"...งานของครูเป็นงานพิเศษ ผิดแปลกกว่างานอื่นๆ กล่าวในแง่หนึ่งที่สำคัญ ก็คือว่า ครูจะหวังผลตอบแทน เป็นยศศักดิ์ ความร่ำรวย หรือประโยชน์ทางวัตถุเป็นที่ตั้งไม่ได้ ผลได้ส่วนสำคัญจะเป็นผลทางใจ
ซึ่งผู้เป็นครูแท้ก็พึงใจและภูมิใจอยู่แล้ว ดูเหมือนจะภูมิใจยิ่งกว่าข้าวของเงินทองและยศศักดิ์เสียอีก ถึงแม้ผู้ใดใครก็ตาม เมื่อมองให้ลึกซึ้งแล้ว ก็ย่อมเห็นว่าเป็นความจริงอย่างนั้น
เพราะความมั่งมีและความยิ่งใหญ่ ไม่อาจบันดาลหรือซื้อหาความผูกพันทางใจอันแท้จริงจากผู้ใดได้ แต่ความเป็นครูนั้น ผูกพันใจคนไว้ได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องซื้อหาหรือใช้อำนาจราชศักดิ์ข่มขู่เอามา
ขึ้นชื่อว่าครูกับศิษย์แล้ว ที่จะลืมกันได้นั้นยากนัก ผู้ที่ไม่รู้จัก ไม่เอื้อเฟื้อครู ดูเหมือนจะมีแต่คนที่กำลังลืมตัว มัวเมาในลาภยศอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เท่านั้น
ฉะนั้น ครูจึงไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องแสวงหาความพอใจในประโยชน์ทางวัตถุให้มากเกินจำเป็น เพราะหากหันมาหาประโยชน์ทางวัตถุเกินไปแล้ว ก็จะทำหน้าที่ครูหรือเป็นครูได้ไม่เต็มที่
ในทุกวันนี้ การปฏิบัติของครูบางหมู่ ทำให้รู้สึกกันทั่วไปว่า ครูไม่ค่อยห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงยศ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ และที่ค่อนข้างจะร้ายอยู่ก็คือห่วงรายได้
ความห่วงสิ่งเหล่านี้ ถ้าปล่อยไว้ จะค่อยๆ เข้ามาทำลายความเป็นครูทีละเล็กละน้อย ซึ่งเชื่อว่าที่สุดจะสามารถบั่นทอนทำลายความมีน้ำใจ ความเมตตา ความเสียสละทุกอย่างได้ ทำให้กลายเป็นคนขาดน้ำใจ ละโมบ เห็นแก่ตัว ลืมประโยชน์ของศิษย์
กล่าวสั้นคือ จะไม่มีอะไรดีเหลือพอที่จะเคารพนับถือกันได้ เป็นที่น่าวิตกว่า ครูเหล่านั้นจะผูกพันใจใครไว้ได้อย่างไร จะทำงานของตัวให้บรรลุผลสำเร็จที่แท้จริงได้อย่างไร และจะมีอะไรเกิดขึ้นแก่การศึกษาของเรา..."
พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่ครูอาวุโส ในโอกาสที่เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
ธ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์
น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น