก็ต้องไปอยู่ร่มอยู่เงา การกินการอยู่การหลับนอนก็ต่างกัน หรืออย่างต่ำโยมก็คงเป็นผู้คุมอาตมา อาตมาเป็นผู้ทุบหิน ผู้คุมนั้นก็คงจะได้อยู่ในร่ม อาตมาก็ต้องได้ทุบหินตากแดดอยู่กลางแจ้ง มันจะเสมอกันได้อย่างไร
.
คนเรา พ่อก็ต้องเป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็ต้องเป็นแม่เต็มภูมิ แผ่นดินก็ยังมีต่ำมีสูง จะให้เสมอกันได้อย่างไร เงิน ๕ บาทกับเงิน ๑๐ บาท อันไหนราคาสูงกว่ากัน เงินใบละ ๑๐๐ บาท กับใบละบาท อันไหนราคาสูงกว่ากัน”
.
เขาเลยตอบว่า “เงินใบละ ๑๐๐ บาทราคาสูงกว่า”
.
ข้าพเจ้าก็เลยพูดต่อไปว่า “มันก็มีชั้นวรรณะอยู่ในตัวมัน ใครไปทำให้มัน ก็คุณสมบัติของมันมีของมันเอง ดินไม่มีปุ๋ยกับดินมีปุ๋ยมันก็ยังมีคุณสมบัติต่างกัน ไม้ยูงกับไม้ไผ่อันไหนมันดี น้ำหนักเท่ากัน ไม้ยูงก็ราคาสูงกว่า ก็คุณสมบัติมันต่างกัน มันก็สูงขึ้นตามคุณสมบัติของมัน พ่อก็เป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็เป็นแม่เต็มภูมิจะไปเตะตูดว่าสหายหมดก็ไม่ได้ ตัวเองโง่ แล้วจะมาสอนให้คนอื่นโง่ด้วย โยมเป็นบ้าแล้วยังจะมาสอนให้อาตมาเป็นบ้าด้วย อาตมาไม่ไปด้วยนะ ถ้าหากว่าไม่มีชั้นวรรณะ ทำไม่ไม่ให้สตาลินมาทุบหินบ้าง ให้ทหารไปเฝ้าอยู่ทำไมร้อยชั้นพันหลืบ”
.
เขาเลยพูดขึ้นว่า “โอ๊ย ถ้าพูดไปแล้วขี้ฉ่อ (ขี้โกง) ไปญาครูนี่น่าโมโหแท้ ๆ”
.
ข้าพเจ้าเลยพูดว่า “มันถูกตามคำอาตมานะ ขอให้พิจารณาดูอย่าเพิ่งโกรธ เพราะมันมีที่แซง อาตมาก็เลยแซง จะโกหกได้ก็โกหกได้เฉพาะคนโง่ ๆ เท่านั้น”
.
เขาก็เลยพูดว่า “ถ้าพูดแล้วขี้ฉ่อ (ขี้โกง) ไปตะพืดตะพือ หนีดอกญาครูนี่ อย่างนั้นจะไปเดี๋ยวนี้แหละ”
.
ข้าพเจ้าเลยบอกว่า “เออ ไปก็ไปเสียซิ”
.
แล้วเขาก็เลยไป ส่อแสดงให้เห็นว่าเขานั้นไปเที่ยวประกาศให้คนโง่เลื่อมใสเท่านั้น ผู้ถึงศีลถึงธรรมจะเลื่อมใสได้อย่างไร...
.
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น