#เหตุแห่งความเสื่อม | ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ #ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม.,ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ #ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม
.
ผู้อ่านที่เคารพ ขึ้นชื่ออะไรคือมงคล ชาวพุทธก็คงทราบดีถึง มงคล 38 ประการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน “มงคลสูตร” ซึ่งเป็นการตอบความสงสัยของเทวดา ซึ่งถกเถียงกันว่าอะไรคือ “มงคล”
.
อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่า แล้วพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องเหตุแห่งความเสื่อมไว้บ้างไหม ก็ตอบว่ามี ในพระสูตรชื่อ “ปราภวสูตร” ซึ่งเป็นพระสูตรที่เทวดาทูลถามอีกเช่นเดียวกัน
.
ความมีว่า ในวันที่ 2 จากวันที่ตรัสมงคลสูตร เทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ประสงค์จะฟังพระสูตรว่าด้วยความเสื่อม ได้ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า “อะไรเป็นทาง คือ เป็นประตู เป็นกำเนิด เป็นเหตุของคนเสื่อม ซึ่งพวกข้าพระองค์พึงรู้คนเสื่อม ... เพราะเมื่อรู้เหตุแห่งความเสื่อมแล้ว ก็อาจรู้คนเสื่อมบางคนได้ ด้วยเหตุสามัญนั้น.”
.
พระพุทธเจ้าตรัสแสดง...
.
@@@@@@@
.
ข้อที่ 1. คนที่ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ คือ ย่อมใคร่ กระหยิ่ม ปรารถนาฟัง ปฏิบัติซึ่งธรรม คือ กุศลกรรมบถสิบ คนนั้นชื่อว่าเป็นผู้รู้ได้ง่าย เพราะเห็นและฟัง ปฏิบัตินั้นแล้วพึงรู้ได้ ., ผู้เกลียดธรรมแม้นอกนี้ เป็นผู้เสื่อม ย่อมเกลียด คือ ย่อมไม่กระหยิ่ม ไม่ปรารถนา ไม่ฟัง ไม่ปฏิบัติธรรมนั้นนั่นเทียว ผู้เกลียดธรรมนั้น ., ชื่อว่า เป็นผู้รู้ได้ง่าย เพราะเห็นและฟังการปฏิบัติผิดนั่นแล้ว พึงรู้ได้.
.
นอกจากนั้น พระพุทธองค์ตรัสบอก “ทางของคนเสื่อม” ไว้ทั้งหมดถึง 12 ข้อ โดยย่อ (ในวงเล็บเป็นคำอธิบายเพิ่มเติมจากอรรถกถา) ดังนี้
.
ข้อ 2. - คนมีอสัตบุรุษ (ศาสดาทั้ง 6 (ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ)หรือผู้ประกอบพร้อมด้วย กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม อันไม่สงบ) เป็นที่รัก ไม่กระทำสัตบุรุษ (พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวก หรือ ผู้ประกอบพร้อมด้วย กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม อันสงบ) ให้เป็นที่รัก ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ (ทิฏฐิ 62 หรือ อกุศลกรรมบถ 10) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
.
@@@@
.
ข้อ 3. - คนใดชอบนอน ชอบคุย ไม่หมั่น เกียจคร้าน โกรธง่าย (ผู้โกรธง่าย โทสจริต มีจิตเหมือนบาดแผล ผู้ถึงพร้อมด้วยฐานะ 5 อย่างนี้จะไม่เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
.
ข้อ 4. - คนใดสามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่า ผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว (มีวัย 80 ปี หรือ 90 ปี ผู้ไม่สามารถกระทำการงานด้วยตนเอง) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม(ผู้บำรุงมารดาบิดาในโลกนี้ เขาละโลกไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ส่วนผู้ไม่บำรุงมารดาบิดา ย่อมถึงความนินทาและติเตียนและถึงทุคติเมื่อตาย)
.
ข้อ 5. - คนใดลวงสมณพราหมณ์ หรือแม้แต่วณิพกอื่นด้วยมุสาวาท (ด้วยการปวารณา ว่าจะถวายจะให้แล้ว ไม่ให้ตามที่ปวารณา ย่อมค้าขายขาดทุนในโลก ถูกนินทา และเข้าถึงทุคติ) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
.
@@@@
.
ข้อ 6. - คนมีทรัพย์มาก มีเงินทองของกิน กินของอร่อยแต่ผู้เดียว (ไม่ให้ของกินอันอร่อยแม้แก่บุตรของตน เพราะความตระหนี่ ย่อมถูกติเตียน เข้าถึงทุคติ) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
.
ข้อ 7. - คนใดหยิ่ง (มีมานะ ลำพอง) เพราะชาติ หยิ่งเพราะทรัพย์ (ดูหมิ่นว่าเขายากจน) และหยิ่งเพราะโคตร ย่อมดูหมิ่นญาติของตน (ไม่ทำสามีจิกรรม ญาติทั้งหลาย ย่อมปรารถนาความเสื่อมเท่านั้นแก่คนนั้น) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
.
ข้อ 8. - คนใดเป็นนักเลงหญิง (ผู้กำหนัดในหญิงทั้งหลาย ให้ทรัพย์ที่มีอยู่แม้ทั้งหมด สงเคราะห์หญิงอื่นๆ) เป็นนักเลงสุรา (ทิ้งของแม้ทั้งหมดที่มีอยู่ ประกอบการดื่มสุรา) และเป็นนักเลงการพนันผลาญทรัพย์ที่ตนหามาได้ (ทิ้งแม้ผ้าที่ตนนุ่งแล้ว ประกอบการเล่นการพนัน) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
.
ข้อ 9. - คนไม่สันโดษด้วยภริยาของตน ประทุษร้ายในภริยาของคนอื่นเหมือนประทุษร้ายในหญิงแพศยา ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม (เพราะการเพิ่มให้ทรัพย์แก่หญิงแพศยา เพราะเสพภรรยาคนอื่น และกรรมกรณ์มีราชทัณฑ์ เป็นต้น)
.
@@@@
.
ข้อ 10. - ชายแก่ (ล่วงวัยหนุ่มอายุ 80 หรือ 90 ปี) ได้หญิงรุ่นสาวมาเป็นภริยา (นำมาบำเรอ ความยินดีและการสังวาสกับชายแก่ทั้งหลาย ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของหญิงสาวรุ่นกำดัด ชายแก่นอนไม่หลับเพราะหึงหวงแผดเผาว่าอย่าพึงปรารถนาชายหนุ่มเลย) ย่อมนอนไม่หลับ เพราะความหึงหวงหญิงรุ่นสาวนั้น ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
.
ข้อ 11. - คนใดตั้งหญิงนักเลงสุรุ่ยสุร่าย (ใช้จ่ายทรัพย์เหมือนฝุ่น ให้ฉิบหาย เป็นผู้เหลวไหล คือ ติดในปลา เนื้อ และน้ำเมา เป็นต้น) หรือแม้ชายเช่นนั้นไว้ในความเป็นใหญ่ (ให้วัตถุมีเครื่องประทับตรา เป็นต้น ให้กระทำการขวนขวายในการงาน) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
.
ข้อ 12. - บุคคลผู้เกิดในสกุลกษัตริย์ มีโภคทรัพย์น้อย มีความมักใหญ่ (ไม่สันโดษด้วยโภคทรัพย์ตามที่ตนหามาได้) ปรารถนาราชสมบัติ (อันตนเป็นทายาท ซึ่งไม่ควรได้ หรือของคนอื่น ให้โภคทรัพย์น้อยแม้นั้นแก่คนทั้งหลายมีทหาร เป็นต้น ย่อมไม่ลุถึงราชสมบัติ ย่อมเสื่อมถ่ายเดียว) ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม
.
@@@@@@@
.
บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยความเห็นอันประเสริฐ พิจารณาเห็นคนเหล่านี้ เป็นผู้เสื่อมในโลก ท่านย่อมคบโลกที่เกษม (คนเจริญ) ในพระสูตรนี้ความเสื่อม หมายถึง ย่อมไม่ถึงความเจริญในโลกนี้หรือในโลกหน้า
.
และพระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่มีความสำคัญยิ่งด้วยว่า เมื่อเทวดาทั้งหลายฟังแล้วก็เกิดความสังเวช ได้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับ มหาสมัยสูตร มงคลสูตร ธรรมจักรสูตร เป็นต้น
___________________________________
ขอบคุณ : https://www.posttoday.com/dhamma/289063
โพสต์ทูเดย์ ธรรมะ ,วันที่ 13 เม.ย. 2557 ,เวลา 11:14 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น