ในหมู่ผู้สนใจศึกษาศาสนาจะมีข้อโต้แย้งกันเสมอระหว่างการศึกษาจากตำรา คือศึกษาด้านปริยัติ กับอีกฝ่ายหนึ่งเน้นการปฏิบัติและไม่เน้นการศึกษาจากตำรา ว่าแนวทางใดจะให้ผลดีกว่ากัน
สำหรับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านเสนอแนะให้ดำเนินสายกลาง นั่นคือถ้าเน้นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แล้วละเลยอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการสุดโต่งไป
หลวงปู่ท่านแนะนำลูกศิษย์ลูกหาที่มุ่งปฏิบัติธรรมว่า ให้อ่านตำรับตำราส่วนที่เป็นพระวินัยให้เข้าใจ เพื่อที่จะปฏิบัติไม่ผิดแต่ในส่วนของพระธรรมนั้นให้ตั้งใจปฏิบัติเอา
พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
จากหนังสือ:การเจริญสมาธิด้วยการกำหนดรู้
และละอารมณ์
..........................................................................
มหาจุนทสูตร
[๓๑๗] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะอยู่ที่นิคมชื่อสัญชาติในแคว้นเจดีย์ ครั้งนั้น ท่านพระมหาจุนทะเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหาจุนทะแล้ว ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวดังนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบธรรมในธรรมวินัยนี้ ย่อมรุกรานภิกษุผู้เพ่งฌานว่า ก็ภิกษุผู้เพ่งฌานเหล่านี้ ย่อมเพ่งฌาน ยึดหน่วงฌานว่า เราเพ่งฌานๆ
ดังนี้ ก็ภิกษุเหล่านี้ เพ่งฌานทำไม เพ่งฌานเพื่ออะไร เพ่งฌานเพราะเหตุไร ภิกษุผู้ประกอบธรรมย่อมไม่เลื่อมใสในการเพ่งฌานนั้น และภิกษุผู้เพ่งฌาน
ย่อมไม่เลื่อมใสในการประกอบธรรมนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก
เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เพ่งฌานในธรรมวินัยนี้ ย่อมรุกรานพวกภิกษุผู้ประกอบธรรมว่า ก็ภิกษุผู้ประกอบธรรมเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้ฟุ้ง
เฟ้อ เย่อหยิ่ง วางท่า ปากจัด พูดพล่าม มีสติหลงใหล ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตฟุ้งซ่าน มีอินทรีย์ปรากฏว่า เราประกอบธรรมๆ ดังนี้ ก็ภิกษุเหล่านี้
ประกอบธรรมทำไม ประกอบธรรมเพื่ออะไร ประกอบธรรมเพราะเหตุไร ภิกษุผู้เพ่งฌานย่อมไม่เลื่อมใสในการประกอบธรรมนั้น และภิกษุผู้ประกอบธรรมย่อม
ไม่เลื่อมใสในการเพ่งฌานนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก ... ฯ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้ประกอบธรรมในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญภิกษุผู้ประกอบธรรมเท่านั้น ไม่สรรเสริญภิกษุผู้เพ่งฌาน ภิกษุผู้ประกอบธรรมย่อมไม่เลื่อมใสในการเพ่งฌานนั้น และภิกษุผู้เพ่งฌานย่อมไม่เลื่อมใสในการประกอบธรรมนั้น ทั้งไม่เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก ... ฯ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เพ่งฌานในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญภิกษุผู้เพ่งฌานเท่านั้น ไม่สรรเสริญภิกษุผู้ประกอบธรรม ภิกษุผู้เพ่งฌาน ย่อมไม่เลื่อมใสในการประกอบธรรมนั้น และภิกษุผู้ประกอบธรรมย่อมไม่เลื่อมใสในการเพ่งฌานนั้น ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายเป็น ผู้ประกอบธรรม จักสรรเสริญภิกษุผู้เพ่งฌาน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า บุคคลผู้ที่ถูกต้องอมตธาตุด้วยกาย เป็นอัจฉริยบุคคล หาได้ยากในโลก ฯ
เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายเป็นผู้เพ่งฌาน จักสรรเสริญภิกษุผู้ประกอบธรรม ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่าน
ทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า บุคคลผู้ที่แทงทะลุเห็นข้ออรรถอันลึกซึ้งด้วยปัญญานั้น เป็นอัจฉริยบุคคล หาได้ยากในโลก ฯ
จบสูตรที่ ๔
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๘๓๘๙-๘๔๒๖ หน้าที่ ๓๖๗-๓๖๙.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=8389&Z=8426&pagebreak=0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น