🔘#ปฐมฌาน
ถ้าหากว่าจิตเข้าถึงฌานที่ ๑ ภาวนาด้วยก็ตาม ไม่ภาวนาด้วยก็ตาม แค่รู้ลมหายใจเข้าออกก็ได้ ถ้าจิตเข้าถึงฌานที่ ๑ ที่เรียกว่า #ปฐมฌาน จิตจะเริ่มแยกจากกายนิดหน่อย แยกจากประสาท ตามธรรมดา
ถ้าเราต้องการสงัด ถ้าใครมาส่งเสียงรบกวนจะรำคาญในเสียง ถ้าจิตเข้าถึงปฐมฌานแล้ว เราจะได้ยินเสียงทุกอย่างชัดเจนหมด แต่จิตไม่รำคาญในเสียง ตอนนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบว่านี่เป็นปฐมฌาน ฌานที่ ๑
🔳#ฌานที่๑
มีองค์ ๕ หลักวิชานี้ไม่ได้พูดกันนานแล้วนะ #ปฐมฌานมีองค์๕ คือ..
วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา
▪️วิตก แปลว่า นึก หรือตรึก
▪️วิจาร แปลว่า ตรอง หรือใคร่ครวญ
▪️ปีติ คือ ความอิ่มใจ
▪️สุข มีความสุขมาก ที่เราไม่เคยมีความสุขอย่างนั้น
▪️#เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง
ขณะที่เราภาวนาอยู่ จิตถ้านึกว่าจะภาวนา อันนี้เป็นวิตก ตัวนึกว่าจะรู้ลมหายใจเข้าออกนี่เป็น #วิตก
ต่อมา #วิจาร ถ้าจิตคิดว่านี่เราหายใจเข้า หรือหายใจออก หายใจยาวหรือสั้น จิตรู้แบบนี้วิจาร หรือใคร่ครวญดูว่าเวลานี้เราภาวนาถูกหรือไม่ เป็นวิจาร
#ปีติ มีความเอิบอิ่มใจ ไม่เบื่อในการปฏิบัติ
#สุข มีความสุขมาก มีอารมณ์เยือกเย็น
#เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง หมายถึงมีอารมณ์คุมลมหายใจเข้าออกกับคำภาวนาได้ดี อย่างนี้เป็น #ปฐมฌาน
🔳#ฌานที่๒
ต่อมาฌานที่ ๒ ถ้าจิตเข้าถึงฌานที่ ๒
ฌานที่ ๒ นี่เหลืออารมณ์อยู่ ๓ อย่าง ตัดวิตก วิจารทิ้งไป คือวิตก วิจารหมดไป #คำว่าตัดเราไม่ต้องช่วยตัดอารมณ์มันตัดเอง
เหลือแต่ ปีติ สุข เอกัคคตา ๓อย่าง มาถึงฌานที่ ๒ นี่ บรรดาท่านพุทธบริษัทฌาน๒ คนทำใหม่ๆมักจะตกใจเผลอว่าเราลืมภาวนาหรืออย่างไร
เพราะคำว่า วิตก วิจาร ถ้าเราคิดกันไปแล้ว คนอ่านหนังสือคนอื่นไม่ทราบอาตมาเองสมัยที่อ่านเฉพาะหนังสือทำกรรมฐานไม่เข้าใจ ก็เข้าใจว่า วิตกต้องมีตัวนึก ตัวคิด ยาวหรือสั้น วิจารนั้นใคร่ครวญ แต่เวลาที่ใช้เป็นกำลังสมาธิจริงๆไม่ใช่อย่างนั้น
วิตก คือ ตัวนึกจะภาวนา
วิจาร คือ ตัวภาวนา
นี่พอเข้าถึงฌานที่ ๒ ตัวภาวนาจะหมดไป #พอจิตเข้าถึงฌานที่๒ #เราภาวนาไปๆจิตละเอียดไปๆจนหยุดภาวนาไม่มีคำภาวนา #แต่จิตมีอารมณ์ชุ่มชื่นมาก อารมณ์จะเยือกเย็นดีกว่าฌานที่ ๑
มีความเอิบอิ่มใจดีกว่าฌานที่ ๑ ก็เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา เท่านั้น ภาวนาไม่มี ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทที่เคยทำผ่านตอนนี้ บางคนคิดว่าเราอาจจะหลับไปบ้าง อาจจะ เผลอไปบ้าง แต่จิตใจชุ่มชื่น อันนี้ไม่ใช่หลับ เป็นฌานที่ ๒ พอถึงฌานที่ ๒ จิตก็แยกจากประสาท ออกห่างมากขึ้น ลมหายใจจะรู้สึกเบาลง มีจิตชุ่มชื่นมาก มีจิตใจสบาย
แต่ตัวนี้ต้องระวังนะบรรดาท่านพุทธบริษัท นี่พูดในหลักของ #สุกขวิปัสสโก ถึงตัวปีตินี่จะมีอารมณ์แช่มชื่น อารมณ์เริ่มเป็นทิพย์ นิมิตต่างๆ ย่อมปรากฏเห็น สีเขียว สีขาว สีดำสีแดง เห็นภาพคล้ายภาพเทวดา
ถ้านิมิตที่เกิดอย่างนี้จะยึดถือไม่ได้นะ เพราะไม่มาซ้ำ บางคนเคยเห็นนิมิตแจ่มใสแล้ว คืนต่อไปก็อยากจะเห็นใหม่ไอ้ตัวอยากจะเห็นนี่มันเป็น #อุทธัจจะกุกกุจจะ ตัวฟุ้งซ่าน
ถ้าอยากจะเห็นมันจะไม่เห็น ถ้าปล่อยตามใจตามสบายจิตมันถึงระดับมันจะเห็นเอง แต่เห็นไม่ซ้ำ ในเมื่อเห็นไม่ซ้ำหรือว่าไม่เห็นเกิดขึ้นมันก็มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน มันกลุ้มในที่สุดก็ทำหนักขึ้น ไม่ได้พักไม่ได้ผ่อน จะเป็นโรคเส้นประสาท อันนี้ใช้ไม่ได้
รวมความว่า ตามหลักของการของ
สุกขวิปัสสโก จะถือนิมิตเป็นสำคัญไม่ได้ เมื่อนิมิตมาก็มาไป อย่าสนใจ เห็นนิมิตภาพใดปรากฏขึ้น พอจิตรู้สึกว่านี่ภาพนี้เกิดขึ้น จิตจะเคลื่อนทันที จิตเคลื่อนภาพก็หาย ความจริงภาพไม่ได้หายไปไหน แต่ใจเราเคลื่อน จิตพ้นจากอารมณ์เป็นทิพย์
ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัท อารมณ์เข้าถึงจุดนี้จงอย่าสนใจในภาพ สนใจอารมณ์ความสุขของจิต ฌานที่ ๒ นี่ตัดวิตก วิจารออก ไม่มีคำภาวนาคือตั้งแต่ฌานที่ ๒ ถึงชั้นที่ ๔ นี่ไม่มีคำภาวนา
🔳#ฌานที่๓
พอจิตถึงฌานที่ ๒ เต็มพอเข้าถึงฌาน
ที่ ๓ ตอนนี้ตัดปีติออกไป จิตตัดเองเหลือแต่สุขกับเอกัคคตา คำว่าสุขนี่จะมีความเยือกเย็นมาก จิตใจแน่วแน่ ร่างกายนั่งเฉยๆ นอนเฉยๆ หรือภาวนาอยู่ ความจริงตอนนี้ไม่ภาวนาแล้วจิตทรงอารมณ์อยู่จะมีอาการเหมือนอารมณ์เครียด นั่งตัวตรงเป๋ง เหมือนใครมามัดตัว มันแน่นเหลือเกิน ไม่ขยับขยายออก หูที่ได้ยินเสียงภายนอก ความจริงเสียงดังแต่ได้ยินเสียงเบามาก จิตจะมีอาการทรงตัวมาก แนบแน่นมาก อันนี้เป็นอาการของฌานที่ ๓
🔳#ฌานที่๔
พออาการของฌานที่ ๓ ผ่านไป จิตเข้าถึงฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔นี่ตัดสุขออกเหลือแต่ เอกัคคตาคือ อุเบกขาเข้ามา
#อุเบกขา นี้แปลว่า #วางเฉย
#เอกัคคตา แปลว่า #มีอารมณ์เป็นหนึ่ง
พอถึงฌานที่ ๔ จิตจะมีความสว่างมากแล้วก็ถ้าเป็นอย่างหยาบ
ฌานที่ ๔ มี ๒ขั้น หยาบกับละเอียด
ถ้าเป็นฌานที่ ๔ หยาบ
เครื่องขยายเสียงดังๆ หูจะได้ยินแว่วๆ เท่านั้นเอง
ถ้าหากว่าเป็นฌาน ๔ ละเอียด
เสียงทั้งหมดหูจะไม่ได้ยินเลย แต่ว่าใจไม่หลับใจโพรงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
ที่พูดตามนี้ก็เพื่อบรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าใจอาการของกรรมฐาน วิธีเข้าถึง แต่สงสัยว่าจะจำไม่ได้ หรือไง จำได้หรือไม่ได้ก็พูดกันไป มีหน้าที่จะพูด
ก็รวมความว่าเป็นอาการของฌานสมาบัติ
ทีนี้ถ้าเป็นฌานโลกีย์ จะมีอาการไม่ทรงตัว วันนี้ทรงฌานที่ ๑ หรือที่ ๒ หรือที่ ๓ ที่ ๔ วันรุ่งขึ้น สมมุติว่าวันนี้ทรงฌานที่ ๔ วันต่อไปคิดว่าตั้งใจจะเอาให้ดีกว่าอาจจะลดเหลือฌานที่ ๑ ก็ได้ หรือว่าจิตจะไม่ถึงอารมณ์ฌานเลยก็ได้ เพราะว่าสุดแล้วแต่อารมณ์ของจิต
#ถ้าเราเป็นทาสของนิวรณ์จิตจะไม่มีสมาธิเลย
ถ้าจิตสามารถระงับนิวรณ์ได้น้อย จิตก็ทรงสมาธิน้อย ระงับนิวรณ์ได้มาก จิตก็ทรงสมาธิมาก
ต้องระมัดระวังเรื่องนิวรณ์
ที่มา
#หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
(#พระมหาวีระ_ถาวโร ป.ธ.๔)
📖:คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่ม ๖๕
หน้า ๑๑๓-๑๑๘
📝:Moddam Thammawong
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น