31 ตุลาคม 2561

บิดามารดา คือ พระอรหันต์ของบุตร


ในสมัยพุทธกาลมีผู้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

“ต่อไปหากไม่มีพระอรหันต์ หรือผู้คนไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์แล้วจะทำบุญกับใคร ?”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ให้ทำบุญกับบิดามารดาของตน จะได้อานิสงส์เท่ากับทำบุญกับพระอรหันต์”

"การตอบแทนบุญคุณบิดามารดา"

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่จะตอบแทนคุณแก่บุคคลทั้ง ๒ คือ มารดา ๑ บิดา ๑ เรากล่าวว่ากระทำไม่ได้ง่ายเลย

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงแบกมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง แบกบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุมีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และพึงปฏิบัติบำรุงทั้ง ๒ ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการบีบนวดอวัยวะต่าง ๆ แก่ท่านทั้งสอง แม้ท่านทั้ง ๒ ก็พึงถ่ายอุจจาระบนบ่านั่นเอง ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณแก่มารดาบิดา

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงตั้งมารดาไว้ในราชสมบัติ มีอำนาจยิ่งใหญ่ในแผ่นดินใหญ่ อันมีรัตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ แม้กระนั้นก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนคุณมารดาบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก เป็นผู้บำรุงเลี้ยง เป็นผู้สอนให้ลูกรู้จักโลก

“ส่วนบุตรคนใด ทำให้มารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธาให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา ให้มารดาบิดาผู้มีทุศีลสมาทานตั้งมั่นในสีลสัมปทา ให้บิดามารดาผู้มีความตระหนี่สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ให้มารดาบิดาผู้ทรามปัญญา สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านั้น และบุตรย่อมชื่อว่าเป็นผู้อันกระทำตอบแทนบุญคุณแก่มารดาบิดาแล้ว”

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก
เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

#แชร์เป็นธรรมทาน

...........................

.

พุทธ ทางแห่งปัญญา

เมื่อโยมเห็นภัยในวัฏฏะแม้เสี้ยวขณะจิตเดียว หมายถึงว่าในขณะที่จิตโยมมีปัญญาขณะจิตเดียวจิตมันเกิดสว่าง เกิดปัญญา เกิดตัวรู้ว่าร่างกายสังขารมีแต่ทุกข์ ทุกข์มันอยู่ที่นี่เอง เราก็ไปหา..ไปหาบอกว่าทุกข์มันอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าท่านออกตามหาทุกข์นะจ๊ะ พระพุทธเจ้าออกจากพระราชวังท่านไปตามหาทุกข์นะ ไม่ได้ตามหาสุขนะ โยมเข้าใจให้ถูกก่อน แต่มนุษย์ตอนนี้ตามหาสุข สวนทางกันมั้ยจ๊ะ แล้วก็บอกว่าเดินตามมรรค

พระพุทธเจ้าท่านออกจากพระราชวังไป..เพื่อไปตามหาทุกข์ ขนาดพญามารทัดทานแล้ว ท่านก็ยังไม่ฟัง พญามารก็ตามไปทุกที่ นั้นโยมต้องถามตัวเองว่าโยมตามหาอะไร ทุกวันนี้มนุษย์ตามหาสิ่งที่ไม่มี แล้วถามว่าจุดจบมันจะได้มั้ยจ๊ะ พระพุทธเจ้าท่านตามหาทุกข์ แล้วทุกข์มันอยู่ที่ไหน ท่านตามหาแล้วเจอแล้ว แล้วก็ออกมาเป็นลายแทงเป็นคำสอนเอามาบอกโยม ให้มาหาที่ไหน..มาหาที่กายตน ดูตน สอนตน พิจารณาตน พิจารณาได้ก็ละตน พอละตนก็ทิ้งตน..มีเท่านี้เอง

แล้วเรื่องธรรมะนี้อธิบายมากก็ไม่จบสิ้น ถ้าโยมต้องการอยากจะรู้ว่า"ธรรม"คืออะไร หยุดอธิบายปรุงแต่งทุกอย่าง ไม่ว่าโยมจะเรียนรู้จากอาจารย์ที่ไหนมา โยมกำหนดเริ่มต้นจากกายและลมหายใจอย่างเดียว ว่าที่ฉันกล่าวไปทุกอย่างเมื่อธรรมกล่าวไปแล้ว เมื่อถึงโยมจะต้องไปปฏิบัติเอง..โยมก็ต้อง"ทิ้งธรรม"ทุกอย่างก่อนในขณะนั้น วางทุกตำรา เข้าใจมั้ยจ๊ะ ถ้าโยมไม่วางตำราแล้วโยมจะอ่านตำราได้ยังไง พอวางแล้วโยมถึงจะเปิด

นั้นก่อนที่โยมจะเปิดตำราหรือพระคัมภีร์ หรือพระธรรมก็ดี พระไตรปิฎกก็ดี โยมต้องนอบน้อมกราบนมัสการก่อน น้อมจิต กาย วาจา ใจเพื่อให้เกิดศีลก่อน ถึงโยมจะได้รับพระธรรมคำสอนได้ โยมจะเรียนพระกรรมฐานโยมก็ต้องมีศีลก่อน เข้าใจมั้ยจ๊ะ จะไปธุดงค์กรรมฐานก็ต้องมีอาจารย์มีครูก่อนอีกเหมือนกัน นั้นโยมต้องรู้เสียก่อนว่าโยมไปตามหาอะไร ถ้าโยมตามหาทุกข์..อย่าไปคิดว่าจะได้สุข เข้าใจมั้ยจ๊ะ

ถ้าสุขเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่าสุข สุขนั้นจะเป็นกำลัง..เป็นกำลังใจ ว่านั่งแล้วมันสงบ เห็นแล้วว่านี่คือสมาธิก็จะนั่งต่อไป นี่เรียกว่าเมื่อสุขนั้นเป็นอารมณ์ทำให้เกิดกำลังใจ แต่อย่าไปยึดติดในสุขนั้น ถ้าไปยึดติดอารมณ์เค้าเรียกว่าติดในสมาธิก็ดี ติดองค์ภาวนาก็ดี ติดฌานก็ดี ติดนิมิตก็ดี พวกติดเหล่านี้เค้าเรียกว่าไปต่อไม่ได้ อ้าว..ติดก็ต้องมาแก้ ถ้าติดหลายตัวไม่ต้องแก้แล้ว..เริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่ก็ไปเรียนใหม่ เรียนที่ไหน..เรียนที่"ลม"ใหม่

บางคนมีลมหายใจเข้าออก..ไม่เห็นจะยากตรงไหนก็เข้าออกทุกวัน แต่ตอนที่เข้าและออกโยม..โยมรู้รึเปล่ามันเข้ายังไง มันออกยังไง พอมันเข้าโยมรู้มั้ย พอมันออกโยมรู้มั้ย ทุกวันนี้ลืมลมหายใจกันหมดแล้ว ทั้งๆที่ลมหายใจมันเข้าออก..แต่ไม่เคยไปรู้มันว่ามันเข้าออก

เค้าให้ไปรู้ลมหายใจ แต่ไม่ได้บอกว่ามันจะเข้าออกยังไง เข้าใจมั้ยจ๊ะ คือเอา"สติ"ไประลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจ เพราะว่าลมหายใจมันสามารถสัมผัสกายได้ สัมผัสจิตใจเราได้ว่า..สงบหรือไม่สงบอย่างไร เหมือนลมมันขัดลมมันเดินไม่ดี มันก็ทำให้ขัดใจขัดอารมณ์ไป นี่เราต้องไปแก้ไปเริ่มต้นใหม่ถ้ามันติด เริ่มต้นที่ดูอานาปานสติขึ้นมาใหม่

ไม่ว่าโยมจะเรียนกสิณหรือกรรมฐานกองไหนก็ตาม โยมต้องมี"อานาปานสติ"เป็นแม่บทใหญ่ ถ้าโยมไม่มีเมื่อไหร่..สมาธิโยมจะหลงเมื่อนั้น เข้าใจมั้ยจ๊ะ แม้องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเข้าถึงวิมุติแล้วก็ตามที เกิดวิชาแล้วก็ดี ท่านจะต้องเจริญอานาปานสติอยู่เหมือนกัน เค้าเรียกว่าเจริญฌาน หรือเรียกว่าเจริญองค์ภาวนาเหมือนที่เราเอามาเจริญนี้แหล่ะจ้ะ เข้าใจมั้ยจ๊ะ เพราะอะไรจ๊ะ..มันหลงลืมตลอดเวลาได้ถ้ายังมีกายสังขาร เพราะกายนี้มันเป็นขันธมารอยู่ ยังมีมารแฝงอยู่ เข้าใจมั้ยจ๊ะ ดังนั้นเราต้องฝึกอยู่ตลอดเวลา นี่ขนาดท่านฝึกขนาดนั้น..แล้วเราไม่ฝึกจะเป็นยังไง มันก็ต้องฝึกเอาตามกำลังของโยม

ลูกศิษย์ :  หลวงปู่เจ้าคะ การกำหนดอานาปานสติก็คือการรู้ลมหายใจเข้าออกนี่ แล้วมันผนวกกับคำว่าพุทโธไปเนี่ยะ มันจะเป็นสากลว่าจะต้องเป็นอย่างนี้มั้ยคะ หรือว่าถ้าเราภาวนาพุทโธเนี่ยะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แบบอย่างเดียว เหมือนกันมั้ยเจ้าคะ

หลวงปู่ : อ้าว..งั้นเรามาดูว่าพุทโธ หรืออานาปานสติเป็นอย่างไร อานาปานสติเค้าเรียกว่ากำหนดลมหายใจเข้าออกไม่เกี่ยวกับพุทโธ แล้วพุทโธเกิดมาตอนไหนศตวรรษใด คือเรียกว่าองค์พุทโธนั้นเป็น"อุบาย"แห่งกรรมฐานอย่างหนึ่ง ครูบาอาจารย์เค้าเรียกว่าจรดไว้ หมายถึงว่าจริงๆอานาปานสตินี้คือลมหายใจเข้าออก..คือกำหนดรู้ลม เพราะลมหายใจนี่เป็นอะไรที่ดูง่ายและกำหนดง่าย เพราะมันมีอยู่แล้วในกายเรา ดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุทั้ง ๔ มันต้องประชุมกันด้วยลมหายใจทั้งนั้น ใช่มั้ยจ๊ะ

ดิน น้ำ ไฟ ลมทั้งหลายมันต้องประชุมด้วยธาตุลมทั้งนั้น คราวนี้เมื่อลมหายใจเราเนี่ยะเข้าออกแล้ว คราวนี้ลมหายใจมันเข้าออก..มันเข้าออก บางทีสติเราเนี่ยไม่เท่าทัน เพราะเราเนี่ยะหลงกายอยู่ พอตัวหลงกาย หลงว่านี่ตัวกูของกู สติตัวระลึกมันจึงไม่เท่าทันในลมที่เข้าออก เห็นมั้ยจ๊ะว่าลมหายใจไม่ใช่ของง่ายที่โยมจะไปรู้ ใช่มั้ยจ๊ะ เค้าจึงเอาองค์พุทโธขึ้นมา หรือกำหนด ๑..๒..๓..๔..๕..๖..๗..๘..๙..๑๐ นับไป..นับไป เห็นมั้ยจ๊ะ หรือสัมมาอะระหังยกขึ้นมา เค้าจึงบอกอุบายว่า คำว่า"พุทโธ"เป็นของมงคลภาวนาแล้วมันดี ว่าพุทโธเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรียกว่าผู้สัพพัญญู เข้าใจมั้ยจ๊ะ นี่คือที่มา..

เพราะว่าลมหายใจ การจะจับลมหายใจน่ะ เพราะว่าลมหายใจมันไปยึดกายอยู่ กายตัวนี้มันทำให้มนุษย์มันหลง หลงได้ง่าย ขาดเผลอสติได้ง่าย มันจึงไม่มีสติที่จะไปยึดได้จับต้องได้ ถ้าองค์พุทโธระลึกได้เนี่ยะ..มันจะจับต้องได้ทันที นั้นก็บอกว่าเมื่อจิตมันฟุ้งมีอารมณ์เข้ามาปะทะ หรือเกิดการปรุงแต่งอุปาทานของจิต ต้องมีองค์ภาวนาเข้ามากำกับแล้ว หรือต้องมีผู้กำกับการแสดง เล่นเดี่ยวๆเกิดขึ้นมาไม่ได้ หรือเรียกว่าต้องมีเหตุมีผลมารับรองกัน เข้าใจมั้ยจ๊ะ เพราะกายตัวนี้มันหลงได้ง่าย นี่คือที่มาของพุทโธ..

อ้าว..แล้วทำไมพุทโธจึงไม่มีในพระไตรปิฎก อะไรก็ตามที่เราระลึกแล้ว คิดแล้ว พิจารณาแล้วไปในทางการละอารมณ์ ให้เข้าถึงความสงบ นั่นเรียกว่าอุบายแห่งธรรมอยู่ใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ทั้งนั้น ชื่อว่าเรียกว่าพระกรรมฐาน พระกรรมฐานก็ไม่มีในพระไตรปิฎก..จริงๆไม่ใช่ พระกรรมฐานมีอยู่ในพระไตรปิฎกแล้ว พระกรรมฐานฌานวิถี..วิถีทางแห่งการทำงานของจิต คือการมาฝึกฝนจิต

เค้าบอกเอาจิตมาฝึกได้ยังไง จิตฝึกได้เหมือนลิง ลิงเอามาฝึกได้มั้ย แต่โยมต้องไวกว่าลิงนะ แล้วลิงมันชอบกินอะไร (กินกล้วย) เออ..เอากล้วยให้มันกิน จิตก็ต้องมีตัวล่อคืออุบายแห่งธรรม ล่อหลอกตะล่อมให้จิตมันอยู่กับเรา ใช่มั้ยจ๊ะ ก็เช่นองค์ภาวนาก็ดี กำหนดยุบหนอพองหนอ กำหนดก้าว ยก ย่าง เหยียบหนอ เหล่านี้ชื่อว่าเป็นอุบายแห่งการเจริญสติให้สติมันครองอยู่กับอารมณ์นั้นกับการงานนั้น ในขณะนั้น เข้าใจมั้ยจ๊ะ สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของการเจริญสมาธิทั้งนั้น

เพราะสมาธิชื่อว่าเรียกว่าใจที่ตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียว คือเราจดจ่อในสิ่งทีเราทำอยู่ ไม่ต้องสนใจใคร ใครจะมอง ใครจะว่า ใครจะนินทาสรรเสริญ..นั้นโลกธรรม ๘ นี้โลกธรรมจริงๆมันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่เราวางเฉยไม่สนใจ ไม่เอาจิตไปภายนอก เห็นมั้ยจ๊ะ ถ้าจิตยังไปภายนอกอยู่เรียกว่าสมุทัย ถ้าจิตจดจ่ออยู่ในการงานที่ทำอยู่เรียกว่านิโรธ คือทางดับทุกข์ เข้าใจมั้ยจ๊ะ

ถ้าโยมเห็นทุกข์เมื่อไหร่นั่นคือเหตุ คือเหตุอริยสัจ ๔ แต่ก่อนที่โยมจะไปเห็นอริยสัจ ๔ โยมต้องเห็นไตรลักษณ์ก่อน พิจารณาความเกิด ความเสื่อม ความชรา ความเป็นทุกข์ เห็นทุกอย่างเป็นทุกข์ เห็นทุกอย่างไม่เที่ยง เห็นความว่างเป็นอนัตตา สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้จิตเรานั้นเกิดสลดสละ เริ่มเกิดอาการปลงขึ้นมา เพื่อเข้าถึงความเบื่อหน่าย โยมปลงมากเท่าไหร่โยมก็เบื่อมากเท่านั้น เข้าใจมั้ยจ๊ะ แต่ถ้าโยมไปอยากมากเท่าไหร่ โยมก็มีความกำหนัดมากเท่านั้น ทางเดียวที่โยมจะออกจากทุกข์ โยมต้องปลง ต้องละ ต้องสละ เข้าใจมั้ยจ๊ะ

ธรรมะมหัศจรรย์ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๑
ณ สถานปฏิบัติธรรมพรหมรังสี บ้านโปร่งวิเชียร จ.เพชรบุรี
โทร ๐๙๕ ๕๖๙๕๑๙๙ (เพชรบุรี)
      ๐๘๔ ๘๙๓๖๙๖๑ , ๐๘๑ ๙๒๙๓๒๒๒ (กรุงเทพ)

พระนามของพระพุทธเจ้า

ว่าด้วยเรื่อง..."พระนามของพระพุทธเจ้า"

พระพุทธเจ้าในที่นี้หมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนั้นเอง มีคำเรียกกล่าวนามพระพุทธเจ้าของเรามากมาย ซึ่งพอจะนำมาประมวลไว้ได้ ดังต่อไปนี้

๑.พระบรมโพธิสัตว์, พระโพธิสัตว์ หมายถึงท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิฐาน เมตา อุเบกขา
๒.อังคีรส หมายถึง มีรัศมีแผ่ซ่านจากพระกาย เป็นพระนามแรก เมื่อพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำหน้าที่ถวายพระนามและทำนายลักษณะพระกุมาร กล่าวถึงเมือพินิจจากลักษณะแรกพบเห็น
๓.สิทธัตถกุมาร เป็นพระนามที่พราหมณ์ ๘ คนผู้ทำหน้าที่ถวายพระนามและทำนายลักษณะพระกุมาร ตั้งถวาย "สิทธัตถ" แปลว่า มีความต้องการสำเร็จ หรือสำเร็จตามที่ต้องการ คือสมประสงค์จะต้องการอะไรได้หมด
๔.สิทธัตถะ , เจ้าชายสิทธัตถะ , พระสิทธัตถะ พระนามเดิมของพระพุทธเจ้าก่อนเสด็จออกบรรพชา
๕.พระมหาบุรุษ หมายถึง บุรุษผู้ยิ่งใหญ่เป็นคำใช้เรียกพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้
๖.โคดม , โคตมะ , พระโคดม ,พระโคตมะ , พระสมณโคดม, โคดมพระพุทธเจ้า หมายถึง ชื่อตระกูลของพระพุทธเจ้า มหาชนเรียกพระพุทธเจ้าตามพระโคตรของพระองค์
๗.ตถาคต พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย ๘ อย่างคือ ๑. พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น ๒. พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น ๓. พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ ๔. พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น ๕. พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น ๖. พระผู้ตรัสอย่างนั้น ๗. พรุผู้ทำอย่างนั้น ๘. พระผู้เป็นเจ้า
๘.ตถาคตโพธิสัทธา หมายถึง เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต
๙.ธรรมกาย หมายถึง ผู้มีธรรมในกาย เป็นพระนามอย่างหนึ่งของ พระพุทธเจ้า
๑๐.ธรรมราชา คือพระราชาแห่งธรรม หมายถึงพระพุทธเจ้า
๑๑.ธรรมสวามิศร, ธรรมสามิสร คือผู้เป็นใหญ่โดยฐานเป็นเจ้าของธรรม หมายถึง พระพุทธเจ้า
๑๒.ธรรมสามี คือ ผู้เป็นเจ้าของธรรม เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า
๑๓.ธรรมิศราธิบดี คือ ผู้เป็นอธิปดีโดยฐานเป็นใหญ่ในธรรมเป็นคำกวีหมายถึงพระพุทธเจ้า
๑๔.บรมศาสดา, พระบรมศาสดา คือ ศาสดาที่ยอดเยี่ยม พระผู้เป็นครูสูงสุด พระบรมครู หมายถึง พระพุทธเจ้า
๑๕.พระผู้มีพระภาคเจ้า หมายถึง พระนามของพระพุทธเจ้า
๑๖. พระพุทธเจ้า คือ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม, ท่านผู้รูดีรู้ชอบด้วยตนเองก่อนแล้ว สอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาบ วาจา ใจ
๑๗.พระศาสดา หมายถึงผู้สอนเป็นพระนามเรียกพระพุทธเจ้า
๑๘. พระสมณโคดม เป็นคำที่คนภายนอกนิยมใช้เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้า
๑๙.พระสัมพุทธเจ้า, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า,พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า,สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระผู้ตรัสรู้เอง หมายถึงพระพุทธเจ้า
๒๐. ภควา คือ พระนามของพระพุทธเจ้า แปลว่า ทรงเป็นผู้มีโชค คือหวังพระโพธิญาณก็ได้สมหวัง ประกาศพระศาสนาก็ชักจูงผู้คนให้ได้บรรลุธรรมสมปรารถนา มีผู้คิดร้ายก็ไม่อาจทำร้ายได้ คำแปลอีกนัยหนึ่งว่า ทรงเป็นผู้จำแนกแจกธรรม
๒๑. มหาสมณะ พระนามหนึ่งสำหรับเรียกสมเด็จพระสัมพุทธเจ้า
๒๒. โลกนาถ, พระโลกนาถ เป็นที่พึ่งแห่งโลก หมายถึงพระพุทธเจ้า
๒๓.สยัมภู,พระสัมภู พระผู้เป็นเอง คือตรัสรู้ได้เองโดยไม่มีใครสั่งสอน หมายถึง พระพุทธเจ้า
๒๔.สัพพัญญู, พระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า หมายถึง ผู้รู้หมด,ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ พระนามของพระพุทธเจ้า
๒๕.พระสุคต,พระสุคโต หมายถึง ผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า

#แชร์เป็นธรรมทาน

............................

.

30 ตุลาคม 2561

วันนี้วันที่30 ตุลาคม ครบรอบวันมรณภาพพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระราชพรหมยานเถระ

วันนี้วันที่30 ตุลาคม
ครบรอบวันมรณภาพพระเดชพระคุณ
หลวงพ่อพระราชพรหมยานเถระ
(หลวงพ่อฤาษี ลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี)
วันที่ 30 ตุลาคม 2535

ประวัติการสร้างวัดท่าซุงของหลวงพ่อฯ
(พระครูปลัดอนันต์บันทึก)
..................................................
    ศพหลวงพ่อ

    เรื่องศพของหลวงพ่อนี่ เมื่อสมัยท่านมีชีวิตอยู่ ท่านเคยบอกกับเราว่า “เมื่อข้าตายแล้วให้ดูศพข้าใน ๗ วัน ๑๕ วัน” ท่านบอกว่าท่านขอพรข้างบนไว้แล้วแต่ไม่บอกว่าใคร ทีนี้เมื่อท่านมรณภาพแล้ว เราไม่ให้ฉีดฟอร์มาลีน ปล่อยให้ศพเป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น แต่ศพของหลวงพ่อ ๗ วันแล้วก็ยังไม่มีกลิ่นเลย ยังไม่มีน้ำเหลืองออกจากร่างกายเหมือนคนนอนหลับธรรมดา

    เราก็นึกว่า เออ..หลวงพ่อคงจะกลับ เพราะว่าปกติพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ สามารถจะเข้านิโรธสมาบัติได้ ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน โดยไม่ต้องฉันอาหารเลย เมื่อ ๗ วันแล้วร่างกายของหลวงพ่อยังงอแขนได้ ยกได้เป็นปกติ เราก็นึกว่าหลวงพ่อคงจะกลับ พอ ๗ วันแล้วไม่กลับ แต่ร่างกายก็ยังปกติอยู่ ก็คิดว่า เอ พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล ยังเข้านิโรธสมาบัติได้ถึง ๑๕ วัน ก็ยังมั่นใจว่าหลวงพ่อจะกลับใน ๑๕ วันอีก เมื่อเรามั่นใจอย่างนี้แล้ว เราก็ไปดูศพท่านศพท่านก็ยังปกติอยู่ ไม่มีน้ำเหลืองออกใน ๑๕ วันนี้ ปกติทุกอย่าง

    หลัง ๑๕ วันแล้วศพของท่าน ยุบลงหน่อยมีสีขาวขึ้น บางคนก็ว่าเชื้อรา หมอที่อยู่ที่วัดบอกไม่ใช่เชื้อรา เพราะบางครั้งก็หายไป แล้วก็ปรากฏขึ้นอีก แต่เดี๋ยวนี้ถึงแม้ศพหลวงพ่อยุบลง แต่ยังมีกล้ามเนื้ออยู่ แต่มีท่อนแขนเท่านั้นที่แข็งขึ้น แต่คนก็ยังลุ้นว่าหลวงพ่อจะกลับ แต่ท่านคงไม่กลับแล้วละ

    แต่มีส่วนที่ว่า จะเป็นมงคลกับเรา คือมีคนไปทำความสะอาดใบหน้า คือโกนแล้วเอาเซลผิวหนังเอาไปแจกกัน เดี๋ยวนี้ขาวเป็นแก้วแล้ว เขาเอาไปให้กันทางสุพรรณฯ

    เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ ท่านบอกว่า พระมหากัสสปที่อยู่เชียงตุง จะมาช่วยดูแลเกี่ยวกับศพท่าน ท่านบอกว่าถ้าใครไปกราบศพท่านจะเป็นมงคล เหมือนกับที่ท่านมีชีวิตอยู่ เพราะพระมหากัสสปจะมาช่วยเกี่ยวกับศพท่าน

บันทึกโดย..พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ

ผัคคุณสูตร พรรณนาความทุกข์แห่งสังขาร

ก็สมัยนั้น ท่านพระผัคคุณะอาพาธ มีทุกข์เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น
ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระผัคคุณะ
อาพาธมีทุกข์เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้
มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะเถิด พระ
ผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก
จากที่เร้น เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่ ท่านพระผัคคุณะได้เห็นพระ
ผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล แล้วจะลุกจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสกะท่านพระผัคคุณะว่า อย่าเลยผัคคุณะ เธออย่าลุกขึ้นจากเตียง อาสนะ
เหล่านี้ที่ผู้อื่นได้ปูไว้มีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบน
อาสนะที่ได้ปูไว้แล้ว ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระผัคคุณะว่า ดูกรผัคคุณะ
เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาย่อมบรรเทา
ไม่กำเริบหรือปรากฏว่าบรรเทา ไม่กำเริบขึ้นหรือ ท่านพระผัคคุณะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้
ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนักไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบนั้นไม่บรรเทาเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษ มีกำลังพึงเฉือนศีรษะด้วยมีดโกนที่คม
ฉันใด ลมกล้าเสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์
กำเริบหนัก ไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่บรรเทาเลยเปรียบเหมือนบุรุษ
ผู้มีกำลังพึงเอาเชือกที่เหนียวแน่นพันศีรษะ ฉันใด ความเจ็บปวดที่ศีรษะของ
ข้าพระองค์ก็มีประมาณยิ่ง ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้
เปรียบเหมือนบุรุษฆ่าโค หรือลูกมือของบุรุษฆ่าโค เป็นคนขยันพึงใช้มีด
สำหรับชำแหละโคที่คม ชำแหละท้องโค ฉันใด ลมกล้ามีประมาณยิ่งย่อมเสียด
แทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ...
เปรียบบุรุษผู้มีกำลังสองคน จับบุรุษผู้อ่อนกำลังคนเดียวที่แขนคนละข้าง แล้วพึง
ลนย่างบนหลุมถ่านไฟ ฉันใด ความเร่าร้อนที่กายของข้าพระองค์ก็ประมาณยิ่ง
ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้
ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ไม่บรรเทา ปรากฏว่ากำเริบขึ้น
ไม่บรรเทาเลย ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงด้วยธรรมีกถาให้ท่านพระ
ผัคคุณะเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้กระทำกาละ
และในเวลาตายอินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะนั้น ผ่องใสยิ่งนัก ฯ
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคม
แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ
พระผู้มีพระภาคเสด็จจากมาไม่นาน ท่านพระผัคคุณะก็กระทำกาละ และในเวลา
ตายอินทรีย์ของท่านพระผัคคุณะผ่องใสยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์
ก็อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใสได้อย่างไร จิตของผัคคุณภิกษุยังไม่หลุดพ้น
จากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ จิตของผัคคุณภิกษุนั้น ก็หลุดพ้นแล้ว
จากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์
อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดย
กาลอันควร ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน ดูกรอานนท์ จิตของภิกษุในธรรม
วินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย
เธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น อันงามในท่ามกลาง
อันงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕
เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ในการฟังธรรม
โดยกาลอันควร ฯ
อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปใน
ส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวก
ของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามใน
ท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ
บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็น
ไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์
ข้อที่ ๒ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ
อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วน
เบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของ
ตถาคตเลย แต่ย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อ
เธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อม
หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์
ข้อที่ ๓ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ฯ
ดูกรอานนท์ จิตของมนุษย์ในธรรมวินัยนี้ ได้หลุดพ้นจากสังโยชน์อัน
เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไป
แห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมได้เห็น
พระตถาคต พระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของ
เธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่า
มิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ในการ
ฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ
อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วน
เบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ-
*กิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต
แต่เธอย่อมได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรม
อันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่ง
อุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์
นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ
อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วน
เบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ-
*กิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต
และย่อมไม่ได้เห็นสาวกของพระตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่ง
ธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา
ได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส
อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อ ๖ ในการใคร่ครวญ
เนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรม ใน
การใคร่ครวญเนื้อความโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้แล ฯ

ที่มา....พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...