พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงกังวนพระราชหฤทัยยิ่งข้อหนึ่งก็คือ นายช่างที่จะทำการก่อสร้าง ทั้งนี้เนื่องจากแต่แรกที่เดียวทรงพระราชดำริที่จะสร้างพระที่นั่งอันเป็นท้องพระโรงองค์ใหม่นี้ตามสถาปัตยกรรมไทยแบบขนบโบราณ แต่มีข้อติดขัดอยู่ว่า นายช่างที่มีฝีมือถึงขนาดอันอาจจะทำการฉลองพระเดชพระคุณได้ตามพระราชประสงค์ มีเพียงพระยาราชสงคราม (กรหงสุล) ผู้เดียวเท่านั้น ทรงวิตกว่า การจะไม่เป็นไปโดยตลอดลอดฝั่ง ก็จะกลับเป็นการเสียพระเกียรติยศไปในนามประเทศ จำเป็นจะต้องจ้างช่างฝรั่งจากต่างประเทศเข้ามาช่วยทำการ ความกังวลพระราชหฤทัยข้อนี้ ได้เคยมีพระราชกระแสรับสั่งกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ในระหว่างเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทครามหนึ่ง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้บันทึกพระราชกระแสไว้ว่า
“พระองค์ทรงแสดงพระราชโทมนัสมาก ถึงแก่รับสั่งว่า ต่อไปข้างหน้าเขาคงพากันติอินว่า สมัยพระจุลจอมเกล้าฯนี้ ช่างโปรดตึกฝรั่งเสียจริงๆ”
(ประกาศกระทรวงวัง ให้เรียกนามพระที่นั่งที่จะสร้างขึ้นใหม่ที่วังสวนดุสิต ว่าพระที่นั่งอนันตสมาคม)
_________________________________
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิต ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นพระที่นั่งใหญ่ที่สร้างเป็นองค์สุดท้ายของพระราชวังนี้ กล่าวคือ สร้างหลังจากเริ่มสร้างพระราชวังดุสิตมา 10 ปี ในปี พ.ศ.2451 เป็นพระราชวังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสร้างอย่างหรูหราที่สุดในรัชกาลที่ 5 ใช้เวลาสร้างกว่า 8 ปี จนสำเร็จสมบูรณ์ในปีพ.ศ.2459 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ออกแบบและก่อสร้างโดยคณะวิศวกรสถาปนิกอิตาเลียนของกรมโยธาธิการ นำโดยคาร์โล อัลเลอกรี วิศวกรใหญ่ มาริโอ ตามานโย และแอนนิบาลเลริกอตตีเป็นสถาปนิก เขียนแบบตามกระแสพระบรมราชโองการ
ดังนั้นการที่มีผู้เขียนต่างๆ กล่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดตั้งแต่แรกจะให้เป็นแบบไทยนั้น น่าพิจารณาดูว่าเป็นไปได้เพียงไร และถ้าเป็นดังนั้น “อาคารแบบไทย” ที่ไม่ได้สร้างนั้น จะเข้าได้กับพระที่นั่งอื่นในพระราชวังดุสิตได้เพียงไร
(สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในสยามสมัยรัชกาลที่ 4 - พ.ศ.2480 / สมชาติ จึงสิริอารักษ์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น