สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ทรงปฏิบัติบำเพ็ญทั้งต่อพระองค์และต่อคณะสงฆ์ พุทธบริษัท ชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการมายาวนาน ถ้าคณนาโดยพระชนมายุ ก็ถึง ๑๐๐ ปี โดยพระสมณฐานันดรที่สกลมหาสังฆปริณายกก็ถึง ๒๔ ปี ซึ่งนับว่ายาวนานกว่า สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใดในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
กล่าวโดยพระสมณกิจอันนับเนื่องในบรมนาถบพิตร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ได้ทรงสนองพระราชกิจจานุกิจอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องมาทั้ง ๒ รัชกาล กล่าวคือ
ในบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ได้ทรงปฏิบัติพระสมณกิจ ฉลองพระเดชพระคุณ เริ่มแต่ครั้งเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นต้นมา โดยทรงรับพระภาระเป็นพระอภิบาลและร่วมถวายพระธรรมวินัยใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติและสมณวัตรจริยาระหว่างที่เสด็จประทับ ณ พระปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน
แม้เมื่อทรงลาผนวชเสด็จคืนสู่พระราชภารบริหาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ยังได้ถวายธรรมานุศาสน์ตามกาลานุกาล ถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเสสกถาและพระธรรมกถาในการพระราชพิธีมาโดยตลอด สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้นจึงทรงเป็นที่ทรงเคารพบูชาในสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ บรมนาถบพิตร เป็นที่ยิ่ง
ในบรมนาถบพิตร รัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ก็ได้ทรงปฏิบัติพระสมณกิจ ฉลองพระราชกิจจานุกิจมาแต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ นับแต่ทรงเป็นผู้คิดพระนามถวายประกอบพระราชดำริแต่เมื่อแรกพระราชสมภพ ได้ถวายพระอนุศาสนีและพระศาสโนวาทในโอกาสต่าง ๆ แต่ครั้งยังทรงเป็นพระราชกุมาร ทั้งได้เสด็จมาถวายสักการะและทรงสนทนาธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร บ่อยครั้ง กระทั่งเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็น พระราชกรรมวาจาจารย์ และรับภาระเป็นพระอาจารย์ถวายพระธรรมวินัยตลอดเวลาที่ทรงผนวชเสด็จประทับ ณ พระปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ก็ยังได้ถวายธรรมานุศาสน์ และถวายธรรมกถาตามกาลานุกาลตลอดมา
การที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระอัฐิสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร นับว่าเป็นเหตุการณ์วิเสสอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย เพราะไม่เคยมีมาก่อน และนับเป็นแบบธรรมเนียมที่เริ่มมีขึ้นในรัชกาลนี้เป็นปฐม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น