ทหารก็ยิง กระสุนปืนใหญ่ตกหน้าเรือรบที่กำลังแล่นเข้ามา น้ำแตกเป็นฝอยกระจาย
วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) กองเรือรบฝรั่งเศสแล่นถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นยามเย็นโพล้เพล้ใต้แสงสุดท้ายของวัน เรือกลไฟ ฌอง บัปติสต์ เซย์ นำร่องเบิกทางให้เรือปืนแองกองสตองต์กับโกแมตรุกฆาตประเทศสยาม
อาทิตย์อัสดง หัวใจชาวสยามเต้นระทึก สงครามกำลังเกิดขึ้น
นอกจากอังกฤษที่ล่าอาณานิคมในโลกตะวันออก ฝรั่งเศสก็เป็นนักล่าตัวยง ขยายอิทธิพลมาตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๑๐
ฝรั่งเศสเข้ามาสยามอีกครั้งในยุครัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๓๙๙ ตรงกับยุคจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ของฝรั่งเศส เป็นส่วนหนึ่งของการแผ่อิทธิพลในอินโดจีน
การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ทำให้ฝรั่งเศสก็ต้องการเค้กชิ้นนี้ สยามเองต้องการใช้ฝรั่งเศสคานอำนาจกับอังกฤษ โดยเฉพาะเมื่อเห็นอังกฤษครอบครองพม่าได้กว่าครึ่งในปี พ.ศ. ๒๓๙๖
สยามทำสนธิสัญญาทางการค้ากับฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๘ โดยให้มีผลบังคับใช้ในปีถัดมา
แต่ฝรั่งเศสต้องการเค้กชิ้นใหญ่กว่านั้น
ราชอาณาจักรล้านช้างในสมัยก่อนไม่มีการแบ่งแยกเป็นฝั่งซ้ายฝั่งขวา ลาวกับไทยเป็นดินแดนเดียวกัน เชื้อชาติ ศาสนา ภาษาพูด ขนบธรรมเนียมประเพณี ก็คล้ายกัน สยามปกครองแคว้นลาวเช่นประเทศราช โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน แต่งตั้งเชื้อพระวงศ์ล้านช้างให้ปกครองกันเอง ภาคเหนือปกครองโดยหลวงพระบาง ภาคกลางปกครองโดยเวียงจันทน์ ภาคใต้ปกครองโดยจำปาศักดิ์
ความวุ่นวายเริ่มเมื่อฝรั่งเศสคิดขยายอำนาจเหนือดินแดนลาว อาศัยช่วงที่สยามไม่สามารถดูแลหัวเมืองชายแดนได้ทั่วถึง และวุ่นกับการปราบกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เช่น พวกฮ่อที่รุกจากสิบสองจุไทลงมาตีเมืองหลวงพระบางในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ ฝรั่งเศสเห็นเป็นโอกาสดี ก็ส่งทหารไปช่วยขับไล่พวกจีนฮ่อในแคว้นสิบสองจุไท แล้วไม่ยอมถอนทหารกลับ มีการเจรจากันระหว่างกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศกับนายออกุสต์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสประจำนครหลวงพระบาง แต่ไม่เป็นผล
เป้าหมายแรกของฝรั่งเศสคือยึดดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวจรดชายแดนเขมร ฝรั่งเศสสร้างอิทธิพลในภูมิภาคลาว หาเหตุให้ลาวขัดแย้งกับสยาม โดยเฉพาะเมื่อนายออกุสต์ ปาวี ได้เป็นเป็นกงสุลประจำสยาม
ความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสสะสมมาเรื่อย ๆ ด้วยหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ เช่นกรณีบางเบียน ฝ่ายสยามมีความขัดแย้งกับบางเบียน ชาวลาวในปกครองของฝรั่งเศสในเรื่องการทำแผนที่ปักปันเขตแดน จนเป็นสาเหตุให้เกิดการปะทะกันที่ทุ่งเชียงคำเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๔ สยามจับตัวบางเบียน
นายออกุสต์ ปาวี เรียกร้องให้รัฐบาลสยามปล่อยตัวบางเบียน แต่สยามไม่ยอม
ต่อมาเกิดกรณีเมืองท่าอุเทน ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ พระยอดเมืองขวาง เจ้าเมืองคำม่วนสั่งขับพ่อค้าฝรั่งเศสสามคนจากแม่น้ำโขงตอนกลาง สองคนในนั้นคือช็องเปอนัวส์ และเอสกิโลต์ ลักลอบค้าฝิ่น นายออกุสต์ ปาวี เรียกร้องให้รัฐบาลสยามจ่ายค่าเสียหาย สยามปฏิเสธ
ไม่นานจากนั้น กงสุลฝรั่งเศสในหลวงพระบางชื่อนายมาสสี ฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ที่เมืองจำปาศักดิ์ การฆ่าตัวตายของมาสสีและเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นถูกโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดการต่อต้านรัฐสยาม ใส่ร้ายว่าสยามเป็นต้นเหตุให้มาสสีตาย แล้วใช้เป็นข้ออ้างใช้มาตรการที่เด็ดขาดกับสยาม
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสประกาศว่าดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงทั้งหมดไม่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม
หนึ่งเดือนต่อมา ฝรั่งเศสก็ส่งกองทัพเข้าไปและอ้างสิทธิครอบครองดินแดนลาว รัฐสยามขอเจรจา ฝรั่งเศสปฏิเสธข้อเสนอฝ่ายสยาม กลับส่งเรือรบ เลอ ลูแตง เข้าไปจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ท่าทีของฝรั่งเศสแสดงชัดว่าไม่สนใจเจรจาด้วยสันติวิธี แต่เจตนาใช้เรือปืนเป็นเครื่องมือต่อรองผลประโยชน์
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงเสนอให้ใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศช่วยตัดสินกรณีพิพาท ขอให้สหรัฐอเมริกาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ฝรั่งเศสปฏิเสธ ยืนกรานว่าไทยต้องยกดินแดนฝั่งซ้ายให้
ทันใดนั้นสยามก็เตรียมรับศึก ปรับปรุงป้อมต่าง ๆ ตามหัวเมืองชายทะเลตะวันออก สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าที่แหลมฟ้าผ่า สั่งซื้อยุทธภัณฑ์เพิ่มจากต่างประเทศ ส่งทหารไปประจำที่เกาะกง แหลมงอบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จตรวจความพร้อมด้วยพระองค์เอง
นอกจากนี้ก็จมเรือสำเภาและเรือบรรทุกหินในแม่น้ำเพื่อใช้เป็นแนว บังคับให้เรือศัตรูเดินตามเส้นทางที่กำหนด รองรับด้วยปืนใหญ่
.
ฟางเส้นสุดท้ายคือเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ พระยอดเมืองขวาง ข้าหลวงเมืองคำม่วนฝ่ายสยามถูกกล่าวหาว่าฆ่าผู้ตรวจราชการฝรั่งเศสและชาวอินโดจีนหลายคน กรณีนี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อรุกรานสยาม
วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ กองเรือรบฝรั่งเศสแล่นถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ฝ่ายสยามแจ้งฝรั่งเศสว่านี่เป็นการละเมิดอธิปไตยของสยาม
ฝรั่งเศสไม่สนใจ พลเรือตรี เอ็ดการ์ อูมัน วัยห้าสิบห้า รู้ว่าสยามเตรียมการรบ ทว่าพวกเขามั่นใจในพลานุภาพฝ่ายตน
การรบอุบัติ
อาทิตย์อัสดง หัวใจชาวสยามเต้นระทึก สงครามกำลังเกิดขึ้น
ผู้บังคับการป้อมพระจุลจอมเกล้าสั่งทหารยิงเตือน
“ยิง” ปืนเตือนนัดแรกคำรามกึกก้อง เรือรบฝรั่งเศสไม่หยุด
“ยิง” ปืนเตือนนัดที่สองตามมา
เรือรบฝรั่งเศสเดินหน้าไม่หยุด คราวนี้ผู้บังคับการสั่งใช้กระสุนจริง มันตกลงในน้ำเบื้องหน้าเรือฌอง บัปติสต์ เซย์
แล้วยุทธนาวี ณ ปากน้ำเจ้าพระยาก็ระเบิด ในแสงสุดท้ายของวัน ทั้งสองฝ่ายยิงใส่กัน
เรือปืนฝรั่งเศสจมเรือปืนฝ่ายสยามได้หนึ่งลำ แต่เรือฌอง บัปติสต์ เซย์ ถูกปืนใหญ่สยามยิงเกยตื้นที่แหลมลำพูราย
เรือแองกองสตองต์และโกแมตอาศัยความสลัวของต้นราตรีแล่นฝ่าปราการต่าง ๆ เข้ามาได้ ทหารไทยเสียชีวิตแปดคน บาดเจ็บสี่สิบคน ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิตสามคน บาดเจ็บสามคน
ครั้นถึงยามเช้า ทหารไทยมุ่งหน้าไปที่เรือฌอง บัปติสต์ เซย์ หมายจะจมเรือ แต่ไม่สำเร็จ ทัพฝรั่งเศสส่งเรือปืนฟอร์แฟตมาช่วย ทั้งสองฝ่ายยิงสู้กัน ฟอร์แฟตถอยกลับ
เรือแองกองสตองต์และโกแมตในสภาพถูกยิงแล่นฝ่ากระสุนไปจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม แองกองสตองต์และโกแมตหันกระบอกปืนไปที่พระบรมมหาราชวัง พร้อมกับที่นายออกุสต์ ปาวี ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลสยามหกข้อ ให้ตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง
๑. ให้สยามเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่าง ๆ
๒. ให้สยามรื้อถอนด่านทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือน
๓. ให้สยามจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำพวน และจ่ายค่าเสียหายที่ฝรั่งเศสได้รับจากการรบ
๔. ให้สยามลงโทษทหารไทยที่ยิงปืนใส่เรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำ
๕. ให้สยามชดใช้ค่าเสียหายต่อฝรั่งเศสเป็นเงินสองล้านฟรังก์
การที่เรือรบฝรั่งเศสบุกเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงเป็นภาพที่คนไทยทั้งประเทศตะลึง ราชสำนักสยามตกอยู่ในสภาวะสับสนอลหม่าน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงตั้งความหวังว่าอังกฤษจะช่วยฝ่ายไทย แต่อังกฤษปฏิเสธ
ในระหว่างที่รอคำตอบจากฝ่ายไทย ฝรั่งเศสเตรียมเรือรบมาสมทบอีกเก้าลำ เรือลูแตงเข้ามาเสริมก่อน นอกจากนี้ก็มีเรือฟอร์แฟต เรือลียง เรืออาสปิก เรือวีแปร์ เรือปาแปง เรือตรียงฟังต์ เรืออาลูแอตต์ กับเรือตอร์ปิโดสองลำ ทั้งหมดได้รับคำสั่งให้มาปิดอ่าวไทย
แผนการรบของฝรั่งเศสคือทำลายกองเรือรบสยามให้สิ้นซากก่อน แล้วออกไปโจมตีป้อมต่างๆ ค่อยกลับมาปิดกรุงเทพฯอีกครั้ง
ในระหว่างการเผชิญหน้ากันของสองชาติ พระยาชลยุทธโยธินทร์ แม่ทัพเรือคนหนึ่งของกองทัพเรือสยามชาวเดนมาร์ก (ชื่อเดิม Andreas Richelieu) ทูลขอพระบรมราชานุญาตนำเรือพระที่นั่งมหาจักรี เข้าประจัญบานเรือรบฝรั่งเศส แต่พระองค์ไม่ทรงอนุญาต เหตุผลเพราะกำลังเรือรบสยามสู้ฝรั่งเศสไม่ได้ และมีจำนวนน้อยกว่าการรบกับฝรั่งเศสในช่วงนั้น จะทำให้ฝรั่งเศสฉวยโอกาสยึดสยามเป็นเมืองขึ้น เช่นเดียวกับที่ทำกับญวน เขมร และล้านช้าง
เมื่อไม่มีชาติตะวันตกชาติใดคิดเข้ามาปรามฝรั่งเศส รัฐสยามไม่มีทางเลือก ยอมรับทุกข้อ ยกเว้นการเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ฝรั่งเศสจึงส่งเรือรบไปที่เกาะสีชัง ปิดล้อมอ่าวไทย สยามจำต้องยอมรับเงื่อนไขของฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง แต่รัฐบาลฝรั่งเศสได้คืบเอาศอก ขอเพิ่มเติมเงื่อนไขคือ ขอยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายครบถ้วน นอกจากนี้ยังให้สยามถอนกำลังทหารออกจากเมืองพระตะบองและเสียมราฐ และพื้นที่ในรัศมี ๒๕ กิโลเมตรบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
สยามยอมรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมมาโดยไร้ทางเลือก
เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ สิ้นสุดลงด้วยการลงนาม ‘สนธิสัญญาสันติภาพ’ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖
สยามพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง
แต่จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย?
.
เสนาบดีพระคลังถวายรายงานว่า “จำนวนเงินในพระคลังไม่พอกับที่พวกฝรั่งเศสเรียก”
พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งตรัสว่า “ยังมีเงินถุงแดง”
เงินถุงแดงคือเงินพระคลังข้างที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเก็บสะสมไว้ เก็บไว้ในถุงแดง
สมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงมีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนมากตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ เพราะทรงค้าสำเภาเป็นการส่วนพระองค์ ครั้นครองราชย์แล้ว ก็ทรงจัดเรื่องการค้าสำเภาหลวงด้วย เป็นที่มาของเงินถุงแดง
“พระราชทรัพย์เหล่านี้สมเด็จพระนั่งเกล้าฯตรัสว่า ให้เก็บไว้เผื่อไถ่บ้านไถ่เมือง”
“มีจำนวนเท่าใด?”
“สมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงมีเงินในพระคลังข้างที่เหลือจากจับจ่ายในราชการแผ่นดินจำนวนสี่หมื่นชั่ง ทรงขอไว้หนึ่งหมื่นชั่งเพื่อสร้างวัดที่ค้างไว้ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ เงินแผ่นดินที่ส่งต่อมานั้นมีจำนวนมากกว่าที่อ้างถึงอีกห้าพันชั่ง รวมทั้งหมดเป็น ๔๕,๐๐๐ ชั่ง”
อันเงินถุงแดงที่รัชกาลที่ ๓ ทรงเก็บไว้เป็นเหรียญเงินเม็กซิโก ด้านหนึ่งเป็นรูปนกอินทรีกางปีก เรียกว่า เหรียญนก เวลานั้นเงินเม็กซิโก เปรู รูปีของอินเดีย เป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันทั่วไปในภูมิภาค
เงินถุงแดงซื้อเอกราชให้ประเทศ
สยามจ่ายเงินให้ฝรั่งเศสสองล้านห้าแสนฟรังก์ ก้อนหนึ่งชำระผ่านธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ อีกก้อนหนึ่งชำระด้วยเหรียญนกจากท้องพระคลังจำนวน ๘๐๑,๒๘๒ เหรียญ หนักถึง ๒๓ ตัน (๑ เหรียญเม็กซิกันมีค่าเท่ากับเงินฝรั่งเศส ๓.๒๐ ฟรังก์ เทียบเท่า ๒,๕๖๔,๑๐๒ ฟรังก์) เจ้าหน้าที่ขนเหรียญนกออกจากวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือที่ท่าราชวรดิฐทั้งกลางวันและกลางคืน
ทหารฝรั่งเศสยินดีปรีดาที่รบชนะ ขนเงินไปไซ่ง่อนจำนวนมหาศาล
บันทึกฝรั่งเศสเขียนว่า “ด้วยนายทหารฝรั่งเศสเพียง ๕๐ นาย ทหารญวน ๑๕๐ นาย และผู้เชี่ยวชาญทางปืนใหญ่อีก ๔-๕ นาย ก็สามารถยึดสยามทั้งประเทศไว้ได้สำเร็จ”
วันที่ ๓ กันยายน เรือลูแตงบรรทุกเงินจำนวนมหาศาลไปถึงไซ่ง่อน สองวันต่อมาก็เริ่มขนย้ายเงินที่กองไว้ขึ้นบก เหรียญนกมีจำนวนมากมายเกินจะนับกัน ต้องใช้การชั่งน้ำหนักแทน
เหตุการณ์ครั้งนี้ สยามเสียดินแดนครั้งใหญ่ คือราชอาณาจักรลาวเกือบทั้งหมด และสิบสองจุไทย รวมเนื้อที่ประมาณ ๑๔๓,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร
อังกฤษผสมโรงถ่มน้ำลายใส่คนไทยทั้งชาติ หนังสือพิมพ์ The Sketch ฉบับวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ลงภาพการ์ตูนล้อเลียนกองทัพสยาม เป็นรูปทหารไทยเป็นหุ่นไม้แข็งทื่อปล่อยให้ทหารฝรั่งเศสแทงตามใจชอบ แสดงให้โลกเห็นว่าสยามเป็นลูกไก่ในกำมือของฝ่ายตะวันตกหลายปีผ่านไป แม้สยามปฏิบัติตามสัญญาหกข้อครบถ้วน ฝรั่งเศสยังไม่ยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี ธาตุแท้ของหมาป่าเผยโฉม ครั้งนี้ต้องการยึดครองจันทบุรีอย่างถาวร
รัชกาลที่ ๕ ทรงมีรับสั่งให้เสนาบดีว่าการต่างประเทศและอัครราชทูตพิเศษที่กรุงปารีส พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เจรจากับฝรั่งเศสให้ถอนทหารออกจากจันทบุรี
ฝ่ายฝรั่งเศสกล่าวว่า “เรามีทหารฝรั่งเศสแค่ ๒๕ คนรักษาเมืองจันทบุรี คนแค่นี้ไม่ถือว่าเป็นการยึดครอง”
“ทหารต่างชาติหนึ่งคนในแผ่นดินของเราก็ถือว่าเป็นการยึดครอง”
“เราต้องเสียค่าใช้จ่ายปีละสองล้านฟรังก์ปกครองจันทบุรี เราจะทิ้งค่าใช้จ่ายนี้ได้อย่างไร?”
“เราขอร้องให้พวกท่านช่วยปกครองจันทบุรีหรือ?”
“ถ้าเราไม่ไป พวกท่านจะทำอะไรหรือ?”
สยามก็ทำอะไรกับฝรั่งเศสไม่ได้จริง ๆ ในที่สุดสยามก็ถูกบีบให้ลงนามอนุสัญญา ณ กรุงปารีสวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๖ และพิธีสารลงนามวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๗ สยามยกมโนไพร จำปาศักดิ์ หลวงพระบางฝั่งขวา เมืองด่านซ้ายและเมืองตราด ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหาร ‘๒๕ คน’ ออกจากจันทบุรี
แต่ฝรั่งเศสยังไม่สิ้นลายหมาป่า เสนอให้สยามแลกนครวัดซึ่งเป็นของสยามกับเมืองด่านซ้ายและเมืองตราด การเจรจาดำเนินต่อไป ฝ่ายสยามมีนายเอ็ดเวิร์ด สโตรเบล ที่ปรึกษาราชการ ฝ่ายฝรั่งเศสมีนายวิกเตอร์ คอลแลง เดอ ปลังซี อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม
ในที่สุดสามารถทำข้อตกลงเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ สาระสำคัญคือสยามยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส แลกกับที่ฝรั่งเศสยกเมืองด่านซ้าย เมืองตราด และเกาะต่าง ๆ จำนวนหนึ่งคืนให้ไทย และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่มีผลหลังลงนามในหนังสือสัญญานี้
เป็นการสิ้นสุดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ที่ยืดเยื้อมาสิบสามปี
ชาวสยามทั้งแผ่นดินยุคนั้นหลั่งน้ำตา จดจำว่าฝรั่งเศสยุคนั้นรังแกเราอย่างไร
ตลอดช่วงเวลาวิกฤตินั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯทรงพยายามแก้ไขวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ทั้งวิธีทางการทูต ไปจนถึงการขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจอื่น แต่ไม่เป็นผล การเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง น้ำพระเนตรไหล และทรงพระประชวร
ทว่าทรงมองภาพกว้างว่า มันเป็นการเสียอวัยวะ (เมือง) เพื่อรักษาชีวิต (ประเทศ)
ตามข้อเขียนของมหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) : “ทรงรับสั่งเป็นเชิงปรารภว่า การเสียเขตแดนแต่เพียงเล็กน้อยตามชายพระราชอาณาจักรซึ่งเราเองก็ทำนุบำรุงรักษาให้เจริญเต็มที่ไม่ได้นั้น ก็เปรียบเหมือนกับเสียปลายนิ้วของเราไป ยังไกลอยู่ รักษาหัวใจกับตัวไว้ให้ดีก็แล้วกัน”
ทว่าทรงรู้ดีว่าหากลูกแกะไม่ทำอะไร หมาป่าได้คืบจะเอาศอกต่อไปไม่สิ้นสุด
สี่ปีหลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เป้าหมายเพื่อหาพันธมิตรมาคานอำนาจศัตรู
ซาร์ นิโคลาสที่ ๒ แห่งรัสเซีย
.ที่มา
จาก ประวัติศาสตร์ที่เราลืม เล่ม ๒
วินทร์ เลียววาริณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น