15 มิถุนายน 2563

15 มิถุนายน วันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ



วันนี้ในอดีต
15 มิถุนายน พ.ศ. 2310
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เข้ายึดเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ

ความสำคัญของการที่ต้องยึดเมืองจันทร์ ก็เพื่อใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและรวบรวมกำลังพลในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า

เมื่อวันที่ 3 มกราคม พระยาตากเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจร่วมกับพระยาพิชัย พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี พร้อมด้วยทหารกล้าราว 500 คน มีปืนเพียงกระบอกเดียว แต่ชำนาญด้านอาวุธสั้น ยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัย และตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าไปทางทิศตะวันออก มุ่งตรงไปยังบ้านโพธิ์สังหาร

รุ่งเช้า ได้ต่อสู้กับกองทหารพม่าจนล้มตายและบางส่วนแตกหนีไป ก่อนเดินทางไปตั้งค่ายพักอยู่บ้านพรานนก ในขณะนั้นมีทหารพม่ากองหนึ่งซึ่งประกอบด้วยทหารม้าประมาณ 30 คน ทหารเดินเท้าประมาณ 200 คน เดินทางมาจากแขวงเมืองปราจีนบุรี สวนทางมาพบทหารพระยาตากที่เที่ยวหาเสบียงอาหาร ทหารพม่าก็ไล่ตามมา แต่ถูกกลอุบาย "วงกับดักเสือ"ถูกตีกระหนาบจนแตกหนีไป

พวกราษฎรที่หลบซ่อนพม่าอยู่ ทราบข่าวพระยาตากรบชนะพม่าก็พากันเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก พระยาตากจึงให้ราษฎรไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้านายซ่องมาสวามิภักดิ์ และให้นำช้างม้าพาหนะและเสบียงอาหารมาด้วย นายซ่องทั้งหลายไม่ยอมอ่อนน้อมก็ถูกปราบปรามจนราบคาบริบพาหนะ ผู้คน ช้าง ม้า และศาสตราวุธได้เป็นจำนวนมาก

หลังจากนั้นเจ้าตากจึงยกกองทหารไปทางนาเริง เมืองนครนายก ผ่านด่านกบแจะ ข้ามลำน้ำปราจีนบุรี ไปตั้งพักอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ข้างฝั่งตะวันออก พม่าที่ตั้งทัพอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ หรือปากน้ำโจ้โล้ เมืองฉะเชิงเทรา

"หนี" เพื่อเอาตัวรอด หรือว่า "หนี" เพื่อตั้งหลัก ?
ในเบื้องต้นมีการศึกษาและถกเถึยงกันว่าพระเจ้ากตาก หนี เพื่อเอาตัวรอด หรือว่า หนี เพื่อตั้งหลัก

ซึ่งสมเด็จฯกรมดดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า เหตุผลเบื้องต้นของพระเจ้าตากเป็นการหนีเอาตัวรอดในตอนแรก และได้ก่อตั้งขบวนการกู้ชาติในภายหลัง และจากศึกษาของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ซึ่งได้วิเคราะห์เส้นทางกู้ชาติเอาไว้ว่า

วันที่ 9 กองทัพพระเจ้าตากเดิมทัพข้ามแม่น้ำที่ด่านกบแจะ เมืองปราจีนบุรี ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ใช้พิจารณาว่า หนี เพื่อเอาตัวรอด หรือว่า หนี เพื่อตั้งหลัก

เพราะเป็นเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดินทัพเก่าสมัยอยุธยาตอนต้นสำหรับเดินทัพไปรบกับเขมร และในช่วงเวลานั้นเขมรเปิดรับผู้ลี้ภัยสงครามคนสำคัญของไทยมากมายแต่เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วพระเจ้าตากได้วกลงใต้ไปยังทุ่งศรีมหาโพธิ์

ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะมุ่งหน้าไปฉะเชิงเทราและชลบุรี ซึ่งแสดงว่าพระเจ้าตากไม่ได้มีจุดหมายเพื่อหนี้ไปพึ่งเขมรแน่นอน

ทำไมพระเจ้าตากเลือกที่จะหนีไปทางตะวันออก?
ก่อนอยุธยาจะแตก หัวเมืองทั้งเหนือ ใต้ และตะวันตก ล้วนโดนควบคุมคุกคามอย่างนัก ในขณะที่หัวเมืองตะวันออกชายทะเลแทบจะไม่ถูกพม่ารบกวนเลย รวมทั้งเป็นดินแดนที่มีชาวแต้จิ๋วตั้งถิ้นฐานอยู่

พระยาตากได้ยกกองทัพผ่านเมืองฉะเชิงเทรา ชลบุรี แล้วจึงเดินทางต่อไปยังบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง เมื่อถึงเมืองระยอง เจ้าเมืองระยองซึ่งได้ยินกิติศัพท์ของพระยาตากก็ยอมอ่อนน้อมเชิญให้เข้าเมือง

นับตั้งแต่ได้ถอนตัวออกจากการป้องกันพระนครนั้น ภายในเวลาไม่ถึงเดือน ก็สามารถยึดเมืองระยองเป็นที่มั่นได้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่เหนือกว่าชุมนุมอื่น ๆ ในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

ชุมนุมกู้ชาติของพระเจ้าตากเริ่มต้นเมื่อใด?
หลังจากเดินทัพออกจากอยุธยา 23 วัน หรือก่อนกรุงแตก 3 เดือน พระเจ้าตากได้ประกาศตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าที่เมืองระยอง ทรงตรัสไว้ว่า...

"เราจะตั้งตัวเป็นเจ้า ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย"

ซึ่งในที่สุดก็เป็นผลดังที่ตั้งใจไว้คือ มีบรรดาไทยจีนและผู้นำท้องถิ้นมาขอพึ่งพระบารมีเป็นอันมาก

การประกาศยึดเมืองระยองได้กระทำกลางทุ่งนาและไพร่พลจำนวนมาก พระยาตากได้ประทับ ณ บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล และได้ประกาศแสดงแสนยานุภาพ แล้วเกิดพายุหมุนจนทำให้ต้นตาลต้นหนึ่งหมุนเป็นเกลียว เมื่อพายุหมุนหยุดแล้ว ต้นตาลที่หมุนจึงขดเป็นวงไม่คลายตัว

ปัจจุบันต้นตาลต้นนั้นยังอยู่หน้าวัดประดู่ ชาวบ้านเรียกกันว่า ตาลขด

หลังจากนั้น บรรดาแม่ทัพนายกองที่สวามิภักดิ์ ต่างพร้อมใจกันยกพระยาตากขึ้นเป็นผู้นำขบวนการกอบกู้แผ่นดิน และเรียกพระยาตากว่า เจ้าตาก

นับตั้งแต่นั้นมา ถึงแม้จะเป็นเสมือนผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง แต่เจ้าตากก็ระวังตนมิได้คิดตั้งตัวเป็นกบฏ ให้เรียกคำสั่งว่าพระประศาสน์อย่างเจ้าเมืองเอกเท่านั้น

ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 พม่าจุดไฟเผาเมืองจนวอดวาย พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า มีพระบรมราชโองการให้จับพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ และรวบรวมสมบัติทั้งหมดของอยุธยาส่งกลับไปพม่า

ข่าวกรุงแตกได้แพร่กระจาย ขณะที่พระยาตากอยู่ที่เมืองระยอง พระยาตากจึงได้ประกาศตนเป็นผู้นำในการที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และกอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้กลับรุ่งเรืองดังเดิม

เจ้าตากเดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ ในคราวนั้นเจ้าเมืองจันทบุรีนามว่าเจ้าขรัวหลาน(ยศเจ้าเมืองจันทบุรีเดิม) ชึ่งราษฎรเลือกขึ้นเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา โดยหวังว่าพระยาจันทบูรณ์จะช่วยปกป้องรักษาเมืองจันทบุรีให้อยู่รอดสืบต่อไป

พระยาจันทบูรณ์ได้ต่อต้านกองทัพของเจ้าตาก โดยได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เมืองจันทบุรีอยู่รอดเป็นอิสระ

เจ้าตากต้องการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่น เพื่อรวบรวมกำลังกลับมาตีพม่า จึงสั่งทหารทุกคนว่า

"เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะให้ได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว"

ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ครั้นถึงเวลา 19.00 น. เจ้าตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยและจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน

เมื่อถึงเวลาจึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ เมื่อเวลา 03.00 น. เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณ พร้อมกับบอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน

ส่วนเจ้าตากก็ไสช้างเข้าพังประตูเมืองจนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารเจ้าตากจึงกรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป

ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ

เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

ซึ่งเมื่อครั้งหนีออกจากอยุธยานั้นทรงมีไพร่พลติดตามไม่ถึง 1000 นาย แต่หลังจากตั้งตนเป็นเจ้าแล้ว กองทัพกู้ชาติอันเป็นกองกำลังผสมไทยจีนที่ก่อตั้งที่ระยองเพิ่มขึ้นเป็น 5000 น

ซึ่งเป็นกองกำลังสำคัญในการบุกยึดเมืองจันทรบุรี แล้วยกทัพเรือกลับมายึดธนบุรี จนกะทั้งตีพม่าแตกพ่ายที่ค่ายโพธิ์สามต้น ปิดฉากการเสียกรุงสำเร็จภายในเวลาเพียง 9 เดือน

ภาพประกอบ : พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงม้า พร้อมทหารคู่พระทัยทั้งสี่ คือพระเชียงเงิน หลวงพิชัยอาสา หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ณ สวนสาธารณะทุ่งนาเชย อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการกอบกู้บ้านเมือง ตามความตั้งใจของพระองค์ที่ทรงเลือกจังหวัดจันทบุรีเป็นที่รวบรวมกำลังพล


ที่มา

ที่มา อัษฏางค์ ยมนาค

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...