ทำไมพระพุทธเจ้า จึงบัญญัติให้พระภิกษุสาวกของท่าน ไม่ให้ฉันอาหารเที่ยงวันล่วงแล้ว ไปจนถึงอรุณขึ้น เดิมก็สันนิษฐานคาดเดาเอาเองว่า ท่านคงเกรงว่า บิณฑบาตเช้าได้อาหารมา ถ้าหลังเที่ยงอาหารอาจจะบูดเน่าเสียได้ ท่านจึงได้บัญญัติไว้เช่นนั้น บ้างคาดเดาว่า ฉันไม่เลยเที่ยง ทำให้ฉันไม่มาก กามราคะจะได้ไม่กำเริบ บ้างคาดเดาว่า ถ้าฉันเลยเที่ยง ทำให้วันหนึ่งต้องฉันหลายมื้อ เลยต้องออกบิณฑบาตหลายครั้งรบกวนชาวบ้าน ฯลฯ
กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปีพ.ศ.2559 “ โยชิโนริ โอซูมิ ” ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว (Tokyo Institute of Technology) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2559 จากผลงานการค้นพบกระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (autophagy)
หลังประกาศผลเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2559 ทางเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของรางวัลโนเบล ก็ได้เปิดโหวตคำถามว่ามีใครเคยได้ยินเกี่ยวกับ “กระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (autophagy) ” หรือไม่ ซึ่งมากถึง 30% ของผู้ร่วมตอบคำถามไม่รู้จักหรือเคยได้ยินเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าวมาก่อน รายงานจากเอเอฟพีอ้างถึงอธิบายของคณะกรรมการรางวัลโนเบล ซึ่งระบุว่า “ หากกระบวนการกลืนกินตัวเองนี้ถูกขัดขวาง ก็จะเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสันหรือโรคเบาหวานได้ ทั้งนี้ กระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ เป็นกระบวนการพื้นฐานทางสรีรศาสตร์ของเซลล์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพและการเกิดโรคต่างๆ ในมนุษย์ กระบวนการนี้เป็นหัวใจของการเสื่อมสลายไปอย่างเป็นระบบ และเป็นการรีไซเคิลส่วนที่เสียหายของเซลล์ อีกทั้งเชื่อว่าหากกระบวนการรีไซเคิลเซลล์ส่วนที่เสียหายนี้ไม่ทำงาน จะเป็นสาเหตุของการความชราและความเสียหายของเซลล์ “
ในช่วงพุทธศักราช2503 นักวิจัยสังเกตพบกระบวนการกลืนกินตัวเอง (autophagy) นี้ โดยเห็นว่าเซลล์นั้นสามารถทำลายส่วนประกอบของเซลล์เองได้จากการหุ้มส่วนเหล่านั้นเข้าไปในเยื่อเมมเบรน แล้วลำเลียงสู่ส่วนรีไซเคิลที่เรียกว่า “ไลโซโซม” (lysosome) ความยากในการศึกษาปรากฏการณ์กลืนกินตัวเองของเซลล์นี้ ทำให้เรามีองค์ความรู้เกี่ยวเรื่องนี้น้อยมาก จนกระทั่ง โยชิโนริ โอซูมิ ได้สร้างชุดการทดลองที่ยอดเยี่ยมในช่วงต้นพ.ศ.2533 โดยเขาได้ใช้ยีสต์สำหรับอบขนมจำแนกยีนเพื่อการกลืนกินตัวเองโดยเฉพาะ จากนั้นโอซูมิได้เดินหน้าอธิบายถึงกลไกที่ซ่อนอยู่ของกระบวนการกลืนกินตัวเองในเซลล์ยีสต์ และแสดงให้เห็นกลไกอันซับซ้อนแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในเซลล์มนุษย์ โดยคณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ระบุไว้ว่า “การค้นพบของโอซูมินำไปสู่กรอบใหม่ในความเข้าใจว่า เซลล์รีไซเคิลส่วนประกอบของตัวเองอย่างไร … การกลายพันธุ์ในยีนกลืนกินตัวเองนั้นเป็นสาเหตุของโรคได้ และกระบวนการกลืนกินตัวเองนี้นำไปสู่ความเข้าใจถึงการเจ็บป่วยต่างๆ รวมถึงมะเร็งและโรคทางเส้นประสาทได้”
โอซูมิซึ่งปัจจุบันอายุ 71 ปีแล้ว เกิดที่เมืองฟูกูโอกะเมื่อปี พ.ศ.2489 เขาได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ในญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2517 ทั้งนี้เขาจะได้รับเงินรางวัลทั้งหมด 8 ล้านโครน หรือ 32 ล้านบาท
ต่อมา วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ( New England Journal of Medicine ตัวย่อ NEJM) เป็นวารสารการแพทย์ภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์โดยสมาคมการแพทย์รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Medical Society) เป็นวารสารที่ทบทวน(REVIEW)โดยผู้รู้เสมอกันและมีเกียรติที่สุดฉบับหนึ่งของโลก และที่ตีพิมพ์ต่อเนื่องกันมายาวนานมากที่สุด ได้ตีพิมพ์เรื่อง Effects of Intermittent Fasting on Health, Ageing, and Disease ซึ่งได้รีวิวงานวิจัยเกี่ยวกับ IFหรือ Intermittent Fasting (การอดอาหารเป็นช่วง) ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นที่ถกเถียงกันมานานถึงข้อดี-ข้อเสียของการทำ IF หรือ Intermittent Fasting (การอดอาหารเป็นช่วง) ได้กล่าวถึงข้อดี/ประโยชน์ของการทำ IF ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ ( AUTOPHAGY ) ไว้ดังนี้
1 อนุมูลอิสระในร่างกายลดลง
2 การอักเสบซ่อนเร้นในร่างกายลดลง
3 ชะลอวัย อ่อนเยาว์ขึ้น เป็นผลมาจากอนุมูลอิสระ และการอักเสบในร่างกายลดลง
4 ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีมากยิ่งขึ้น (ถ้าร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน อาจเสี่ยงโรคเบาหวาน)
5 ช่วยทำให้ยีนส์ที่ดีบางตัวแสดงออกได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสารที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง ให้เราฉลาดขึ้น
ความจำดีขึ้น
6 ร่างกายซ่อมแซมดีเอ็นเอได้ดีขึ้น
7 ร่างกายจัดการกับเซลล์ที่ใช้ไม่ได้ได้ดีขึ้น โดยนำบางส่วนที่ยังใช้ได้อยู่นำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายดำเนินต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8 ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจAutophagy ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ในหัวใจ
IF-INTERMITTENT FASTING คือการกินอาหารแบบจำกัดช่วงเวลาและการอดอาหารแบบจำกัดช่วงเวลา มีประโยชน์ยิ่งถ้าสามารถทำได้ เพราะจะส่งผลให้เกิด Autophagy คือกระบวนการที่เซลล์กลืนกินตัวเองหรือกระบวนการฟื้นฟูของเซลล์ ที่ช่วยให้ร่างกายของเรากำจัดเซลล์เก่าๆที่เสื่อมหมดประสิทธิภาพออกไปและสร้างเซลล์ใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิมขึ้นมาทดแทน เมื่อร่างกายกินอยู่ตลอดเวลา ร่างกายก็จะต้องทำงานโดยการย่อยอาหารที่เรากินเข้าไป และทำให้ไม่มีเวลาสำหรับฟื้นฟู ไม่มีพลังงานเหลือสำหรับกระตุ้นให้เกิด Autophagy
1. สำหรับรูปแบบในการทำ IF นั้น มีอยู่หลากหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมแพร่หลายอยู่ทั่วโลกใช้กันมากว่า 10ปีแล้ว ในเวลานี้ยังเป็นวิธีลดน้ำหนักฮิตในหมู่ผู้บริหารและคนรุ่นใหม่มากมาย คือจะเริ่มต้นด้วยรูปแบบ 16/8 คือการงดกินอาหารทุกวัน วันละ 16 ชั่วโมง และในทุกๆวันเราจะกินอาหารได้ 8 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็น 2-3 มื้อต่อวัน แต่ต้องอยู่ในช่วงเวลา 8ชม. เท่านั้น ซึ่งในระหว่างวันเราสามารถดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลและไม่มีสารให้ความหวาน เช่นชา กาแฟดำ ใครที่จะเริ่มทำ IF ต้องรู้อีกนิดนึงว่า เราจะแบ่งเวลาการกินออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงอด (Fasting) ช่วงกิน (Feeding) จะบอกว่าประโยชน์หลัก ๆ ของการทำ IF คือ ช่วยยกระดับการเผาผลาญไขมันให้กับร่างกาย ดังนั้นน้ำหนักจากการสะสมของไขมันจึงลดตามไปด้วย โดยหลักการเผาผลาญคือ เมื่อเราอยู่ในช่วงอดอาหาร ระดับอินซูลินจะลดลง ระดับ Growth Hormone สูงขึ้น การอดระยะสั้นสลับกันไปนี้จะช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกายได้ 3.6-14% เลยทีเดียว แถมยังช่วยลดไขมันสะสมรอบเอวโดยเฉพาะไขมันไม่ดี โดยไม่ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลงเหมือนการอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักอย่างต่อเนื่องด้วย นอกจากประโยชน์ที่ว่ามาแล้ว การทำ IF ยังมีประโยชน์อีกมากมาย นอกจากจะช่วยเรื่องลดน้ำหนักแล้ว ยังช่วยลดไขมันในเลือดได้โดยตรง อีกทั้งยังช่วยลดการอักเสบของร่างกาย ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ เบาหวาน ความอ้วน และโรคมะเร็ง ช่วยยกระดับระบบความจำและสมอง รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้สุขภาพดีและอายุขัยยาวนานขึ้นนั่นเอง มาถึงตรงนี้เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็ยังนึกไม่ออกว่าแล้วจะอดตอนไหน กินตอนไหนดี ถึงจะลดไขมันได้เร็วที่สุด ซึ่งตัดสินใจได้ด้วยตัวคุณเองว่า ชีวิตของคุณจะกินมื้อเช้ากี่โมง มื้อกลางวันกี่โมง มื้อเย็นกี่โมง แต่ต้องอยู่ภายใน 8 ชั่วโมง เช่น มื้อเช้ากิน 07.00 น.มื้อกลางวัน12.00น. มื้อเย็นต้องจบก่อน 15.00 น.หรือกินวันละ2มื้อ มื้อเช้า09.00น. มื้อเย็นจบก่อน17.00น. เพื่อให้มีช่วงงดอาหาร 16 ชั่วโมงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิต มีสุขภาพที่ดีในที่สุด แต่เมื่อไหร่ที่เราหยุดกินอาหาร เมื่อร่างกายหยุดย่อยอาหาร ก็จะทำให้ร่างกายมีเวลามีพลังงานเหลือสำหรับกระตุ้นให้เกิด Autophagy และเวลาที่เราต้องการพักกระเพาะคืออย่างน้อย 14 หรือ 16 ชั่วโมง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายเผาผลาญพลังงาน ไกลโคเจน (Glycogen) จนหมดไปจากตับ
2.แบบ IF 18/6 คือ การอดอาหาร 18 ชั่วโมง และการกินอาหาร 6 ชั่วโมง รูปแบบ 18/6 นี้ เหมาะสำหรับผู้ที่สามารถปฏิบัติผ่านมาจากรูปแบบ 16/8 มาแล้ว และต้องการพัฒนาตนเองให้สุขภาพดียิ่งขึ้นต่อไป เพราะกระบวนการ AUTOPHAGY มักจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการอดอาหารเป็นเวลาประมาณ 18-20 ชั่วโมง ข้อน่าสังเกตในรูปแบบที่สอง IF 18/6 นี้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์สาวกของท่าน ฉันอาหารเที่ยงวันไปแล้วจนถึงอรุณขึ้น ซึ่งเท่ากับให้อดฉัน 18 ชั่วโมง และให้ฉันได้ 6 ชั่วโมงเช่นกัน พระไตรปิฎก ภัททาลิสูตร พระภัททาลิฉันอาหารหนเดียวไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตว่า” ดูกรภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้ แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้.”
3.แบบ IF 23/1 คือ การอดอาหาร 23 ชั่วโมง และการกินอาหาร 1 ชั่วโมง เหมาะสำหรับผู้ที่สามารถปฏิบัติผ่านมาจากรุปแบบ 18/6 มาแล้ว และต้องการพัฒนาตนเองให้สุขภาพดียิ่งขึ้นต่อไปอีก เพราะกระบวนการ AUTOPHAGY จากผลการวิจัย ช่วงเวลาที่จะได้ประโยชน์เต็มที่คือประมาณ 24-48 ชั่วโมง ข้อน่าสังเกตุในรูปแบบที่สาม IF 23/1 นี้ ปรากฏในพระไตรปิฎก หลายพระสูตรด้วยกัน ว่าพระพุทธเจ้าฉันวันละมื้อเดียว เช่นในภัททาลิสูตร “ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัต
ครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่
สำราญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่า
เมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มี
โรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ.”
4 รูปแบบ IF 47/1 คือ การอดอาหาร 47 ชั่วโมง และการกินอาหาร 1 ชั่วโมง ADF (Alternate Day Fasting) : คือการอดอาหารแบบวันเว้นวัน ซึ่งวิธีค่อนข้างฮาร์ดคอร์ที่สุด เพราะต้องอดอาหาร 1 วัน กินอาหาร 1 วัน แล้วกลับมาอดอีกหนึ่งวัน หรือการกินวันเว้นวัน หรือการกินที่เว้นสองวัน เช่นรูปแบบ IF 5/2 คือกิน 5 วัน อด 2 วัน เหมาะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติผ่านรูปแบบ IF 23/1 มาแล้ว และต้องการพัฒนาตนเองให้สุขภาพตนเองดียิ่งๆขึ้นไปอีก เพราะกระบวนการ AUTOPHAGY จากผลงานวิจัย ช่วงเวลาที่จะได้ประโยชน์เต็มที่คือประมาณ 24-48 ชั่วโมง
5 รูปแบบ IF 71/1 คือ การอดอาหาร 71 ชั่วโมง และการกินอาหาร 1 ชั่วโมง หรือการกินอาหาร 1 วัน เว้น 3 วัน แต่รูปแบบนี้ไม่น่าสนใจเท่าใดนัก แม้ผลงานวิจัยกระบวนการ AUTOPHAGY จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนกระทั่ง 48-72 ชั่วโมง แต่โดยช่วงเวลาที่จะได้ประโยชน์เต็มที่คือประมาณ 24-48 ชั่วโมง หรือใช้รูปแบบ IF 47/1 การกินวันเว้นวัน ก็ได้รับประโยชน์เต็มที่แล้ว
จากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในสมัยปัจจุบัน ทำให้เราเข้าใจถึงเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงได้บัญญัติและให้ความสำคัญในเรื่องอาหารไว้ว่า การฉันอาหารมื้อเดียว มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายถึง 5 ประการคือ 1 เป็นผู้มีอาพาธน้อย 2 มีโรคเบาบาง 3 กายเบา 4 มีกำลัง 5 อยู่สำราญ แต่ท่านก็ยังอนุญาตให้ฉันได้วันละสองมื้อแต่ไม่ให้เลยเที่ยงวัน เท่ากับท่านให้อดวันละ 18 ชั่วโมง กินวันละ 6 ชั่วโมง ดังนั้นข้อสรุปของการกินอาหารของคนเรา ที่ควรปฏิบัติคือ ควรกินเมื่อตะวันขึ้นและจบลงก่อนตะวันตก แต่ถ้าจะให้กระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์เกิดขึ้น ( AUTOPHAGY ) ก็ต้องอดวันละ 18 ชั่วโมง กินวันละ 6 ชั่วโมง เช่นเริ่มกิน 09.00 จบก่อน 15.00 ถ้าต้องการสุขภาพที่ดีไปกว่านั้นและได้บุญด้วย ก็ใช้รูปแบบ IF 23/1 ในทุกวันพระ เพราะเท่ากับถือศีล 8 ไปด้วย พวกเราโชคดีที่ได้เกิดมาและพบพระพุทธศาสนา พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งที่ท่านได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติจะพึงเห็นและได้รับผลด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด กราบนมัสการพระพุทธเจ้า
ที่มา
อมร ชุติมาวงศ์ จันทร์ 7 มิถุนายน 2564
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น