"เวลาสวดมนต์ไหว้พระ อย่าทำเป็นเล่น เห็นเป็นของสนุกคะนองปาก ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของสูง ควรค่าต่อการเคารพเป็นอย่างยิ่ง หากพากันเห็นเป็นของเล่นแล้ว ก็จะเป็นบาปเป็นกรรมกับตัวเอง นักปราชญ์ได้ยินท่านก็ตำหนิ เทวดาเขาก็พากันตำหนิ"
"เวลาไหว้พระสวดมนต์ ให้พากันตั้งใจสวดจริงๆ เวลาสวดก็ให้มีสมาธิจดจ่อลงไปในบทนั้นๆ มันถึงจะมีอานิสงส์เกิดขึ้นกับตัวเจ้าของ(ตัวเอง)"
"การสวดมนต์ไหว้พระเป็นการทำสมาธิไปในตัว บางทีข้ออรรถ ข้อธรรมต่างๆ มันก็จะผุดขึ้นมาในขณะที่สวดมนต์ก็มี"
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
ระลึกถึงโลกิยคุณและโลกุตรคุณของพระตถาคตโดยนัยว่า อิติปิ โส ภควา ดังนี้เป็นต้น.
เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ จิตตุปบาทย่อมผ่องใส ปราศจากนิวรณ์. ภิกษุนั้นฝึกจิตนั้นอย่างนั้นแล้วจึงมนสิการกรรมฐานเดิมนั่นแหละอีก.
ถามว่า มนสิการกรรมฐานเดิมอีกอย่างไร.
ตอบว่า มนสิการกรรมฐานเดิม เหมือนบุรุษกำลังตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อต้องการเอาไปทำช่อฟ้าเรือนยอด เมื่อคมขวานบิ่นไปเพราะเพียงตัดกิ่งและใบไม้เท่านั้น แม้เมื่อไม่อาจตัดต้นไม้ใหญ่ได้ ก็ไม่ทอดธุระ ไปโรงช่างเหล็กให้ทำขวานให้คม แล้วพึงตัดต้นไม้ใหญ่นั้นอีกฉันใด พึงทราบข้ออุปไมยนี้ฉันนั้น ภิกษุฝึกจิตด้วยอำนาจพุทธานุสสติอย่างนี้ได้แล้ว จึงมนสิการถึงกรรมฐานเดิมอีก ทำปฐมฌานมีอสุภเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้น พิจารณาองค์ฌานทั้งหลาย ย่อมหยั่งลงสู่อริยภูมิได้อย่างนั้น. พุทธานุสสติกรรมฐานย่อมเป็นประโยชน์แก่การทำจิตให้ร่าเริง ด้วยประการอย่างนี้ก่อน.
ก็ในกาลใด ภิกษุนั้นระลึกถึงพุทธานุสสติแล้ว ตามระลึกถึงโดยนัยเป็นต้นว่า โก อยํ อิติปิ โส ภควา แปลว่า บุคคลผู้นี้คือใคร แม้เพราะเหตุนี้ บุคคลผู้นั้นคือพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้เป็นต้น. กำหนดอยู่ว่าเขาเป็นสตรีหรือเป็นบุรุษ เป็นเทวดา มนุษย์ มาร พรหม คนใดคนหนึ่งหรือ ก็ได้เห็นว่า ผู้นี้หาใช่ใครอื่นไม่ จิตที่ประกอบด้วยสติเท่านั้นระลึกได้ดังนี้ แล้วกำหนดอรูปว่า
ก็จิตนี้นั่นแลว่าโดยขันธ์เป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาที่สัมปยุตด้วยจิตนั้นเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาอันสัมปยุตด้วยจิตนั้นเป็นสัญญาขันธ์ ธรรมมีผัสสะเป็นต้นที่เกิดพร้อมกันเป็นสังขารขันธ์ (รวมความว่า) ขันธ์ ๔ เหล่านี้เป็นอรูปขันธ์ แล้วค้นหาที่อาศัยของอรูปนั้นก็ได้พบหทัยวัตถุ จึงพิจารณามหาภูตรูปทั้ง ๔ อันเป็นที่อาศัยของอรูปนั้นและอุปาทารูปที่เหลือ ซึ่งอาศัยมหาภูตรูปนั้นเป็นไปแล้วกำหนดรูปและอรูปโดยสังเขปว่า นี้เป็นรูปอันก่อนเป็นอรูป และกำหนดทุกขสัจในขันธ์ ๕ โดยเป็นประเภทอีกว่า โดยย่อขันธ์แม้ทั้ง ๕ เหล่านี้เป็นทุกขสัจ ดังนี้ ในเบื้องต้นกำหนดสัจจะทั้ง ๔ อย่างนี้ว่า ตัณหาเป็นที่เกิดของทุกข์นั้นเป็นสมุทัยสัจ ความดับของทุกข์นั้นเป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาเป็นเครื่องรู้ความดับเป็นมรรคสัจ แล้วก้าวลงสู่อริยภูมิโดยลำดับ.
ในกาลนั้น กรรมฐานนี้ทั้งหมดย่อมชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนา.
ในบทว่า อยํ โข เป็นต้น พึงทราบวาระแห่งอัปปนา โดยนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
แม้ในธัมมานุสสติเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
อรรถกถาเอกธัมมาทิบาลี อรรถกถาวรรคที่ ๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น