08 มิถุนายน 2563

ทรัพย์ภายนอก และทรัพย์ภายใน

“ทรัพย์สิน” นั้นสำคัญ แต่เราต้อง...
รู้ทัน และ ข้ามพ้นจุดอ่อน ของมัน
.
“มีความแตกต่างหลายประการ ระหว่างทรัพย์ภายนอก และทรัพย์ภายใน
ทรัพย์ภายนอก ที่เป็นวัตถุหรือทรัพย์สินเงินทองนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ จำเป็นสำหรับชีวิต แต่มีข้อบกพร่องหลายประการ...จะขอยกตัวอย่าง เช่นว่า ทรัพย์ภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองนั้น เป็นสิ่งที่สูญหายได้ โจรลักได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องระวังรักษา เป็นเหตุให้เกิดความห่วงใย เป็นต้น
.
แต่ทรัพย์ภายใน คือความรู้ และความดีนั้น ไม่สูญหาย ท่านบอกว่าโจรลักไม่ได้ ทรัพย์ภายในคือความรู้และความดีนั้น ไม่มีใครมาลักเอาไปได้ เราไม่ต้องกลัว ไม่ต้องรักษา มันไม่หายไปไหน มันอยู่กับตัวของเราเป็นของประจำ

ประการต่อไป ทรัพย์ภายนอก ที่เป็นวัตถุทรัพย์สินเงินทองนั้น ยิ่งใช้ยิ่งสิ้นเปลือง ยิ่งใช้ยิ่งหมดไป เราจะต้องหามาเพิ่ม ต้องหามาชดเชย แต่ทรัพย์ภายใน คือความรู้ และความดีนั้น ตรงกันข้าม แทนที่จะใช้แล้วหมด หรือใช้แล้วสิ้นเปลือง กลับเป็นว่า ยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม จะเห็นว่า ความรู้ ยิ่งใช้ ยิ่งเพิ่ม ยิ่งมีความชำนาญ ยิ่งมีความจัดเจน
.
ส่วนความดีก็เช่นกัน ยิ่งประพฤติ ความดีนั้นก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น เพราะฉะนั้น ทรัพย์ภายในยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม
.
ประการต่อไป ทรัพย์ภายนอกนั้น ไม่เป็นหลักประกันที่แท้จริงของชีวิต คนที่มีทรัพย์ภายนอก แต่ไม่มีทรัพย์ภายใน ไม่มีความรู้ ไม่มีความดี ไม่มีความขยันหมั่นเพียร แม้แต่มีทรัพย์อยู่แล้ว เช่นบิดามารดาให้มา ก็ไม่สามารถรักษาทรัพย์นั้นไว้ได้ ส่วนทรัพย์ที่ยังไม่มีก็ไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ รวมความว่า ทรัพย์ที่ยังไม่มี ก็ไม่สามารถทำให้เกิดมี ทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว ก็หมดสิ้นไป เพราะไม่รู้จักรักษา ไม่มีหนทาง ไม่มีความสามารถที่จะทำให้เกิดมีและรักษาไว้ได้
.
แต่คนที่มีทรัพย์ภายใน มีความรู้ มีความดีงาม มีความขยันหมั่นเพียร กลับมาช่วยสร้างช่วยรักษาทรัพย์ภายนอกด้วย ทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว ก็รักษาไว้ได้ ทรัพย์ที่ยังไม่มี ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นมีขึ้นได้
.
เพราะฉะนั้น ทรัพย์ภายในนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ท่านจึงย้ำในเรื่องทรัพย์ภายในไว้ว่า จะต้องมีเป็นคู่กันกับทรัพย์ภายนอก
.
ประการต่อไป ก็คือ ผลทางจิตใจ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ทรัพย์ภายนอกนั้น เป็นไปด้วยความห่วง ความหวงแหน อาจจะทำให้เกิดความมัวเมา จิตใจขุ่นมัว เศร้าหมอง ตลอดจนกระทั่งว่าในทางสังคมทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท บาดหมาง ความแตกสามัคคีแย่งชิงกัน แต่ทรัพย์ภายในนั้น เราไม่ต้องห่วง มันอยู่ข้างในของเราเอง กลับออกมาทำให้คนช่วยเหลือ อยู่ร่วมกันด้วยดี และมีแล้ว ก็ทำให้จิตใจผ่องใส ที่สำคัญก็คือว่า ทรัพย์ภายนอกไม่สามารถทำให้คนเป็นคนดี หรือเป็นคนประเสริฐ ไม่สามารถทำคนให้หมดทุกข์ หมดกิเลสได้ ดังบาลีภาษิต ที่ยกขึ้นเป็นบทตั้ง ในเบื้องต้นแห่งพระธรรมเทศนานี้ว่า

“ น หิรญฺญสุวณฺเณน ปริกฺขียนฺติ อาสวา ”
แปลว่า : กิเลสทั้งหลาย จะหมดสิ้นไปด้วยเงินทอง ก็หาไม่
แต่ทรัพย์ภายในนั้น ทำให้คนเป็นคนดี ทำให้คนเป็นคนประเสริฐ ทำให้คนที่มีทุกข์ ก็หมดทุกข์ ทำให้คนที่มีกิเลส ก็หมดกิเลส แม้กระทั่งบรรลุพระนิพพานเป็นพระอรหันต์ก็ได้ เพราะฉะนั้น อริยทรัพย์นี้จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และในทางพระพุทธศาสนา ท่านจึงเน้นความสำคัญของทรัพย์ภายใน ดังได้กล่าวมานี้
.
คนเราอยู่ในโลกนั้น หลายคนอาจจะประสบความสำเร็จ มีชัยชนะทุกอย่างทุกประการ แต่ในที่สุดมาแพ้อะไร ก็แพ้อารมณ์ในใจของตนเอง แม้จะเป็นราชา เป็นจักรพรรดิ เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ หรือเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี มีทรัพย์มหาศาล ชนะมาทั่ว ประสบความสำเร็จมาทั่ว แต่มาแพ้อารมณ์ในใจของตัวเอง ไม่รู้จะเอาชนะอย่างไร เพราะฉะนั้น ชัยชนะในใจของเรานี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเป็นความสำเร็จ ซึ่งจะทำให้มีความสุขได้อย่างแท้จริง
.
ทำอย่างไรเราจึงจะมีชัยชนะที่แท้จริง คือชนะทั้งภายในและภายนอก ชัยชนะที่แท้ ที่จะไม่ก่อให้เกิดเวรภัย ไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียน ก็คือชัยชนะภายใน ด้วยการชนะอารมณ์ในใจของตัวเอง หรือชนะใจของตัวเอง ทำจิตใจให้ไม่หวั่นไหวได้
.
ลองพิสูจน์ตนเองอยู่เสมอ ด้วยอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละ
.
เมื่อมันเข้ามาแล้ว เราถูกมันกระทบ ถ้าใจเราไม่หวั่นไหว เรารู้เข้าใจเท่าทันมันแล้ว รักษาใจของเราให้ผ่องใสเบิกบานสดชื่นได้เสมอ อันนี้คือชัยชนะที่สำคัญ เป็นชัยชนะอันสูงสุด
.
พุทธศาสนิกชนรู้หลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังกล่าวมานี้แล้ว พึงพยายามสร้างทรัพย์ภายในให้เกิดขึ้น
.
เมื่อตนเองประสบความสำเร็จในการสร้างทรัพย์ ยศ ตำแหน่งฐานะภายนอกแล้ว ก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมา แต่ใช้ทรัพย์ภายนอกนั้นเป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการที่จะพัฒนาสร้างสรรค์ทรัพย์ภายใน ให้เกิดคุณธรรม ความดี และปัญญาความรู้ขึ้นมา
.
เมื่อนั้น ก็จะมีทรัพย์สมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ จะมีความสำเร็จทั้งภายนอกและภายใน มีชัยชนะอันสูงสุด ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา”
.
ที่มา
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : พระธรรมเทศนาแสดง ณ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๘ พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๙
ดูน้อยลง

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...