หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ เจ้าตำรับวิชาเบี้ยแก้ ที่หลายท่านยังไม่ทราบ
เบี้ยแก้เป็นเครื่องรางที่ใช้ติดตัวเมื่อเดินทางไปในป่าในดงเพื่อป้องกันไข้ป่า ภูตผีไพรต่างๆ และยังป้องกันคุณไสย มนต์ดำ ป้องกันยาพิษยาสั่ง สัตว์เขี้ยวงาทุกชนิด ป้องกันและแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
ได้ผลชะงัดและยังถือว่าเป็นเครื่องรางเมตตามหานิยมอีกด้วย และเบี้ยแก้นั้นปรากฎหลักฐานว่ามีการสร้างมา
ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แล้ว
การทำเบี้ยแก้นั้นหากจะแยกก็พอที่จะแยกออกเป็น 3 สายคือ วัดกลางบางแก้ว วัดนายโรง และ
สายวัดโบสถ์ จังหวัดอ่างทอง โดยสายวัดกลางบางแก้วเท่าที่มีการสืบค้นพบว่ามีหลวงปู่ทอง พระอาจารย์หลวงปู่บุญเป็นผู้สร้างเบี้ยแก้แล้วสืบต่อมายังหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ผู้เป็นศิษย์แล้วตกทอดมายังหลวงปู่เพิ่ม พระอาจารย์ใบ คุณวีโร พระอาจารย์เซ็ง และหลวงปู่เจือ ส่วนสายวัดนายโรง เท่าที่สืบค้นพบว่ามีหลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ ย่านบางกอกน้อยเป็นผู้สร้างเบี้ยแก้แล้วสืบต่อมายังหลวงปู่รอด วัดนายโรง และหลวงปู่รอดได้ถ่ายทอดวิชาทำเบี้ยให้แก่หลวงพ่อม่วง และหลวงพ่อทัต วัดคฤหบดี นอกจากนี้ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี
ท่านก็รับถ่ายทอดได้วิชาทำเบี้ยแก้สายหลวงปู่รอดเช่นกันแต่ท่านมิได้ทำแพร่หลาย ส่วนวัดโบสถ์ นั้นพระอาจารย์
ใหญ่สายนี้น่าจะเป็นหลวงพ่อพักตร์ วัดโบสถ์ และสืบต่อมายังหลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน จังหวัดอ่างทอง
และหลวงพ่อคำ วัดโพธิ์ปล้ำ
เมื่อพิจารณาลักษณะของเบี้ยแก้สายวัดกลางบางแก้ว และสายวัดนายโรง พบว่า การสร้างเบี้ยแก้ของ
สายวัดกลางบางแก้ว และสายวัดนายโรง นั้นคล้ายคลึงกันมากเนื่องจากจะใช้หอยเบี้ยใหญ่ ที่มีฟันแถวละ 16 ซี่
รวม 32 ซี่ กรอกปรอทหนัก 1 บาท อุดด้วยชันโรง หุ้มตะกั่วแล้วลงยันต์แล้วถักด้ายหุ้มอีกทีหนึ่ง เพียงแต่ของ
วัดนายโรงนั้นมีทั้งถังหุ้มทั้งตัวและถักแบบเปิดหลังเบี้ยไว้ ส่วนของวัดกลางบางแก้วถักด้ายหุ้มทั้งตัวแล้วชุบรัก
หรือเปลือยตะกั่ว ส่วนเบี้ยแก้ของสายหลวงพ่อพักตร์ จะต่างออกไปเนื่องจากใช้หอยเบี้ยขนาดเล็ก กรอกปรอทจำนวนพอประมาณไม่จำกัดน้ำหนัก การกรอกปรอทใช้ตะกั่วชิ้นเล็กๆใส่ในตัวหอยเพื่อล่อปรอท อุดด้วยชันโรงใต้ดินแล้วใช้แผ่นตะกั่วหรือแผ่นทองเหลืองเล็กๆ ลงยันต์ปิดทับชันโรง ทำให้เชื่อได้ว่า ตำราการสร้างเบี้ยแก้ทั้ง ของหลวงปู่บุญ และหลวงปู่รอด น่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน
ปัจจุบันสายวัดกลางบางแก้ว หลวงปู่เจือ ปิยสีโล(มรณะภาพแล้ว)
ยังคงสร้างเบี้ยแก้อยู่ ส่วนสายหลวงปู่รอด นั้น
เมื่อหลวงพ่อม่วงได้มรณภาพลงแล้วก็ไม่ปรากฎการทำเบี้ยแก้อีก ส่วนสายอ่างทองนั้น ก็ยังคงการทำเบี้ยแก้
อยู่เช่นเดียวกัน
ประวัติหลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ
หลวงปู่แขก (มรณภาพประมาณปี พ.ศ. 2466 อายุประมาณ 80 ปี) เป็นอดีตเจ้าอาวาส รุ่นที่ ๒
ต่อจากสมภารพราหมณ์(หรือพรหม)วัดบางบำหรุ กรุงเทพมหานคร วัดบางบำหรุเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่
ตำบลบางบำหรุ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ด้านฝั่งธนบุรี (อยู่หลังเซ็นทรัลปิ่นเกล้า) วัดนี้มีมาตั้งแต่
สมัยอยุธยาตอนปลายเคยมีการขุดพบพระเครื่องจากเจดีย์ใกล้วิหารเก่าเป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาศิลปะ
สมัยอยุธยาตอนปลายทั้งสิ้น บริเวณวัดอยู่ต่อกับวัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) และใกล้วัดนายโรง
หลวงปู่แขก นั้นเป็นพระเกจิยุคเก่าที่แก่กล้าในพระเวทย์ วิทยาคม และโด่งดังมากในแถบ
ย่านบางบำหรุและท่านเป็นพระอาจารย์ของสมภารฉาย (เจ้าอาวาสลำดับต่อจากหลวงปู่แขกและสมภารฉายเป็น
พระอาจารย์ของหลวงพ่อรัตน์ สุมโน) หลวงปู่แขกเป็นพระร่วมสมัยเดียวกับพระปลัดทองซึ่งพระอาจารย์ของ
หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว แต่เนื่องจากประวัติของหลวงปู่แขก นั้นมีการจดบันทึกไว้น้อยมากประกอบกับ
ท่านสร้างวัตถุมงคลไว้ไม่มากและไม่ได้แพร่หลายไปยังพื้นที่ต่างๆ ประวัติของท่านจึงถูกลืมเลือนไปตามยุคสมัย
ที่ผ่านไปทำให้ปัจจุบันมีผู้ทราบประวัติและรู้จักท่านน้อย
จากคำบอกเล่าของพระครูธรรมวิจารณ์ (ชุ่ม) อดีตเจ้าอาวาส วัดศรีสุดาราม (วัดชีปะขาว)
เขตบางกอกน้อย ซึ่งเล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. 2517 ขณะท่านอายุ 97 ปี พรรษา 71 ว่า หลวงปู่รอด วัดนายโรง
(ปรมาจารย์ทางเบี้ยแก้อันโด่งดัง) ได้เล่าให้ท่านฟังว่า หลวงปู่แขก วัดบางบำหรุ เป็นพระที่มาจากนครชัยศรี
จังหวัดนครปฐม และหลวงปู่รอดได้ศึกษาวิชาเบี้ยแก้จากหลวงปู่แขก ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางบำหรุ
ขณะที่หลวงปู่แขกมาอยู่ที่วัดบางบำหรุนั้น ท่านเป็นพระมาแล้วโดยได้ธุดงค์มาจากนครชัยศรี พื้นเพหลวงปู่แขก
เป็นชาวอยุธยาเป็นสหายกับพระปลัดปาน วัดตุ๊กตา (พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว)
และพระปลัดทอง วัดกลางบางแก้ว (วัดคงคาราม) จังหวัดนครปฐม (พระกรรมวาจาจารย์และพระอาจารย์
ซึ่งสอนวิชาการต่างๆ และวิชาอาคมให้หลวงปู่บุญ) ส่วนหลวงปู่แขกจะมาธุดงค์มาจากวัดตุ๊กตา หรือ
วัดกลางบางแก้วนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด พระปลัดปาน พระปลัดทองและหลวงปู่แขกนั้นเป็นสหายกันหรืออาจเป็น
ศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน
ดังนั้น วิชาเบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และหลวงปู่รอด วัดนายโรงนั้นน่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน คือวิชาเบี้ยแก้สายสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว ซึ่งสืบทอดพุทธาคมจากสำนักวัดประดู่ในทรงธรรม ครั้งยุคกรุงศรีอยุธยา
ขอบคุณที่มา
http://www.watkositaram.com/forum/index.php?topic=3226.0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น