07 มิถุนายน 2563

เรื่อง​ "หลวงปู่มั่นสอนหลักแห่งการภาวนา"


(จากธรรมประวัติ​ หลวงปู่จวน​ กุลเชฏโฐ)​

โอวาทของท่านพระอาจารย์มั่น​ ภูริทัตโต จะแนะนำให้ประพฤติปฏิบัติทางพระวินัยให้เคร่งครัด รวมทั้งการธุดงค์​ ท่านสอนหลักวิธีภาวนาดังต่อไปนี้​ 

"การภาวนา ให้พิจารณากายเป็นส่วนมาก พิจารณากายส่วนใดส่วนหนึ่งให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเอง ถ้าจิตไม่สงบ มีความฟุ้งซ่าน ให้น้อมนึกเข้ามาด้วยความมีสติ นึกภาวนาแต่" พุทโธ" เมื่อจิตสงบแล้วให้พักพุทโธไว้ ให้อยู่ในความสงบ แต่มีสติ ฝึกให้ชำนิชำนาญ แล้วให้นึกน้อมเข้ามาพิจารณากายของตนเองด้วยความมีสติ มิให้พลั้งเผลอ

เมื่อจิตรวมก็ให้มีสติรู้ว่าจิตรวม อย่าบังคับให้จิตรวม ให้มีสติอยู่ว่าจิตรวม อย่าถอนจิตที่รวมอยู่ ให้จิตถอนออกเอง พอจิตถอนให้น้อมเข้ามาพิจารณากายที่เคยพิจารณาอยู่ ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา ส่วนนิมิตที่เกิดขึ้นแสดงเป็นภาพภายนอกหรือนิมิตภายในก็ให้น้อมเข้ามาพิจารณาให้เห็นว่า​ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา​ 
สิ่งใดมีเกิดก็ต้องมีดับ อย่าพลั้งเผลอลุ่มหลงไปตามนิมิตที่เกิดขึ้น แล้วน้อมเข้ามาพิจารณากายให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาว่ามิใช่ของตน

ให้พิจารณาอย่างมีสติ เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้วก็ให้พักอย่างสงบเมื่อสงบพอสมควรแล้วก็ให้พิจารณาต่อ"

ท่านพระอาจารย์จวน​ เล่าให้ฟังว่า คำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น​ ภูริทัตโต​ จะเป็นในหลักนี้เสมอ.

    ......................................................................

สองบทว่า สมาทหํ จิตฺตํ ความว่า ดำรงจิตไว้เสมอ 
คือตั้งจิตไว้เสมอในอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งฌานมีปฐมฌานเป็นต้น. ก็หรือว่าเมื่อเธอเข้าฌานเหล่านั้นแล้วออกจากฌาน พิจารณาอยู่ซึ่งจิตที่สัมปยุตด้วยฌานโดยความสิ้น ความเสื่อม. 

ความที่จิตมีอารมณ์เดียวชั่วขณะ (ขณิกสมาธิ) 

ย่อมเกิดขึ้น เพราะการแทงตลอดลักษณะในขณะแห่งวิปัสสนา 

ภิกษุผู้ดำรงจิตไว้เสมอคือตั้งจิตไว้เสมอในอารมณ์ แม้ด้วยอำนาจแห่งความที่จิตมีอารมณ์เดียวชั่วขณะซึ่งเกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น ท่านก็เรียกว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่น หายใจเข้าหายใจออก. 

               สองบทว่า วิโมจยํ จิตฺตํ ความว่า เมื่อเปลื้อง เมื่อปล่อยจิตให้พ้นจากนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปฐมฌาน คือเมื่อเปลื้อง ปล่อยจิตให้พ้นจากวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน จากปีติด้วยตติยฌาน จากสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน.
               ก็หรือว่าเธอเข้าฌานเหล่านั้นแล้วออกมาพิจารณาอยู่ซึ่งจิตที่สัมปยุตด้วยฌาน โดยความสิ้น ความเสื่อม ในขณะแห่งวิปัสสนา 

เธอนั้นเปลื้องคือปล่อยจิตให้พ้นจากนิจจสัญญา
 (ความสำคัญว่าเที่ยง) ด้วยอนิจจานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง), เปลื้องคือปล่อยจิตให้พ้นจากสุขสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสุข) ด้วยทุกขานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นว่าเป็นทุกข์), จากอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นตัวตน) ด้วยอนัตตานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน)

   จากนันทิ (ความเพลิดเพลิน) ด้วยนิพพิทานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นความเบื่อหน่าย), จากราคะ (ความกำหนัด) ด้วยวิราคานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นธรรมเครื่องคลายความกำหนัด), จากสมุทัย (ตัณหาที่ยังทุกข์ให้เกิด) ด้วยนิโรธานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นธรรมเห็นเครื่องดับ), จากอาทาน (ความยึดถือ) ด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นธรรมเป็นเครื่องสละคืนซึ่งอุปธิ) หายใจเข้าและหายใจออกอยู่. 

อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ปาราชิกกัณฑ์ ตติยปาราชิกสิกขาบท

"อานาปานสติ ปฏิจจสมุปบาท"

เพราะว่า พระโยคาวจรบางรูปเมื่อระลึกถึงอารมณ์ที่เข้าสู่คลอง ผัสสะมีจิตและเจตสิกตกไปครั้งแรกในอารมณ์นั้น ถูกต้องอารมณ์นั้นอยู่ก็จะปรากฏชัด. สำหรับพระโยคาวจรบางรูป เวทนาที่เสวยอารมณ์นั้นเกิดขึ้นจะปรากฏชัด (แต่) สำหรับบางรูป วิญญาณที่รู้อารมณ์นั้นเกิดขึ้นจะปรากฏชัด เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอรูปกรรมฐานตามที่ปรากฏโดยอัธยาศัยของบุคคลนั้นๆ ไว้ ๓ อย่างโดยมีผัสสะเป็นต้นเป็นประธาน. 

               ในบุคคล ๓ ประเภทนั้น ผัสสะปรากฏชัดแก่ผู้ใด แม้ผู้นั้นจะกำหนดอารมณ์มีผัสสะเป็นที่ ๕ นั่นแหละว่า

ไม่ใช่ผัสสะอย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้น ถึงเวทนาที่เสวยอารมณ์นั้นนั่นแหละ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับผัสสะนั้น ถึงสัญญาที่จำอารมณ์นั้นอยู่ ถึงเจตนาที่คิดถึงอารมณ์นั้นอยู่ ถึงวิญญาณที่รู้ชัดซึ่งอารมณ์นั้นอยู่ ก็จะเกิดพร้อมกับผัสสะนั้น. เวทนาปรากฏแก่ผู้ใด แม้ผู้นั้นจะกำหนดอารมณ์มีผัสสะเป็นที่ ๕ เหมือนกันว่า ไม่ใช่เวทนาอย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้น ถึงสัมผัสที่ถูกต้องอยู่ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับเวทนานั้น ถึงสัญญาที่จำได้อยู่ ถึงเจตนาที่นึกคิดอยู่ ถึงสัญญาที่รู้แจ้งอยู่ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับเวทนานั้น. วิญญาณปรากฏชัดแก่ผู้ใด แม้ผู้นั้นก็จะกำหนดอารมณ์ มีผัสสะเป็นที่ ๕ เหมือนกับว่า ไม่ใช่แต่วิญญาณอย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้น แม้ผัสสะที่ถูกต้องอยู่ซึ่งอารมณ์นั้นนั่นแหละ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับด้วยวิญญาณนั้น แม้เวทนาที่เสวยอารมณ์อยู่ แม้สัญญาที่จำได้อยู่ แม้เจตนาที่คิดนึกอยู่ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับวิญญาณนั้น. 

               พระโยคาวจรนั้นใคร่ครวญอยู่ว่า ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ ๕ เหล่านี้อาศัยอะไรอยู่ดังนี้ จะรู้ชัดว่าอาศัยวัตถุอยู่. กรชกาย ชื่อว่าวัตถุ. 

               คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๑๑- ก็แลวิญญาณของเรานี้อิงอาศัยอยู่ในกรชกายนี้ เนื่องแล้วในกรชกายนี้ ทรงหมายเอากรชกายใด กรชกายนั้นโดยเนื้อความ ได้แก่ภูต และอุปทายรูปทั้งหลาย เธอเห็นเป็นเพียงนามกับรูปเท่านั้นว่า บรรดา ๒ อย่างนี้ วัตถุเป็นรูป ธรรมมีผัสสะเป็นที่ ๕ เป็นนาม ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ในสองอย่างนี้ รูปได้แก่รูปขันธ์ นามได้แก่ขันธ์ ๔ ที่ไม่ใช่รูป ดังนั้นจึงรวมเป็นเพียงขันธ์ ๕. 

               แท้จริง เบญจขันธ์ที่จะพ้นจากนามรูป หรือนามรูปที่จะพ้นจากเบญจขันธ์ไปเป็นไม่มี. เธอเมื่อใคร่ครวญอยู่ว่าเบญจขันธ์เหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ ก็เห็นว่ามีอวิชชาเป็นเหตุ แต่นั้นจะยกเบญจขันธ์ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ด้วยสามารถแห่งนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยว่า นามรูปนี้เป็นทั้งปัจจัย เป็นทั้งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ไม่มีสัตว์หรือบุคคลอย่างอื่น มีเพียงกองสังขารล้วนๆ เท่านั้น แล้วท่องเที่ยวพิจารณาตามลำดับวิปัสสนาว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้. 

               เธอจำนงหวังปฏิเวธ (การตรัสรู้) อยู่ว่า (เราจะตรัสรู้) ในวันนี้ๆ ในสมัยเช่นนั้น ได้ฤดูเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย โภชนะเป็นที่สบายหรือการฟังธรรมเป็นที่สบายแล้ว นั่งโดยบัลลังก์เดียวเท่านั้น ยังวิปัสสนาให้ถึงที่สุด ย่อมดำรงอยู่ในพระอรหัตผล. 
____________________________ 
๑๑- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๓๑   ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๓๔๗ 

               พึงทราบกรรมฐานจนถึงพระอรหัตของชน ๓ เหล่า ดังที่พรรณนามานี้. 
               แต่ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสอรูปกรรมฐานตามอัธยาศัยของผู้ที่จะตรัสรู้ด้วยสามารถแห่งเวทนา จึงตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งเวทนา.

ที่มา
    อรรถกถาปฐมเวทนาสูตร

http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=230

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...