โกงความตายด้วยเทคโนโลยีแช่แข็ง Cryonics
โกงความตายด้วยเทคโนโลยีแช่แข็ง: เทคโนโลยีการแช่แข็งร่าง Cryonics และคำถามทางจริยธรรม
Cryonics เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้ในการถนอมร่างกายของคนหรือสัตว์ที่เสียชีวิตแล้วในอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เก็บรักษาร่างกายของผู้เสียชีวิตจนเมื่อถึงเวลาที่มนุษย์เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีไปจนถึงจุดที่สามารถปลุกเซลล์ที่ตายแล้วกลับมามีชีวิตใหม่ได้
บริษัท Cryonics ตั้งอยู่ ณ มลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้จริงในเชิงพาณิชย์ โดยนอกจากจะเก็บรักษาร่างกายของผู้ที่เสียชีวิตแล้ว บริษัท Cryonics ยังให้บริการแก่ ผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่สามารถรักษาได้
โดยผู้ป่วยสามารถเลือกที่จะแช่แข็งตนเองและถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากพอที่จะรักษาโรคร้ายนั้นได้ บริษัทอ้างว่า “การเสียชีวิต” จึงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการรักษา ไม่ใช่จุดจบของชีวิต
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การจำกัดความของ “การเสียชีวิต” บริษัท Cryonics ให้คำจำกัดความของการเสียชีวิต คือ การที่สมองเกิดความเสียหายจนไม่สามารถทำงานและสื่อสารสั่งการอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ และไม่สามารถซ่อมแซมได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปัจจุบัน ในส่วนของผู้ที่ยังไม่เสียชีวิตแต่เลือกที่จะแช่แข็งตนเองนั้น บริษัทจะไม่ใช้คำว่า “เสียชีวิต” แต่จะใช้คำว่า “deanimation” หรือการหยุดการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลง (ของทุกส่วน ทุกเซลล์ในร่างกาย)
คำจำกัดความของ “การเสียชีวิต” เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอดีต การเสียชีวิตดูจากการความล้มเหลวของการทำงานของหัวใจ แต่ต่อมา เทคโนโลยีสามารถฟื้นหัวใจที่หยุดทำงานแล้วได้หากหัวใจไม่หยุดการทำงานนานเกินไปจนสมองตาย
การทำงานของเทคโนโลยี cryonics คือการรักษาสภาพเซลส์สมองให้คงอยู่ในสภาพที่สามารถปลุกให้ฟื้นขึ้นมาได้ ด้วยการแช่แข็งสมอง (ทำได้ทั้งการแช่เฉพาะศีรษะหรือทั้งร่างกาย) ด้วยไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เนื้อเยื่อสมองที่หยุดทำงานสามารถฟื้นขึ้นมาได้หลังจากการขาดเลือดประมาณ 1 ชั่วโมง และเซลล์สมองสามารถฟื้นได้หลังจากหยุดทำงานไปแล้ว 8 ชั่วโมง ณ อุณหภูมิปกติ
ผู้ที่สนับสนุนเทคโนโลยี Cryonics เชื่อว่าในอนาคต วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะก้าวหน้ามากพอที่จะสามารถปลุกร่างที่ถูกแช่แข็งเป็นระยะเวลายาวนานได้ เทคโนโลยีนี้อาจจะทำให้คำจำกัดความของ “การเสียชีวิต” ต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
เมื่อคำนึงถึงประเด็นด้านจริยธรรมแล้ว การพยายามที่จะรักษาชีวิตและการให้โอกาสแก่ผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยและให้การสนับสนุน สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีนี้ให้เหตุผลว่า Cryonics เป็นวิทยาศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานของการสร้างความหวัง ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานองค์ความรู้ที่มีจริง ผู้สนับสนุนให้เหตุผลว่า แม้จะเป็นแค่ความหวังอันเลื่อนลอยแต่อย่างน้อยก็ดีกว่าการไม่มีความหวังอยู่เลย
ข้อคัดค้านที่สอง คือ Cryonics สามารถเก็บรักษาร่างกายของมนุษย์ได้ยาวนานถึงพันปี ทำให้หลายคนไม่มั่นใจว่า เมื่อวันหนึ่งวิทยาศาสตร์สามารถปลุกพวกเขาขึ้นมาได้ พวกเขาจะยังคงอัตลักษณ์ของตนเองและมีความรู้สึกนึกคิดเช่นมนุษย์ปกติได้อีกครั้ง ซึ่งผู้สนับสนุนยืนยันว่าเทคโนโลยีนี้สามารถเก็บรักษาสภาพของสมอง ได้เหมือนเดิมทุกประการ ดังนั้น เมื่อสมองถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งสมองก็จะทำงานต่อเนื่องเช่นเดียวกับตอนก่อนที่จะถูกแช่แข็ง
ประเด็นขัดแย้งที่สาม จากสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อว่า จำนวนประชากรมนุษย์จะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี หากวันหนึ่งวิทยาศาสตร์สามารถปลุกผู้เสียชีวิตที่ถูกแช่แข็งด้วยเทคโนโลยี cryonics ปัญหาประชากรล้นโลกก็จะยิ่งแย่ลง
ประการที่สี่ การแช่แข็ง ร่างกายมีราคาที่สูงมาก การแช่แข็งร่างกายด้วยเทคโนโลยี Cryonics มีราคา 200,000 เหรียญ สหรัฐฯ สำหรับการแช่แข็งทั้งร่าง และ 80,000 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับการแช่เฉพาะสมอง Cryonics เป็นเทคโนโลยีที่เห็นแก่ตัว เพราะเทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อคนที่มีฐานะร่ำรวย คนชนชั้นรองๆ ลงมาไม่สามารถ เข้าถึงได้ แต่ผู้ที่เห็นด้วยกับ Cryonics อ้างว่า เมื่อคำนวณผลระยะยาวแล้ว ค่าบริการอาจจะถูกมาก นับเป็น 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน นอกจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ความจำเป็นและความ มุ่งมั่นที่จะมีชีวิตอยู่ของผู้ใช้บริการด้วย ผู้ที่ใช้บริการ Cryonics ก็ไม่ต่างจากผู้ที่ยอมเสียเงินจำนวน มากๆ เพื่อรับการผ่าตัดที่ซับซ้อนในปัจจุบัน ดังนั้น การเรียกผู้ใช้บริการ Cryonics ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวจึงไม่ยุติธรรมนัก
ข้อที่ห้า เกี่ยวกับหลักประกันและการคุ้มครองสถานภาพทางสังคมของผู้ที่ถูกปลุกขึ้นจากการแช่แข็งหากวันหนึ่งวิทยาศาสตร์สามารถทำได้จริง ผู้สนับสนุน Cryonics เชื่อว่า ผู้ใช้บริการ Cryonics ควรมีสิทธิเช่นเดียวกับในตอนที่พวกเขาตัดสินใจแช่แข็ง ตนเอง พวกเขาควรจะถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่ล้มป่วยเพราะโรคภัยเป็นระยะยาวนาน
ข้อคัดค้านที่หก คือ เมื่อผู้ใช้บริการถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมา พวกเขาจะไม่มีเพื่อนหรือครอบครัวหลงเหลืออยู่ พวกเขาอาจจะรู้สึกเหงาได้ ซึ่งผู้ที่สนับสนุน Cryonics กลับมองว่า พวกเขาสามารถสร้างเพื่อนใหม่หรือสามารถติดต่อกับทายาทรุ่น หลังๆ ของตระกูลของเขาได้ ถ้ามองโลกในแง่บวกแล้ว การได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งเป็นสิ่งที่ดีกว่าการลาจากโลกไปอย่าถาวรอย่างแน่นอน
ข้อขัดแย้งที่เจ็ด คือ ผู้ที่ถูก ปลุกให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง อาจจะ ต้องเผชิญกับโรคร้ายที่เขามีก่อนที่จะถูกแช่แข็ง ฝ่ายสนับสนุน Cryonics ค้านว่า ผู้ที่ถุกแช่แข็ง ด้วยเทคโนโลยีนี้จะถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งก็ต่อเมื่อวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีในเวลานั้นสามารถรักษา โรคร้ายที่ผู้ใช้บริการเผชิญได้
ประเด็นที่แปด เทคโนโลยี Cryonics ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการเก็บรักษาร่างเป็นระยะเวลายาวนาน
ประเด็นที่เก้า เทคโนโลยี Cryonics ขัดแย้งต่อความเชื่อ ที่เกี่ยวกับความตายในหลายๆ ศาสนา แต่ผู้สนับสนุนกลับเห็นว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ต่างจากการรักษาทางการแพทย์ประเภทหนึ่งที่ช่วยรักษาให้ผู้ป่วยฟื้นหลังจากการหลับลึกเป็นระยะยาวนาน ซึ่งไม่เกี่ยวกับความตาย
ประเด็นสุดท้าย เทคโนโลยี Cryonics อาจจะเป็นการสนับสนุนการการุณยฆาต (euthanasia) เพราะบางคนอาจจะรู้สึกว่า พวกเขาควรจะแช่แข็งตนเองก่อนที่โรคร้าย เช่น โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม หรือความแก่ชราจะเกิดขึ้นกับร่างกายของพวกเขา ซึ่งผู้ที่สนับสนุนอ้างว่าการป้องกันสามารถทำได้โดยใช้กฎหมาย โดยห้ามแช่แข็งร่างกายกับผู้ที่ไม่เข้าข่ายที่จำเป็น
ผู้พัฒนาอ้างว่า มีเพียง 3 เหตุผลที่จะทำให้เทคโนโลยี Cryonics ล้มเหลว คือ 1) เกิดความผิดพลาด ทั้งก่อนและระหว่างกระบวนการแช่แข็งจนทำให้ร่างกายเกิดความเสียหายไม่สามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ หรือ สมองสูญเสียข้อมูลไป 2) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตอาจจะไม่ก้าวหน้ามากพอที่จะปลุกผู้ที่ถูกแช่แข็งไว้ได้ และ 3) เกิดภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม การล้มละลายของบริษัท และสภาพสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ทำให้การปลุกผู้ที่ถูกแช่แข็งไว้ไม่สามารถทำได้
แม้ว่า ยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับเทคโนโลยี Cryonics แต่ได้มีผู้ที่เชื่อและมีความหวังในเทคโนโลยีนี้และมีผู้ที่ได้ใช้บริการบริษัท Cryonics จริงแล้ว
ตัวอย่างหนึ่ง ในปลายปี พ.ศ. 2559 เด็กหญิงชาวอังกฤษอายุ 14 ปี ผู้ซึ่งกำลังจะเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เธอได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นสูงเพื่อขอแช่แข็งร่างกายของเธอ โดยเธอให้เหตุผลว่า “หนูยังไม่อยากตาย หนูอยากมีชีวิตอยู่ยาวนานกว่านี้ หนูอยากมีโอกาสที่จะได้มีชีวิตอีกครั้ง”
ซึ่งในที่สุด ศาลได้ตัดสินให้แม่ของเด็กหญิงเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งเธอได้อนุญาตให้ลูกสาวของเธอได้แช่แข็งร่างกายอย่างที่ตั้งใจ ในเดือนตุลาคม 2559 หลังจากที่เธอเสียชีวิต ร่างของเธอได้ถูกแช่แข็งด้วยเทคโนโลยี Cryonics ณ ศูนย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา (บริษัท Cryonics ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 2 บริษัทที่ให้บริการด้วยเทคโนโลยีนี้ อีกบริษัทหนึ่งอยู่ที่ประเทศรัสเซีย)
เด็กหญิงผู้นี้เป็นหนึ่งในชาวอังกฤษจำนวน 10 คน และเป็นเด็กเพียงคนเดียวที่ได้รับอนุญาตจากศาลอังกฤษให้แช่แข็งร่างกายก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เธอได้กล่าวกับครอบครัวและญาติๆ ของเธอว่า “หนูกำลังจะตาย แต่หนูจะกลับมาในอีก 200 ปีข้างหน้า”
อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าว ยึดติดอยู่กับทฤษฎีทางสรีรวิทยาเป็นหลัก ที่ว่า อวัยวะใดทำหน้าที่ใดๆ และมันจะ สามารถทำหน้าที่นั้นต่อไป ถ้ามันได้รับการแก้ไขหรือรักษาโดยการควบคุมปัจจัยด้านความเสื่อมตามกาลเวลาไว้ แต่ในสภาพที่แท้จริงๆ กลไกธรรมชาติหลายอย่างอาจซับซ้อนกว่าที่คิด
นั่นก็คือประเด็นในด้านของจิตวิทยา เพราะเมื่อร่างกายถูกให้หยุดทำงานไปนานแสนนาน จิต ทั้งที่ เป็นจิตวิญญาณ จิตสำนึก และจิตใต้สำนึก จะยังรอคอยการกลับมาของร่างกายไหม หรือ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ คิดแค่ว่าจิตเป็นเพียงแค่กระบวนการคิดของร่างกาย ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสรีระของสมองเท่านั้น มีจิตอยู่เมือมีกายที่ทำงานอยู่ ซึ่งหากสรุปแบบนี้ ก็ค่อนข้างจะปิดกั้นมิติของวิทยาศาสตร์อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งก็มีทฤษฎีรองรับไม่น้อย ว่าจิตนั้นติดกับกาย และก็แยกจากกายได้เช่นเดียวกัน แกนของจิตนั้นอยู่ที่หัวใจและสามารถแยกออกไปได้เมื่อกายยุติการทำงานลง
ในกรณีนี้ เมื่อร่างกายถูกหยุดสมองความ คิดถูกหยุด แต่จิตจะไปรออยู่แถวไหนดี หรือออกแนวจักต้องวนเวียนอยู่รอบๆ ห้องแช่แข็งไป และที่สำคัญ กายอยู่ในห้องเก็บที่ปลอดภัย แต่จิตจะอยู่ในที่หลบภัยแบบไหนเพื่อรอวันที่ สองส่วนจะกลับมาพบกันใหม่ ถ้าไม่มีอะไรมาชักนำให้ ไปสถิตกายใหม่ที่สดใสกว่าเก่า ตัวเบากว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้น วิวัฒนาการทางสังคมและทางภาษาที่มีพัฒนาการอยู่ตลอด เวลา อาจทำให้คนที่ฟื้นขึ้นมาในอนาคต พูดจาสื่อสารกับคน อื่นไม่เข้าใจ หรือประสบปัญหาในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ใน สังคม
POSTED IN: STNEWS_FEB18, UNCATEGORIZEDTAGGED : CRYONICS,ชีววิทยา
ost.thaiembdc.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น