08 มิถุนายน 2563

มัชฌิมาปฏิปทา การเดินสายกลาง

เดินให้ถูกทาง

ต้องเดินตามสาย มัชฌิมาปฏิปทา คือเดินสายกลางๆ เอาแค่พอสบาย พอชักเริ่มไม่สบาย จะต้องทนหนักก็เลิกเสีย ถ้าขืนต้องทนเกินไปก็ไร้ผล ถ้าหากว่าทำเข้าถึงอันดับทน ก็แสดงว่าสมาธิจิตหรืออารมณ์ของเราใช้ไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นอารมณ์ฌานจริงๆ เข้าถึงสุขจริงๆ จะนั่งสักกี่ชั่วโมงก็ได้ มันไม่ต้องทน มันสบาย แต่ทว่าการสบายนั้นต้องระวัง ถ้าเป็นการฝืนร่างกายเกินไป ทรมานเกินไปก็ต้องเลิก เอาแค่พอดี ต้องห่วงร่างกายให้มากเหมือนกัน ถ้าหากว่าร่างกายของเราทุพพลภาพไป จิตใจไม่สบาย การก้าวหน้าทางการเจริญพระกรรมฐานไม่มีผล นี่พูดกันถึงผลให้ฟัง

วันนี้ก็จะพูดถึง จริต 6 การเจริญพระกรรมฐานถ้าจะให้ดี นี่ฌานโลกีย์ปกติหรือฌานโลกุตตระก็ตาม หมายความว่าเราจะฝึกตนแค่ฌานโลกีย์หรือว่าเป็นพระอริยเจ้าก็เถอะ จะต้องรู้อารมณ์ของจิตที่เรียกกันว่า จริต อันนี้มีความสำคัญมาก ถ้าไม่รู้อารมณ์ของจิต ก็ใช้อารมณ์ไม่ถูกอารมณ์ของจิต การปฏิบัติมันก็ไม่มีผล ตอบได้เลยว่าไม่มีผล ทั้งนี้เพราะอะไร สมมติว่าไฟมันไหม้ขึ้นมาที่ผ้าของเรา แทนที่เราจะเอาน้ำมาดับ เราเอาน้ำมันมาราด มันก็ลุกใหญ่ หากว่าเอาน้ำมาดับมันก็ดับ

นี่ข้อนี้อุปมาฉันใด อารมณ์จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันข้องอยู่ในจริตอะไรถ้าเราใช้กรรมฐานไม่ถูกแบบฉบับเข้าไปหักล้าง ผลไม่มีเลย ในจริตของเรามี 6 อย่างคือ

1.ราคะจริต รักสวยรักงาม

2.โทสะจริต ชอบโมโหโทโส

3.วิตกจริต ชอบนึกคิดไม่หยุดหย่อน

4.โมหะจริต เจ้านี่ตัดสินใจไม่ได้ โง่

5.สัทธาจริต เชื่อง่าย

6.พุทธจริต เป็นคนฉลาด

🚩🚩 ราคะจริต

นี่จริตของคนเรามีอยู่ 6 อย่าง จริต 6 อย่างนี้มันฝังอยู่ใน จิตของแต่ละบุคคลทั้งหมด ไม่ใช่ว่าใครมีจริตเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อะไรมันหนักเท่านั้น มันหนักไปในสายไหน ทีนี้เราก็ต้องเตรียมการ เรารู้แล้วว่า อารมณ์ของจริตหรือจริต มันเข้ามาสิงอารมณ์ใจทั้ง 6 อย่างแล้ว ว่าแต่ละอย่างมันจะแสดงออกแต่ละคราว คือไม่ออกพร้อมๆกัน อย่าง ราคะจริต ความรักสวยรักงามเกิดขึ้น อันนี้พระพุทธเจ้าสอนให้เจริญ อสุภกรรมฐาน แล้ว กายคตานุสสติกรรมฐาน อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เราชอบ เข้าเป็นเครื่องหักล้าง อันนี้อารมณ์นี่มันเกิดขึ้นเวลาไหนบ้าง เราคิดว่าเราเป็นคนรักสวยรักงาม เราจะเจริญแต่เฉพาะอสุภกรรมฐาน 10 ละกายคตานุสสติ 1 รวมเป็น 11 ด้วยกัน อย่างใดอย่างหนึ่งมันก็หักล้างกันตลอดกาลตลอดสมัยได้เหมือนกัน

🚩🚩โทสะจริต

เพราะวันนี้เราอาจจะรักสวยรักงาม หรือว่าวันพรุ่งนี้อาจจะโกรธใครขึ้นมาเสียก็ได้ ไอ้ตัวรักมีอยู่ ไอ้ตัวโกรธมันก็มี เมื่อตอนเข้าเรารัก ตอนบ่ายเราอาจจะโกรธก็ได้ นี่ต้องใช้กรรมฐานให้ถูกกับอารมณ์เฉพาะกาลจริงๆ อันนี้ต้องศึกษาให้เข้าใจ ถ้าอารมณ์รักสวยรักงามเกิดขึ้น เราก็เจริญอสุภกรรมฐานหรือกายคตานุสสติกรรมฐาน เพื่อหักล้างความสวยสดงดงาม หาความจริงให้ปรากฏ

อันนี้โทสะจริตเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าให้ใช้ พรหมวิหาร 4 มี เมตตา เป็นต้น หรือว่านำกสิณ4 หรือกสิณสีเขียว สีขาว สีแดง สีเหลือง อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าหักล้าง นี่ต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่เข้าใจไปดู คู่มือพระกรรมฐาน ดูให้ชัด ดูให้จำได้ ดูให้เข้าใจ อารมณ์อย่างไหนเกิดขึ้นใช้กรรมฐานอย่างนั้นเข้าหักล้างทันที ให้มันทันท่วงทีกัน ไม่ใช่ว่าโกรธเวลาเช้า แล้วก็มาเจริญเมตตาเวลาเย็น ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าโกรธขึ้นมาแล้ว รู้สึกตัวขึ้นมาว่า เอ๊ะ! มันไม่ดีนี่ ไอ้ความโกรธเป็นเหตุของอบายภูมิ ไม่ได้ประโยชน์ ต้องหักล้างมันด้วยกรรมฐานที่พระพุทธเจ้ากล่าวสอนไว้

🚩🚩วิตกจริตกับโมหะจริต

ทีนี้มา วิตกจริต กับ โมหะจริต 2 ตัว วิตกน่ะ ตัวนึก ตัดสินใจไม่ตกลง แล้วโมหะจริตก็หลง โมหะนี่เขาแปลว่าหลง คิดว่าไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู อะไรๆก็ของกูไปหมด จะเศษกระดาษเศษเล็กเศษน้อยก็ของกู อะไรก็ช่างเถิด บ้านช่องเรือนโรงร่างกาย เราคิดอยู่เสมอว่าเราจะไม่ตายจากมัน แล้วมันก็จะไม่ไปจากเรา อันนี้ท่านกล่าวว่าเป็นโมหะจริตและวิตกจริต ถ้าอารมณ์จริตเกิดขึ้นแบบนี้แล้ว ท่านให้ใช้ อานาปานุสสติกรรมฐาน อย่างเดียวเป็นเครื่องหักล้าง โดยกำหนดลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องคิด ไม่ต้องภาวนา ไม่ต้องพิจารณา ถ้าไปภาวนาหรือพิจารณาเข้า ไอ้ตัวยุ่งๆในใจมันมีอยู่แล้ว วิตกนี่มันยุ่ง โมหะนี่มันก็ยุ่ง มันคิดไม่หยุดไม่หย่อน ถ้าเราไปภาวนาเข้า หรือพิจารณาเข้าก็เลยช่วยคิดกันเข้าไปใหญ่ ส่งเสริมกำลังใจกันเข้าไป ทีนี้ท่านเลยให้ตัดเสียด้วยการพิจารณาลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว โดยไม่ต้องภาวนาใดๆทั้งหมด

🚩🚩สัทธาจริต

นี่มาถึงอีกจริตหนึ่ง คือจริตที่ 5 สัทธาจริต สัทธาจริตนี่บางครั้งเราก็เป็นคนเชื่อยาก บางทีเราก็กลายเป็นคนเชื่อง่าย นี่มันเป็นอย่างนี้ บางขณะมันไม่เหมือนกัน อารมณ์ของเราบางคราว ใครพูดอะไรเข้ามาทั้งๆที่มันไม่เป็นความจริง แต่เหตุผลพอสมควร ลืมใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาเชื่อเสียแล้ว ถ้าอารมณ์เชื่อมันเกิดบ่อยๆละก็ พระพุทธเจ้าท่านให้ใช้แบบนี้ ให้เจริญ อนุสสติ 6 คือ พุทธานุสสติ นึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ อย่างที่เราภาวนาวา พุทโธ หรือ อรหัง ธัมมานุสสติ นึกถึงคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์ สังฆานุสสติ นึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์ จาคานุสสติ นึกถึงทาน การบริจาคเป็นอารมณ์ แล้วก็เทวตานุสสติ นึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์

นี่ระวังให้ดีนะ พระอย่าคิดว่าตัวเองดีกว่าเทวดา พระที่บวชเข้ามานี่ ไม่แน่หรอก บางทีก็มีความดีเสมอสัตว์นรกก็มี ถ้าเราทำตัวไม่ดี มันก็มีความดีเสมอสัตว์นรก อย่าไปเทียบกับเทวดาเขา เคยมีคนบอกว่า พระเคยพูดว่าเรานี่ดี บวชเป็นพระแล้วเทวดาก็ไหว้ เข้าใจว่าดี แต่เนื้อแท้จริงของคนที่โกนหัวห่มผ้าเหลืองอาจจะเลวกว่าสัตว์นรกก็ได้ แต่นี่เทวดาเข้ารู้อารมณ์ของใจ ถ้าหากว่าจิตใจของเราเลว เทวดาเขาไม่ไหว้ พรหมเขาไหว้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีการนึกถึงความดีของเทวดา เพื่อจะทำจิตของตนให้เกาะเข้าไปถึงเทวดา นี่คนที่มีสัทธาจริต ความเชื่อคิดว่าที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนี่จริง เราเชื่อจริงตามพระธรรมคำสั่งสอน ท่านให้ใช้อนุสสติทั้ง 6 ประการ ตามที่กล่าวมา เจริญตามใจชอบ ชอบใจอย่างไหนใช้ได้ทั้งนั้นใน 6 อย่าง

🚩🚩พุทธจริต

ทีนี้มาพุทธจริต คนนี้ฉลาด คนนี้นักเลง พุทธจริตนี่มีความฉลาดมาก ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ตาม มีความเข้าใจง่าย คนฉลาดประเภทนี้พระพุทธเจ้าให้เจริญ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน 4 อาหารเรปฏิกูลสัญญาก็พิจารณาอาหารว่าเป็นของสกปรก พิจารณาร่างกายมาจากธาตุ 4 แล้วก็อีก 2 อย่าง นึกไม่ออกมันไปเป็นไข้เสียวันนี้ เป็นอันว่า จริตทั้ง 6 ประการ นักเจริญกรรมฐานทุกคนต้องสร้างความเข้าใจ ดูจำให้ได้ แล้วก็ศึกษากรรมฐานกองนั้นๆ ที่พึงจะใช้กับอารมณ์ของจริตให้เข้าใจ ดูให้คล่อง ฝึกให้คล่อง ใช้อารมณ์ให้คล่อง

ถ้าบังเอิญอารมณ์จิตของเรา เกิดขึ้นในทัศนะของจริตแบบไหน จับกรรมฐานหมวดนั้นเข้ามาใช้ทันทีไม่ต้องรอเวลา มันเกิดรักสวยรักงามขึ้นมา เวลารักมันก็เผลอไปพักหนึ่ง นี่พอรู้ตัวว่า นี่จิตเราเลวเสียแล้วไปรักสวยรักงาม ไอ้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่คงทนถาวร ความสวยความงามมันไม่คงที่ เดี๋ยวมันก็สลายตัวใช้ไม่ได้ ทำไมเราจึงจะหักล้างมันได้ ต้องใช้ อสุภกรรมฐาน เข้ามาพิจารณากายหักล้างทันที นี่ต้องใช้ให้ทันท่วงทีกับเวลา แล้วเวลาว่างก็คิดว่าอารมณ์อย่างนี้มันจะเกิดอีก ใช้อารมณ์แบบนี้หักล้างให้สิ้นไป

ทีนี้ถ้าโทสะมันเกิดก็ใช้ เมตตาบารมี พรหมวิหาร 4 หรือ กสิณ 10 ตามที่กล่าวมา ถ้ามันเกิดบ่อยๆ ก็ใช้พรหมวิหาร 4 หรือ กสิณ 10 หักล้างให้ตัดได้เด็ดขาดไปเลย นี่ความคิดไม่ตกลง หลงโน่นหลงนี่ ปรากฏว่ามันเกิดบ่อยๆ ไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู มันหลงในทรัพย์สิน หลงในทรัพย์สิน ในร่างกายและชีวิต ก็ใช้ อานาปานุสสติ ให้เข้าถึงฌาน 4 คุมฌาน 4 หรือ ฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ตลอดเวลาไม่พลาดตลอดวัน ไม่ช้าอารมณ์นี้มันก็สลายไป

ถ้าเชื่อในคุณพระรัตนตรัย หรือมีอารมณ์เชื่อง่ายเกิดขึ้น เจริญอนุสสติทั้ง 6 ประการ มีพุทธานุสสติ เป็นต้น เป็นปกติ ความดีจะเข้าถึงอย่างรวดเร็ว พวกสัทธาจริตนี่เป็นอรหันต์ง่าย ถ้าเดินถูกทางง่ายจริงๆ เพราะท่านเชื่ออยู่แล้ว ไม่ยาก นี่ถ้าหากว่าพุทธจริตมีความฉลาดเกิดขึ้นก็ไปดู อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน 4 แล้วอะไรอีก 2 อย่าง จำไม่ได้นึกไม่ออก ความจริงมันจำได้ เพราะว่าไข้มันขึ้น ใช้แบบนั้นเข้าหักล้างทันทีให้มันสิ้นไป

ถ้าเรารู้จักจริตของเรา พิจารณาจริตของเรา รู้จักกรรมฐานที่พึงจะใช้ให้ถูกต้อง แล้วใช้ได้ทันท่วงที เมื่ออารมณ์นั้นเกิดขึ้นแล้วก็คลายตัว พอรู้สึกตัวขึ้นมา ใช้กรรมฐานประเภทนั้นหักล้างเรื่อยไป จนกว่าอารมณ์นั้นจะสิ้นไป แต่ถ้าอารมณ์อื่นพลอยเกิดขึ้นมาอีก ก็ใช้กรรมฐานที่ถูกต้องตามพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน หักล้างให้มันสิ้นไปอีกเหมือนกัน อย่างนี้ไม่ช้าไม่นานหรอก อย่างเลวที่สุด 7 ปี เราก็พบพระนิพพาน นี่หากว่าทำอย่างนี้ถูกต้องปานกลางก็ไม่เกิน 3 ปี ถ้าหากปฏิบัติอย่างเข้มข้น ระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่เกิน 7 วันพบพระนิพพาน นี่การทำถูกน่ะ มันเป็นของไม่ยาก

แล้วก็พวกเรานักปฏิบัตินี่เอาทุกคน จริตทั้ง 6 ประการนี่เราเคยนึกกันบ้างหรือเปล่า แล้วก็กรรมฐานจะฟอกจริตทั้ง 6 ประการ มีอะไรบ้าง มันคล่องแคล่วแล้วหรือยัง ดูจำได้ไหม ฝึกเตรียมพร้อมอยู่เสมอๆ ว่าเขาพิจารณาเขาทำกันอย่างไร เราฝึกซ้อมไว้บ้างหรือเปล่า ถ้าเราฝึกซ้อมไว้เสมอๆ ทุกกองที่จำเป็นจะต้องใช้ ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นมาจึงทำ ยามว่างซ้อมไว้ ตั้งอารมณ์ให้อยู่เป็นสุข ทรงอารมณ์ไว้ให้ได้เสมอ เราจะใช้งานเมื่อไหร่ ใช้ได้ทันทีทันใด คือว่ากรรมฐานทุกกองคือ 40 กองด้วยกัน เฉพาะจริต 6 เราต้องคล่อง คล่องชนิดเดียวกับเรานึกว่าพูดอะไรภาษาไทย เราพูดได้ทันที ถ้ามีอารมณ์คล่องจะจำได้อย่างนี้ มีอารมณ์คล่องอย่างนี้ อย่างพูดภาษาไทยที่เราเคยพูด อย่างนี้อย่างเลว 7 ปี พบพระนิพาน อย่างกลางๆ 7 เดือน พบพระนิพพาน อย่างเร็วที่สุดไม่เกิน 7 วันพบพระนิพพาน

นี่การเจริญพระกรรมฐาน ไม่ใช่เจริญส่งเดช เราเจริญเพื่อหวังผล แล้วการเจริญพระกรรมฐานต้องมีหลักวิชา มีการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติให้ถูกต้องมันจึงจะมีผล ถ้ามานั่งกันไปหลับตาฟังกันไปกันมา แต่ละวันเรียกว่าถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง หรือว่าดีก็ชามไม่ดีก็ชาม แบบนี้มันก็ได้เหมือนกัน แต่มันได้อย่างดีที่สุดแค่ กามาวจรสวรรค์ จะเกิดประโยชน์อะไร อันนี้ เราทำเพื่อหักล้างความทุกข์เพื่อหวังความสุขที่ไม่มีความทุกข์ต่อไป คือพระนิพพาน ฉะนั้น ขอทุกท่านจงพากันศึกษาจริต 6 ให้เข้าใจ ให้ชัด ฝึกให้คล่องทุกกอง ไม่ใช่แต่เฉพาะกองใดกองหนึ่ง แล้วเวลาอารมณ์อย่างไหนมันเกิดขึ้นมา กรรมฐานอย่างนั้นหักล้างทันที อย่างนี้จึงจะมีผลตามที่พระพุทธเจ้าต้องการ


ที่มา

🖊️📖คัดลอกจากหนังสือ ธรรมปฏิบัติ 47 โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)
หน้า 72-81

🖊️นภา​ อิน🙏🙏

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...